สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาเจริญอาหาร

ข้อน่ารู้ทั่วไป
การมีรูปร่างผอมหรือน้ำหนักน้อย ถ้าร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง    ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าวิตกเท่าใดนัก โดยเฉพาะในเด็กแล้วพ่อแม่มักเป็นห่วงและกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับความอ้วนท้วน โดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กจะมีสุขภาพดีหรือไม่
สาเหตุของความผอมมีหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ โรคติดต่อเรื้อรัง(วัณโรค), โรคทางจิตใจ (กังวลใจ เศร้าใจ), ต้องการลดน้ำหนักเลยกินน้อย ดังนั้นการรักษาอาการผอมจึงควรมึ่งที่ต้นเหตุ
อย่างไรก็ดียาเจริญอาหารก็มีประโยชน์บ้างในแง่ที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น เมื่อกินอาหารได้มากขึ้น
ยาเจริญอาหารที่มีขายกันทั่วๆ ไป แบ่งออก ได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. ซัยโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อการค้าว่า เปอริแอคติน (Periactin) ยาตัวนี้เป็นยาในกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งใช้กันทั่วไปในการรักษาอาการแพ้ และลดน้ำมูก แต่อาการข้างเคียงประการหนึ่งของยา คือ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร ข้อควรระวังในการใช้ยานี้ คือ เมื่อใช้แล้วจะมีอาการง่วงนอนและซึมเซา จึงห้ามใช้ในคนที่กำลังทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือขับรถ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้การใช้ยาเกินขนาดแทนที่จะทำให้เจริญอาหารกลับทำให้เกิดเบื่ออาหาร และมีอาการชักเกิดขึ้นได้
2. ยาจำพวกไวตามินต่างๆ  ความจริงยาประเภทไวตามินไม่ได้ทำให้เจริญอาหารเลย นอกจากในรายที่มีอาการเบื่ออาหารจากการขาดไวตามินเท่านั้น และถ้ากินมากเกินความจำเป็นอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายแล้ว ไวตามินจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็นเลย
3. ยาระงับประสาทและยากล่อมประสาท มีการนำยานี้มาใช้เป็นยาเจริญอาหาร เพราะคิดว่าจะทำให้จิตใจสบาย นอนหลับได้ดี และทำให้ร่างกายอ้วนท้วนขึ้นในที่สุด ข้อเสียของยาประเภทเหล่านี้ มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญคือทำให้ ง่วงนอน ซึมเซา ลดประสิทธิภาพในการทำงาน และเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดการติดยาได้ง่ายมาก
4. ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids) เช่น เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) และ เด็กซ่ามีธาโซน (Dexamethasone) ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่อันตรายที่สุด และไม่ควรใช้เป็นยาเจริญอาหารอย่างเด็ดขาด แต่เหตุที่นำมากล่าวไว้ในบทนี้ก็เพื่อที่จะแก้ความเข้าใจผิดในการนำยานี้มาใช้ในแง่ของยาเจริญอาหาร ความจริงแล้วยากลุ่มนี้มิได้ทำให้ร่างกายมีไขมัน สะสมมากขึ้น แต่การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังได้รับยาเป็นเพราะเกิดการคั่งของน้ำในร่างกายมากกว่า ในกรณีที่ได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) ซึ่งมีการถ่ายเทไขมันจากส่วนต่างๆ ของร่างกายมาสะสมไว้มากที่บริเวณหน้า ท้ายทอย และหลัง ทำให้มีลักษณะหน้าอูมกลม หลังเป็นหนอก นอกจากนี้ยังมีอาการพิษต่างๆ อีกมากมาย
เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ยาที่มีผู้นำมาใช้เป็นยาเจริญอาหารโดยทั่วไปนี้ ยกเว้นยาในกลุ่มไวตามินจะมีอันตรายค่อนข้างสูง และไม่มียาตัวใด ที่ทำให้เกิดผลเจริญอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยทุกราย จุดมุ่งหมายในการรักษาควรมุ่งแก้ไขที่สาเหตุของการเบื่ออาหารมากกว่าใช้เป็นยาเจริญอาหาร ซึ่งอาจจะมีโทษมากกว่าคุณ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า