สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สัตว์มีพิษในทะเลไทย:แมงกะพรุน

ที่มา:วันทนา  อยู่สุข,ธีระพงศ์  ด้วงดี

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ทะเลที่ตามลำตัวและหนวดมีเซลล์นีมาโตศัยต์ ซึ่งภายในมีนีมาโตศิย์สต์ เป็นอาวุธสำหรับล่าเหยื่อและป้องกันตัว แมงกะพรุน ที่มีพิษรุนแรงได้แก่ แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนสาหร่าย หรือสาโหร่ง

ลักษณะทั่วไป

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปลำตัวมีลักษณะคล้ายร่มหรือดอกเห็ด บางชนิดคล้ายระฆัง ด้านหลังโค้ง อาจมีสีหรือไม่มีสี ด้านท้องมีหนวดซึ่งมีขนาดสั้นหรือยาว และรูปแบบแตกต่างกันตามชนิด แมงกะพรุนทุกชนิดที่หนวด และลำตัวจะมีเซลล์เข็ม (stinging cell) ที่เรียกว่า นีมาโตศัยต์ (nematocyte) ภายในเซลล์มีถุงพิษ เรียกว่า นีมาโตศิย์สต์ (nematocyst) ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการป้องกันตัวและล่าเหยื่อ แม้ว่าแมงกะพรุนทุกชนิดจะมีเข็มพิษ แต่ความรุนแรงของพิษจะมากน้อยแตกต่างกันไป พวกที่มีเข็มพิษจำนวนมากจะเป็นพวกที่มีพิษรุนแรง และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ นักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนและลงเล่นน้ำทะเล หรือชาวประมงน้ำตื้นและลูกเรือประมง มีโอกาสได้รับภัยจากพิษของแมงกะพรุนพวกนี้ โดยเฉพาะพวกแมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนสาหร่าย หรือสาโหร่ง

แมงกะพรุนไฟ มีลำตัวลักษณะคล้ายร่ม สีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลปนแดง ปากและหนวดยื่นออกมาทางด้านล่างหรือด้านท้อง เส้นหนวดมีจำนวนมากเป็นสายยาวกว่าลำตัว พบในทะเลทั้งบริเวณชายฝั่งและไกลฝั่ง ในช่วงฤดูมรสุมอาจพบในเขตน้ำกร่อย

แมงกะพรุนสาหร่ายหรือสาโหร่ง ลำตัวใส อาจเป็นสีขาวหรือสีเหลือง ลักษณะคล้ายระฆังเหลี่ยม ที่มีสี่มุม แต่ละมุมของขอบล่างมีเส้นหนวดที่อาจมี เพียง ๑ เส้นหรือมากกว่าแล้วแต่ชนิด โดยหนวดมีความยาวกว่าลำตัวมาก พบทั้งในทะเลและน้ำกร่อย

ลักษณะการทำงานของนีมาโตศิย์สต์

นีมาโตศิย์สต์ของแมงกะพรุนอยู่ในเซลล์ นีมาโตศัยต์ ซึ่งกระจายอยู่ตามผิวลำตัวและหนวด ในแมงกะพรุนบางชนิด เช่น chironex fleckeri ตัวเต็มวัยมีหนวดประมาณ ๖๐ เส้น หนวดแต่ละเส้นอาจมีนีมาโตศิย์สต์ถึง ๔-๕ พันล้านอัน ทำหน้าที่ในการช่วยจับเหยื่อและปัองกันตัวเองจากผู้ล่า นีมาโตศิย์สต์ ประกอบด้วยกะเปาะ (capsule) ฝาปิด (operculum) หนามหรือเข็ม (spine) ท่อกลวงยาว และพิษ (venom) กลไกการทำงานหรือการยิงเข็มพิษตอบสนองต่อทั้งการกระตุ้นทางกายภาพเช่น การรับสัมผัส และการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เมื่อสัตว์อื่นรวมทั้งมนุษย์ไปสัมผัสถูกอวัยวะที่มีเซลล์ นีมาโตศิย์สต์ ก็จะกระตุ้นทำให้เข็มพิษดีดตัวออกมา และฝังลงในผิวของเหยื่อพร้อมกับการปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายของเหยื่อโดยผ่านทางผิวหนัง ซึ่งอาจมีผลต่อเหยื่อแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ ชนิดของแมงกะพรุน ปริมาณสารพิษที่ได้รับ และบริเวณที่สัมผัส เป็นต้น

พิษของแมงกะพรุน

เมื่อเข็มพิษดีดตัวออกมา น้ำพิษซึ่งประกอบไป ด้วยสารนํ้าเฉื่อย (inert fluid) เกลือและสารพิษ จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกัน เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกายของเหยื่อก็จะมีผลยับยั้งหรือรบกวนกระบวนการทางชีวภาพต่างๆ ภายในร่างกายของเหยื่อ สารพิษของแมงกะพรุนเป็นพวกฮัยโดรโฟบิค ถูกทำลาย โดยความร้อนได้ง่าย ประกอบด้วยกลุ่มของโพลีย์เปปไทด์หลายชนิด ซึ่งเป็นผลให้เกิดความแตกต่างในพิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิด ในปัจจุบันสามารถสกัดสารพิษบางตัวออกจากแมงกะพรุนชนิดต่างๆ ได้ เช่น rhizolysin จาก rhizostoma pulma, hemolysin จาก chrysaora quinquecirrha, phospholipase จาก Rhopilema nomadica. อย่างไรก็ตามเนื่องจากพิษในแมงกะพรุนเป็นกลุ่มสารที่มีความซับซ้อน อาจพบรวมกันเป็นสารประกอบ เชิงซ้อนของสารพิษ กับ antigenic polypeptides และเอนซัยม์ที่สามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ ดัง นั้นจึงยากต่อการศึกษา จนถึงปัจจุบันองค์ประกอบ และรูปแบบของสารพิษในแมงกะพรุนยังไม่มีข้อมูลชัดเจน โดยพบว่าประกอบไปด้วยสายโพลีย์ เพปไทด์ โปรตีน และอาจพบเอนซัยม์ elastases, Dnase, อีสตามีน เอนซัยม์ protease, hae- moglutinin, เอนซัยม์ alkaline protease และกลุ่มของโพลีย์ท็อกซิน (non-protein, aliphatic long chain molecules) นอกจากนี้พิษที่มีความรุนแรงจนทำให้เหยื่อถึงตายของแมงกะพรุนบางชนิด (ไม่มีรายงานในน่านนี้าไทย) เป็นผลมาจากกลุ่มสารพิษที่มีผลต่อระบบต่างๆ เช่น พิษต่อหัวใจ พิษต่อประสาท พิษต่อผิวหนังทำให้เกิดการเน่าตาย (der- matonecrosis), และ cataneous rasopermeability พิษต่อกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย พิษสลายเม็ดเลือดแดง พิษต่อเซลล์ (มีผลยับยั้งกระบวนการใน ไมโตฆอนเดรีย) เป็นต้น

ลักษณะเวชกรรม

หลังจากได้รับพิษจากแมงกะพรุน พิษจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังและผ่านเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว โดยปรกติในคนสุขภาพดีจะใช้เวลาไม่เกิน ๒0 วินาที หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการของพิษภายใน ๕-๑๐๐ นาที (โดยทั่วไป ๒๐ นาที) ในบางกรณี เมื่อได้รับพิษจากแมงกะพรุนอาจยังไม่แสดงผลในระยะแรก แต่เมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งจึงเริ่มแสดงอาการ เช่น พิษของแมงกะพรุนชนิด Physalia physalis อาจจะแสดงอาการรุนแรงหลังจากได้รับพิษผ่านไปนานถึง ๔๘ ชั่วโมง

อาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษแมงกะพรุนจะแตกต่างกันไปตั้งแต่มีผลเพียงเล็กน้อย คือ เจ็บเหมือนถูกมดกัดบริเวณบาดแผล คัน ระคายเคืองเป็นผื่น บวมแดง แสบร้อนบริเวณที่สัมผัส จนถึงมีอาการรุนแรง เช่น เป็นรอยไหม้บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน และรอบๆ หรือบริเวณใกล้เคียงบวมแดง เป็นผื่น ลมพิษ บาดแผลจะขยายขนาดอย่างรวดเร็วเนื่องจากการอักเสบ และเกิดการตกเลือด มีอาการปวดอย่างรุนแรงซึ่งความเจ็บป่วยอาจแผ่ลามไปถึงต่อม

น้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณที่สัมผัสเข็มพิษโดยตรงอาจตายได้ ต่อมาตุ่มหรือผื่นลมพิษที่อักเสบเกิดพุพองเป็นหนองหรือเป็นผื่น ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ด และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวเข้มขึ้น (hyperpigmentation) ซึ่งจะคงอยู่นานหลายปีหลังสัมผัสแมงกะพรุน

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอื่นตามมาอีก เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ บริเวณท่อทางเดินต่างๆ หดเกร็ง กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องและหลังเกร็ง เหงื่อออกมาก น้ำตาและน้ำมูกไหล สูญเสียการทรงตัว หายใจลำบาก เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย การทำงานของไตผิดปรกติ และช็อคด์หมดสติได้ รวมทั้งยังมีรายงานถึงอาการเสียงแหบแห้งเป็นระยะเวลา ๓-๔ วัน หลังจากที่ได้รับพิษของแมงกะพรุนผ่านไปแล้วนานถึง ๒๐ สัปดาห์ โดยได้เกิดขึ้นกับนักดำน้ำ ๓ คนบริเวณหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในน่านน้ำไทยมีแมงกะพรุนหลายชนิด ชนิดที่มีพิษไม่รุนแรงได้แก่แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่องและแมงกะพรุนหอม เมื่อสัมผัสกับแมงกะพรุนเหล่านี้ จะมีอาการคัน หรือแสบร้อนเล็กน้อย ซึ่งจะหายไปได้ภายในเวลา ๑-๒ ชั่วโมง ในรายที่มีการแพ้อาจพบว่าบริเวณบาดแผลบวมแดง ปวดแสบร้อน หรือเป็นผื่นลมพิษขึ้น

สำหรับแมงกะพรุนไฟซึ่งเป็นพวกที่มีพิษรุนแรง เช่น สกุล Crysaora (sea nettle) เมื่อสัมผัสจะมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณบาดแผล จะมีอาการเจ็บ ปวดบริเวณบาดแผลอย่างรุนแรงภายในระยะเวลา ๒- ๓ นาที บางครั้งอาจพบหนวดแมงกะพรุนขาดติดอยู่บนผิวสัมผัส ผิวหนังมีแนวผื่นแดง หรือรอยไหม้ ตามรอยหนวด ปวดแสบปวดร้อน บวมแดงจากการอักเสบและอาจเป็นหนองจากการติดเชื้อสำทับ อาการบวมแดงอาจหายไปได้ในเวลาไม่ช้า แต่รอยไหม้และรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นจะต้องใช้เวลารักษานานหลายปี หรืออยู่ถาวรตลอดไป นอกจากนี้อาจมีอาการไอ น้ำมูก น้ำตาไหล และอาการข้างเคียง อื่น เช่น เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อ่อนเพลีย หมดสติ จากการฉีดพิษที่สกัดจาก Chrysaora spp. เข้าไปในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้การทำงานของตับและไตผิดปรกติ จนอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ แต่ยังไม่มีรายงานว่าเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมนุษย์

แมงกะพรุนสาหร่ายหรือสาโหร่ง (sea wasp) เป็นแมงกะพรุนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ วันชัยและคณะ รายงานการศึกษาผู้ป่วยถูกพิษ แมงกะพรุนที่ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและลูกเรือ ได้สัมผัสกับแมงกะพรุนขนาดเล็กลำตัวมี ลักษณะคล้ายแก้วจีบคว่ำลง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐ ซม. มีหนวดยาว ๔ เส้น หนวดอาจมีสีขาวอมเหลือง หรือสีเขียวปนแดง หนวดแต่ละเส้นมีความยาวตั้งแต่ ๕๐ ซม. จนถึง ๒ เมตร. เมื่อสัมผัสกับแมงกะพรุนสาหร่าย ผิวหนังจะเป็นจุดสีแดง ประมาณ ๕ นาทีต่อมาเริ่มมีอาการแสบร้อน และคัน เป็นรอยเหมือนรอยไหม้ อาการที่ผิวหนังจะหายไปภายในเวลา ๑-๒ วัน ไม่มีลักษณะเป็นแผลเรื้อรัง หรือแผลเป็น แต่อาการสำคัญที่เกิดกับผู้ป่วยคือ แน่นหน้าอก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อและกระดูก บางรายหายใจไม่ออก นอนไม่หลับ มีท้องผูกร่วมกับท้องอืด ไม่อาเจียน ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณ ๒-๓ วัน แล้วเริ่มทุเลาลง แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย อ่อนแรง ต้องพักฟื้นอีกหลายวัน

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุน

๑. ใช้น้ำทะเลล้างบริเวณที่ถูกพิษหรือสัมผัสถูกแมงกะพรุน (ห้ามใช้น้ำจืด)

๒. ประคบบริเวณบาดแผลด้วยน้ำแข็งห่อด้วยผ้า

๓. จุ่มหรือแช่บาดแผลในน้ำส้มสายชูประมาณ ๓๐-๖๐ นาที

๔. ใช้ผงแป้ง เช่น แป้งทาตัว แป้งมัน หรือแป้งทำขนมปัง หรือครีมโกนหนวด เทลงบนบาดแผลแล้วขูดออกโดยใช้มีด หรืออุปกรณ์อื่น ห้ามใช้มีดโกน

๕. ล้างบาดแผลด้วยน้ำทะเลอีกครั้ง โดยห้ามขยี้หรือถูแรงๆ

๖. ล้างบาดแผล ทิ้งให้แห้ง และใช้ ฮัยโดร­คอร์ติโสน (๐.๕%). ไดเฟนฮัยดรามีน (๒%) และ เตตระเคน (๑%) ในขี้ผึ้งทาทุก ๔ ชั่วโมง

ระหว่างทำการปฐมพยาบาลควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในที่อากาศถ่ายเท หมั่นสังเกตการไหลเวียนเลือด การเต้นของหัวใจ หรืออาการผิดปรกติอื่นๆ ถ้า เป็นไปได้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ ต้องรีบทำการกู้ชีพ (cardio­pulmonary resuscitation, CPR) และนำส่งแพทย์ทันที

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า