สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาช่วยย่อยและยาขับลม

อาการแน่นท้อง เสียดท้อง และท้องอืด เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนชรา ซึ่งวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดไม่ควรจะเป็นการใช้ยา ถ้ามีอาการดังกล่าวควรที่จะเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ควรกินอาหารประเภทที่เป็นไขมัน และไม่ดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป นอกจากนี้ควรที่จะเดินเล่นพอประมาณหลังกินอาหารเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น การนอนตะแคงขวาก็อาจมีส่วนทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีกว่าการนอนในท่าอื่น ยาที่จะใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ ยาช่วยย่อย และยาขับลม
ยาช่วยย่อย 
ยาช่วยย่อยเป็นยาซึ่งทำให้ขบวนการย่อยอาหารในร่างกายมีประสิทธิภาพขึ้น แต่โดยส่วนมากจะมีประโยชน์เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยขาดเอนซัยม์ย่อยอาหารเท่านั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. กรดเกลือ (Hydrochloric acid)
2. เกลือของน้ำดี (Bile salts)
3. เอนซัยม์ของตับอ่อน
กรดเกลือ 
มีประโยชน์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกลุ่มอาการดังนี้คือ ท้องอืดหลังอาหาร ลิ้นเป็นฝ้า คลื่นไส้อาเจียน และมีท้องเดินตอนเช้า เพื่อป้องกันการกัด และระคายกระเพาะอาหารควรจะกินกรดอย่างชนิดเจือจาง
รูปของยา ขนาดและวิธีใช้
กรดเกลือชนิดเจือจาง (Diluted Hydrochloric acid) ประกอบด้วยกรดเกลือ 10% (5 มิลลิลิตร จะมีกรดเกลือ 15 มิลลิอีควิวาเลนท์) ควรเจือจางในน้ำประมาณ 125-250 มิลลิลิตร และกินหลังอาหารช้าๆ
กลูตามิค แอสิด ฮัยโดรคลอไรด์ (Glutamic Acid Hydrochloride) ชื่อการค้า อะซิดูลิน (Acidulin) ขนาด 340 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ควรใช้ 0.35 ถึง 1.0 กรัม
ยาที่เป็นรูปเกลือของน้ำดี
เป็นยาที่ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยขาดน้ำดี หรือต้องการให้มีการหลั่งของน้ำดีมากขึ้น เช่น ในกรณีที่เป็นนิ่วในทางเดินของน้ำดี
ข้อควรระวัง
ในรูปของยาฉีดจะมีอันตรายกดหัวใจให้เต้นช้าลง และมีความดันเลือดตํ่าได้ จึงห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
รูปของยา ขนาด และวิธีใช้
กรดดีฮัยโดรโคลิค (Dehydrocholic acid) ชื่อการค้า คือ ดีโคลิน (Decholin) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.25 กรัม ให้กิน 1-3 เม็ด หลังอาหาร
เอ็นซัยม์ของตับอ่อน (Pancreatic Enzymes)
ใช้ในกรณีที่เกิดภาวะพร่องเอ็นซัยม์นี้ เช่น ในกรณีตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เอ็นซัยม์ตัวนี้ลดปริมาณไขมันที่ออกมากับอุจจาระ เนื่องจากมันจะช่วยให้การดูดซึมของไขมันดีขึ้น
รูปของยา ขนาดและวิธีใช้
แพนครีติน (Pancreatin ) 0.5 ถึง 1.0 กรัม หลังอาหาร ควรใช้ในรูปของยาเคลือบทนกรด (Entericcoated capsules)
ยาขับลม
1. ผงถ่าน (Activated charcoal)
เป็นถ่านผงสีดำ มีคุณสมบัติดูดแก๊สในทางเดินอาหาร และยังมีคุณสมบัติที่อาจจะดูดสารพิษได้ เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่ท้องอืด อาหารไม่ย่อย และมีประโยชน์ในการรักษาโรคท้องเดินอย่างไม่รุนแรง ในกรณีที่ท้องเดินนั้นเกิดจากสารเป็นพิษ
รูปของยา ขนาดและวิธีใช้
อุลตราคาร์บอน (Ultracarbon) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.25 กรัม ขนาดที่ใช้ 1-2 เม็ด หลังอาหาร
ยาสามัญประจำบ้าน
เช่น ยาธาตุน้ำแดง และ มิกซ์เจอร์ คาร์มิเนตีฟ (Mixture Carminative) จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) และยาที่มีผลระคายเคืองต่อทางเดิน อาหาร ทำให้กระเพาะและสำไส้เคลื่อนไหว เป็นผลให้มีการเรอเอาแก๊สออกมา ทำให้ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้
ขนาดและวิธีใช้
1 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร
2. ยาประเภทอื่นในกลุ่ม ไซเมธิโคน (Simethicone) ซิลิโคน (Silicone)
ยาประเภทนี้ชื่อการค้า ได้แก่
ดิสฟลาติล (Dystflatyl) แฟลตูเลนซี (Flatulency)
ขนาดที่ใช้คือ 1-2 เม็ดหลังอาหาร
คอมบิซิม (Combizym) ชนิดเม็ดเคลือบ เม็ดละ 220 มิลิกรัม กินครั้งละ 1-2 เม็ดหลังอาหาร

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า