สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาเสพติด:ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน

ฝิ่น

ฝิ่น มอร์ฟีน และเฮโรอีน

ฝิ่น มอร์ฟีน และเฮโรอีนเป็นยาเสพติดร้ายแรง และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ยานี้เดิมทีนำมาใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และ ยาแก้ปวด มอร์ฟีนทำให้เกิดอาการ ชา ง่วงซึม และมีความรู้สึกสบาย มอร์ฟีนและเฮโรอีนที่ให้ทางหลอดเลือดดำจะทำให้รู้สึกร้อน ที่ท้องส่วนล่าง ซึ่งเป็นความรู้สึกคล้าย การมีความสุขสุดยอดทางเพศ (orgasm) เมื่อใช้ตอนแรกๆ จะทำให้ขยัน แต่ต่อมาจะง่วงซึมและกิจกรรมลดลง ยากลุ่มนี้กดการหายใจด้วยเพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุตายที่สำคัญในรายที่ใช้ยาเกินขนาด นอกจากนั้นยังทำให้ม่านตาแคบลง ท้องผูก บางครั้งคลื่นไส้อาเจียนด้วย

การใช้ยากลุ่มนี้นานๆ จะทำให้ libodo ลดลง ประจำเดือนอาจจะขาด และหมดความสนใจหรือหมดความรู้สึกทางเพศ

ผู้ติดยานี้ส่วนใหญ่มักจะใช้ยาอื่นอีกหลายชนิดมาก่อน เช่น บุหรี่ สุรา กัญชา แอมเฟตามีน ยานอนหลับ และยาหลอนประสาท แต่เมื่อเขาติดยาตัวนี้เขาจะใช้ยานี้เป็นหลัก ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้ยานี้อย่างผิดๆ จะใช้จนกระทั่งเสพติด (DSM-IIl)

เมื่อเสพติดยานี้แล้วจะรักษาให้หายได้ยากมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เสพติดอยู่ในแหล่งที่สามารถจะหายาได้ คนเหล่านี้อาจจะหยุดยาได้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาที่มารับการรักษา ติดคุก หรือเมื่อหายาไม่ได้เป็นบางระยะ แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ในกรณีที่ผู้เคยเสพติดซึ่งได้รับการรักษา แล้วย้ายไปอยู่ในที่ที่ไม่สามารถหายามาเสพได้อีก ก็สามารถหายจากการเสพติดได้เหมือนกัน

(DSM-III)

ผลของยาเสพติดประเภทฝิ่นต่อร่างกายและจิตใจ

๑. บรรเทาอาการเจ็บปวด

๒. จิตใจเป็นสุข สงบ และหลับ

๓. ในกรณีที่ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขณะที่ยาวิ่งเข้าสู่กระแสโลหิตจะรู้สึกร้อนซ่าแผ่ซ่านไปทั่วท้อง เกิดความรู้สึกคล้ายมีความสุขสุดยอดทางเพศแต่ดีกว่า หลังจากนั้นจะสงบและอาจหลับไปชั่วครู่

ความรู้สึกเป็นสุขในรายที่เสพโดยการฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ อาจเป็นผลจากขบวนการฉีดเองโดยไม่เกี่ยวกับฤทธิ์ของยาก็ได้ นักจิตวิเคราะห์เชื่อว่า ขณะเมื่อคนพวกนี้แทงเข็มเข้าหลอดเลือด ดูดเลือดออกมา และดันเลือดกลับเข้าไปใหม่ เป็นความสุขคล้ายกับได้สอดใส่องคชาตเข้าไปในช่องคลอคและเคลื่อนไหว เข้าออก (Snyder ค.ศ. ๑๙๘๐)

๔. คลื่นไส้ อาเจียน แต่ในคนที่เสพติดแล้วความรู้สึกเป็นสุขที่ได้รับจากยาประเภทนี้ทำให้เขายอมรับอาการนี้อย่างเป็นสุข

๕. ม่านตาแคบลง

๖. ท้องผูก เพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง

๗. กดศูนย์หายใจในสมอง เพราะฉะนั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าใช้ยาเกินขนาด

ลักษณะของคนที่ติดยากลุ่มนี้

นอกจากการมีบุคลิกภาพแบนอันธพาล ไม่พบว่าผู้ติดยาจะมีปัญหาทางจิตเวชอย่างอื่นมากกว่าประชากรทั่วไป ผู้ป่วยพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีประวัติการติดยาอื่นๆ ด้วย เช่น สุรา และยานอนหลับ ซึ่งทำให้การพยากรณ์โรคของคนเหล่านี้ไม่ดี มักพบปัญหาทางโรงเรียน เช่น การหนีโรงเรียนหรือเกเรก่อนการติดยา

พฤติกรรมของผู้ติดยาประเภทฝิ่น

ในรายที่ฐานะดีซึ่งสามารถหายามาเสพได้เสมอและใช้ยาไม่มาก อาจไม่แสดงความผิดปกติทางร่างกายให้เห็น หรือยังสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างดี แต่ในรายที่ฐานะการเงินไม่ดี อาจพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่นกลายเป็นขโมย เป็นโสเภณี เนื่องจากต้องพยายามหาเงินทุกวิถีทางเพื่อนำมาซื้อยาซึ่งมีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ยาไปนานๆ ผู้ติดยาส่วนใหญ่มักจะเพิ่มขนาดของยาขึ้น เมื่อได้รับยาขนาดสูง ความทะเยอทะยานและกำลังกายจะลดลง เฉื่อยชา (lethargy) และมักน้อย อันเนื่องมาจากความรู้สึกสบายเมื่อได้เสพยา ผลก็คือเขาจะเอาใจใส่ต่อการงานน้อยลง กลายเป็นคนเกียจคร้าน ปลีกตัวจากสังคม และมั่วสุมแต่กับพวกผิดกฎหมาย เพื่อที่จะหายามาใช้ให้ได้ตามต้องการ บางคนที่ไม่สามารถหายามาใช้ได้ในขนาดที่เคยจะรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย และทำงานไม่ได้ คนเหล่านี้หลังจากขาดยาชั่วระยะสั้นๆ พอได้ยามาเขาก็มักจะใช้มากเกินความจำเป็น บางรายอาจใช้มากจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

ปัญหาของการใช้ยา

การติดยากลุ่มนี้นอกจากจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่สุขภาพของตนเอง และอาการทางร่างกายจิตใจเมื่อขาดยาแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนจากวิธีเสพยาและฤทธิ์ของยาด้วย สมัยก่อนผู้เสพติดใช้วิธีกินหรือสูดไอซึ่งมีอันตรายน้อย แต่ต่อมาเมื่อยามีราคาแพงและหายากขึ้น ผู้เสพส่วนใหญ่ก็หันมาใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดดำซึ่งเป็นอันตรายจากการติดเชื้อมาก เนื่องจากผู้ใช้ยามิใคร่คำนึงถึงความสะอาด น้ำที่ใช้ผสมยาบางครั้งเป็นน้ำประปาหรือแม้แต่น้ำคลอง เข็มและกระบอกฉีดยาที่ใช้ก็มักไม่ได้ต้มหรือนึ่งให้สะอาดเสียก่อน บางรายความอยากยามีมากทำให้ใช้ยาเกินขนาด และบางรายมีอาการแพ้ยา (hypersensitivity reaction) ได้ นอกจากนั้นการดำเนินชีวิตของคนพวกนี้ยังมักจะร่วมกับความรุนแรงต่างๆ ทำให้อัตราตายของคนพวกนี้สูง ในสหรัฐอเมริกาอัตราตายของคนที่ติดยาประเภทฝิ่นสูงถึง ๑๐ ต่อ ๑,๐๐๐ ของประชากร (DSM-III)

การวินิจฉัย

๑. ผู้ป่วยบอกเองว่าเขาติดยา กรณีเช่นนี้พบได้บ่อยๆ

๒. ในรายที่ปฏิเสธ เราอาจหาวิธีวินิจฉัยได้โดย

๒.๑ ดูรอยเข็มฉีดยาที่ผิวหนัง คลำก้อนแข็งๆ ที่ใต้ผิวหนัง (induration) ที่เกิดจากการฉีดยาที่บริเวณนั้นบ่อยๆ และดูรอยแผล เป็นที่เกิดจากการอักเสบ เนื่องจากการฉีดยา

๒.๒ ดูม่านตาจะพบว่าแคบลง (niiosis) แต่ไม่ใช่หลักฐานที่แน่นอน

๒.๓ ดูพฤติกรรม ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด และวิตกกังวลสลับกับอารมณ์ครึกครื้น ท่าทางเหมือนได้ปลดเปลื้องความทุกข์ทั้งหมดออกไป และไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

๒.๔ การแยกผู้ป่วยจากแหล่งยาเสพติดและดูอาการขาดยา วิธีนี้ต้องระวังเพราะคนพวกนี้ฉลาดและรู้วิธีหายามาใช้ได้แม้จะอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้

๒.๕ การทดสอบโดยฉีด N-allylnormorphine (Nalline) ซึ่งเป็น morphine antagonist จำนวน ๓ มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยที่ใช้ยา morphine ๖๐ มิลลิกรัมต่อวันเป็นอย่างน้อยจะแสดงอาการขาดยาภายในเวลาไม่ถึง ๒๐ นาที ถ้าการฉีด Nalline ครั้งแรกไม่ได้ผลหรือผลยังเป็นที่สงสัย ให้ฉีดซ้ำอีก ๕ มิลลิกรัม ใน ๓๐ นาทีหลังฉีดเข็มแรก และอาจฉีดซ้ำเข็มที่ ๓ ในอีก ๓๐ นาทีหลังเข็มที่ ๒ ถ้าอาการขาดยาไม่ปรากฏ หรือมีอาการจากฤทธิ์ของ Nalline ได้แก่อาการวิงเวียน หนังต่าตกชนิด pseudo­ptosis ม่านตาแคบลง อัตราการหายใจต่ำลง และเกิดความรู้สึกคล้ายจะจมน้ำตาย ก็แปลว่าผลการทดสอบเป็นลบ และไม่ควรพยายามอีกต่อไป วิธีนี้ต้องให้ญาติและผู้ป่วยเซ็นชื่อยินยอมก่อนทำทุกครั้ง

๒.๖ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่การตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อหาชนิด และปริมาณของยาเสพติด

ลักษณะทางคลีนิคของการขาดยา

อาการขาดยาประเภทนี้มักจะเริ่มภายใน ๔-๘ ชั่วโมงหลังจากใช้ยาครั้งสุดท้าย อาการประกอบด้วย

ระยะแรก ผู้ป่วยจะหงุดหงิด กังวล และอยากยา อาการทางกายมี หาว น้ำมูกไหล น้ำตาไหล และเหงื่อออกมาก

อาการของผู้ป่วยจะมากขึ้น และมากที่สุดในระหว่าง ๔๘ ถึง ๗๒ ชั่วโมง ม่านตาจะขยายและลดปฏิกิริยาต่ออแสง ขนลุก ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อกระตุก รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ

ในระยะสุดท้ายของการขาดยา ผู้ป่วยอาจมีอาการ

๑. เป็นไข้ และสั่น

๒. ความดันโลหิตสูงขึ้น

๓. คลื่นไส้และอาเจียน

๔. น้ำหนักลด

๕. นอนไม่หลับ

๖. รู้สึกมีความสุขสุดยอดทางกามารมณ์ (orgasm) ขึ้นมาได้เอง

๗. ปวดท้อง (abdominal cramp) และท้องเสีย

๘. กระสับกระส่าย

๙. หัวใจเต้นเร็ว

๑๐. หายใจหอบและลึก

อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปช้าๆ และหมดไปภายใน ๗-๑๐ วัน แต่ผู้ป่วยอาจจะยังรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิด กระวนกระวาย และนอนไม่หลับต่อไปอีกเป็นเดือนๆ

อาการของการขาดยาเสพติดประเภทฝิ่นในระยะเวลาต่างๆ

ระยะเวลาเป็นชั่วโมงหลังหยุดยา

อาการ

เฮโรอีน

มอร์ฟีน

โคเดอิน

 

อยากยา วิตกกังวล
๑๖ ๒๔ หาว เหงื่อแตก น้ำตาไหล น้ำมูกไหล หลับ
๑๒ ๑๖ ๔๘ อาการข้างต้นจะมากขึ้นร่วมกับม่านตาขยาย ขนลุก สั่น(กล้ามเนื้อกระตุก) รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดกระดูก
๑๘-๒๔ ๒๔-๓๖ อาการข้างต้นจะมากขึ้นร่วมกับนอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นไข้ หายใจเร็วและลึก ชีพจรเร็วขึ้น กระสับกระส่าย คลื่นไส้
๒๔-๓๖ ๓๖-๔๘ อาการข้างต้นมากขึ้นร่วมกับหน้าแดงเหมือนเป็นไข้ นอนตัวงออยู่บนพื้น อาเจียน ท้องเดิน น้ำหนักลด (๕ ปอนด์ต่อวัน) มีการหลั่งน้ำกาม หรือถึงจุดสุดยอดทางเพศ (orgasm)ขึ้นมาเอง เลือดเข้มข้นขึ้น(hemoconcentration)

ลักษณะทางคลีนิคในกรณีที่เกิดพิษของยาประเภทฝิ่น

จิตแพทย์จะต้องนึกถึงอาการเนื่องจากพิษของยาประเภทนี้เท่า ๆ กับอาการขาดยา อาการมีดังนี้

๑. อาการทางอารมณ์ อาจมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ ๑.๑ อารมณ์เป็นสุข

๑.๒ อารมณ์เศร้า หรือหงุดหงิด

๑.๓ อารมณ์เฉยชา

๒. อาการทางระบบประสาท ได้แก่

๒.๑ ง่วงซึม

๒.๒ พูดไม่ชัด

๒.๓ การเคลื่อนไหวช้า

๒.๔ ความตั้งใจและความจำเลวลง

๒.๕ การตัดสินใจเสีย

๓. อาการทางร่างกาย

๓.๑ หน้าแดง

๓.๒ ความดันโลหิตต่ำลง

๓.๓ ชีพจรช้าลง

๓.๔ อุณหภูมิของร่างกายลด

๓.๕ ม่านตาแคบลง (ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีม่านตาขยายเนื่องจากสมองขาดอ๊อกซิเจน)

๓.๖ ปากซีดและแห้ง

๓.๗ ช็อค และหมดสติ (coma)

๓.๘ หายใจช้า หรือหยุดหายใจ

การรักษาอาการที่เกิดจากพิษของยาประเภทฝิ่น

๑. ต้องพยายามปลุกให้ผู้ป่วยตื่นอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะยาจะไปกดศูนย์หายใจในสมอง ทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นไม่สามารถกระตุ้นการหายใจได้ เพราะฉะนั้นการหายใจจะเกิดได้เฉพาะจากการบังคับของผู้ป่วย และจะทำไม่ได้ถ้าผู้ป่วยหลับหรือไม่รู้สึกตัว

๒. ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้องดูแลไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน และใช้เครื่องช่วยการหายใจ

๓. ดูดเลือดเพื่อเก็บไว้หาจำนวนและชนิดของสารเป็นพิษ และให้ naloxone hydro­chloride ๓ มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำ ถ้าเป็นพิษจากยาประเภทฝิ่น อาการจะดีขึ้นภายใน ๒ นาที ถ้าอาการยังไม่ดีพออาจให้ซ้ำได้อีก

การรักษาการติดยาประเภทฝิ่น

การรักษาผู้ติดยาเสพติดประเภทฝิ่นจำเป็นต้องทราบถึง

๑. ประวัติของการใช้ยา ว่าใช้ชนิดใด ขนาดเท่าใด ใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร ใช้มานานแค่ไหน บ่อยเท่าไร ใช้โดยวิธีใด ได้ยามาอย่างไร และราคาเท่าไร เพื่อประเมินว่าอาการขาดยาจะรุนแรงแค่ไหน และผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับไปเสพอีกมากน้อยเพียงใด

๒. ลักษณะของผู้เสพติด ผู้เสพติดส่วนใหญ่มักมีบุคลิกภาพแบบอันธพาล คนพวกนี้ มักพูดไม่จริง และไม่มีความตั้งใจจะหยุดยา การมารักษาก็เพื่อจะกลับไปเสพใหม่ในขนาดที่น้อยลงกว่าเดิม แต่ได้ฤทธิ์ของยาเท่ากับตอนเสพครั้งแรกๆ

๓. ความตั้งใจที่จะรักษา ผู้ป่วยเสพติดจำนวนมากมาขอรับการรักษาเพราะบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือกฎหมายบังคับโดยที่ตนเองไม่ต้องการ หรือเพื่อลดขนาดของยาดังกล่าวแล้ว ในรายเช่นนี้การรักษาจะล้มเหลว อันเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและเศรษฐกิจ ทั้งยังทำให้ผู้รักษาเกิดความผิดหวังและเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยเสพติดด้วย เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มทำการรักษาผู้ป่วย ควรพิจารณาถึงปัจจัยนี้ให้ดี

๔. ก่อนจะรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลจะต้องตรวจร่างกายผู้ติดยาเสพติดว่ามีปัญหาแทรกซ้อนทางร่างกายอะไรบ้าง ควรตรวจอย่างละเอียดตามร่างกายโดยเฉพาะที่แขนเพื่อดูรอยเข็มฉีดยา รอยแผล ฝี หรือแผลเป็น การดูรอยแผลช่วยบอกว่าผู้ป่วยใช้ยาครั้งสุดท้ายเมื่อไร ควรตรวจเยื่อบุจมูกว่ามีรอยแผล (erosion) และมีรูทะลุของ nasal septum ไหม การตรวจช่องคลอดและตรวจทวารหนักไม่ควรลืม เพื่อดูว่ามียาเสพติดช่อนอยู่หรือเปล่า

จากนั้นจึงเริ่มรักษาโดยแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ อันเป็นหลักของการรักษาทั่วๆ ไปคือ

๑. การถอนพิษยา (Detoxification) เป็นการรักษาทางร่างกาย ใช้เวลา ๓ สัปดาห์ ประกอบด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

ก. วิธีหักดิบ (Cold turkey) คือให้อดเองโดยไม่ใช้ยาอื่นช่วย

ข. การทดแทนด้วยยากล่อมประสาทชนิดต่างๆ และเมทาโดน ค. การฝังเข็ม (Acupuncture)

๒. การฟื้นฟูจิตใจ (Rehabilitation) ใช้เวลา ๖ เดือน ถึง ๑ ปีได้แก่

ก. การเข้ากลุ่มอภิปราย (Group discussion)

ข. จิตบำบัด (individual หรือ Group psychotherapy)

ค. อาชีวบำบัด (ocupational therapy)

ง. ชุมชนบำบัด (Therapeutic community)

๓. การสร้างเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้กลับไปเสพอีก ได้แก่

ก. คำมั่นสัญญากับตนเอง

ข. คำสาบาน

ค. การใช้ธรรมะช่วย เช่น การพึ่งธรรม การฝึกสมาธิ

๔. วิธีอื่น ได้แก่

ก. การใช้ยาเมทาโดนทดแทน (Methadone maintenance)

ข. การใช้ยาต้านฤทธิ์การเสพติดประเภทฝิ่น (ยา naloxone)

๕. การติดตามผลการรักษา กินเวลา ๑-๕ ปี ในกรณีที่ใช้ยาเมทาโดนทดแทนยาประเภทฝิ่นอาจต้องติดตามผลการรักษาตลอดชีวิต

การรักษาด้วยเมทาโดน

๑. การถอนพิษยาด้วยเมทาโดน

โดยปกติเราจะให้เมทาโดนเป็นจำนวนที่พอดีกับสารประเภทฝิ่นที่ผู้ป่วยได้รับ เช่น ๑ มิลลิกรัมของเมทาโดน ต่อมอร์ฟีน ๓ มิลลิกรัม และต่อเฮโรอีน ๑ มิลลิกรัม

ให้เมทาโดนจำนวนที่คำนวณไว้ ๒-๓ วัน โดยในระยะนี้ก็อาจจะต้องปรับขนาด เมทาโดนด้วย ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย แล้วจึงค่อยๆ ลดขนาดของเมทาโดนลง โดยให้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๗-๑๐ วัน

ในการรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงจากการขาดยาประเภทฝิ่น แต่ก็ต้องระวัง ในรายที่เป็น Myocardial insufficiency

๒. Methadone maintenance program

Methadone maintenance program เกิดขึ้นจากการที่ Vincent Dole และ Marie Nyswander เชื่อว่าการติดยาเป็นโรคทางเมตาบอลิสม์เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ดังนั้นผู้เสพติด ควรจะได้รับยาทดแทนหรือรักษาตลอดไป เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องได้รับยาอินซูลิน ทั้งนี้เพราะยาจะทำให้ “homeostasis” ของร่างกายที่เสียไปนั้นกลับคืนมา เป็นผลให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และสามารถปฎิบัติหน้าที่ทางสังคมได้เหมือนเดิม (Dole และ Nyswander ค.ศ. ๑๙๖๕ และ ๑๙๖๗)

วิธีการคือ ให้เมทาโดนทางปากโดยละลายในน้ำผลไม้ ครั้งแรกใช้เมทาโดน ๑๐-๒๐ มิลลิกรัมครั้งเดียวใน ๑ วัน แล่วค่อยๆ เพิ่มขึ้นช้าๆ ภายในเวลาไม่ต่ำกว่า ๔ สัปดาห์ ทั้งนี้ เพราะการเพิ่มเร็วจะทำให้เกิดอาการง่วงซึมมาก ปัสสาวะไม่ออก หรือท้องอืด จนกระทั่งระดับเมทาโดนขึ้นถึง ๑๐๐-๑๔๐ มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดที่ความต้องการยาประเภทฝิ่นจะอิ่มตัว คือไม่ได้รับความสุขจากการเสพยาประเภทฝิ่นเข้าไปอีก โดยยังคงให้เพียงวันละครั้ง

ในระยะที่ Dole และ Nyswander ทดลองรักษาผู้ป่วยของเขานั้นพบว่าได้ผลในการรักษาดีมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และมีการฟื้นฟูจิตใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อมีการนำการรักษาวิธีนี้มาใช้กับผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น พบว่าผลในการรักษาไม่เป็นที่พอใจอย่างที่คิด เพราะสามารถควบคุมการเสพติดยาได้เพียงร้อยละ ๕๐ ของผู้ที่ติดยา นอกจากนั้นคนพวกนี้ยังนำยาไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย และเปลี่ยนจากการติดมอร์ฟีนหรือเฮโรอีนเป็นติดเมทาโดนโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำแทน ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ที่กรุงนิวยอร์คพบอัตราตายจากการใช้เมทาโดนเกินขนาด และการใช้เฮโรอีนเกินขนาดพอๆ กัน ยิ่งกว่านั้นในกรณีที่ผู้รักษาให้เมทาโดนทดแทนในขนาดต่ำ ก็พบว่าผู้ป่วยกลับไปเสพติดใหม่หรือไม่ก็ใช้เมทาโดนร่วมกับ เฮโรอีนเกือบทั้งหมด (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

ปัจจุบันมียาซึ่งออกฤทธ์ได้นานถึง ๓ วัน และสามารถใช้แทนเมทาโดนได้ ได้แก่ 1-methadyl acetate ขนาดที่ใช้คือ ๔๐-๘๐ มิลลิกรัม ๓ ครั้งต่อสัปดาห์ ยานี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพเท่าเมทาโดน (Kolb ค.ศ. ๑๙๗๗)

การใช้ยาต้านฤทธิ์การเสพติด

โดยปกติยาประเภทฝิ่นที่เข้าไปในร่างกายจะไปจับกับเซลล์ประสาทบางตัวโดยเฉพาะ ที่ตำแหน่งหนึ่งบนผนังเซลล์ ที่เรียกว่า opiate receptors ซึ่งมีมากในสมองส่วนที่ไวต่ออิทธิพลของยาประเภทนี้ เช่น ส่วน dorsal gray matter, central gray matter ของ midbrain ส่วนของ limbic system และส่วน pretectal ของ brain stem ดังนี้นเมื่อร่างกายได้รับยาประเภทฝิ่น ยานี้จะไปจบที่ receptors ดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ของยา

การให้ยาหรือสารเพื่อไปจับที่ receptors ดังกล่าวแทน เชื่อว่าจะแก้ปัญหาการเสพติด ยาประเภทนี้ สารดังกล่าวคือ naloxone ซึ่งถือเป็น opiate antagonist เมื่อผู้ป่วยได้รับ naloxone ร่วมกับยาประเภทฝิ่น ความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุขจะไม่เกิดขึ้น นานๆ เข้าคนผู้นั้นจะเลิกใช้ยาประเภทฝิ่นไปเอง

มีผู้สงสัยว่า opiate receptor มีจริงหรือ ถ้ามีจริงมันจะต้องมีไว้สำหรับสารอะไร สักอย่างที่มีในร่างกายตามธรรมชาติ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็พบว่าในสมองมีสารที่คล้ายมอร์ฟีน เรียกว่า enkephalin ซึ่งเป็น peptide ที่ประกอบด้วย amino acid ๕ ตัว จำนวน enkephalin ใน สมองแต่ละส่วนจะมีมากน้อยต่างกันขึ้นกับความหนาแน่นของ opiate receptor และเมื่อเอา enkephalin ใส่เข้าไปในสมองของสัตว์ทดลองก็พบว่าทำให้อาการเจ็บปวดของสัตว์ทุเลาลง จึงเชื่อว่า enkephalin เป็น neurotransmitter ของสมองซึ่งควบคุมเกี่ยวกับความเจ็บปวดและอารมณ์เช่นเดียวกับมอร์ฟีน

ปัจจุบันยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า การรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดประเภทฝิ่นโดยเฉพาะเฮโรอีนและมอร์ฟีนได้ผล และยังไม่มีการรักษาวิธีใดดีกว่าวิธีใด Methadone program ซึ่งริเริ่ม โดย Dole และ Nyswander ซึ่งคิดว่าจะทำให้การรักษาได้ผลดี ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีข้อเสียคือเป็นการเปลี่ยนการเสพติดเฮโรอีนหรือมอร์ฟีนไปเป็นเมทาโดนแทน และทำให้เกิดการนำเมทาโดน ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งยังเห็นพ้องต้องกันว่าต้องใช้เมทาโดนขนาดสูงจึงจะได้ผลในการรักษา

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การรักษาล้มเหลวคือ การที่ผู้เสพยังสามารถหาสิ่งเสพติดมาใช้ได้ การรักษาการติดฝิ่นของชาวเขาโดยการถอนพิษที่ถ้ำกระบอกที่พบว่าได้ผลดี ก็เพราะชาวเขาเหล่านี้เมื่อกลับไปสู่บ้านของตนไม่สามารถหาฝิ่นมาเสพได้อีก เนื่องจากได้มีการปลูกพืชอื่นทดแทนฝิ่นเสียแล้ว ทหารอเมริกันซึ่งไปรบในสงครามเวียตนามและติดเฮโรอีนมีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่กลับไปเสพอีกหลังจากกลับประเทศของตนและได้รับการรักษาแล้ว ทั้งนี้เพราะเฮโรอีนที่นั่นหายาก ตรงกันข้ามมักไม่ผลการรักษาการเสพติดที่สถานบำบัดแห่งหนึ่งในสหรัฐ ซึ่งเฮโรอีนหาได้ง่ายกว่า ในระยะเวลา ๑๒ ปีมีผู้กลับไปเสพติดอีกถึงร้อยละ ๙๘ (vaillanl ค.ศ. ๑๙๗๘) แสดงว่าการอยู่ในที่ซึ่งมียาเสพติดและการสามารถหายามาใช้ได้เป็นปัจจัยสำคัญของการติดยา

ด้วยเหตุที่การรักษาผู้เสพฅิดยาประเภทนี้ยังไม่ได้ผลดี โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก การป้องกันจึงนับว่าดีที่สุด โดย

๑. เผยแพร่ความรู้เรื่องยาเสพติดให้โทษแก่ ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจถึงปัญหายาเสพติด วิธีสังเกต และระมัดระวังไม่ให้เด็กตกเป็นทาสยาเสพติด ให้การศึกษาแก่นักเรียนและเยาวชนถึงผลร้ายและอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด โดยแทรกลงไปในบทเรียน หรือโดยการแนะนำของหน่วยอนามัยโรงเรียน

๒. ให้ความรู้แก่บิดามารดา และผู้ปกครอง เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นบุคคลซึ่งมีบุคลิกภาพดีและสุขภาพจิตสมบูรณ์ ตลอดจนมีความสุขในการอยู่ร่วมกับครอบครัวและบุคคลอื่น

๓. การปลูกพืชอื่นทดแทนฝิ่น เป็นการกำจัดยาเสพติดให้ค่อย ๆ หมดไป ดังที่กำลังปฏิบัติอยู่กับชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ

ในปัจจุบันแม้จะมีการรักษาวิธีใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ายังไม่มีวิธีใดที่รักษาปัญหาการติดยาประเภทฝิ่นได้ Methadone maintenance เป็นวิธีที่ดีจะได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เมื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมากพบว่าไม่ได้ให้ผลในการรักษาเท่าที่ควร ร้อยละ ๕๐ ของผู้เสพติดซึ่งได้รับเมทาโดนขนาดสูง ก็ยังคงใช้เฮโรอีนหรือมอร์ฟีนร่วมด้วย หรือไม่ก็กลับไปใช้ยาเสพติดใหม่

ด้วยเหตุนี้นักวิจัยบางคนจึงเชื่อว่า การเสพติดยาประเภทฝิ่นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในร่างกาย ทั้งนี้เพราะผู้เสพติดจะต้องการยาเหมือนยาเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของตน และการจะหยุดยาก็ต้องมีการถอนพิษยา เขาสงสัยว่าการกลับมาเสพติดใหม่จะเกิดจากเรื่องของจิตใจหรือจากเรื่องอื่น Nyswander (ค.ศ. ๑๙๖๙) และ Snyder (ค.ศ. ๑๙๘๐) มีความเห็นว่า ปัจจัยทางจิตใจเป็นเพียงตัวจุดชนวนให้ผู้ป่วยกลับไปเสพติดใหม่ แต่สาเหตุแท้จริงที่อยู่ภายใต้คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งเข้ากับความเชื่อของ Dole (ค.ศ. ๑๙๗๒) ว่าการเสพติดยาประเภทฝิ่นน่าจะเป็นความผิดปกติทางเมตาบอลิสม์มากกวาจิตใจ อันได้แก่การขาด enkephalin ในสมอง ทำให้คนๆ นั้นมีอาการเจ็บปวดทางอารมณ์อย่างเรื้อรัง (chronic emotional pain) และต้องแก้ไขด้วยยาประเภทฝิ่น ด้วยเหตุนี้ Dole จึงแนะนำว่าผู้เสพติดบางคนควรได้รับ เมทาโดนตลอดชีวิต

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า