สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะตัวเย็นเกิน(Hypothermia)

เกิดจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็น เช่น อากาศหนาว แช่ในน้ำที่เย็นจัด จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะอุณหภูมิลดต่ำเกิน หรืออุณหภูมิแกน(core temperature) ของร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับผลกระทบจนทำหน้าที่ผิดปกติ เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงและอาจตายได้

มักพบได้ในผู้ที่ขาดการป้องกันร่างกายให้อบอุ่นเมื่อต้องเผชิญกับความหนาวเย็น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆภาวะตัวเย็นเกิน

สาเหตุ
1. ที่พบในคนที่แข็งแรง อายุยังไม่มาก ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุจนต้องสัมผัสกับความหนาวเย็น เช่น อากาศหนาว หรือแช่อยู่ในน้ำเย็นจัด

2. ร่างกายไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายไว้ได้เนื่องจากมีการสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาท บุคคลกลุ่มนี้อุณหภูมิของร่างกายจะลดลงถึงขึ้นเป็นอันตรายได้แม้จะสัมผัสอากาศเย็นแค่พอประมาณ

อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้อยลง ในระยะแรกๆ ต่อมาผู้ป่วยจะหยุดสั่น และมีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้ตัว และในที่สุดก็หมดสติและหยุดหายใจเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงไปอีก

สิ่งตรวจพบ
ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีผิวหนังเย็นและซีด สั่น หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ในระยะแรก

ผู้ป่วยมักจะหายใจช้า ชีพจรเต้นช้าหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ ปากเขียว ตัวเขียว รูม่านตาโตทั้ง 2 ข้าง แต่ไม่มีอาการสั่น หรืออาจหมดสติ หยุดหายใจ และคลำชีพจรไม่ได้ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายยิ่งลดต่ำลงมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน
จะเกิดผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกส่วนในภาวะตัวเย็นเกิน มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมักเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจห้องล่างเต้นระรัว และยังพบภาวะเลือดเป็นกรด โพแทสเซียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ปอดอักเสบ ไตวาย ภาวะเลือดข้น ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ตับอ่อนอักเสบ ทางเดินอาหารเป็นแผลหรือเลือดออก หลอดลมหดเกร็ง เป็นต้น

การรักษา

จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนและให้การดูแลรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนี้

แพทย์มักจะทำการรักษาด้วยวิธีทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น เช่น ห่มผ้านวมหรือผ้าห่มหนาๆ แช่หรือประคบด้วยน้ำอุ่น ห่มผ้าห่มไฟฟ้า ให้สารน้ำที่อุ่นเข้าทางหลอดเลือดดำ หายใจสูดอากาศที่อุ่นเข้าร่างกาย สวนน้ำอุ่นทางกระเพาะอาหาร ทวารหนัก กระเพาะปัสสาวะ ช่องท้อง หรือโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

แพทย์จะต้องรีบทำการกู้ชีพ(CPR) ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ปรับดุลอิเล็กโทรไลต์ในเลือดถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือชีพจรไม่เต้น

การตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ มักเป็นวิธีที่แพทย์ใช้ประเมินอาการและภาวะแทรกซ้อน และให้การแก้ไขตามสาเหตุที่พบ

ความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นก่อนมาถึงโรงพยาบาลมักจะมีผลต่อการรักษาว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ผู้ป่วยมักมีโอกาสรอดชีวิตสูงถ้าได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลการรักษาก็มักได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไป หรือมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ก่อน

ข้อแนะนำ
1. เมื่อย่างเข้าฤดูหนาวควรหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากภาวะนี้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว

2. โรคนี้เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ฉุกเฉินร้ายแรง ควรรีบให้การปฐมพยาบาลและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเมื่อพบว่ามีผู้ที่ถูกความหนาวเย็นและมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้

การป้องกันอันตรายจากความเย็น
1. ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นอย่างเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

2. ไม่ควรออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ ปกคลุมบริเวณใบหน้า ศีรษะ รวมทั้งการใส่ถุงมือถุงเท้าด้วย

3. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์

4. ควรให้การดูแลบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษในช่วงอากาศหนาวเย็น เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะนี้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า