สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัญหาโรคอ้วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารแลการดูแลด้านโภชนาการ

โรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันในร่างกายมากเกิน เนื่องมาจากได้รับพลังงาน จากอาหารมากเกินกว่าที่ใช้ พลังงานส่วนเกินจะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน จึงทำให้ร่างกาย มีนํ้าหนักมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม รวมถึงโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผู้มีปัญหาโรคอ้วนยังประสบ ปัญหาทางด้านจิต สังคม และหน้าที่การงานร่วมด้วย สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป มีการยอมรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารตะวันตกมากขึ้น การบริโภคอาหารของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบสังคมเมืองมากขึ้น โดยเน้นความสะดวกสบายและรวดเร็วเป็นหลัก มีการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น นิยมรับประทานอาหารปรุงสำเร็จรูป อาหารเร่งด่วนหรืออาหารฟาสต์ฟู้ดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดจากตะวันตก ซึ่งมีระดับของพลังงานที่สูง อีกทั้งยังขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย และนำมาซึ่งสาเหตุ การเพิ่มจำนวนของโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเด็ก และวัยรุ่นที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

คนไทยกำลังประสบปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่เรียกว่าโรคอ้วนลงพุง หรือเมตาโบลิกซินโดรม (metabolic syndrome) ปัจจัยทางด้านรูปแบบการกินอาหาร หรือบริโภคนิสัยที่ ไม่เหมาะสม และการไม่ออกกำลังกาย ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็น สาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วนลงพุง พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยที่เปลี่ยนไป กินอาหารที่มีไขมัน โปรตีน และน้ำตาลสูง แต่มีใยอาหารต่ำ มีรสเค็มจัด และเป็นอาหารที่ผ่านขบวนการเป็นส่วนมาก ประกอบกับการบริโภคในปริมาณที่มาก และไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้มีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตในเชิงลบ นำไปสู่การเจ็บป่วยและการตายด้วยโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศในขณะนี้

ทิศทางการป้องกันโรคอ้วนลงพุง หรือ เมตาโบลิกซินโดรม ในปัจจุบันได้หันมาให้ความสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ที่รวมถึงการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย เป็นหลัก คำแนะนำต่างๆ จะเน้นที่รูปแบบการกินอาหาร โดยให้ความสำคัญของรูปแบบการกินอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก เช่น การบริโภคผัก ผลไม้ และธัญชาติที่ขัดสีแต่น้อย เป็นประจำเพื่อให้มีโอกาสได้รับใยอาหารในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว เน้นการบริโภคเนี้อสัตว์ในปริมาณน้อย เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ได้จากปลา ส่วนไขมันที่แนะนำจะเน้นที่คุณภาพไขมัน โดยแนะนำให้บริโภคอาหารที่เป็นแหล่งของไขมันไม่อิ่มตัวทั้งชนิดที่เป็น mono – และ polyunsaturated fat ในปริมาณที่เหมาะสม กินผักมากขึ้น ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และกิน อาหารให้หลากหลาย

1. เป้าหมายของการลด,นํ้าหนัก การป้องกันการเพิ่มและการรักษานํ้าหนักตัว

ปกติการตั้งเป้าหมายของการลดนํ้าหนักคือ 10% ของนํ้าหนักตัว มีความเป็นไปได้ที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อัตราการลดนํ้าหนักไม่ควรเกิน 0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์ (ปริมาณ พลังงานในการเผาผลาญไขมัน 7700 กิโลแคลอรี่/ก.ก.) ดังนั้นในเวลา 6 เดือน การเผาผลาญ ไขมันจะทำให้นํ้าหนักลด 2-3 กิโลกรัม หลังจากนั้นมักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนํ้าหนักมากนัก หลังจากมีการใช้พลังงานของร่างกายลดลงเมื่อน้ำหนักลด

การที่จะลดนํ้าหนัก 10% ในช่วง 6 เดือน มีข้อแนะนำว่า

คนที่นํ้าหนักเกิน ควรลด 300-500 กิโลแคลอรี/วัน

คนที่อ้วนควรลด 500-1000 กิโลแคลอรี/วัน

การลดน้ำหนักทำได้ในหลายลักษณะ คือลดการบริโภคอาหาร เพิ่มการใช้พลังงาน ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกาย รวมทั้งการปรับพฤติกรรม

2.  ลดการบริโภคอาหาร

การลดปริมาณไขมันและลดปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวัน การบริโภคอาหารที่มี Isocaloric diet) โดยการลดไขมันและทดแทนด้วยคาร์โบไฮเดรต ซึ่งให้ปริมาณพลังงานเท่าเดิมนั้น ช่วยลดปริมาณไขมันที่ร่างกายได้รับ แต่ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจาก ปริมาณพลังงานยังเท่าเดิมดังนั้นการปรับเปลี่ยนชนิดของอาหารที่บริโภคนั้นยังไม่พอควรลดการบริโภคอาหารลงด้วย

3.  เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย

การลดนั้าหนัก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดปริมาณพลังงานจากอาหารที่ได้รับ ร่วมกับการเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำหนักที่ลดนั้นเพิ่มกลับมาอีก เเละยังช่วยระบบหัวใจหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งดีกว่าการลดการบริโภค อาหารเพียงอย่างเดียว การเคลื่อนไหวและออกกำลังกายควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปทำประจำและสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายจะทำต่อเนื่องกัน หรือจะแบ่งเป็นช่วงสั้น ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้ว ได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน (หรือที่เรียกกันว่าออกกำลังกายสะสม) ซึ่งงานวิจัยโดยอาสาสมัครที่ออกกำลังกายวันละ 30 นาที 3วัน/สัปดาห์เทียบกับอาสาสมัครที่ออกกำลังกาย 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาทีรวมเป็น 30 นาทีต่อวัน 3 วัน/สัปดาห์ ให้ผลไม่ต่างกัน รวมทั้งการออกกำลังกาย แบบต้านแรง ผลที่ได้เมื่อเทียบการฝึก 1 เซ็ท กับ 3 เซ็ท พบว่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อและ เป็นประโยชน์ต่อสมรรถภาพร่างกาย กล่าวโดยสรุปการออกกำลังกายแบบสะสม (accumulated physical activity) ช่วยได้เช่นกัน และยังมีความเป็นไปได้ในการที่จะแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา ซึ่งสามารถแบ่งทำเป็นช่วงสั้นๆ

4.  ปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นมีประสบการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมทำให้เห็นผลที่ดีขึ้น (self experience approach) ทำให้มีความมั่นใจว่าตัวเองทำได้ และเมื่อได้รับความชื่นชมจากผู้คนและสังคมรอบด้าน การเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่น รวมทั้งการตอกยํ้า (reinforcement) และการให้รางวัล (reward) จะสร้างพลังแห่งความเชื่อมั่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจำเป็นต้องเป็นการดูแลตนเอง (self monitoring) ทั้งเรื่องการดำเนินชีวิต การบริโภคอาหาร การเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย ตลอดจนการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

 

อาหารตามกระแส ะ อาหารจานด่วน (fast food)

ในสังคมอันเร่งรีบและความเป็นโลกาภิวัตน์ ทำให้วัฒนธรรมการบริโภคอาหารมีความ คล้ายคลึงกันแทบจะทั่วโลก เราจะเห็นร้านอาหารจานด่วนจากประเทศตะวันตก หรือแม้แต่แถบเอเชียเองที่มีสาขาทั่วไปในประเทศไทย หรือแม้แต่อาหารจานเดียวของไทยก็เป็นอาหารจานด่วนมากมาย

ในฐานะผู้บริโภคจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในการเลือกอาหารบริโภค แน่นอน ที่การเลือกอาหารมีปัจจัยหลายอย่าง นอกเหนือจากคุณค่าอาหารว่าคุ้มกับเงินที่จ่าย ยังรวมถึง ความสะดวก รสชาติ การส่งเสริมการขายด้วยการลดแลกแจกแถม การตลาดและการประชาสัมพันธ์

จากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการที่สอบถามถึงการเลือกอาหารของเด็ก นักเรียนชาย/ หญิง อายุ 7-12 ปี ในโรงเรียนระดับกลางของกรุงเทพมหานคร พบความแตกต่าง ของเด็กหญิง/เด็กชายในการเลือกอาหาร เด็กชาย 60% ชอบขนมกรุบกรอบเป็นถุงมากกว่าเด็กหญิง (48%)19% ของเด็กชายจะชอบขนมปังและเบเกอรี่ ขณที่เด็กหญิงชอบขนมประเภทนี้ถึง (34%)18% ของเด็กชายชอบขนมหวาน ขณะที่เด็กหญิงให้ความสำคัญกับผลไม้ถึง 23%

การเลือกอาหารจะไม่มีความแตกต่างของหญิง/ชาย โดยที่ 22% เลือกอาหารปลอดภัย 21%อาหารที่มีประโยชน์กับสุขภาพ 16% เลือกรสขาติที่ดี และส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของราคา 3% ความสะดวก 2% และความชอบ 5%

อย่างไรก็ดีการคำนึงถึงคุณค่าและประโยชน์ของอาหาร จำเป็นต้องมีข้อมูลโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจ แต่เนื่องจากอาหารไทยมักจะไม่มีสัดส่วนที่แน่นอน ขึ้นกับความพึงพอใจ ในรสชาติที่ชอบ ข้อมูลคุณค่าอาหารจึงขึ้นกับชนิด การปรุง รวมทั้งปริมาณอาหาร

อาหารจานด่วนของต่างชาติมักจะมีสัดส่วนที่แน่นอน ซี่งสะดวกในการได้ข้อมูลคุณค่า อย่างไรก็ดีอาหารจานด่วนที่มาจากทางตะวันตก นอกจากจะมีโปรตีนสูงมักไขมันสูงด้วย รวมทั้งการมีปริมาณโซเดียมสูง ดังนั้นปริมาณพลังงานของอาหาร (energy ensity) จึงมักสูงตามไปด้วย ดังแสดงในตารางที่ 5 แสดงตัวอย่างคุณค่าอาหารจานเดียว ของไทย เทียบกับอาหารจานด่วนของทางตะวันตก

 

ตารางที่ 5 ตารางแสดงคุณค่าอาหารของอาหารจานด่วนและอาหารจานเดียวของไทย

รายชื่ออาหาร

นํ้าหนัก (กรัม)

พลังงาน (กิโลแคลอรี)

โปรตีน

(กรัม)

ไขมัน

(กรัม)

พลังงานจาก ไขมัน (%)

ข้าวยำปักษ์ใต้ 189 248 7.2 6.5 24
ข้าวผัดกะเพราไก่ 293 554 16.3 21.2 34
ข้าวมันไก่ 300 596 19.4 24.7 36
เสันหมี่ลูกชิ้นเนื้อวัว 447 226 12.2 4.0 16
หมี่กะทิ 272 466 10.7 18.1 35
ขนมจีนนํ้ายา 435 332 12.9 9.6 26
แฮมเบอร์เกอร์เนื้อ 200 570 24.6 35.0 55
แซนวิชไก่ 230 688 26.0 40 52
มันทอด 68 220 3.0 11.5 47
พิซซ่า 120 306 13.0 11.5 34

 

ปัญหาของการเลือกอาหารของคนในสังคมเมืองนั้นมักจะเลือกตามความสะดวก หาง่าย ประหยัด และตามกระแสสังคม การเลือกอาหารจานด่วนของคนทางตะวันตกมักจะมีสัดส่วน ไขมันค่อนข้างสูง ซึ่งปกติการแนะนำอาหารที่ดีไม่ควรมีสัดส่วนที่มาจากไขมันเกิน 30% ของพลังงาน ทั้งหมด (ซึ่งไม่ควรทานประจำ) การเลือกอาหารดังกล่าวควรควบคู่ไปกับการเพิ่มผัก / ผลไม้ และ ลดอาหารที่มีไขมันสูงในมื้อถัดๆ ไป ก็พอช่วยได้บ้าง เพราะการได้รับอาหารพลังงานสูงและพลังงานส่วนใหญ่มาจากไขมัน ทำให้ร่างกายสร้างไขมันเก็บสะสมในร่างกาย ถ้าสมดุลพลังงาน การใช้มากกว่าการได้รับจะทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า