สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผื่นแพ้เอ็กซิมา(ATOPIC ECZEMA,ATOPIC DERMATITIS)

ผื่นแพ้เอ็กซิมาคืออะไร

โรคนี้ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นมาตรฐานในภาษาไทย ในที่นี้จึงใช้ทับศัพท์ในภาษาอักกฤษ  เป็นการอักเสบของผิวหนังที่พบบ่อยในคนที่มีแนวโน้มในการเกิดโรคภูมิแพ้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า คนขี้แพ้ (Atopic person) คนพวกนี้มักมีโรคภูมิแพ้หลาย ๆ อย่าง เช่น ผื่นแพ้เอ็กซิมา เป็นหืดหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

สำหรับผื่นแพ้เอ็กซิมานี้ มักพบในวัยเด็ก โดยมีอาการผื่นคันเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง เริ่มจากแดง คัน ต้องเกามาก เป็นเม็ด ตุ่มใส เยิ้ม มีน้ำเหลืองซึม ต่อมาเป็นสเก็ด ผิวหนังบริเวณนั้นหนาขึ้น อาการจะทุเลาแล้วกลับมาเป็นใหม่ เรื้อรัง

โรคนี้มีสาเหตุจากอะไร พบได้มากน้อยเพียงใด

สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ แต่มีปัจจัยทำให้เกิดโรคหลายประการ คือ

       1.  กรรมพันธุ์  ประมาณร้อยละ 75 ของผู้ป่วยมีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ เช่น มักมีญาติเป็นโรคหืด หรือจมูกอักเสบหรือภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้เอ็กซิมาอยู่

       2.  ความผิดปกติในผิวหนัง  ผู้ป่วยโรคนี้จะมีผิวหนังแห้ง และคันง่ายกว่าคนปกติทั่วไป มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น การขูดบนผิวหนังจะมีรอยสีซีด ซึ่งคนปกติจะพบรอยนูนและมีสีแดงรอบ ๆ รอยนูนนั้น นอกจากนั้นผิวหนังคนพวกนี้จะมีการตอบสนองต่อยาบางชนิดแตกต่างไปจากคนธรรมดา เชื่อว่าการควบคุมโดยประสาทอัตโนมัติในผิวหนังแตกต่างจากคนปกติ

       3.  การแพ้  แม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะหาสาเหตุการแพ้ไม่ได้ชัดเจน แต่อาหารบางอย่าง เช่น นม ไข่ อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการผื่นรุนแรงขึ้น นอกจากนั้นระดับภูมิแพ้ในเลือด (IgE) จะมีสูงกว่าคนปกติมาก เชื่อว่าเซลล์ที่ยับยั้งการสร้าง IgE ลดน้อยลง ทำให้เซลล์ที่สร้าง IgE ทำงานมากขึ้นโดยไม่มีตัวยับยั้ง

       โรคนี้มีอาการอย่างไร

โรคนี้มักปรากฎเป็น 3 ระยะตามวัย

ระยะแรกเกิดในวัยทารก (Infantile eczema) มักเริ่มมีอาการประมาณอายุ 2 เดือนไปแล้วจนถึงอายุ 2 ปี พบได้ร้อยละ 2-8 ของเด็กทั่วไป โดยเริ่มเป็นผื่นแดงบริเวณแก้ม ต่อมาเป็นตุ่ม่นูนมีน้ำใส จะแตกเยิ้มต่อมาเป็นขุย นอกจากแก้มยังมีบริเวณหน้าผาก ลำตัว หนังตาบวม รอยย่นหนังตาล่าง ลักษณะผื่นแถวแก้มนี้ คล้าย ๆ “กลากน้ำนม” ต่อมาผื่นลามไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะข้อมือด้านนอกของแขน และมีอาการคันมาก ทำให้เด็กตื่นเวลากลางคืนบ่อย

       ระยะที่สองเกิดในวัยเด็ก (Childhood type) เมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี ผื่นจากระยะแรกจะหนาขึ้น แดงน้อยลง แต่จะคันมาก และจะเป็นเฉพาะที่ ไม่กระจายเหมือนระยะแรก มักพบตามข้อพับต่าง ๆ เช่น ข้อพับหน้าศอก ข้อพับหลังเข่า ผื่นเหล่านี้จะมีอาการกำเริบเป็นพัก ๆ ยิ่งเกายิ่งคัน มีการเยิ้มเป็น ๆ หาย ๆ และมีการติดเชื้อร่วมได้ง่าย ช่วงนี้อยู่ระหว่างอายุ 2-12 ปี อาการคันมากเด็กหงุดหงิด ส่วนมากอาการของผู้ป่วยจะทุเลาลงเมื่ออายุ 8-12 ปี ถ้าไม่ทุเลาระยะนี้มักเรื้อรังเข้าในวัยผู้ใหญ่

       ระยะที่สามเกิดในผู้ใหญ่ (Adult type) ลักษณะผื่นคล้ายในระยะที่สอง แต่ผื่นอยู่ในระยะเรื้อรังและหนา เป็นมากบริเวณข้อพับเข่า ข้อพับศอกและต้นคอเช่นกัน ผิวหนังหยาบแห้งมีรอยแตกบริเวณผื่น

โรคนี้โดยทั่วไปไม่มีอันตรายจากโรคโดยตรง  นอกจากผื่นที่น่าเกลียดและคันมาก แต่โรคแทรกอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น มีการติดเชื้อหนองร่วมหรือเชื้อไวรัส เช่น เริม หรือสมัยก่อนยังมีการปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ ผู้ป่วยอาจเกาบริเวณฝีขึ้นแล้วมาเกาบริเวณผื่นคัน ทำให้ไวรัสจากหนองฝีลุกลามไปทั่วตัว ซึ่งจะมีอันตรายบางครั้งถึงแก่ชีวิตได้

โรคนี้ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างไร

โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้ง่ายจากการดูแลลักษณะของผื่นผิวหนังบริเวณที่เป็นตลอดจนประวัติของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว การตรวจทางห้องปฏิบัติการจำเป็นน้อย อาจสนับสนุนบ้างโดยการตรวจเลือด สำหรับการทดสอบทางผิวหนังไม่จำเป็น เพราะหาสาเหตุได้ยาก และไม่ค่อยสัมพันธ์กัน

       โรคนี้มีหลักการรักษาอย่างไร

สำหรับการรักษาโรคนี้มีหลักที่สำคัญ คือ

1.  ให้การศึกษาผู้ป่วย แพทย์ควรบอกผู้ป่วยหรือผู้ปกครองว่าโรคนี้เป็น เรื้อรังเป็นๆ หายๆ เพราะจะได้ทราบถึงระยะของโรค มิฉะนั้นจะเบื่อหน่าย เพราะโรคไม่ค่อยหายขาด นอกจากนั้นยังต้องให้สังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่มากระตุ้นให้โรคกำเริบ

2.  การดูแลผิวหนัง ให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผิวหนังอักเสบ เช่น อย่าให้ผิวหนังแห้ง ควรใช้สบู่ที่เป็นด่างอ่อนๆ เพื่อไม่ให้ล้างไขมันออก ฤดูหนาวควรใช้ครีมทาตัวเป็นประจำ อย่าพยายามออกกำลังกายมากในขณะกำเริบ เพราะเหงื่อออกมากทำให้คันมากขึ้น พยายามอย่าใช้เสื้อผ้าขนสัตว์ ชนิดที่ระคายง่ายรวมทั้งถุงเท้าด้วย ผ้าที่ดีที่สุดคือ ผ้าฝ้าย นอกจากนั้นต้องระวัง เรื่องการควบคุมภาวะแวดล้อมด้วย เช่น ทำความสะอาดบ้าน หลีกเลี่ยงสัตว์เลี้ยง ของเล่นที่ทำด้วยขนสัตว์ ที่นอน หมอนควรหลีกเลี่ยงนุ่นและขนสัตว์ ระวังการติดเชื้อของผิวหนัง ถ้าเป็นแล้วรีบรักษา ห้ามปลูกฝีกันไข้ทรพิษแต่ในปัจจุปันไม่มีการปลูกฝีอีกแล้ว

3 . หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มักสังเกตได้ อาจเป็นสิ่งที่มาสัมผัสพวกฝุ่นในบ้าน หญ้า แมลง ฯลฯ ต้องหลีกเลี่ยงอาหาร แม้ว่ามีการถกเถียงกันว่าเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดผื่น แต่พิสูจน์ค่อนข้างยาก บางครั้งอาจเห็นได้ชัดว่า นมวัว ไข่ อาจทำให้ผื่นเห่อมากขึ้น ในรายเช่นนั้นต้องงดอาหารดังกล่าว ในรายที่สังเกตไม่ชัดเจนแพทย์บางท่านนิยมให้งดอาหารพวกปลา ไข่.นม. ช็อกโกแลต ในช่วงที่มีอาการมาก แต่ไม่ต้องงดตลอดไป

4. การรักษาผื่น ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ในระยะมีการอักเสบมาก ผื่นเยิ้ม แพทย์จะให้ยานํ้ามาประคบจนกระทั่งผื่นแห้งลง จึงใช้ยาประเภทครีมที่ลดการอักเสบ และแก้คัน ซึ่งควรให้แพทย์สั่ง เพราะการซื้อยาใช้เองอาจมีอันตรายจากรู้เท่าไม่ถึงการได้

5. การใช้ยารับประทาน ยาแก้แพ้จะช่วยแก้คันทำให้ผู้ป่วยไม่เกา ยาสงบประสาทอาจช่วยบางรายที่คันมากๆ และควรให้ก่อนนอน ในรายที่มีการติดเชื้อต้องใช้ยาปฏิชีวนะทางปากหรือฉีด ไม่ควรใช้ทา เพราะจะทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิ­ชีวนะที่ทาเกิดการอักเสบของผิวหนังจากการสัมผัสยาเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับการฉีดสารก่อภูมิแพ้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันไม่ทำกันในโรคนี้เพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้ว จะทำให้ผื่นผู้ป่วยเห่อมากขึ้นด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า