สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พฤกษวัตถุที่ห้ามใช้ในตำรับยาแผนโบราณ

ในตำรับยาแผนโบราณมียาสมุนไพรประเภทพฤกษวัตถุที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด ซึ่งความเป็นพิษของมันได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ดังนี้

1. พืชกระท่อม (Mitragyna speciosa Korth. บริเวณใบและเปลือกต้นจะมีความเป็นพิษอยู่ เนื่องจากมีสารพวกอินโดลอัลคาลอยด์(indole alkaloids) เช่น มิทราจัยนีน(mitragynine) มิทราฟิลลีน(mitraphylline) และ สเปซิโอจัยนีน(speciogynine) ประกอบอยู่ภายใน เมื่อกินเข้าไปจะทำให้มีอาการซึมเซา ท้องผูก อุจจาระมีสีเขียว สำหรับในรายที่เพิ่งกินเข้าไปใหม่ๆ อาจทำให้มีอาการเมา คลื่นไส้ อาเจียน คอแห้ง มึนงง เพราะสารในกระท่อมจะไปออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

2. กัญชา (Cannabis sativa Linn. (cannabis indica Lam.) เป็นพืชเสพติดที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทคือ สารเตตราไฮโดรคานาบีนอล(tetrahydrocanabinol) หรือทีเอชซี(THC) โพรพิลทีเอชซี(propyl THC) และคานาบิไดออล(cannabidiol) ทำให้ประสาทหลอน การเห็นและการได้ยินผิดปกติ ทำให้ความจำเสื่อม หลังจากเสพกัญชาเข้าไปประมาณ 3-5 ชั่วโมง จะทำให้ซึมเซา รู้สึกหิว หัวใจเต้นเร็ว ม่านตาขยาย คอแห้ง กระหายน้ำ บางประเทศในปัจจุบันมีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ของผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง

3. ฝิ่นยา (Medicinal opium) ในยางที่กรีดจากผลที่ยังไม่สุกจะมีสารมอร์ฟีน(morphine) โคดีอีน(codeine) ธีเบน(thebaine) พาพาเวอรีน(papaverine) ที่เป็นพิษอยู่ เมื่อเสพเข้าไปจะทำให้ซึมเซา ปากแห้ง กระหายน้ำ มีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ขาดออกซิเจน ชีพจรเต้นเร็ว อุณหภูมิในร่างกายลดลง และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงแก่ความตายได้ เนื่องจากสารดังกล่าวมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

4. ยางตาตุ่ม (Excoecaria agallocha Linn. หรือตาตุ่มทะเล ในน้ำยางสีขาวจะมีสารกลุ่มไดเทอร์ปี เอสเทอร์(diterpene esters) ซึ่งมีความเป็นพิษอยู่ จะทำให้มีอาการท้องร่วงอย่างแรงเมื่อกินเข้าไป เมื่อเข้าตาก็จะทำให้ตาบอด และอาจทำให้ตาเจ็บเป็นเวลานานหรือทำให้ตาบอดได้แม้เพียงโดนควันที่เผาไหม้ตาตุ่มทะเลมาเข้าตา และจะทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและอาเจียนได้ ถ้ารับประทานหอยหรือปูที่เกาะอยู่ตามไม้ตาตุ่มทะเล

5. เมล็ดมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius Linn. เดิมในสมัยโบราณใช้บดผสมกับน้ำมันพืชเพื่อใช้ทาแก้อาการกลาก เกลื้อน ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง ฝีมีหนอง อาการบวมอักเสบ ซึ่งเป็นการใช้เฉพาะภายนอกเท่านั้น แต่ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศห้ามใช้พืชดังกล่าว เพราะในเมล็ดจะมีสารพิษที่เรียกว่า สารอะบริน(abrin) อยู่ หากนำไปใช้กับแผลสดและถูกดูดซึมเข้าร่างกาย จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบหรือบอดได้ และเป็นอันตรายต่อชีวิตแม้กินเข้าไปเพียงเล็กน้อย เพราะสารพิษจะไปออกฤทธิ์ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารบริเวณปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ระคายเคือง คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ถ่ายเป็นเลือด ปวดท้อง ท้องเดิน ง่วงซึม อ่อนเพลีย สับสน ชัก ช็อก ตัวเขียว ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะไม่ออก หลอดเลือดไม่มีการยืดหดตัว ทำให้หลอดเลือดขยาย หัวใจล้มเหลว มีเลือดออกที่กระจกตา ในตับหรือไตมีเนื้อตายเกิดขึ้น

ในเมล็ดมะกล่ำตาหนูมีสารอะบรินที่ประกอบไปด้วยสารพิษจำพวก ไกลโคโปรตีน(glycoprotein) ซึ่งมีอยู่ 5 ชนิดคือ อะบรัส แอ๊กกลูตินิน(abrus agglutinin) และสารอะบริน เอ บี ซี และดี (abrin [a] to [d])

6. ยางรักขาว Calotropis gigantean R.Br., C. procera Alt.f. ทั้งต้นจะมีไกลโคไซด์ ชื่อ คาโลโทรปิน(calotropin) ซึ่งจะมีฤทธิ์ต่อหัวใจ และน้ำยางจากต้นที่มีรสร้อนเมา มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายรุนแรง และทำให้อาเจียนหากรับประทานเข้าไปมาก เมื่อยางโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองด้วย

7. ยางรักดำ (Melanorrhoea usitata Wall.) หรือรักหลวง ในน้ำยางที่เป็นสีดำจะมีสารพิษอยู่85% คือ กรดยูรูซิค(urushic acid) เมื่อถูกบริเวณผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน บวมแดง เป็นหนอง อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังและรักษาหายยาก อาการแพ้จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่ยางรักดำจะใช้ในการลงรักปิดทอง

8. เมล็ดสลอด (Croton tiglium Linn.) แม้แต่ 1 ใน 10 ของเมล็ดก็ทำให้ถ่ายอย่างรุนแรงได้ เนื่องจากในเมล็ดหนึ่งๆ จะมีพิษอยู่มาก ในสมัยโบราณก่อนจะนำสลอดมาใช้ทางยาก็ต้องนำมาฆ่าฤทธิ์กันเสียก่อน หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะลำไส้ ท้องเสียรุนแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนคล้ายอาหารเป็นพิษ และการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อาจทำให้ถึงชีวิตได้

9. น้ำมันสลอด (Croton tiglium Linn. หรือ croton oil) เมล็ดสลอดที่ปอกเปลือกแล้วเมื่อนำมาสกัดก็จะได้เป็นน้ำมันสลอด มีขนาดใช้เพียง 1 หยด เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง แต่ปัจจุบันได้เลิกใช้ยานี้แล้ว เนื่องจากการควบคุมขนาดการใช้ยาทำได้ยากจึงมีอันตรายมาก ฤทธิ์ของน้ำมันสลอดจะทำให้ระคายเคืองมาก จะทำให้เป็นผื่นแดงเมื่อถูกกับผิวหนัง และเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า