สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สมุนไพรที่ใช้ฟื้นฟูสุขภาพทางจิตใจ

เป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยทำให้จิตใจสงบ เกิดความสบายใจ การใช้พืชสมุนไพรบางชนิดที่มีน้ำมันหอมมาบำบัด ก็สามารถฟื้นฟูสุขภาพทางจิตใจให้ดีขึ้นได้

สมุนไพรที่ใช้ฟื้นฟูสุขภาพทางจิตใจกับขอบเขตทางวิทยาศาสตร์
การใช้น้ำมันระเหยจากพืชเพื่อความผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกสงบ สบายใจ จะสามารถฟื้นฟูสุขภาพของจิตใจได้ โดยอาจเป็นการบำบัดที่บ้านด้วยตัวเอง หรือตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นไปในรูปแบบของการอาบ การอบ การสูดดม การแช่มือและเท้า การประคบ และการนวด

การใช้น้ำมันที่สกัดจากพืชอย่างเข้มข้นเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เรียกว่า การบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย(aromatherapy) สารสกัดจากพืชพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอม เรียกว่า น้ำมันระเหย(essential oils) โดยในกลีบดอกไม้ ใบไม้ ต้นไม้ เปลือกไม้ และเนื้อไม้ของพืชหลายชนิดจากธรรมชาติจะมีน้ำมันระเหยอยู่ในต่อมเล็กๆ จะมีกลิ่นหอมเมื่อถูกปล่อยออกมา และจะมีกลิ่นที่หอมรุนแรงมากขึ้นเมื่อใช้ความร้อนหรือใช้การขยี้ให้ต่อมน้ำมันนี้แตกออก และเมื่อนำน้ำมันระเหยมากลั่นให้น้ำมันระเหยปนออกมากับไอน้ำ เมื่อเย็นลงก็แยกน้ำมันออกจากน้ำอีกที ก็จะได้น้ำมันระเหยที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น และจะได้เป็นน้ำเรซิน หรือน้ำมันระเหยบริสุทธิ์(absolute oils) เมื่อใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายในการสกัด แต่ความบริสุทธิ์จะน้อยกว่าการกลั่นด้วยไอน้ำ เนื่องจากจะเจือปนไปด้วยตัวทำละลาย แต่ก็สามารถใช้บำบัดโรคได้เช่นกัน

ประเภทของน้ำมันระเหยสามารถแบ่งได้ 3 แบบใหญ่ๆ คือ ประเภทที่ใช้เสริมกำลังกายและกำลังใจ ประเภทที่ใช้ปรับการทำงานที่สำคัญของร่างกาย และประเภทที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายทั้งทางกายและทางจิตใจ มีอยู่หลากหลายวิธีในการนำน้ำมันระเหยไปใช้ เช่น ใส่ในน้ำมันหรือโลชั่นสำหรับนวด ใช้สูดดม ผสมในน้ำอาบ นำไปประคบ เชื่อว่าการสูดดมน้ำมันระเหย กลิ่นของมันจะส่งผลต่อสมองทันทีจึงทำให้ได้ผลเร็วที่สุด และน้ำมันระเหยยังสามารถซึมผ่านผิวหนังผ่านทางต่อมเหงื่อหรือรูขุมขนได้ จากนั้นก็จะซึมเข้าไปสู่ระบบน้ำเหลืองหรือหลอดเลือด สามารถรักษาเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายได้ แต่ก็ควรใช้น้ำมันระเหยเข้มข้น น้ำมันเรซิน และน้ำมันระเหยบริสุทธิ์อย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดการแพ้และเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ ควรทดสอบดูว่าแพ้หรือไม่ด้วยการทาเพียงเล็กน้อยที่หลังใบหู

คนทุกวัยสามารถที่จะบำบัดด้วยน้ำมันระเหยได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง และเชื่อว่าในการรักษาระยะยาววิธีนี้จะเหมาะสมที่สุด หรือสามารถใช้กับโรคที่เป็นซ้ำๆ ได้ หากในแผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ การบำบัดด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีและเร็วมากสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่น อารมณ์โกรธ ความเครียด อาการซึมเศร้า และอาการที่เกี่ยวข้องกันเช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น การป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ในน้ำมันระเหยหลายชนิดก็มีคุณสมบัตินี้อยู่ และยังก่อให้เกิดความรู้สึกที่สมดุลสบายอีกด้วยเนื่องจากมีคุณสมบัติในการกระตุ้น หรือช่วยให้สงบผ่อนคลายได้ด้วย

บทบาทของสมุนไพรในการฟื้นฟูสุขภาพทางจิตใจ
ในประเทศไทยมีพืชพรรณไม้พื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถนำมาสกัดน้ำมันระเหยได้ เช่น มะลิ ตะไคร้ และโหระพา เป็นต้น การเลือกใช้ก็ต้องให้ตรงตามธาตุทั้ง 4 ว่าจะเลือกใช้กลิ่นใด และเลือกชนิดที่มีสรรพคุณตรงกับอาการที่จะบำบัดด้วย

โหระพา
ในน้ำมันระเหยจะมีสรรพคุณทำให้สดชื่น เบิกบาน ใช้บำบัดปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ระบบการย่อยอาหาร อาการเครียด และซึมเศร้าได้

มะลิ
สรรพคุณของน้ำมันระเหยในมะลิจะช่วยให้ผ่อนคลายจากความอ่อนล้า ช่วยบำบัดอาการน้ำมูกไหล หรือผิวหนังที่แห้ง

ตะไคร้
น้ำมันระเหยจากตะไคร้มีสรรพคุณในการปรับสภาพ ในผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ผิวมัน ลำไส้อักเสบ และทำให้รู้สึกสดชื่น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า