สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลักษณะการนวดแบบตะวันตก

มักจะมีการนำการนวดแบบตะวันตกหรือแบบสวีดิชมาใช้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนวด ซึ่งมีเทคนิคคล้ายกับการนวดไทยหลายอย่าง ส่วนเทคนิคที่แตกต่างกันมีดังนี้

1. การลูบเบาๆ(stroke)
เป็นการลูบเพื่อลดความฝืดของผิวหนังโดยไม่มีทิศทาง มีการใช้ครีมหรือน้ำมันทำให้เกิดความผ่อนคลาย การเกร็งของกล้ามเนื้อลดลง

2. การลูบหนัก(effeurage)
เป็นการลูบบนผิวหนังโดยออกแรงกดเล็กน้อยในทิศทางการไหลของเลือดดำและน้ำเหลือง โดยวางมือราบลงกับส่วนที่จะลูบแล้วกดลงเป็นจังหวะในทิศทางการไหลกลับของเลือดและน้ำเหลืองด้วยความนุ่มนวล การนวดแบบนี้มักใช้กับผู้ที่มีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ เช่น เพื่อลดอาการปวด ลดการอักเสบ ลดอาการบวม หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น

3. การคลึง(kneading, petrissage)
เป็นการใช้ฝ่ามือ นิ้วมือ หรือนิ้วหัวแม่มือ กดลงบนกล้ามเนื้อแล้วคลาย โดยใช้แรงกดคลึงเบาๆ ที่เรียกว่า “reinforce kneading” ลักษณะของแรงกดจะเป็นแบบโค้งของวงกลม

4. การหยิบ(picking up)
เป็นการออกแรงหยิบหรือหนีบกล้ามเนื้อขึ้นมาแล้วดึงขึ้นในทิศทางที่ตั้งฉากกับกระดูก

5. การบีบบิด(wringing)
เป็นการใช้มือทั้งสองข้างวางตามความยาวของกล้ามเนื้อ แล้วจับกล้ามเนื้อออกแรงบิดไปอีกทิศหนึ่ง เพื่อให้เกิดการบิดของกล้ามเนื้อ

6. การม้วนผิวหนัง(skin rolling)
เป็นการม้วนผิวหนังบนโครงสร้างที่ลึกกว่า เพื่อให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังมีการเคลื่อนตัว

7. การนวดผสมผสานทั้งสับ เคาะ ตี และทุบ(tapotement)

เป็นการนวดแบบผสมผสานที่มีการใช้สันมือสับที่กล้ามเนื้อ โดยที่นิ้วมือเหยียดออก(hacking) การเคาะด้วยอุ้งมือ(clapping) โดยทำสลับกันระหว่างมือซ้ายกับมือขวา การใช้มือกำหลวมๆ ตีกล้ามเนื้อสลับกัน(beating) การใช้สันฝ่ามือทางนิ้วก้อยทุบกล้ามเนื้อ โดยงอนิ้วมือ(pounding)

8. การขยี้ (friction)
เป็นการใช้นิ้วหัวแม่มือหรือปลายนิ้วกดด้วยความแรง โดยเคลื่อนนิ้วไปตามขวางหรือเป็นวงกลมไปที่บริเวณนั้น

9. การสั่นสะเทือน(vibration)
วิธีการนี้มักใช้กับผู้ที่มีปัญหาในทรวงอก โดยการใช้ฝ่ามือหรือนิ้วทำให้เกิดการสั่นด้วยความถี่สูง

10. การเข่า(shaking)
เป็นการเขย่าอย่างเป็นจังหวะตามส่วนของร่างกาย ที่ทำกันส่วนใหญ่มักจะเป็นบริเวณทรวงอกหรือท้อง

ส่วนใหญ่การนวดแบบสวีดิชมักจะเริ่มจากส่วนต้นไปหาส่วนปลาย ยกเว้นการลูบหนัก เพราะต้องการให้เลือดดำไหลกลับเข้าสู่หัวใจ แรงกดจึงควรมีทิศทางเดียวกับการไหลกลับของหลอดเลือดดำ โดยเริ่มกดเบาๆ แล้วค่อยๆ แรงขึ้น เมื่อต้องการให้ได้ผลในส่วนลึกก็ต้องกดให้ลึกลงไป แต่ต้องเป็นแรงกดที่มีจังหวะสม่ำเสมอ ไม่กระชาก ต้องมีความนุ่มนวล ผู้ที่ได้รับการนวดจะรู้สึกสบายและผ่อนคลายเมื่อนวดช้าๆ อย่างมีจังหวะ และจะทำให้การไหลเวียนของเลือดเร็วขึ้นเมื่อนวดเป็นจังหวะแบบเร็ว

การคลึง การหยิบ การบีบบิด และการม้วนผิวหนัง จะทำให้เกิดรีเฟล็กซ์ของแอกซอน(axon reflex) หรือจากฮีสตามีน ส่งผลให้มีการไหลเวียนของเลือดดี ในหลอดเลือดฝอยมีการคั่งของเลือดลดลง มีการระบายน้ำเหลืองได้ดี ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง ที่ผิวหนังมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้มีการยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อดีขึ้น แผลเป็นที่ผิวหนังจะอ่อนนุ่มลง ส่วนผลโดยรวมของการเคาะ สับ ตี ทุบเบาๆ ลงบนกล้ามเนื้อ จะช่วยในการขับเสมหะ ทำให้หลอดเลือดหดและขยายตัวทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะใช้กับรายที่มีอาการหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ช่วยลดอาการปวดหลังจากตัดแขนขา แต่ในรายที่มีอาการชาแบบซ่าๆ กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง แผลใหม่ๆ อาการบวม มะเร็งปอด หรืออาการนอนไม่หลับ ห้ามใช้วิธีนี้ ส่วนการขยี้ จะใช้กับอาการปวดที่เป็นจุดกดเจ็บลึกเฉพาะที่ เช่น เมื่อเกิดกล้ามเนื้อฉีกขาด เอ็นอักเสบ ข้อแพลง เนื่องจากเมื่อขยี้ทำให้มีสารที่คล้ายฮีสตามีนหลั่งออกมาส่งผลให้หลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณนั้นเกิดการขยายตัว ส่วนการนวดแบบสั่นสะเทือนและการเขย่า จะทำให้กระเพาะและลำไส้มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น ทำให้เสมหะที่เกาะอยู่ในปอดหลุดออกมา ทำให้รู้สึกสบาย และหายจากอาการปวดได้

ผลที่ได้รับจากการนวด จะมีทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยทางร่างกายจะทำให้ระบบไหลเวียน ระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ส่วนด้านจิตใจก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า