สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาบีบมดลูก

ยาที่สามารถใช้เพื่อให้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อการทำให้มดลูกบีบตัวและใช้กันอยู่ทั่วไปทุกวันนี้มี 2 ชนิดคือ
1. อ๊อกซิโตซิน (Oxytocin)
2. เออร์กอต แอลคาลอยด์ (Ergot alkaloids)
ยานี้จะสามารถออกฤทธิ์ต่อมดลูกให้บีบตัวได้ดีตามระยะเวลาทางสรีรภาพของมดลูกต่างกันไป หากใช้ยานี้ผิดช่วงระยะเวลาทางสรีรภาพของมดลูกแล้ว นอกจากจะไม่ได้ผลที่ต้องการแล้วกลับยังผลให้เกิดโทษอีกด้วยคือ ยากลุ่มนี้จะไม่สามารถบีบมดลูกให้หดตัวในขณะที่ไม่ตั้งครรภ์ได้ดีนักและไม่แรงเท่ามดลูกที่อยู่ในขณะจะคลอดหรือคลอดเสร็จใหม่ๆ
อ๊อกซิโตซิน (Oxytocin)
เป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปกติจะถูกหลั่งออกมาทำหน้าที่ในการกระตุ้นต่อมน้ำนมในเพศหญิง และจะบีบมดลูกเพื่อช่วยคลอดทารก
อ๊อกซิโตซิน จะถูกหลั่งออกมากที่สุดในขณะที่ครรภ์แก่เต็มที่ และพร้อมที่จะคลอด และขณะที่กำลังคลอดลูกอยู่ ซึ่งในขณะนั้นมดลูกจะอยู่ในสภาวะที่ถูกฮอร์โมนตัวอื่นควบคุมและเตรียมการให้ถูกกระตุ้นโดยอ๊อกซิโตซินได้ดีที่สุด ทำให้อ๊อกซิโตซินสามารถบีบให้มดลูกหดตัวได้แรงและเต็มที่ นอกจากนี้อ๊อกซิโตซินยังสามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบของมดลูกหดตัวและยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบตามหลอดเลือดขยายตัวกับมีฤทธิ์ต้านการขับปัสสาวะของไตอีกด้วย
ประโยชน์ที่ใช้
1. ใช้เร่งการคลอดที่ครบกำหนด
2. ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ในกรณีที่เด็กตายในท้องและหลังการขูดมดลูก (cureitage)
3. เพอกระตุ้นให้หลั่งน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกหลังคลอด
การใช้ยาอ๊อกซิโตซินในทางที่ผิด
1. การนำอ๊อกซิโตซินมาใช้เพื่อบีบมดลูกในขณะที่มดลูกยังอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม เช่นในเวลาที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือที่ครรภ์ยังอ่อนอยู่นอกจากจะไม่ได้ผลตามต้องการแล้วยังอาจทำให้ผู้ใช้ซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าต้องเพิ่มปริมาณยาให้มากขึ้น ซึ่งการให้อ๊อกซิโตซินมากเกินไปดังกล่าวจะเป็นการเร่งบังคับให้มดลูกหดตัวแรงเกินขีดจำกัดจนแตก (uterine rupture) และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
2. การที่อ๊อกซิโตซินสามารถออกฤทธิ์ให้กล้ามเนื้อเรียบอื่นๆ ทั่วร่างกายให้ขยายตัวและหดตัวได้แล้วแต่ชนิดของกล้ามเนื้อนั้นๆ เช่นอ๊อกซิโตซิน มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดขยายตัว (Vasodilation) ซึ่งจะยังผลทำให้ความดันเลือดตกลงมากจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องบีบตัวเร็ว และแรงมากขึ้น ในบางกรณีจะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนไม่เป็นจังหวะ (arrhythmias) ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายมาก ผลของอ๊อกซิโตซินต่อกล้ามเนื้อเรียบตามทางเดินอาหารนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นต้น
3. ฤทธิ์ที่อ๊อกซิโตซินสามารถต้านการขับปัสสาวะของไต จะเป็นผลทำให้ร่างกายต้องอมน้ำไว้มาก ทำให้บวมและเป็นผลต่อเนื่องถึงความดัน เลือดอีกโสตหนึ่ง หัวใจต้องทำงานหนักและถ้ามากเกินขอบเขตที่หัวใจจะรับได้อาจถึงขั้นหัวใจวาย และตายได้ในที่สุด
ข้อควรระวัง
1.ห้ามใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ (เพราะจะทำให้แท้งและเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และเด็ก)
2. เป็นพิษต่อตับและไตจึงห้ามใช้ในคนไข้ที่เป็นโรคทั้งสอง
3. เวลาใช้อ๊อกซิโตซินเพื่อช่วยคลอด สิ่งที่พึงระวังและปฏิบัติอย่างยิ่งคือ
3.1 ต้องติดตามตรวจชีพจรการเต้นของหัวใจและความดันเลือดเป็นระยะๆ ตลอดเวลาที่ให้ยา
3.2 ปกติยานี้จะให้ร่วมกับน้ำเกลือและน้ำตาลผ่านทางหลอดเลือดดำเป็นระยะเวลาติดต่อกัน ฉะนั้นจำเป็นจะต้องควบคุมความเร็วหรือ จำนวนหยดของอ๊อกซิโตซินให้อยู่ในอัตราที่พอเหมาะ และสมํ่าเสมอ
3.3 ถ้าตรวจดู  ความเร็วของการหดตัวหรือบีบตัวของมดลูกว่าไม่ถี่ หรือเกร็งตัวมากเกินไปจนเป็นผลทำให้การไหลเวียนของเลือดมาสู่ทารกถูกขัดขวางไป หากเป็นเช่นนี้จะต้องหยุดให้ยาทันที
รูปของยา
อ๊อกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนที่มีลักษณะทางเคมี เป็นพวกโปรตีน ฉะนั้นจึงต้องเตรียมอยู่ในรูปของยาฉีด เพราะถ้าให้กลืนทางปากจะถูกเอ็นซัยม์ ในทางเดินอาหารทำลายหมดก่อนที่จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายปกติการใช้
อ๊อกซิโตซินจะต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆ อย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลานานติดต่อกัน ทั้งนี้เนื่องจากในน้ำเลือดจะมีเอ็นซัยม์ชื่อ อ๊อกซิโตซิเนส (Oxytocinase) ที่ทำลายอ๊อกซิโตซินอยู่มาก ตัวอย่างยาเช่น ปิโตซิน (Pitocin) ชนิดฉีด จะมี อ๊อกซิโตซิน อยู่ 10 หน่วย ต่อมิลลิลิตร เวลาใช้ ทางสูติศาสตร์ ยานี้จะละลายลงในน้ำเกลือหรือ dextrose solution ให้ได้ความเข้มข้นประมาณ 10 ถึง 40 หน่วยต่อลิตร
เออร์กอต แอลคาลอยด์ (Ergot Alka¬loids)
เป็นยาบีบมดลูกที่จัดว่าเก่าแก่ที่สุดก็ว่าได้ ตามประวัติพบว่าหมอตำแยได้ใช้ เออร์กอต มามากกว่า 400 ปีแล้ว ในธรรมชาติสารพวกเออร์กอตแอลคาลอยด์ ที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราของข้าวสาลี จัดเป็นสารพืชที่ร้ายแรงมากตัวหนึ่ง หากกินข้าวสาลีที่มีเชื้อรานี้อยู่ด้วย จะมีอาการที่เรียกว่า พิษของเออร์กอต (ergot poisoning) คือจะมีอาการปวดหัว มึนงง ท้องร่วงและอาเจียน และในกรณีที่สาหัสกว่านี้ก็จะถึงขั้นชักและตาย
ในหญิงตั้งครรภ์หากมีพิษจากเออร์กอต จะเกิดการแท้ง ซึ่งจะมีผลร้ายตามมาคือ กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดจะถูกบีบตัวอย่างมาก ทำให้อวัยวะที่อยู่ทางปลายสุด เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้าไม่มีเลือดไหลไปหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดการเน่า
นอกจากนี้เออร์กอตบางตัวสามารถออกฤทธิ์ ต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบางส่วน (adrenergic blockade) อีกด้วย เช่น เออร์โกโนวีน (Ergonovine) ส่วนเออร์โกเตรท (Ergotrate) มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกแรงมาก แต่มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดเล็กน้อย และไม่ต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จึงทำให้ยาตัวหลังนี้มีประโยชน์มากในการใช้เพื่อบีบมดลูกให้เข้าอู่หลังคลอด ส่วนพวกเออร์โกตามีน เช่น กัยเนอร์เยน (gynergen) มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกพอๆ กับฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือด กับสามารถต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบ้าง ทำให้ยานี้มีประโยชน์บ้างในการรักษาโรคปวดหัวที่เรียกว่า ไมเกรน
ส่วนไดฮัยโดรเออร์กอต (Dihydroergot) นั้นมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อในมดลูกในหลอดเลือดและฤทธิ์ต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติใกล้เคียงกัน จงเป็นผลที่ทำให้ยาตัวนี้ไม่เหมาะและด้อยไป ในการใช้ เพื่อบีบมดลูก ฉะนั้นจะเห็นว่าความรู้ในการเลือกเออร์กอตตัวที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญนิ้วไม่แพ้ความรู้ที่ทราบว่า เออร์กอต ยังสามารถออกฤทธิ์ต่อมดลูกได้ดีต่างๆ กันตามระยะสรีรภาพของมดลูก เออร์กอตยังสามารถบีบมดลูกได้ดีและได้ผลเต็มที่ ในช่วงระยะเวลาหลังคลอดเท่านั้น เพราะหากใช้ในช่วงอื่นของการตั้งครรภ์แม้แต่ก่อนคลอดหรือกำลังคลอดก็ตาม ผลที่ได้นอกจากจะไม่ได้ผลดีแล้ว ยังเป็นอันตรายมากต่อแม่และทารกในครรภ์แม้ว่าลักษณะ เออร์กอต สามารถบีบกล้ามเนื้อมดลูกในช่วงเวลาคล้ายกับอ๊อกซิโตซิน คือเวลาใกล้คลอด ซึ่งมดลูกถูกฮอร์โมนเอสโตรเจนกระตุ้นไว้เต็มที่แล้วก็ตาม แต่ลักษณะการบีบของออร์กอต จะทำต่อกล้ามเนื้อมดลูกแตกต่างจากการออกฤทธของอ๊อกซิโตซิน เออร์กอตบีบมดลูกไม่เป็นจังหวะ คือไม่บีบและคลายสลับกันไปแบบ อ๊อกซิโตซิน แต่
เออร์กอตจะทำให้มดลูกบีบตัวแบบไม่คลาย ซึ่งลักษณะการบีบตัวของเออร์กอตเช่นนี้อาจจะทำให้มดลูกแตกและทารกตายในครรภ์ได้ หากถูกนำมาใช้ก่อนคลอด
จากสมบัติข้อนี้เองที่ทำให้ เออร์กอต เหมาะที่จะนำมาใช้ให้ได้ผลดีและเป็นประโยชน์มากในการห้ามเลือดหรือบีบมดลูกให้เข้าอู่ได้ดี (จึงได้นำมาใช้เวลาหลังคลอดเสร็จใหม่ๆ)
ประโยชน์ที่ใช้
1. ใช้ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด โดยเฉพาะเออร์โกโนวีน (Ergonovine) และเมธีลเออร์โกโนวีน เพราะฤทธิ์แรง มีพิษน้อย และสะดวกเพราะให้ทางปากได้ แต่ไม่ใช่สำหรับการทำแท้ง เนื่องจากต้อง
ใช้ยาขนาดสูงซึ่งมีพิษและอันตรายมาก
2. รักษาหรือขจัดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน โดยเฉพาะ เออร์โกตามีน (Ergotamine) จะต้องให้ขนาดยาแต่น้อยและนานไม่เกิน 1 สัปดาห์ มิฉะนั้นจะเป็นพิษ ( ไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง) แต่เออร์โกตามิน ไม่มีผลในการป้องกันอาการปวดแบบไมเกรน
เมธีลเซอร์ไจด์ ใช้ป้องกันการเกิดอาการปวดหัว แบบไมเกรนได้ แต่ใช้รักษาไม่ได้ เพราะฤทธิ์ไมเกรน ทำให้เส้นเลือดหดตัวน้อย
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะน้อยลง ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง ชานิ้ว ชาเท้า เช่น เจ็บบริเวณหัวใจ (Angina pectoris) ความดันเลือดสูง  คลื่นไส้ อาเจียน
ถ้าให้ยาขนาดมากๆ จะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ชา คัน กระหายน้ำ ชีพจรเบา เร็ว มึนงง หมดสติ
เออร์โกตามีน ขนาด 0.5-1.5 มิลลิกรัม เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะมีอันตรายมากและสามารถทำให้ตายได้
ข้อสังเกต
เออร์โกโนวีน มีพิษน้อยกว่า เออร์โกตามีน 4 เท่า
ถ้าได้รับยานานๆ อาจทำให้หลอดเลือดอุดตัน พบบ่อยที่แขน ขา ทำให้เย็น ซีด ชืพจรเบา เป็นเหน็บ ปวดกล้ามเนื้อ ขณะเดินและขณะพัก เกิด กล้ามเนื้อตาย เริ่มที่ปลายนิ้วเท้า อาการอื่นๆ มีปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันสูง หรือตํ่า อาการทางสมองมีอาเจียน มึนงง
รูปของยา
เออร์โกโนวีนมาลีเอท (Ergonovine maleate) ชื่อการค้าว่า เออร์โกเตรท (Ergotrate) ชนิดเม็ดละ 0.2 มิลลิกรัม ฉีด 0.2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เมธีล เออร์โกโนวีน (Methyl ergonovine) ชื่อการค้า เมเธอร์จิน มาลีเอท (Methergin maleate) ชนิดเม็ดละ 0.2 มิลลิกรัม ชนิดฉีด 0.2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
ที่มา:ดร.อุดม  จันทรารักษ์ศรี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า