สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดและการแก้ไข

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดที่พบบ่อย
การตกเลือด
เป็นภาวะที่มีเลือดออกมามากกว่า 500 มิลลิลิตรขึ้นไป หลังจากที่คลอดทารกออกมาแล้ว มักจะเกิดขึ้นทันทีในระยะหลังคลอด หรืออาจเกิดขึ้นหลัง 24 ชั่วโมงหลังคลอดก็ได้ในบางราย ภาวะนี้มักเป็นสาเหตุการตายของมารดา ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างหนึ่ง

สาเหตุ
1. มดลูกไม่หดตัว
เป็นสาเหตุของการตกเลือดที่พบบ่อยที่สุดหลังจากการคลอด โดยมีสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดขึ้น เช่น จากการตั้งครรภ์แฝด แฝดน้ำ ทารกตัวโต การคลอดยากโดยเฉพาะในครรภ์ที่ 5 ขึ้นไป คลอดเร็วเกินไป ถุงน้ำคร่ำมีการติดเชื้อ เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ทำให้เกิดการขยายอย่างมากของมดลูกจนไม่สามารถหดตัวได้

2. การฉีดขาดของช่องทางคลอด
เป็นสาเหตุที่พบรองมาจากมดลูกไม่หดตัว ซึ่งบริเวณที่มีการฉีดขาดมักจะเป็นตรงฝีเย็บ รอบท่อปัสสาวะ และด้านข้างของช่องคลอด ซึ่งทำให้มีการตกเลือดหลังจากการคลอดได้

3. รกค้าง
ในรายที่รกเกาะกับเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติมักทำให้เกิดภาวะรกค้างเกิดขึ้น คือ การเกาะของรกจะลึกเข้าเข้าในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก ทำให้การหลุดลอกของรกออกมาได้ไม่พร้อมกัน ทำให้มีการเสียเลือดไปมาก และภาวะตกเลือดหลังคลอดยังเกิดจากสาเหตุที่รกเกาะต่ำด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ส่วนล่างของมดลูกมักมีอยู่น้อย ทำให้การหดตัวทำได้ยาก จึงไม่สามารถทำให้เลือดหยุดไหลได้

4. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
สาเหตุนี้มักเกิดขึ้นน้อย มักพบกับผู้ที่มีการเสียเลือดมากๆ มีน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด การลอกตัวของรกเกิดขึ้นก่อนกำหนด หรือมีโรคเกี่ยวกับเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกง่าย เนื่องจากอายุการทำงานของเกล็ดเลือดสั้นกว่าปกติ

แม้ว่าจะพบภาวะน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยราย แต่ก็มักทำให้เสียชีวิตลง อาการแสดงของผู้ป่วย คือ เลือดไม่แข็งตัว หลอดลมตีบทำให้หายใจหอบเหนื่อย และในรายที่มีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมกับการหดตัวของมดลูกอย่างรุนแรงมักจะภาวะความดันของโลหิตต่ำลง หรือเมื่อรกลอกตัวก่อนกำหนดทำให้น้ำคร่ำไหลเข้าหลอดเลือดที่ฉีกขาดบริเวณที่รกลอกได้ ซึ่งการแข็งตัวที่ผิดปกติของเลือดจะถูกกระตุ้นจากสารทรอมโบพลาสตินที่อยู่ในน้ำคร่ำนั่นเอง

5. มดลูกปลิ้น
ในระยะที่ทารกเพิ่งคลอดออกมา ปากมดลูกจะยังเปิดอยู่ มดลูกก็จะมีความล้า และรกก็ยังไม่คลอดออกมา หากทำคลอดไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดภาวะมดลูกพลิกออกมาอยู่ด้านนอกได้ โดยเฉพาะในรายที่รกเกาะบริเวณยอดมดลูก ร่วมกับการใช้มือดนยอดมดลูกลงมาเพื่อช่วยให้รกคลอด จนทำให้ประสาทวากัสถูกกระตุ้นให้ทำงาน ทำให้หลอดเลือดขยายตัวมีเลือดออกมามาก และอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกขึ้นได้

อาการและอาการแสดง
ผู้ที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดจะมีอาการเริ่มแรกคือ จะเจ็บที่มดลูกด้านใดด้านหนึ่งอย่างรุนแรงทันที มดลูกแข็งและโต จะรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสถูก หน้าท้องตึงมีเลือดออกมากและเจ็บมาก ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีหากพบว่ามีอาการดังกล่าว อาการผู้ป่วยจะรุนแรงมากขึ้นถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องทันเวลา หรือทำให้ช็อกไปในที่สุด อาการที่ผู้ป่วยแสดงให้เห็นคือ จะหาวบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ กระหายน้ำ กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่น อาเจียน ซึม ตาพร่ามัว หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม เหนื่อยหอบ หายใจลึก ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำลง ชักกระตุกเป็นตะคริว หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใน

รายที่เริ่มมีอาการช็อก จะมีภาวะความดันโลหิตต่ำ แต่เลือดที่ออกมาจะมีปริมาณน้อย อาจมีสาเหตุมาจากการตกค้างของเลือดในช่องท้อง มดลูกฉีดขาด มดลูกปลิ้น หรือในกระแสเลือดมีน้ำคร่ำไหลเข้าไปก็ได้

การป้องกันและรักษา
1. การเฝ้าระวังในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเลือดและช็อกในระยะหลังคลอด
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการตกเลือดและช็อกในระยะหลังคลอด ได้แก่ มีประวัติตกเลือดหลังการคลอด ควรมีการตรวจดูก่อนว่ามีภาวะซีดหรือไม่ หรือเป็นโรคเลือดอยู่ก่อนหรือไม่ ถ้ามี ควรมีการวัดสัญญาณชีพอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ

2. การรักษาตามสาเหตุ
เกี่ยวกับวิธีการรักษาผู้ที่ตกเลือด ในทางการผดุงครรภ์ไทยยังไม่พบบันทึกที่มีความชัดเจน แต่แนวทางรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีการรักษาตามสาเหตุดังนี้

-มดลูกหดตัวไม่ดี
หากเกิดการตกเลือดหลังคลอดจากกรณีนี้ แพทย์จะให้ยากระตุ้นทางหลอดเลือดเพื่อให้มดลูกมีการหดตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการนวดคลึงบริเวณมดลูกไปด้วย หรืออาจต้องทำการผ่าตัดหากใช้วิธีดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผล

-ช่องทางคลอดฉีดขาด
ทำให้เลือดหยุดด้วยการใช้ผ้ากดที่แผล และเย็บปิดแผลที่ฉีดขาดให้หมด โดยเย็บให้พ้นขอบแผลที่หดรั้งและครอบคลุมหลอดเลือดที่ฉีดขาดเข้าไป

-รกค้าง
อาจต้องให้ดมยาสลบหรือฉีดยาแก้ปวดเพื่อจะได้ทำการล้วงรก หรือขูดมดลูก และในรายที่รกค้างจากการเกาะลึกผิดปกติอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกออกไป

-มดลูกปลิ้น
ภาวะนี้จะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องรีบทำการวินิจฉัยให้เร็วที่สุด โดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาสลบ แล้วจึงทำให้มดลูกพลิกเข้าไปอยู่ในภาพปกติ

-น้ำคร่ำเข้าไปในกระแสเลือด
ให้ใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยพยุงระบบการหายใจ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดเพื่อแก้ไขภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดตามสาเหตุของโรคเพื่อแก้ไขภาวะเลือดไม่แข็งตัว

การติดเชื้อหลังคลอด
เป็นการติดเชื้อในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด หรือภายใน 28 วันหลังแท้งของระบบสืบพันธุ์

ประเภทของการติดเชื้อ
1. การติดเชื้อเฉพาะที่
เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกในบริเวณที่มีบาดแผล เช่น ฝีเย็บ ช่องคลอด หรือภายในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น บริเวณปากมดลูก เยื่อบุมดลูก การติดเชื้อประเภทนี้จะไม่มีการลุกลามต่อไปจะเกิดขึ้นเฉพาะที่เท่านั้น

2. การติดเชื้อลุกลามไปนอกมดลูก
เป็นการติดเชื้อที่มีการอักเสบลุกลามไปในที่ต่างๆ เช่น เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้อง ในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากมีการกระจายลุกลามของเชื้อไปทางหลอดน้ำเหลือง

อาการ
มักพบว่าผู้ป่วยจะมีไข้ประมาณ 38 องศาเซลเซียสหลังจากคลอด หรือมีไข้สูงติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน และเกิดอาการเฉพาะที่ขึ้น เช่น เกิดการบวมแดงของฝีเย็บและมีหนอง น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีสีน้ำตาลแดง และมีปริมาณมาก หากมีการติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้องมักจะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูงมาก มีอาการหนาวสั่น หน้าท้องแข็งตึงกดเจ็บ มีเหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย อาจทำให้ถึงตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การให้คำแนะนำ
1. เพื่อเป็นการยับยั้ง หรือทำลายเชื้อโรค และบรรเทาอาการอักเสบ ควรใช้ยาปฏิชีวนะตามแผนของการรักษา

2. ขูดมดลูกของมารดาตามแผนการรักษา เพื่อขจึดแหล่งติดเชื้อในร่างกายให้ออกไป

3. เพื่อลดสิ่งหมักหมมที่อวัยวะสืบพันธุ์ มารดาควรชำระอวัยวะสืบพันธุ์อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง/ครั้ง และหลังการขับถ่ายทุกครั้ง

4. เพื่อให้น้ำคาวปลาไหลออกจากโพรงมดลูกได้สะดวก จึงควรจัดให้มารดาได้นอนในท่านอนคว่ำ และใช้หมอนวางรองรับท้องน้อยเอาไว้ นอนในท่าศีรษะสูงหรือตะแคงศีรษะ เพื่อเป็นการลดสิ่งหมักหมม

5. เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น จึงควรให้มารดารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง เพื่อเป็นการบำรุงร่างกายให้มีความแข็งแรงขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย
ในสมัยโบราณการคลอดบุตรอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือการตกเลือดได้ เนื่องจากมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอดให้ ซึ่งมักจะใช้วิธีการข่มท้อง ในบางรายอาจกรีดฝีเย็บด้วยเล็บ หรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่รับการฆ่าเชื้อ ประกอบกับการคลอดก็ทำให้ฝีเย็บมีแผลฉีกขาดอยู่แล้ว อาจทำให้มีการติดเชื้อที่ฝีเย็บได้ถ้าดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ

อาการหรือโรคที่พบในมารดาหลังคลอด ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย และวิธีการรักษา
ในคัมภีร์มหาโชตรัตได้กล่าวถึงโลหิตเป็นพิษว่า “ในกาลก่อน ความรู้เรื่องการติดเชื้อมีน้อยมาก ดังนั้น จึงมักมีการติดเชื้อหลังคลอดบ่อยๆ ซึ่งทำให้กล่าวว่า โลหิตที่ยังคงคั่งค้างอยู่เป็นโลหิตเน่า โลหิตร้าย และหากมีจำนวนมากจะตีขึ้นไป ทำให้สิ้นสติ หมายถึง โลหิตเป็นพิษ หลังคลอดผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เนื่องจากเชื้อโรคที่อยู่ในมดลูกเข้าสู่กระแสโลหิตไปทั่วร่างกาย บางรายติดเชื้อบาดทะยักทำให้มีอาการชัก มือกำเท้ากำ อ้าปากไม่ออก และมีอาการอื่นๆ ที่รุนแรง อาจทำให้มดลูกเน่า อาจมีเลือดเน่าปนหนอง กลิ่นเหม็นจัดไหลออกมาจากช่องคลอด ถือว่าเป็นโรคไม่สามารถที่จะอยู่ไฟได้ ตำรายาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษาอาการโลหิตเป็นพิษจะเป็นยาขับโลหิตเน่าร้ายออกโดยสิ้นเชิง โดยจะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่กระแสโลหิต ยาที่ใช้คงเป็น 37 ขนาน ดังรายละเอียดในคัมภีร์มหาโชตรัต ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา “ยาผายโลหิตเน่าทั้งปอด” ที่ประกอบไปด้วย ใบมะขาม ใบส้มป่อย โขลกเอาน้ำสิ่งละทะนาน เกลือ 1 บาท นำไปเคี่ยวให้ข้น เมื่อกินเอามะขามเปียกละลายลงแล้ว เติมยาดำ 1 สลึง ดีปลี 1 บาท กินประจุโลหิตเน่า โลหิตร้ายตกสิ้นดีนัก”

สรรพคุณของสมุนไพรในตำรับยานี้
1. ยาระบาย คือ ใบมะขาม ใบส้มป่อย มะขามเปียก ยาดำ
2. ยาขับระดู คือ ดีปลี

“ยาแก้โลหิตคับคั่ง ประกอบด้วย ดีปลี รากชะพลู เจตมูลเพลิงแดง สะค้าน พริกไทย ไพล ผิวมะกรูด ใบคนทีสอสิ่งละเท่าๆ กัน ทำผลละลายสุรากิน แก้พิษโลหิตคับคั่งดีนัก”

สรรพคุณของสมุนไพรในตำรับยานี้
1. ตัวยารสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืด ปรับธาตุให้สมดุล ได้แก่ ดีปลี รากชะพลู เจตมูลเพลิงแดง สะค้าน
2. บำรุงธาตุ ได้แก่ พริกไทย ใบคนทีสอ
3. ยาลดการอักเสบ ได้แก่ ไพล
4. ฟอกโลหิตระดู ได้แก่ ผิวมะกรูด

ปัจจุบันผู้ทำคลอดที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบัน จะได้รับการอบรมเกี่ยวกับการทำคลอดที่ปลอดเชื้อและถูกวิธี หลังการคลอดจึงมีโรคแทรกซ้อนลดลงมาก มีการใช้ยาขับพิษเน่าร้ายของมดลูกลดลง แต่ยาบางขนานที่ยังมีประโยชน์ก็ยังนำมาใช้กันพอสมควร เช่น ยาเจริญอาหาร และยาบำรุงโลหิต เป็นต้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า