สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝีในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ฝี เกิดจากเนื้อเยื่อบางส่วนถูกทำลายจนเป็นเนื้อเยื่อที่ตาย และมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา มาอาศัย และมีเม็ดเลือดขาวในร่างกายที่เรียกว่า Neutrophils พยายามที่จะกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไป และซากของเม็ดเลือดขาวที่เป็นหนอง น้ำย่อยของเม็ดเลือดขาว Enzyme จะทำลายเนื้อเยื่อด้วยเมื่อเกิดการตายขึ้น ฝีจะเต่งขึ้นและโตอย่างช้าๆ เพราะมีหนองอยู่ภายใน และฝีจะถูกร่างกายพยายามห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อแข็งเป็นผนังแผลที่เรียกว่า Scar ซึ่งมีหนอง น้ำเหลือง และเชื้อโรคจำนวนมากอยู่ภายใน จึงทำให้กลายเป็นฝีเรื้อรัง ต้องทำการรักษาด้วยยาฆ่าหรือยาต้านแบคทีเรีย และถ้าเป็นฝีที่โตมากก็ต้องผ่าเอาหนองออกมา

ในแผนโบราณจะเห็นการใช้คำว่า ฝี ได้กว้างมาก ซึ่งจะเป็นโรคอะไรก็ได้ที่มีอาการทางผิวหนังเป็นตุ่มเป็นยอดนาน ที่เรียกว่า แก่หรือสุก แล้วแตกเป็นน้ำเหลือง หรือหนอง หากหลบอยู่ภายในจะเรียกว่า ฝีภายในหรือวัณโรค ถ้ามีหลายยอดจะเรียก ฝีดาษ ถ้ามียอดเดียวเรียกว่า ฝียอดเดียว และโรคอื่นๆ ที่แตกทางผิวหนังก็เรียกฝีเช่นกัน เช่น มะเร็งที่มียอด

ในแผนปัจจุบันมักกล่าวว่า ฝีเกิดจากเชื้อสแต็ฟฟิโลค็อกคัส ติดต่อได้ทางผิวหนังผ่านรูไขมัน รูขุมขน บาดแผล จากการสัมผัสถูก อาจมีสาเหตุมาจากผิวหนังมีรอยขีดข่วน หรือใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด จึงทำให้เกิดตุ่มหรือก้อนบวมแดงและกดเจ็บขึ้น ก้อนนี้จะแข็งเต่งเมื่อเกิดใหม่ๆ ต่อมาจะกลายเป็นหนองและนุ่มลง และแตกได้เองในบางครั้ง เมื่อฝีแตกอาการจะทุเลาลงภายใน 1-2 สัปดาห์ บางครั้งต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้นด้วยเมื่อเป็นฝี เช่น ที่ขาหนีบ ที่มือ แขน ต่อมรักแร้ เป็นต้น และอาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น อาจทำให้โลหิตเป็นพิษ เป็นฝีในไต ฝีในกระดูกได้ ถ้าเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และอาจทำให้เกิดฝีในสมองได้ถ้าเป็นฝีบริเวณหน้า และอาจถึงตายได้

โรคฝีในแผนโบราณตามคัมภีร์ที่ควรรู้จัก มีดังนี้
แผลพุพอง
มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ

ชนิดตื้น
เกิดจากการมีแผลขีดข่วนเล็กน้อยบริเวณชั้นนอกสุดของหนังกำพร้าแล้วมีการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นแผลจากมดกัด ยุงกัด ที่เกาแล้วมีเชื้อพวกสแต็ฟฟิโลค็อกคัสออเรียส หรือเบตาสเตร็ปโตค็อกคัสเข้าไป อาการเริ่มแรกจะมีผื่นแดง และคัน ต่อมาก็จะเป็นตุ่มใสและเป็นหนอง มักเป็นที่บริเวณหน้า หู ในจมูก ปาก ศีรษะ ก้น ขา เข่า ถ้าเป็นที่ศีรษะจะเรียกว่า ชันตุ

ชนิดลึก
เป็นการติดเชื้อของชั้นหนังแท้ การติดเชื้อจะเกิดคล้ายกันกับชนิดตื้น อาการเริ่มแรกมักจะเกิดเป็นตุ่มแดง ต่อมาก็กลายเป็นตุ่มน้ำ และเป็นหนอง มีสะเก็ดสีคล้ำคลุมติดแน่นอยู่ และขอบแผลจะยกนูนขึ้นถ้าเป็นอยู่นาน

แผลที่มีหลุมลึกลงไปและมีขอบนูน ลักษณะแผลติดเชื้อเช่นนี้โบราณเรียกว่า กระอากปากสุกร ในปัจจุบันจะเรียกว่า แผลปากหมู มักเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กเล็กในโรงเรียน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาดเกาจนเกิดแผล เมื่อแมลงหวี่มาตอมอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียเข้าไปได้

แผลเสบ
อาจเกิดจากแผลถลอก แผลที่โดนหนามตำ มีดบาด ตะปูตำ โดนฟัน ต่อมาจะทำให้แผลเกิดการอักเสบจนกลายเป็นหนอง การใช้ยาพอกในสมัยโบราณอาจไม่สะอาดพอ จึงควรใช้วิธีการล้างแผลแบบปัจจุบันมากกว่า

ไข้ทรพิษ

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Variola virus เชื้อโรคจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 12-14 วัน อาการของโรคคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง อาเจียน และจะมีตุ่มขึ้นที่บริเวณหน้าในอีก 2-3 วันต่อมา แล้วลามมาที่มือ แขนขา ลำตัว ในปากและคอ ที่บริเวณหน้าและแขนขาจะมีตุ่มขึ้นมามากกว่าที่อื่น ตุ่มที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มนูนแล้วกลายเป็นถุงน้ำและตุ่มหนอง เมื่อแตกออกก็จะมีน้ำเหลืองไหลออกมาและกลายเป็นรอยแผลบุ๋มลึก ซึ่งมักสับสนกับอีสุกอีใสที่มีตุ่มบริเวณลำตัวมากกว่าที่แขนและขา

อีสุกอีใส
เกิดจากเชื้อไข้สุกใสที่ชื่อ Varicella virus ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเชื้องูสวัด มักเกิดในช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูร้อน มักพบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ปัจจุบันมักเรียกว่า ไข้สุกใส มักติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงจากน้ำเหลืองหรือตุ่มแผล อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ แต่ในผู้ใหญ่จะมีผื่นแดงราบเป็นตุ่มนูนพร้อมกับไข้สูง ต่อมาก็จะกลายเป็นตุ่มหนองแล้วตกสะเก็ด ที่เรียกว่าไข้สุกใส เพราะตุ่มที่อยู่ทั่วตัวจะสุกไม่พร้อมกัน และอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นได้หากผู้ป่วยมีความอ่อนแอและรักษาความสะอาดไม่ดีพอ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากแผลพุพอง และผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ป่วยเอดส์ อาจเกิดเป็นปอดบวม หรือสมองอักเสบได้

เริม
เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Herpes simplex virus สามารถพบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นตุ่มน้ำใสรวมกันอยู่เป็นกลุ่มอยู่บริเวณริมฝีปาก อวัยวะเพศ ต่อมาก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำสีเหลืองแตกเป็นสะเก็ดแล้วหายไปเอง เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเครียดก็สามารถเป็นขึ้นมาใหม่ได้อีก เพราะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท กลุ่มเริมที่รวมกันเป็นกระจุกนี้โบราณเรียกว่า ขยุ้มตีนหมา

งูสวัด
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส หลังจากเป็นอีกสุกใสจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท และเมื่อร่างกายมีความต้านทานต่ำก็จะเป็นขึ้นมา มักพบได้ตามอายุที่มากขึ้น โดยมักเริ่มด้วยอาการปวดตามแนวประสาทและเป็นผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำใสๆ ต่อมาจะขุ่นและแตกออก เมื่อยุบก็จะเป็นสะเก็ด ภายใน 2-3 วันก็จะหายไปได้เอง แต่อาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้หากไม่รักษาความสะอาดให้ดีพอ อาจทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปยังสมอง และอาจเสียชีวิตได้

วัณโรค
เกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า Mycobacterium tuberculosis ติดต่อได้จากการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป เมื่อรับเชื้อเข้าไปบางรายก็อาจไม่มีอาการใดๆ แต่บางรายก็อาจมีอาการปอดอักเสบเพียงเล็กน้อยเมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาก็จะหายไปได้เอง แต่ในบางรายเชื้ออาจหลบอยู่ในร่างกายนานแรมปีและจะมีอาการติดเชื้อขึ้นมาเมื่อภูมิต้านทานต่ำลง ลักษณะอาการจะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด มีไข้ในช่วงบ่าย ในตอนกลางคืนจะมีเหงื่อออกมาก ไอออกมาเป็นเลือด เจ็บหน้าอก ซีด ซูบผอม โรคแทรกซ้อนสำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีน้ำในช่องปอด วัณโรคต่อมน้ำเหลืองหรือที่โบราณเรียกว่า ฝีประคำร้อย ที่มีอาการของต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต นอกจากนี้ก็ยังมีวัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคไต เป็นต้น ตามความหมายโบราณ วัณโรค ก็คือฝีภายใน แต่ยังรวมถึงฝีชนิดอื่นๆ อีกไม่ใช่เพียงแต่ Tuberculosis การรักษาวัณโรคในปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ในเวลาอันสั้น แต่ที่ทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้นอีกครั้งด้วยโรคนี้เพราะมีผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องมากขึ้น

โรคเรื้อน
หรืออาจเรียกว่า ขี้ทูต กุฏฐัง ไทกอ หูหนาตาเร่อ โรคใหญ่ โรคพยาธิ เนื้อตาย หรือโรคผิดเนื้อ เกิดจากเชื้อโรคเรื้อนที่เป็นเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียเลเพร(Mycobacterium leprae) โรคนี้ติดต่อกันได้ยาก ผู้ที่ติดต่อโรคนี้ได้ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานานๆ จากการสัมผัสทางผิวหนัง หรือสูดเข้าทางเดินหายใจ ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี แต่จะไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือนานที่สุดได้หลายสิบปี ผู้ที่ได้รับเชื้อไม่จำเป็นว่าต้องเป็นโรคเรื้อนทุกรายไป อาจจะหายไปได้เองหรืออาจมีอาการไม่ร้ายแรงถ้าภูมิต้านทานของร่างกายเป็นปกติดี ผู้ติดเชื้อที่มีอาการร้ายแรงเป็นเพราะมีภูมิต้านทานของร่างกายที่ต่ำลงนั่นเอง

โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับมนุษย์แม้เวลาจะผ่านไปแต่มันก็ยังดำรงอยู่ คนโบราณใช้การสังเกตอาการและลักษณะทางผิวหนังที่เกิดขึ้นทำให้รู้ว่าเป็นโรค แม้จะไม่มีกล้องจุลทรรศ์ใช้ก็ตาม มีการตั้งชื่อโรค มีการใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษา และได้อธิบายตามเข้าใจของสมัยนั้น มีความเชื่อว่ามนุษย์เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะมีกิมิชาติ 500 จำพวกมาเบียนแม้จะยังไม่รู้จักเชื้อโรคกัน มีการรักษาตามขั้นตอน หากยังไม่หายก็จะมียาขนานต่อไป ถ้ารักษาหายก็บอกว่าหาย ถ้าตายก็บอกว่าตาย โรคที่รักษาหายในสมัยก่อนก็คงมีไม่น้อย สมุนไพรที่โบราณใช้เมื่อนำมาพิสูจน์ในปัจจุบันก็พบว่าสามารถรักษาโรคได้ เช่น พญายอ ว่านมหากาฬ ที่ใช้รักษาเริม และงูสวัด เป็นต้น เราจะได้รับประโยชน์มากขึ้นหากได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนโบราณ แต่ก็มักมีการเทียบเคียงผิดพลาดกันกับโรคปัจจุบัน เมื่อนำสมุนไพรมาใช้รักษาจึงอาจทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า