สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะ คือยาซึ่งมีผลโดยตรงต่อไตทำให้การดูดซึมกลับของน้ำและเกลือแร่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือโซเดียมเข้าสู่ร่างกายลดน้อยลง เป็นเหตุให้น้ำและเกลือโซเดียมถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้นจึงเป็นผลทำให้ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายลดลงและสามารถนำยากลุ่มนี้มาใช้เพื่อลดอาการบวมน้ำ (Edema) หรือภาวะที่มีน้ำคั่งในร่างกายมากเกินไป อาการบวมที่เกิดจากภาวะคั่งน้ำนั้นอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ คือ ในภาวะหัวใจวายแบบคั่งน้ำ (Congestive heart failure) หัวใจจะไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติทำให้เลือดผ่านไตน้อยลง การกรองน้ำและเกลือแร่ผ่านไตก็ลดน้อยลงอย่างมากจนทำให้เกิดอาการบวม ซึ่งส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นได้ชัดในบริเวณเท้า ในกรณีที่เป็นโรคไตการขับปัสสาวะจะเกิดขึ้นน้อยลงทำให้เกิดอาการบวมได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับมักจะมักจะมีน้ำในช่องท้อง(ท้องมาน, ascites) ชัดเจนกว่าบวมตามเท้า ทั้งนี้เนื่องจากความดันในระบบเลือดไหลเวียนผ่านตับ (Portal stem) สูงจนสามารถผลักดันน้ำให้ออกไปกระจายอยู่ในช่องท้องได้ ในภาวะขาดโปรตีนก็อาจจะทำให้เกิดอาการบวมทั่วตัวได้เนื่องจากโปรตีนในกระแสเลือดจะมีส่วนช่วยดึงน้ำให้อยู่ในระบบหมุนเวียนของเลือด การขาดโปรตีนจึงเป็นผลทำให้น้ำซึมออกมาจากเส้นเลือด และกระจายแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุอาการ บวมชนิดใด ยาขับปัสสาวะก็จะมีผลลดอาการบวมได้ทั้งนั้น แต่ประสิทธิภาพในการรักษาอาจจะดีหรือต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและประสิทธิภาพของยานั้นๆ
ประโยชน์ที่ใช้
นอกจากประโยชน์ในการใช้เพื่อลดภาวะคั่งน้ำแล้ว ยาขับปัสสาวะยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคความดันเลือดสูง ในการใช้ลดความดันในลูกตา เช่น โรคต้อหิน (Glaueoma) ใช้แก้ภาวะความผิดปกติในสมดุลย์ กรด-ด่าง และเพื่อลดปริมาฌโปตัสเซียมในเลือดลง เช่นการใช้ ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ขับโปตัสเซียมออกจากร่างกายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี ประโยชน์ในการใช้ขับสารพิษบางอย่าง เช่น โบรไมด์ (Bromide) ออกจากร่างกายทางปัสสาวะอีกด้วย
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
1. การใช้ยาขับปัสสาวะนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างมาก จนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาการที่เห็นได้ชัด คือผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด อ่อนเพลีย และความดันเลือดจะลดต่ำลงได้
2. ยาขับปัสสาวะส่วนใหญ่จะทำให้เสียโปตัสเซียม ซึ่งเป็นเกลือแร่ที่จำเป็นในร่างกาย และมีความสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบ หัวใจ ประสาท กล้ามเนื้อ และสำไส้ การขาดโปตัสเซียม ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ หลายประการ และยังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทำ ให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาบีบหัวใจ เช่นพวก ลาน๊อกซิน (Lanoxin) เกิดการขาดโปตัสเซียมจะเป็นผลให้มีอันตรายจากยาบีบหัวใจสูง ในบางครั้งผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
ข้อควรระวัง
ผู้ป่วยที่ได้รับยาขับปัสสาวะซึ่งทำให้ระดับโปตัสเซียมในเลือดต่ำควรได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำส้มหรือกินอาหารที่มีโปตัสเซียมมาก เช่น ส้ม และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และควรจะได้รับยาโปตัสเซียมทดแทนไปพร้อมกับยาขับปัสสาวะด้วย
อันตรายจากการใช้ยาขับปัสสาวะยังมีอยู่อีกนานัปประการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้ยาเหลานี้ ผู้ใช้จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและข้อบ่งชี้ในการใช้ อาการพิษของยา ตลอดจนพยาธิสภาพของโรคซึ่งผู้ป่วยเป็นอย่างดี
ยาขีบปัสสาวะที่ใช้บ่อย
ยาขับปัสสาวะที่ใช้บ่อยอาจแบ่งได้เป็นพวกๆ ดังนี้คือ
1. ยาขับปัสสาวะที่ออกฤทธิ์โดยอาศัยแรงดันน้ำ (Osmotic diuretics)   
ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์โดยการที่ตัวยาเองมีคุณสมบัติดูดน้ำจากเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเข้ามาในกระแสเลือดทำให้ปริมาณน้ำและเกลือแร่ที่ผ่านไตมีมากขึ้น และเป็นผลให้การขับถ่ายน้ำและเกลือแร่เพิ่มขึ้นด้วย ยาตัวนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจวายแบบคั่งน้ำ (Congestive heart failure) เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น ยา
กลุ่มนี้ที่มีใช้อยู่คือ แมนนิทอล (Mannitol) ข้อบ่งใช้ที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือเพื่อป้องกันภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) และเพื่อลดความดันในลูกตาและลดความดันในสมอง
ข้อควรระวัง
ควรระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ค่อนข้างรุนแรง ในผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก (anuria) และในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
รูปของยา ขนาด และวิธีใช้
ชื่อการค้าเช่น แมนนิทอล (Mannitol) ออสไมทรอล (Osmitrol) มีในรูปของชนิดฉีด (Mannitol and Sodium Chloride Injection) ในความเข้มข้น 5, 10, 15, 20 หรือ 25% ในปริมาตรตั้งแต่ 50 ถึง 100 มิลลิลิตร
ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ปกติเพื่อขับปัสสาวะ ตั้งแต่ 50 ถึง 200 กรัม ใน 24 ชม. และกำหนดอัตราหยด โดยวิธีให้แบบหยด เพื่อควบคุมให้ปริมาณปัสสาวะ 30 ถึง 50 มิลลิลิตร ต่อชั่วโมง
ขนาดที่ใช้เพื่อลคความดันในลูกตา และในสมอง คือ 1.5 ถึง 2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมให้ในความเข้มข้น 20% หมดในเวลา 30 ถึง 60 นาที
2. ยาขับปัสสาวะประเภทไธอาไซด์ (Thiazide diuretics)
ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ปานกลางในการขับปัสสาวะ มีคุณสมบัติเป็นยาลดความดันเลือดสูงได้ดี มีผลทำให้เกิดภาวะโปตัสเซียมในเลือดต่ำ จึงควรที่จะให้ยาโปตัสเซียมร่วมไปด้วย ถ้าผู้ป่วยได้รับยานี้นอกจากนี้ยังมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดและกรดยูริค (Uric acid) สูงขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์ (Gout) อาจจะมีอาการรุนแรงได้
ยาในกลุ่มนี้มีอยู่ด้วยกันหลายตัว ซึ่งระยะเวลาในการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมตามกรณีไป
ยานี้ ยังมีประโยชน์ในการลดอาการบวมที่มีสาเหตุจากหัวใจ และไต มากกว่าสาเหตุอื่น
รูปของยา ขนาด และวิธีใช้
1. ไดอัยไดรคลอโรไธอาไซด์ (Dihydrochlorothiazide) ชนิดเม็ดๆ ละ 50 มิลลิกรัม ชื่อการค้า เช่น ไดคลอโรด์ (Dichloride)
2. ฮัยโดรคลอโรไธอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ชนิดเม็ดๆ ละ 50 มิลลิกรัม ชื่อการค้าเช่น ฮัยดริล (Hydril), ฮัยโดรไซด์ (Hydrozide) ไดยูไซด์ (Diuzide)
3. คลอร์ธาลิโดน (Chlorthalidone) ชนิดเม็ดๆ ละ 50 มิลลิกรัม ชื่อการค้าเช่น ฮัยกราตัน 50 (Hygraton 50)
ขนาดใช้คือ 25-100 มิลลิกรัมต่อวัน
3. ประเภทฟูโรซีไมด์ (Furosemide) และ เอธาครินิคแอซิด (Ethacrynic acid
ยาในกลุ่มนี้จัดทำเป็นยาที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยาที่มีใช้ตามท้องตลาด ดังนั้น จึงมีการใช้ยานี้ค่อนข้างมาก
ยากลุ่มนี้ใช้ประโยชน์ลดการบวมได้ผลดี ทั้งที่มีสาเหตุจากหัวใจ ตับและไต นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นโรคน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน (acute pulmonary edema) การให้ยาโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะช่วยขับน้ำที่คั่งอยู่ในปอดออกได้อย่างรวดเร็ว เป็นการช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง คุณสมบัตพิเศษของยาตัวนี้อีกประการหนึ่งคือ สามารถลดระดับแคลเซียมในเลือดได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ผู้ป่วยอาจจะมีการเสียน้ำและเกลือแร่ทางปัสสาวะอย่างมาก จนมีอาการอ่อนเพลียมาก และถ้าเสียโปแตสเซียมมากจะเป็นอันตรายได้ อาการพิษและฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็คล้ายคลึงกับยาในกลุ่มที่ 2 โดยทั่วไปแล้วควรใช้ยานี้ในขนาดต่ำก่อน และค่อยเพิ่มขนาดจนได้ผลตามที่ต้องการ
รูปของยา ขนาด และวิธีใช้
1. เอธาครินิคแอซิด (Ethacrynic acid) ชนิดเม็ด ๆ ละ 25, 50 มิลลิกรัม ชื่อการค้าเช่น อีเดครีน (Edecrine)
2. เอธาคริเนท โซเดียม (Ethacrynate sodium) ชนิดฉีด ชื่อการค้าเช่น อเดครีนโซเดียม (Edecrine Sodium)

3. ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ชนิดเม็ดๆ ละ 20 และ 40 มิลลิกรัม ชื่อการค้า เช่น ลาสิกซ์ (Lasix) ขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ 40 ถึง 200 มิลลิกรัม
ในรูปยาฉีด 1 หลอดประกอบด้วยยา 20 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร หรือ 100 มิลลิกรัม ใน 10 มิลลิลิตร
ขนาดที่ใช้ 20 40 มิลลิกรัม เข้าเส้นเลือดดำ หรือเข้ากล้าม ฉีดซ้ำได้ ภายในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
4. ยาขับปัสสาวะที่มีผลป้องกันการขาดโปตัสเซียม (Potassium-sparing diuretics)
ยาในกลุ่มนี้อาจแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 พวก ตามลักษณะการออกฤทธิ์คือ
4.1 ยาประเภทสไปโรโนแล็คโตน (Spiro¬nolactone) ซึ่งมีผลยับยั้งการดูดซึมกลับของเกลือโซเดียม ที่ท่อกรองปัสสาวะส่วนปลาย (dis¬tal tubule) โดยจะออกฤทธิ์ต้านการทำงานของฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ดังนั้นจะได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยที่มีสาเหตุการบวมที่เกิดจากระดับฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนสูง เช่น ในผู้ป่วยโรคตับและโรคหัวใจ เป็นต้น
4.2 ยาประเภทไตรแอมเทอรีน (Triam¬terene) และ อะมิโลไรด์ (Amiloride)
ยานี้มีผลโดยตรงต่อท่อกรองปัสสาวะส่วนปลาย (Distal tubule) และไม่มีผลยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน
ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการบวมจากโรคหัวใจ และได้ผลดีกว่ายาขับปัสสาวะประเภทอื่นในการรักษาอาการน้ำคั่งในช่องท้อง (ท้องมาน, Ascites) ผลในการป้องกันการขาดโปตัสเซียม ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องให้ยาพวกโปตัสเซียมเสริม และในทางตรงกันข้ามถ้าให้โปตัสเซียม ร่วมกับยากลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้ระดับโปตัสเซียมสูง จนอาจเกิดเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้การให้ยาประเภทนี้ ร่วมกับยาขับปัสสาวะที่ทำให้เสียโปตัสเซียม อาจจะมีประโยชน์ในการรักษาภาวะสมดุลย์ของ โปตัสเซียมได้ และยังช่วยเสริมฤทธิ์ในการขับปัสสาวะซึ่งกันและกันด้วย
ข้อเสียของยาพวกนี้ คือ ราคาแพงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน และมีฤทธิ์อ่อนในการขับปัสสาวะ อาการที่ไม่พึงประสงค์มีน้อยมาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ สำหรับยา สไปโรโนแล็คโตน อาจทำให้ผู้ป่วยชายเกิดมีเต้านมโตเหมือนในผู้หญิงได้ (gyneco¬mastia)
รูปของยา
ชนิดเม็ดมี แอลแด็คโตน (Aldactone) ประกอบด้วย
สไปโรโนแล็คโตน 25 มิลลิกรัม
ขนาดและวิธีใช้
ให้กิน 25-50 มิลลิกรัมต่อวัน แอลโดสเตอโรน (Aldosterone) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมให้มีการดูดซึมกลับของน้ำและเกลอแร่ ที่ท่อกรองปัสสาวะส่วนปลาย (distal tubule) ทำให้เพิ่มการดูดซึมกลับของเกลือโซเดียม และทำให้เสียเกลือโปตัสเซียมออกไปในปัสสาวะมากขึ้น (ดังรูป)


5. ยาขับปัสสาวะที่ยับยั้งเอ็นซัยม์คาร์บอนิค (Carbonic anhydrase inhibitor)
ตัวที่ใช้มากที่สุดได้แก่ อะเซตาโซลาไมด์ ชื่อการค้า เช่น ไดอาม๊อกซ์ (Diamox) ซึ่งผลในการยับยั้งเอ็นซัยม์ตัวนี้ จะเป็นผลให้มีการขับเอาโซเดียม และไบคาร์บอเนทออกทางปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากผลในการขับปัสสาวะอ่อนมาก ไม่นิยมนำมาใช้รักษาอาการบวม นอกจากนี้ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน การออกฤทธิ์ของยาจะอ่อนลงเรื่อยๆ ประโยชน์ในการใช้ยาตัวนี้สำคัญที่สุดคือ เพื่อใช้ลดความดันในลูกตาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน Glaucoma) และอาจใช้เพื่อทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วขึ้นในทางเดินปัสสาวะ
ข้อควรระวัง
ส่วนใหญ่เป็นในรูปของอาการแพ้ยา เช่น เป็นผื่นคัน หรือมีการกดการทำงานของไขกระดูก แต่พบไม่บ่อยนัก
ข้อควรระวังของยานี้อีกประการหนึ่งคือ ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้มีอาการซึมมากขึ้นได้
รูปของยา ขนาด และวิธีใช้
ไดอาม๊อกซ์ (Diamox) ชนิดเม็ดๆ ละ 125, 250 มิลลิกรัม ให้ครั้งเดียว 50 ถึง 200 มิลลิกรัมต่อวัน
ไดคลอร์เฟนาไมด์ (Dichlorphenamide) ชื่อการค้าคือ ดาราไนดุ์ (Daranide) ชนิดเม็ดๆ ละ 50 มิลลิกรัม ขนาดที่ใช้ ให้ครั้งเดียว 50 ถึง 200 มิลลิกรัม ต่อวัน
ยาขับปัสสาวะที่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว
1. ยาขับปัสสาวะที่มีส่วนประกอบของปรอท (Mercurial diuretics)
ยาขับปัสสาวะตัวนี้มีผลในการออกฤทธิ์ได้แรงพอกับยาประเภท ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) และจะทำให้เสียโปตัสเซียม และเกิดภาวะเลือดเป็นด่างได้เช่นเดียวกัน แต่เหตุที่ไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะมีพิษต่อไตค่อนข้างสูงมาก และนอกจากนี้ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเป็นเหตุให้ใช้ยานี้ไม่ได้ผล
ในผู้ป่วย (สาเหตุจาก) โรคไต ไม่ควรใช้ยานี้อย่างเด็ดขาด
2.  ยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นกรด (Acidifying agent)
ยาในกลุ่มนี้มีผลในการออกฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อนมาก ตัวยาที่ใช้บ่อยได้แก่ แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium chloride) ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะมีผลสืบเนื่องมาจากการที่มีปริมาณของอนุมูลกรดเกลือ (Chloride ions) ในกระแสเลือดสูง ไตจะทำหน้าที่ขับกรดที่เกินออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นผลให้เกลือโซเดียมและน้ำ ถูกขับตามออกไปด้วย เมื่อใช้ติดต่อกันนานเกิน 2-3 วัน ยาจะไม่มีประสิทธิภาพในการขับปัสสาวะ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
คุณสมบัติของยาแอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammo¬nium chloride) ที่น่าสนใจคือ ช่วยในการขับเสมหะ ปัจจุบันจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งของยารักษาหวัด และระงับอาการไอได้หลายชนิด
หลักการใช้ยาขับปัสสาวะทั่วไป
โดยปกติแล้วการให้ยาขับปัสสาวะมักจะให้เพียงวันละครั้งเดียวในตอนเช้าหลังอาหาร ไม่ควรจะให้ผู้ป่วยกินยาก่อนนอนเพราะจะเป็นผลให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก การให้ยาควรเริ่มต้นจากขนาดยาต่ำๆ และค่อยเพิ่มขึ้นจนกว่าจะได้ผลการรักษาที่ต้องการ วิธีติดตามผลการรักษาอาจทำได้ง่ายๆ โดยชั่งน้ำหนักตัวผู้ป่วยบ่อยๆ ไม่ควรที่จะพยายามลดน้ำในร่างกายมากเกินความจำเป็น เช่น อ่อนเพลีย ความดันต่ำ เป็นต้น โดยปกติไม่ควรให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลงเกินกว่า 0.5-1 กิโลกรัม ต่อหนึ่งอาทิตย์
ยาขับปัสสาวะทุกตัวยกเว้นในกลุ่มที่ 4 จะทำให้เกิด โปตัสเซียมในเลือดต่ำ จึงควรที่จะให้ผู้ป่วยกินโปตัสเซียมทดแทนด้วย โปตัสเซียมที่ให้ ทดแทนควรจะอยู่ในรูปของสารละลายโปตัสเซียมคลอไรด์ (KCl) ไม่ควรใช้ในรูปของยาเม็ด เพราะโปตัสเซียมคลอไรด์ที่เป็นผง กัดเยื่อบุลำไส้เป็นแผลได้ จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยาขับปัสสาวะอาจจะมีผลต่อสมดุลย์กรด-ด่างในร่างกายได้ แต่ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติและไม่จำเป็นจะต้องกังวลถึงปัญหาเรื่องนี้นัก


ที่มา:นายแพทย์กำพล  ศรีวัฒนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า