สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการของโรคทางจิตในระดับความรู้สึกตัว

อาการของโรคทางจิต

(Symptomatology)

โดยปกติการวินิจฉัยโรคทางกายขึ้นกับสาเหตุ พยาธิสภาพ อาการและอาการแสดงโรคทางจิตใจบางอย่าง เช่น โรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย (Organic psychotic conditions) ก็อาจใช้หลักเดียวกันนี้ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วโรคทางจิตใจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ปัจจัยทางสรีรวิทยา ชีววิทยา และชีวเคมี ปัจจัยทางสังคม และอื่นๆ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุของโรค นอกจากนั้นจิตพยาธิวิทยาก็ยังไม่ชัดเจนและแน่นอน จึงทำให้การวินิจฉัยต้องขึ้นกับอาการและอาการแสดงเป็นสำคัญ ถ้าเข้าได้กับลักษณะที่อธิบายไว้ในโรคใดก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนั้น โดยทั่วไปอาการและอาการแสดงของโรคทางจิตจำแนกออกเป็นพวก ๆ เพื่อสะดวกในการตรวจและการวิเคราะห์ได้แก่

ความผิดปกติในระดับความรู้สึกตัว (Disturbances of consciousness)

ผิดปกติในระดับความรู้สึกตัว

Confusion เป็นสภาวะซึ่งความสนใจและการรับรู้สิ่งเร้า (perception) ในสิ่งแวดล้อมเลวลง ทำให้เสียความสามารถในการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล พบบ่อยในโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย หรือหลังจากถูกช็อคด้วยไฟฟ้า

Stupor เป็นสภาวะที่ขาดความสนใจ และขาดปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งแวดล้อม พบในโรคจิตที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย และโรคจิตเภทแบบ catatonic

Delirium เป็นสภาวะที่สับสน งุนงง กระสับกระส่าย และเสียความสามารถในการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคลร่วมกับมีความกลัว และประสาทหลอน พบในโรคจิต ที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย

Coma เป็นสภาวะซึ่งผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกตัวเหลืออยู่ หรือหมดสติ พบในโรคของสมอง หรือสภาวะทางร่างกายที่รบกวนการทำงานของสมอง

Dream state เป็นภาวะฝ้าฟางของระดับความรู้สึกตัว (clouding of consciousness) ชั่วคราวร่วมกับมีอาการประสาทหลอน ผู้ป่วยจะขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม อาจกระทำพฤติกรรมรุนแรง หรือทำตรงข้ามกับปกติวิสัยของเขา พบในโรคประสาทแบบ ฮิสทีเรีย และโรคลมชัก

Fugue state คือสภาวะที่ผู้ป่วยเสียความรู้สึกตัวไปชั่วขณะหนึ่ง และหนีไปจากสิ่งแวดล้อมของเขาในขณะนั้น เมื่อกลับมาสู่สภาวะรู้สึกตัวใหม่ เขาจะจำไม่ได้ว่าจากสิ่งแวดล้อมนั้นไปได้อย่างไร เช่น พอรู้สึกตัวก็พบว่าตัวเองอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่จำไม่ได้ว่าเดินทางจากกรุงเทพมาเชียงใหม่ได้อย่างไร พบในโรคประสาทแบบฮิสทีเรีย และโรคลมชัก

Sleep disorders (ผิดปกติในการนอนหลับ) ได้แก่

Hypersomnia คือการนอนหลับมากเกินไป พบในโรคของศูนย์รับอารมณ์ (hypothalamus) และโรคประสาทแบบฮิสทีเรีย

Narcolepsy คือ การนอนหลับอย่างทันทีทันใด มักเกิดในคนที่มีความผิดปกติที่ศูนย์รับอารมณ์ หรือมีอารมณ์ผิดปกติ

Insomnia คือ การนอนไม่หลับ มี ๒ อย่าง ได้แก่ initial insomnia คือการหลับยาก แต่พอหลับแล้วก็หลับได้ดี พบในคนที่วิตกกังวล กับ terminal insomnia คือมักจะหลับตอนหัวค่ำและตื่นตอนดึกๆ เวลาตี ๒ ตี ๓ แล้วหลับต่อได้ยากมาก หรือไม่หลับอีกเลย พบในคนที่มี endogenous depression

Inversion of sleep rhythm คือ การเปลี่ยนจังหวะการนอนหลับ เช่น การหลับในเวลากลางวันและตื่นในเวลากลางคืน พบในคนที่มีความผิดปกติที่ศูนย์รับอารมณ์ หรือในคนปกติที่ได้รับการฝึกหัดก็อาจเปลี่ยนจังหวะการนอนหลบได้

Sleep deprivation คือ การอดนอนตั้งแต่ ๓๖ ชั่วโมงขึ้นไป ด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หรือความคิดหวาดระแวงได้

ผิดปกติในความตั้งใจ (attention)

Distractibility คือความไม่สามารถที่จะตั้งสมาธิได้ ความตั้งใจเปลี่ยนแปลงง่ายตามสิ่งเร้าต่าง ๆ

Selective inattention คือการไม่มีสมาธิเฉพาะในสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวล เช่น กังวลกลัวจะสอบตก ทำให้ไม่มีสมาธิในการดูหนังสือ

ผิดปกติเกี่ยวกับการคล้อยตาม (suggestibility)

Folie a deux คือสภาวะซึ่งคน ๒ คนที่ใกล้ชิดกันมาก (มักจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน) มีความหลงผิดเหมือนกัน

Hypnosis คือสภาวะซึ่งยอมรับการชักจูงง่ายขึ้น เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับความรู้สึกตัวของคน ๆ นั้นเนื่องจากการกระทำบางอย่าง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า