สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เนื้องอกและมะเร็งของลูกตา

มะเร็งตา

เนื้องอก หมายถึง ก้อนที่โตขึ้นอย่างผิดปกติ ถ้าเป็นชนิดไม่ร้ายแรงมักไม่มีอันตรายถึงชีวิต อาจจะพบเป็นก้อนโดยผู้ป่วย คลำพบเอง ผู้อื่นทักหรือแพทย์ตรวจพบ โดยทั่วๆ ไปมักไม่มีอาการอะไร ส่วนมะเร็งหมายถึงเนื้องอกชนิดร้ายแรง โตเร็ว มักมีอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นํ้าหนักลด ผู้ป่วยมักจะถึงแก่ชีวิตถ้าไม่รีบรักษา

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเนื้องอกและมะเร็งของลูกตาที่พบ บ่อยในบ้านเรา

ไฝ (Nevus, Melanosis, Melanoma)

ไฝที่พบได้บ่อยๆ บริเวณตาก็มีที่เปลือกตา เยื่อบุตา บริเวณ ตาขาวต่อตาดำ (Limbus) ม่านตา ฯลฯ ไฝมักจะมีมาตั้งแต่เกิด ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงหรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย ถ้าไฝเกิดขึ้นทีหลังให้สงสัยว่าไฝนั้นอาจไม่ใช่ธรรมดาคงจะเป็นไฝชนิดร้ายแรงหรือมะเร็งอื่นที่มีสีก็ได้

เมื่อไรจึงควรจะเอาไฝออก

(1.) ที่ทำบ่อยที่สุดคงจะเพื่อความสวยงาม ได้แก่ ไฝบริเวณ ใบหน้า หรือบางคนต้องการเอาไฝออกเพราะเชื่อว่าอยู่ในตำแหน่งที่นำแต่ความโชคร้ายมาสู่เจ้าของ

(2.) ไฝที่คิดว่ามีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ โดยมีข้อสังเกต ต่างๆ ดังต่อไปนี้

ก. โตเร็วกว่าปกติ

ข. ไฝชนิดแบนๆ กินเนื้อที่กว้าง

ค. ไฝที่มิได้เป็นมาแต่กำเนิด ตัวอย่างที่พบบ่อย ในวัยหนุ่มสาวอยู่ดีๆ บริเวณตาขาวมีพื้นสีดำเกิดขึ้นมาแลดูเป็นว่าตาขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ ลักษณะเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณา การรักษาต่อไป

ง. ไฝที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างใหญ่ หรือเกิดเลือด ออกมาจากไฝ

จ. ไฝที่อยู่บริเวณที่ได้รับการเสียดสีมากๆ เช่น บริเวณขอบตาระหว่างเปลือกตาต่อกับเยื่อบุตา บริเวณมุมตาด้านใน

(3.) เวลาที่สมควรจะทำ ไฝชนิดที่มีตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่  บางคนกระตือรือล้นที่จะให้รีบเอาออก โดยทั่วไปไฝที่จะกลาย เป็นมะเร็งมักจะกลายเมื่ออายุเลยหนุ่มสาวไปแล้ว จึงไม่จำเป็น ต้องรีบเอาออกตั้งแต่เล็ก รอให้โตขึ้นสามารถทำผ่าตัดได้โดยใช้ ยาเฉพาะที่ค่อยทำก็คงไม่สายไป การทำผ่าตัดตั้งแต่เล็กเป็นการ เสี่ยงต่อการดมยาโดยไม่จำเป็น

การรักษา

1. ถ้าไฝมีขนาดเล็กอยู่ในบริเวณที่เอาออกได้โดยไม่ยากนัก ก็ตัดออกทั้งหมด และเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางกล้องจุลทรรศน์

2. ถ้าไฝมีขนาดเล็ก และอยู่ในบริเวณที่ผ่าตัดเอาออกยาก

และยังไม่มีลักษณะที่บ่งว่าจะกลายเป็นมะเร็งก็เอาไว้ก่อนโดย หมั่นสังเกตและให้แพทย์ดูเป็นระยะๆ

3. ถ้าไฝขนาดใหญ่ ไม่สามารถจะตัดออกให้ได้หมด จะตัด ชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าไม่มีลักษณะที่บ่งไปทางเนื้อร้ายก็ตัดออกเท่าที่จะทำได้ถ้าเป็นเนื้อร้ายและใหญ่โตเกินกว่าจะตัดได้ จะรักษาต่อด้วยการฉายแสง

4. ถ้าผลของการตรวจชิ้นเนื้อทางจุลทรรศน์บ่งว่าเป็นเนื้อร้าย โดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุตา อาจจะต้องทำการผ่าตัดใหญ่ มิฉะนั้น เนื้อร้ายจะกระจายไปได้รวดเร็วถึงแก่ชีวิตได้

เนื้องอกของเส้นเลือด (Hemangioma)

หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ปานแดง” เป็นการเจริญแบบ ผิดปกติของเส้นเลือด เห็นเป็นก้อนเนื้อเต็มไปด้วยเส้นเลือด หรือ อาจจะเป็นเพียงสีแดงเรียบๆ พบได้บ่อยบริเวณหนังตา เยื่อบุตา ส่วนในของลูกตา และเบ้าตา ซึ่งเป็นสาเหตุที่บ่อยที่สุดของภาวะ ตาโปนข้างเดียว

เนื้องอกของเส้นเลือดชนิดที่พบในเด็กแรกเกิด (Hemangioma of the newborn)พบบ่อยประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กแรกเกิด ในเด็กคลอดก่อนกำหนดเปอร์เซ็นต์นี้จะสูงขึ้นไปอีก พ่อแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกมีปานแดง โดยเฉพาะบริเวณหนังตา ซึ่งมองเห็นได้ชัดตั้งแต่เกิด ส่วนใหญ่จะมีความกังวล ร้อนใจในการรักษา เนื้องอกชนิดนี้ก็ไม่มีอันตราย มักจะมีขนาดเล็กลงและหายไปได้เองตอนอายุราวๆ 3-4 ขวบ หรืออาจจะทำให้ยุบลงได้ ด้วยการกินยาบางชนิด (Steroid) ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรืออาจจะใช้จี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นต้น

เนื้องอกชนิดนี้ในผู้ใหญ่พบได้เกือบทุกส่วนของตา เช่น บริเวณหนังตา มีชนิดพิเศษที่พบเป็นปานแดงในโรคที่เรียกว่า

Sturge Weber ผู้ป่วยจะมีปานแดงบริเวณหน้าซีกหนึ่ง แบ่งครึ่ง ซีกหน้าอย่างชัดเจน ปานแดงนี้อาจจะครอบคลุมถึงหนังตาบนถึง หน้าผาก และลงมาถึงริมฝีปากบน ส่วนมากพบปานแดงนี้ตั้งแต่เกิด ปานแดงชนิดนี้จะคงที่อยู่อย่างนั้นไม่หายไป มักพบร่วมกับมีปานแดงที่สมองและภายในตาเนื่องจากมีสิ่งผิดปกติในสมองด้วย ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการชัก ข้อที่สำคัญอันหนึ่งคือผู้ป่วยมักจะมีต้อหิน ชนิดไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วยในตาข้างนั้น ควรให้จักษุแพทย์ดูทุกราย เพื่อว่าถ้ามีต้อหินจะได้รักษาแต่เริ่มแรก

เนื้องอกของเส้นเลือดนี้อาจพบได้ที่เยื่อบุตา ม่านตา เบ้าตา พบมากเป็นอันดับหนึ่งของเนื้องอกบริเวณเบ้าตา ตัวมันเองไม่รุน แรง แต่เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่ จึงไปกดอวัยวะข้างเคียง ทำให้ หน้าที่ของอวัยวะนั้นเสียไป เช่น กดประสาทตาทำให้ตามัว หรือ ทำให้ตาโปนออกมาข้างหน้า ทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต กลอกตาไม่ได้เต็มที่ ถ้าตาโปนมากกระจกตาเป็นแผลเชื้อเข้าตาทะลุเสียไปทั้งลูก การรักษาพวกนี้ต้องผ่าตัดเอาออก มักจะลอกออกมาได้ไม่ยากนัก และไม่มีอันตรายอะไร

มะเร็งของจอตา (Retinoblastoma)

เป็นมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดภายในลูกตา ในเมืองไทย เป็นมะเร็งภายในตาที่พบบ่อยที่สุด แถวภาคอีสานและภาคกลาง 90 เปอร์เซ็นต์ พบในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี อาจจะเป็นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยทีเดียว จากสถิติพบเด็กที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ได้ 1 คน ในเด็กแรกเกิด 2 หมื่น 5 พันคน ลักษณะที่พิเศษของมะเร็งชนิดนี้ คือพิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่าถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์แบบเด่น (คือถ้าพ่อแม่เป็น ลูกออกมาครึ่งหนึ่งจะเป็น) ผู้ป่วยอาจจะไม่มีประวัติ ทางกรรมพันธุ์ (Sporadic Case) และสามารถจะถ่ายทอดโรคนี้ ต่อไปได้อีก มะเร็งนี้อาจเกิดพร้อมๆ กันหลายที่ และประมาณ

25 เปอร์เซ็นต์ เป็นพร้อมกันทั้งสองตา

อาการและสิ่งตรวจพบ

เริ่มแรกญาติอาจจะสังเกตว่าเด็กมีตาวาวคล้ายตาแมว โดย จะเห็นว่าตรงรูม่านตา (Pupil) แทนที่จะเป็นสีดำ จะกลายเป็นสี ขาววาวๆ เห็นชัดในเวลากลางคืน เพราะม่านตาขยาย ระยะนี้เด็ก จะไม่มีอาการอะไร ไม่เจ็บไม่ปวด ถ้าผ่านไปโดยมิได้สังเกต ก้อน เนื้องอกจะโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอักเสบภายในตา เด็กจะเริ่ม งอแงไม่กล้าลืมตา เจ็บปวด ตาแดงเรื่อๆ หรือเนื้องอกอาจจะทำให้เกิดโรคต้อหินแทรกซ้อน เด็กก็จะมีอาการปวดตามากในบางราย ถ้าเนื้องอกใหญ่ขึ้นทำให้ตาเด็กข้างนั้นมองไม่เห็น ตาข้างนั้นจะไม่ตรง ส่วนมากมักจะเขเข้าใน ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาอีก เนื้องอกนั้นก็จะลามออกนอกลูกตาออกมาเต็มเบ้าตาลูกตาจะถลนออกมา มีบ่อยครั้งที่ตัวเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าลูกตาหลายเท่า แทบจะหาลูกตาไม่พบ เด็กจะเจ็บปวดและทรมานมาก

บางรายอาจจะมาด้วยเลือดออกในช่องตาที่หาสาเหตุไม่ได้ (Spontaneous Hyphema) ซึ่งก็นำความเจ็บปวดแก่เด็กอย่างมาก เช่นเดียวกัน มีบ่อยๆ ที่เด็กจะมาพบแพทย์เมื่อเนื้องอกกระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น สมอง กะโหลกศีรษะ เด็กมาด้วยอาการซึม มึนงง ชัก เป็นตุ่มบริเวณกะโหลกศีรษะ บางราย เนื้องอกกระจายไปสู่ตับ ลำไส้ กระดูก เป็นต้น

มะเร็งของเปลือกตาชนิดที่เรียกว่าแผลหนูแทะ(Basal Cell)

พบบ่อยที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งเปลือกตาในผู้ป่วย อายุ 50-55 ปี โดยเฉพาะที่ทำงานกลางแจ้งอยู่กับฝุ่นละออง มักจะเป็นบริเวณเปลือกตาล่างด้านใน มะเร็งชนิดนี้เป็นแบบแผลเรื้อรัง โดยตอนแรกจะเป็นแผลนูนขึ้นมา นานเข้าตรงกลางก้อนที่นูนจะเป็นแผลบุ๋มลงไป ส่วนขอบแผลจะแข็ง นูน แผลกินลึกลงไปด้านข้างๆ ตรงกลางอาจมีนํ้าเหลืองหรือเลือดติดอยู่ ดูคล้ายๆ แผลอักเสบธรรมดา รักษาด้วยยาไม่หาย บางรายที่ส่วนบนของแผลมีสีดำๆ ติดอยู่ทำให้แลดูคล้ายมะเร็งของไฝ มะเร็งชนิดนี้ไม่รุนแรง ลุกลามเฉพาะที่ช้าๆ ไม่กระจายตัวไปไกล ไม่เจ็บไม่ปวดนอกจากก้อนจะใหญ่มากทำให้หลับตาไม่สนิท มีผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงทำให้เจ็บปวดได้ ในบางรายสังเกตเห็นว่าขนตาบริเวณนั้นหายไป

การรักษา ได้ผลดีทั้งทางผ่าตัดและทางรังสี โดยทั่วๆ

ไปเราจะตัดชิ้นเนื้อบางส่วนมาศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ดูก่อน ถ้าเป็นมะเร็งชนิดนี้และก้อนไม่โตนักเราก็จะตัดออกทั้งก้อน ถ้า ก้อนใหญ่ไม่สามารถตัดออกทั้งก้อนได้ก็ใช้รังสีรักษา หรือในบางรายอาจใช้รังสีรักษาให้ก้อนยุบลงแล้วตามด้วยผ่าตัดก็ได้

มะเร็งของเปลือกตาชนิด (Squamous Cell)

พบน้อยกว่าแผลหนูแทะ ส่วนมากมักจะเป็นก้อนนูน ไม่ค่อย เป็นแผล มะเร็งชนิดนี้รุนแรงกว่าชนิดหนูแทะ อาจจะกระจายตัวไปไกล มักจะไปที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณหน้าหูก่อน

การรักษา ผ่าตัดออก

ทางรังสีพอได้บ้าง แต่ไม่ดีเท่าพวกหนูแทะ

เนื้องอกของต่อมนํ้าตา (Mixed Tumor)

พบมากในผู้ป่วยอายุประมาณ 40-50 ปี พบเป็นก้อนออกมา จากต่อมนํ้าตาซึ่งอยู่บริเวณด้านบนและหางตา ส่วนมากจะเป็นก้อนโตช้า ไม่เจ็บไม่ปวด นานเข้าก้อนอาจจะทำให้ตาโปนข้างเดียว โปนแบบลงล่างและเข้าใน หรือบางรายมาด้วยหนังตาตกข้างเดียว บางรายมาด้วยมองเห็นภาพเป็น 2 ภาพ หรือตามัวเนื่องจากเนื้องอกกดประสาทตา

การรักษา ผ่าตัดออก ถ้าตัดไม่หมดอาจจะงอกขึ้นมาใหม่ได้ แต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต นอกจากจะกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง

เนื้องอกจากการอักเสบ (Pseudotumor of Orbit)

มีลักษณะเหมือนก้อนเนื้องอก แต่ถ้าศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์แล้ว พบว่าลักษณะของเซลล์ปกติ เป็นพวกเซลล์ของการอักเสบ ไม่ใช่เซลล์ที่ผิดปกติ พบมากในเบ้าตา ทำให้วินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นเนื้องอกชนิดมีอันตราย สาเหตุของการเกิดเนื้องอกชนิดนี้ยังไม่ทราบ ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการตาโปนข้างเดียว เป็นๆ หายๆ รักษาหายแล้วตายุบเหมือนปกติและอาจเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีก การตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจจะช่วยทำให้วินิจฉัยได้แน่นอน รักษาให้หายได้ด้วยยา ไม่มีอันตรายถึงชีวิตแต่มักจะกลับคืนเป็นได้ใหม่

มะเร็งที่มาจากอวัยวะอื่น

พบไม่บ่อยนัก ที่พบมักมาจากมะเร็งเต้านม ปอด ไต อัณฑะ กระเพาะอาหาร ส่วนมากมักจะมาที่ชั้นกลางของตา (Choroid) ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการตามัวจากเนื้องอกดันให้เกิดการลอก ของจอตา

การรักษาไม่ได้ผลเพราะว่าเมื่อมันมาที่ตาแสดงว่าจะต้อง กระจายมาตามกระแสเลือด ฉะนั้นจะต้องกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว ผู้ที่เป็นมักจะตายภายใน 8 เดือนถึง 2 ปี

รศ. พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า