สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะของเด็กที่เลี้ยงง่ายหรือยาก

การจะดูว่าทารกเลี้ยงได้ง่ายหรือยากต้องรอให้ครบ 7 วันเสียก่อน

ถ้าที่ยอดอกของทารกเป็นสีแดงเหมือนดอกสัตตบุษย์ ดอกตะแบกช้ำ หรือสีควันเทียน ขนาดโตเท่าใบพุทรา ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ทายว่าทารกนั้นจะเลี้ยงยาก ถ้าเห็นสีเหมือนหม้อใหม่จะทายว่าทารกนั้นเลี้ยงง่ายพอปานกลาง ถ้าเป็นสีเหมือนหม้อใหม่อ่อนๆ ทายว่าทารกนั้นจะเลี้ยงง่ายนัก
ในที่นี้หมายถึงหม้อดินที่มีสีเนื้ออมชมพู แสดงถึงระบบการหายใจที่ได้รับออกซิเจนดี ถ้าเป็นสีดอกตะแบกออกม่วงๆ แสดงว่ามีออกซิเจนอยู่ในเลือดน้อย

ถ้าทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาได้ 3 วัน ให้ดูจากสะดือมาถึงยอดอก ถ้าเห็นเป็นแผ่นเท่าใบพุทราหรือใบมะขาม ควรระวังลมที่มีชื่อว่า สุนทรวาต ในอีก 21 วันข้างหน้า หากแก้รอดมาได้ก็จะมีโรคได้ต่างๆ ถ้าจะแก้ให้ด้วยยาทุเลา ถ้าแลถ่ายยาเพื่อแผ่นเสมหะที่บังเกิดในอุทรนั้นให้กระจายให้ได้เสียก่อนจึงจะคลายจากโรค ถ้าแก้ไม่ได้และแผ่นเสมหะนั้นใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ก็แสดงว่าจะมีชีวิตอยู่รอดได้ไม่เกิน 21 วัน

ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการติดเชื้อทางสายสะดือ แต่ในปัจจุบันจะใช้ยาปฏิชีวนะทำให้หายได้

ถ้าทารกเป็นดานเสมหะอยู่ข้างอกขวา ทารกนั้นมักตาช้อนดูสูง มักอาเจียนเมื่อกินนมและข้าว อุจจาระปัสสาวะมีสีเหลือง ซึ่งอาการดังกล่าวกำเนิดมาจากกองลมวาตภัคค์ ถ้าแผ่นเสมหะค้างอยู่จะทำให้ซูบผอม ถ้าแผ่นเสมหะโตขึ้นกว่าเดิมจะทำให้ท้องขึ้นลงท้อง ชักเท้ากำ มือกำ ตาช้อนดูสูง ให้เชื่อม ให้มึน เมื่อย หอบ อาเจียน กินข้าวดื่มนมไม่ได้ ถ้าทารกเป็นเช่นนี้มักมีโอกาสรอดน้อย ถ้ามีไข้ตัวร้อนเป็นเวลามักทำให้ชักเท้ากำมือกำ ตาช้อนสูง และมีโอกาสรอดยาก

อาการดังกล่าวน่าจะหมายถึงอาการปอดบวมและมีการติดเชื้อรุนแรงในเวลาต่อมา จนทำให้เกิดอาการทางสมอง ชัก อาจเป็นวัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองก็เป็นได้

ถ้าทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาได้ 7 วัน 11 วัน 15 วัน 21 วัน แล้วมีขอบตาเขียว นอนสะดุ้ง ตาช้อนดูสูง ชัก เท้ากำมือกำ หลังแข็ง ท้องขึ้น ลิ้นกระด้าง คางแข็ง มักเกิดจากลมสุนทรวาต และลมวาตภัคค์ และตะพั้นไฟ เพราะทารกกลืนก้อนโลหิตของมารดาเข้าไปจึงเกิดโทษต่างๆ ขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก

ในสมัยโบราณนอกเหนือจากการติดเชื้อธรรมดา ปอดบวม สมองอักเสบ ที่ทำให้เด็กมีอาการชักแล้ว ยังพบอาการบาดทะยักได้บ่อย เนื่องจากมีการใช้มีดหรือไม้ไผ่ที่ตัดสายสะดือไม่สะอาด ทำให้เด็กมีไข้ ชัก และตายจากเชื้อบาดทะยักได้ แต่อัตราการรอดชีวิตของเด็กในปัจจุบันมีอยู่สูง เพราะมีอุปกรณ์ที่ใช้ตัดสายสะดือที่สะอาดปราศจากโรค มีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคทีบีและบาดทะยักแล้ว

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า