สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ระบบประสาทส่วนกลาง (CNS)

CNS ประกอบด้วยไขสันหลังกับสมองดังนี้

(1) ไขสันหลัง (spinal Cord) ไขสันหลังประกอบด้วยนิวโรนที่ติดต่อเชื่อมโยงกับรีเซ็ปเตอร์ เพื่อนำเอาข่าวสารเข้ามาในไขสันหลัง เรียกว่า นิวโรนนำเข้า (Afferent Neurons) นิวโรนที่ติดต่อเชื่อมโยงกับอิฟเฟคเตอร์ เพื่อส่งข่าวสารจากไขสันหลังไปสู่กล้ามเนื้อและต่อม เรียกว่า นิวโรนส่งออก (Efferent Neurons) และนิวโรนที่เชื่อมโยงระหว่างนิวโรนนำเข้ากับนิวโรนส่งออก ทำหน้าที่ติดต่อระหว่างนิวโรนทั้งสองชนิดนี้และยังทำหน้าที่ส่งข่าวสารเข้าสู่ และออกจากสมองอีกด้วย นิวโรนชนิดนี้เรียกว่า นิวโรนตัวเชื่อม (Connector Neurons)

ไขสันหลังมีลักษณะเป็นลำยาวๆ ทอดอยู่ภายในช่องกระดูกสันหลังตลอดความยาวของลำตัว หากเราตัดไขสันหลังตามขวาง จะเห็นว่าส่วนกลางของไขสันหลังประกอบด้วยวัตถุสีเทา เรียงกันเป็นรูปตัว H บริเวณนี้เป็นส่วนรวมตัวเซลล์ของนิวโรนตัวเชื่อม และนิวโรนส่งออก ส่วนวัตถุสีขาวๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว H เป็นเส้นใยประสาทของนิวโรนที่เชื่อมโยงกับสมอง ใยประสาทของนิวโรนส่วนมากมีไขมันสีขาวห่อหุ้มจึงทำให้แลดูเป็นสีขาว

โดยทั่วไป ไขสันหลังมีหน้าที่อยู่สองประการคือ

(1) เป็นระบบส่งกระแสประสาทไปสู่สมองเพื่อตีความและสั่งการ และในขณะเดียวกันก็รับกระแสประสาทจากสมองซึ่งเป็นคำสั่งการไป สู่อิฟเฟคเตอร์ และ

(2) เป็นตัวเชื่อมโยงรีเซ็ปเตอร์กับอิฟเฟคเตอร์โดยตรง การเชื่อมโยงโดยตรงนี้ ทำให้คนและสัตว์สามารถมีกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้รวดเร็วฉับพลัน เช่นการกระตุกของกล้ามเนื้อเมื่อถูกเข็มแทง การกระตุกของกล้ามเนื้อหน้าขาเมื่อถูกเคาะที่หัวเข่า กิริยาตอบสนองแบบนี้เรียกว่า กิริยาสะท้อน (Reflex Action) (ดูรูป 4.5)

จิตวิทยา6

ลำดับขั้นของการเกิดกิริยาสะท้อนที่ผ่านไขสันหลังมีอยู่สามขั้นคือ เมื่อรีเซ็ปเตอร์ได้รับสิ่งเร้า (การเคาะ) (1) รีเซ็ปเตอร์ จะส่งข่าวสารไปตามนิวโรนนำเข้าไปยังไขสันหลัง (2) ข่าวสาร จะผ่านนิวโรนตัวเชื่อม (3) เข้าสู่นิวโรนส่งออกซึ่งติดต่อกับอิฟเฟคเตอร์ (กล้ามเนื้อหน้าขา) ไปสู่อิฟเฟคเตอร์ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อ กิริยาสะท้อนบางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ต้องผ่านนิวโรนตัวเชื่อมในไขสันหลัง กระแสประสาทจะส่งจากนิวโรนนำเข้าไปยังนิวโรนส่งออกโดยตรง อย่างไรก็ดี กิริยาสะท้อนไม่จำเป็นต้องเกิดจากไขสันหลังเสมอไป มีกิริยาสะท้อนหลายอย่างควบคุมโดยสมองและไม่ผ่านไขสันหลัง นอกจากนี้ยังมีกิริยาสะท้อนบางอย่างที่ควบคุมโดยสมอง และไขสันหลังพร้อมกัน

(2) สมอง (The Brain) สมองเป็นศูนย์กลางควบคุมพฤติกรรมการรู้สึก การรับรู้ การจำ การคิด และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายใน และควบคุมการทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกายเพื่อให้ทำงานอย่างมีระเบียบสอดคล้องกัน เราอาจแบ่งสมองออกเป็นสามส่วนคือ

ก. สมองส่วนหลัง (Hindbrain) สมองส่วนหลังเป็นส่วนที่อยู่ติดกับปลายบนของไขสันหลัง ประกอบด้วย เมดัลลา เซรีเบลลัม และพอนส์

เมดัลลา (Medulla) เป็นส่วนที่ต่อจากไขสันหลังเป็นส่วนที่เส้นประสาทจากไขสันหลัง ต้องผ่านเพื่อไปสู่ส่วนอื่นๆ ของสมองและเป็นที่ที่เส้นประสาทจากซีกซ้ายของไขสันหลังไขว้มาทางซีกขวาของสมองและซีกขวาไขว้ไปซีกซ้าย นอกจากเป็นทางผ่านของเส้นประสาทแล้ว เมดัลลา ยังประกอบด้วยนิวโรนที่ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ การกลืนอาหาร การย่อยอาหาร และการเต้นของหัวใจ

เซรีเบลลัม (cerebellum) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สมองน้อย เป็นส่วนที่อยู่ด้านหลังของเมดัลลา มีรูปร่างคล้ายผมมวยตั้งอยู่ระดับท้ายทอยพอดี เซรีเบลลัมแบ่งออกเป็นสองซีกใหญ่ๆ คือซีกซ้ายและซีกขวา มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และการประสานงานของกล้ามเนื้อเพื่อให้การเคลื่อนที่ของร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นไปอย่างราบเรียบ ไม่ตะกุกตะกัก หากเซรีเบลลัมส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลาย การประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ จะเกิดปัญหา แม้การกระทำง่ายๆ เช่นเอานิ้วชี้มือขวาแคะที่ปลายจมูก ก็จะกระทำได้ยาก

พอนส์ (pons) เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ถัดจากเมดัลลาขึ้นไปข้างบน เป็นทางผ่านของเส้นประสาทจากไขสันหลังที่จะไปสู่ส่วนอื่นๆ ของสมอง และเป็นที่เชื่อมโยงระหว่างเซรีเบลลัมซีกซ้ายและซีกขวา (ดูรูป 4.6)

จิตวิทยา7

ข. สมองส่วนกลาง (Midbrain) สมองส่วนกลางเป็นทางผ่านของเส้นประสาทที่จะไปสู่สมองส่วนหน้า และทำหน้าที่ควบคุมการกลอกกลิ้งของลูกนัยน์ตา เพื่อติดตามวัตถุที่เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังควบคุมกิริยาสะท้อนเกี่ยวกับการเห็น การได้ยิน และการสัมผัสด้วย

ค. สมองส่วนหน้า (Forebrain) สมองส่วนหน้าเป็นส่วนควบคุมที่ทำหน้าที่สูงสุด อาจแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ทาลามัส ระบบลิมบิค และเซรีบรัม

ทาลามัส (Thalamus) ตั้งอยู่บนสมองส่วนกลาง เป็นสถานีถ่ายทอดกระแสประสาทที่สำคัญ กระแสประสาทจากรีเซ็ปเตอร์ ไขสันหลัง สมองส่วนหลัง และสมองส่วนกลาง จะมารวมกันที่ศูนย์กลางต่างๆ ในทาลามัส เพื่อส่งต่อไปยังส่วนต่างๆ ของเซรีบรัม ทาลามัสเป็นระบบจ่ายกระแสประสาทที่มาจากตาจะถูกส่งไปยังส่วนของเซรีบรัมที่ทำหน้าที่รู้สึกเห็น กระแสประสาทที่มาจากหูจะถูกส่งไปยังส่วนที่ทำหน้าที่การได้ยิน กระแสประสาทที่มาจากรีเซ็ปเตอร์อื่นๆ ก็จะถูกส่งไปยังส่วนที่ทำหน้าที่รับกระแสประสาทนั้นๆ เพื่อตีความและสั่งการต่อไป

ระบบลิมบิค (Limbic System) ประกอบด้วยศูนย์ประสาทที่กระจัดกระจายอยู่รอบๆ ทาลามัส ทำงานเป็นระบบที่ซับซ้อน ศูนย์ประสาทในระบบลิมบิคควบคุมพฤติกรรมอัตบาล เช่น การทำงานของหัวใจ การย่อยอาหาร และควบคุมระบบอุณหภูมิของร่างกาย อารมณ์ แรงจูงใจ ตลอดจนการจำ จะขออธิบายส่วนที่สำคัญๆ ของระบบลิมบิคดังนี้

-ไอโปทาลามัส (Hypothalamus) มีขนาดประมาณเม็ดถั่วลิสง อยู่ข้างใต้ทาลามัส ทำหน้าที่ควบคุมความหิว ความกระหายน้ำ ความก้าวร้าว ความรู้สึกทางเพศ ความรู้สึกว่า “มีความสุข” ปริมาณน้ำตาลในโลหิต วัฏจักรการหลับและการตื่นของคน ตลอดจนควบคุมให้ร่างกายมีอุณหภูมิอยู่ในระดับปกติ เช่น เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดตํ่าลง ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในไฮโปทาลามัสก็จะทำงานเพื่อยังผลให้ร่างกายสั่นอันเป็นการออกกำลังที่จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ศูนย์ควบคุมอุณหภูมินก็จะทำให้เหงื่อออกเพื่อลดอุณหภูมิ กระบวนการปรับอุณหภูมิให้กลับอยู่ในระดับปกติทุกครั้งที่อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงนี้ เรียกว่า โฮเมโอสเตซิส (Homeostasis)

-บริเวณเซ็ปตัล (septal Area) ตั้งอยู่ด้านหน้าของไฮโปทาลามัส แต่อยู่ในระดับที่สูงกว่าเล็กน้อย บริเวณเซ็ปตัลมีใยประสาทเชื่อมโยงกับไฮโปทาลามัส การทำลายบริเวณเซ็ปตัลจะทำให้สัตว์มีความดุร้าย และก้าวร้าว เป็นที่สันนิษฐานกันว่ากระแสประสาทที่ส่งจากสมองส่วนหน้าผ่านบริเวณเซ็ปตัลเข้าไปในไฮโปทาลามัส จะทำหน้าที่ระงับอารมณ์โกรธ

-อมิกดาลา (Amygdala) ตั้งอยู่ด้านข้างของไฮโปทาลามัส มีใยประสาทเชื่อมโยงกับไฮโปทาลามัสเช่นเดียวกันกับที่บริเวณเซ็ปตัล การทำลายอมิกดาลาจะทำให้สัตว์ที่เคยดุร้ายและก้าวร้าวกลายเป็นสัตว์ที่เซื่องซึมไม่สู้คนอื่นเลย จึงเป็นที่สันนิษฐานกันว่ากระแสประสาทที่ส่งจาก อมิกดาลาเข้าไปในไฮโปทาลามัส จะกระตุ้นให้สัตว์มีอารมณ์โกรธ และก้าวร้าว นอกจากนี้การกระตุ้นอมิกดาลายังทำให้สัตว์หยุดรับประทานอาหารและทำให้เลิกพฤติกรรมทางเพศ

-ซิงกิวเลต ไจรัส (cingulate Gyrus) เป็นส่วนที่อยู่บนสุดของระบบลิมบิค ส่วนนอกเป็นเปลือกหรือ คอร์เท็กซ์ (Cortex) ด้านบนของระบบลิมบิค ทำหน้าที่คล้ายอมิกดาลา หากถูกทำลายจะทำให้เซื่องซึมไม่สู้ใคร

-ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ตั้งอยู่ข้างใต้ด้านข้างทาลามัส และไฮโปทาลามัส ทำหน้าที่ควบคุมความต้องการทางเพศและจำประสบการณ์ ผู้ที่สูญเสียฮิปโปแคมปัสจะจำสิ่งต่างๆ ได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปเพียงชั่วครู่ ความจำนนจะหายสาปสูญไปทันที

เซรีบรัม (cerebrum) เป็นส่วนที่อยู่สูงสุดของสมอง ครอบคลุมบริเวณสมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง เซรีบรัมแบ่งออกเป็นสองซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา โดยมีเส้นแบ่งเป็นร่องลึกยาวตั้งแต่บริเวณหน้าผากผ่านศีรษะไปจรดท้ายทอย เซรีบรัมทั้งสองซีกนี้เชื่อมโยงสู่กันด้วย ใยประสาทมากมายผนึกกัน คล้ายสะพานซึ่งเชื่อมส่วนล่างของเซรีบรัมเข้าด้วยกัน ใยประสาทเชื่อมโยงนี้เรียกว่า คอร์ปัส แคลโลซัม (Corpus Callosum) เซรีบรัมแต่ละซีกจะควบคุมการทำงานของร่างกายเพียงซีกเดียวแต่จะสลับข้างกัน คือ เซรีบรัมซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา และเซรีบรัมซีกขวาควบคุมซีกซ้ายของร่างกายตัวอย่างเช่น การเขียนหนังสือด้วยมือขวา เป็นการสั่งงานของเซรีบรัมซีกซ้าย ส่วนการใช้เท้าซ้ายเป็นการสั่งงานของเซรีบรัมซีกขวา

ส่วนพื้นผิวรอบนอกของเซรีบรัมมีสีเทา เรียกว่า คอร์เท็กซ์ ของเซรีบรัม แลดูคล้ายเปลือกที่ห่อหุ้มเซรีบรัม บริเวณคอร์เท็กซ์เป็นที่รวมของตัวเซลล์ของนิวโรน จึงทำให้แลดูเป็นสีเทา ส่วนกลางของเซรีบรัมที่คอร์เท็กซ์ห่อหุ้มเป็นเส้นใยประสาทของนิวโรน และเป็นส่วนที่มีสีขาวเพราะเส้นใยประสาทมักมีไขมันห่อหุ้มผิวของเซรีบรัมขรุขระขดเป็นปุ่มๆ ทำให้เซรีบรัมมีพื้นที่ผิวเพิ่มขึ้นอีกมาก ในเซรีบรัมมีนิวโรนรวมกันถึง 9 พันล้านตัว ซึ่งเป็นเศษสามส่วนสี่ของนิวโรนทั้งหมดที่มีในสมองของคน

ตรงบริเวณประมาณกลางศีรษะ มีร่องลึกขวางแบ่งเซรีบรัมออกเป็นสองส่วน คือส่วนหน้าและส่วนหลัง ร่องแบ่งนี้เรียกว่า ร่องกลาง (Central Fissure) ส่วนของเซรีบรัมที่อยู่ด้านหน้าของร่องกลางเรียกว่า กลีบหน้า หรือกลีบฟรอนตัล (Frontal Lobe) ส่วนเซรีบรัมที่อยู่ด้านหลัง เรียกว่า กลีบบน หรือกลีบพาไรตัล (Parietal Lobe) ซึ่งเป็นบริเวณติดต่อไปจนถึงด้านหลังของศีรษะ ส่วนที่อยู่ด้านหลังสุด ซึ่งอยู่บริเวณท้ายทอยเรียกว่า เซรีบรัม กลีบท้ายทอย หรือกลีบออกซิปิตัล (occipital Lobe) ด้านข้างของเซรีบรัมก็มีร่องแบ่งอีกเช่นกัน แต่เป็นร่องแบ่งเฉียงๆ ร่องนี้เรียกว่า ร่องข้าง (Lateral Fissure) เซรีบรัมที่อยู่ด้านหน้าของร่องข้างทั้งซีกซ้าย และซีกขวายังคงเป็นกลีบหน้า แต่ส่วนที่อยู่ด้านหลังของร่องข้างเรียกว่า เซรีบรัม กลีบขมับ หรือกลีบเทมโปรัล (Temporal Lobe) (ดูรูป 4.7)

จิตวิทยา10

ส่วนต่างๆ ของคอร์เท็กซ์ของเซรีบรัมทำหน้าที่ต่างๆ กันดังนี้

-บริเวณเมอเตอร์ (Motor Area) เป็นบริเวณเซรีบรัมกลีบหน้าที่อยู่ติดกับร่องกลาง ซึ่งแบ่งเซรีบรัมกลีบหน้าและเซรีบรัมกลีบบนออกจากกัน บริเวณมอเตอร์เป็นแถบยาวที่ตั้งต้นจากร่องข้างของเซรีบรัมด้านซ้ายไปจรดร่องข้างของเซรีบรัมด้านขวา การใช้เข็มนำไฟฟ้ากระตุ้นบริเวณนี้ จะทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว การกระตุ้นส่วนที่อยู่ข้างบนที่อยู่กลางศีรษะพอดี จะทำให้ส่วนล่างของร่างกาย เช่น เท้าหรือนิ้วเท้าเคลื่อนไหวถัดมาทางด้านข้างเล็กน้อยเป็นบริเวณที่ควบคุมแขน มือ นิ้วมือ ฯลฯ ส่วนด้านข้างควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้า

-บริเวณความรู้สึกทางกาย (Somatosensory Area) เป็นบริเวณเซรีบรัมกลีบบนที่อยู่ติดกับบริเวณมอเตอร์ มีร่องกลางแบ่งทั้งสองบริเวณออกจากกัน บริเวณรับความรู้สึกทางกายมีรูปร่างเป็นแถบยาวคล้ายบริเวณมอเตอร์ และแบ่งส่วนควบคุมต่างๆ คล้ายบริเวณมอเตอร์ด้วย คือส่วนบนรับความรู้สึกสัมผัสหรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนล่างของร่างกาย ด้านข้างรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ส่วนของร่างกายที่ไวต่อการสัมผัสเช่นใบหน้าและริมฝีปาก จะมีส่วนของเซรีบรัมที่คอยรับความรู้สึกเป็นบริเวณกว้างกว่าส่วนอื่นๆ (ดูรูป 4.8)

จิตวิทยา8

-บริเวณทัศนาการ (visual Area) อยู่ในเซรีบรัมกลีบท้ายทอย มีหน้าที่รับรู้ข่าวสาร ที่ส่งมาทางตา หากส่วนนี้ของสมองถูกทำลาย การเห็นภาพของเราจะเกิดปัญหาทันที เราจะไม่สามารถบอกว่าสิ่งที่ปรากฎตรงหน้านั้นเป็นรูปอะไร เป็นรูปสามเหลี่ยม วงกลมหรือสี่เหลี่ยม จากการทดลองกับแมว พบว่านิวโรนในบริเวณทัศนาการนี้ทำหน้าที่ต่างๆ กัน นิวโรนแต่ละตัวมีหน้าที่ของมันโดยเฉพาะ นิวโรนที่ทำหน้าที่ “เห็น” เส้นตรงเคลื่อนที่จะทำงานเมื่อมีภาพเส้นตรงเคลื่อนที่ผ่านรีเซ็ปเตอร์ที่ตา นิวโรนที่ทำหน้าที่ “เห็น” มุมฉากจะทำงานเมื่อมีมุมฉากมาปรากฎตรงหน้า นิวโรนบางตัวจะไวต่อเส้นตะแคงในองศาใดองศาหนึ่ง และ

นิวโรนบางตัวจะตอบสนองเมื่อมีตัวอื่นๆ ทำงานพร้อมๆ กัน ทำให้ส่วนต่างๆ ของภาพรวมกันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา การค้นพบนี้ช่วยให้เข้าใจการทำงานของระบบการเห็นได้ดีขึ้นมาก ผู้ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องนี้สองคนคือฮิวเบิล และวีเซิล (Hubei and Wiesel, 1965) จึงได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. 2524

-บริเวณโสตรการ (Auditory Area) เป็นบริเวณที่อยู่ในเซรีบรัมกลีบขมับบางส่วน จะไวต่อเสียงสูง บางส่วนไวต่อเสียงต่ำ บริเวณโสตรการทั้งซีกซ้ายและซีกขวามีเส้นประสาทติดต่อกับหูทั้งสองข้าง ดังนั้นการสูญเสียเซรีบรัมกลีบขมับเพียงซีกเดียวจะไม่กระทบกระเทือนพฤติกรรม การได้ยินมากนัก

-บริเวณเชื่อมโยง (Association Areas) บริเวณคอร์เท็กซ์ นอกเหนือจากบริเวณมอเตอร์และบริเวณรับความรู้สึก เรียกรวมๆ กันว่าบริเวณเชื่อมโยง เชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่ควบคุมพฤติกรรมภายในหลายอย่างเช่น การจำ ความตั้งใจ ตลอดจนการใช้ภาษาและเข้าใจภาษา การใช้ไฟฟ้าจี้ตามส่วนต่างๆ ของบริเวณเชื่อมโยงทำให้ประสบการณ์เก่าๆ กลับมาให้เห็นหรือได้ยินอย่างชัดเจน บริเวณเชื่อมโยงที่อยู่ด้านหน้าของบริเวณมอเตอร์ในเซรีบรัมกลีบหน้าหากถูกทำลายจะทำให้คนไม่สามารถวางแผนงานและตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง ใจคอวอกแวกตลอดเวลา บางทีตั้งใจจะไปรินน้ำดื่ม พอเหลือบเห็นกริ่งพยาบาลก็กดโดยลืมนึกไปว่าเดิมตั้งใจจะไปรินน้ำ พอพยาบาลเข้ามาก็ไม่ทราบว่าคนกดกริ่งเรียกพยาบาลมาด้วยเหตุใด การทำลายบริเวณเชื่อมโยงส่วนหน้าของลิงทำให้ลิงไม่สามารถจำที่ซ่อนอาหาร แม้เวลาจะผ่านไปเพียง 1 หรือ 2 นาทีเท่านั้น และไม่สามารถเรียนแบบสลับซ้ายขวา เช่นถ้าเราเอาอาหารซ่อนไว้ใต้จานซ้าย ครั้งต่อไปซ่อนไว้ใต้จานขวา แล้วสลับซ้ายขวาไปเรื่อยๆ ลิงที่สูญเสียบริเวณเชื่อมโยงส่วนหน้านี้ จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เลยว่าคราวนี้อาหารอยู่ใต้จานไหน ตามปกติลิงจะเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

บริเวณเชื่อมโยงที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณควบคุมการใช้ภาษา ในปีค.ศ. 1861 บรอคา (Broca) พบว่าหากบริเวณด้านซ้ายของเซรีบรัมกลีบหน้า ส่วนที่อยู่ติดกับบริเวณมอเตอร์ถูกทำลาย จะทำให้คนไม่สามารถพูดหรือเขียนได้ โดยที่ไม่สามารถนึกคำที่ต้องการจะพูด หรือจะเขียนทั้งๆ ที่อวัยวะสำหรับการเปล่งเสียงและนิ้วมือยังใช้ได้ปกติ บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า บริเวณบรอคา (Broca’s Area) ในปี ค.ศ. 1874 เวอร์นิเค (Wernicke) พบอีกว่า หากคนเราสูญเสียเซรีบรัมกลีบขมับด้านซ้าย ส่วนที่เยื้องไปท้ายทอย จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจภาษา ไม่ว่าจะด้วยการฟังหรือการอ่านก็ตาม บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า บริเวณเวอร์นิคเค (Wernicke’s Area) อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนอื่นๆ ของบริเวณเชื่อมโยงที่อยู่ทางซีกซ้ายและส่วนบนของเซรีบรัมที่มีส่วนควบคุมพฤติกรรมการเข้าใจและการใช้ภาษา

เคยมีความเชื่อว่าบริเวณควบคุมพฤติกรรมการเข้าใจและการใช้ภาษานี้จะอยู่ในเซรีบรัมซีกซ้ายของคนที่ถนัดใช้มือขวาและอยู่ในเซรีบรัมซีกขวาของคนที่ถนัดใช้มือซ้าย อย่างไรก็ดี มีหลักฐานหลายอย่างที่ขัดกับความเชื่อนี้ เช่นพบว่าผู้ที่ถนัดใช้มือซ้ายส่วนมากมีบริเวณควบคุมการเข้าใจและใช้ภาษาอยู่ในด้านซ้ายของสมอง ผู้ถนัดซ้ายบางคนเท่านั้นที่มีบริเวณควบคุมภาษาอยู่ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา

(3) เรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่น (Reticular Formation) เรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่น เป็นกลุ่มนิวโรนรวมตัวกันเป็นลำยาวตั้งแต่ไฮโปทาลามัส ผ่านสมองส่วนกลางไปจรดสมองส่วนหลัง มีขนาดเท่านิ้วก้อยของคน ภายในเรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่นมีเส้นใยประสาทเชื่อมโยงระหว่างนิวโรนที่รวมตัวกันเป็นระบบคล้ายร่างแห (Reticular แปลว่า เป็นร่างแห) กระแสประสาทที่ส่ง มาจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะผ่านระบบเรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่น เพื่อเรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่นจะได้ส่งกระจายไปทั่วๆ คอร์เท็กซ์ โดยไม่คำนึงว่ากระแสประสาทนั้นมาจากส่วนใดและนำข่าวสารประเภทใด การทำงานของเรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่น จึงแตกต่างจากการทำงานของทาลามัส ซึ่งทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทต่อไปยังคอร์เท็กซ์เช่นกัน แต่ทาลามัสจะกลั่นกรองให้กระแสประสาทที่มาจากตาผ่านไปสู่บริเวณทัศนาการที่คอร์เท็กซ์ส่วนท้ายทอย และกระแสประสาทที่มาจากหูผ่านไปสู่บริเวณโสตรการเป็นแห่งๆ จำเพาะเจาะจงลงไป (ดูรูป 4.9)

จิตวิทยา9

เป็นที่เชื่อกันว่า เรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่น ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นตัวและการง่วงหลับ ของอินทรีย์ การกระตุ้นส่วนนี้ของสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จะปลุกคนหลับให้ตื่น และคนตื่นให้รู้สึกตื่นตัวมากยิ่งขึ้น ระบบเรติคิวลาร์ ฟอร์เมชั่นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบตื่นตัวเรติคิวลาร์ (Reticular Activating System) อย่างไรก็ดี การค้นคว้ต่อมาพบว่า ระบบตื่นตัว เรติคิวลาร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบควบคุมการตื่นตัวและการง่วงหลับของคนและสัตว์เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของสมองเช่น ไฮโปทาลามัส ก็มีศูนย์ควบคุมการหลับและการตื่นเช่นกัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า