สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัญหาของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย

เรื่องการกินอาหาร โบราณเชื่อว่ามีผลทำให้เกิดโรค และส่งผลต่อการรักษาโรคมานานแล้ว โดยใช้หลักทฤษฎีธาตุเพื่อดูการเสียสมดุลของธาตุ และการกินอาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ ไม่ถูกกับโรค ที่ทำให้เกิดอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ถ้ามีอาการเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยจะเรียกว่า อชินนะ หากอาการหนักมากจะเรียกว่า อติสาร อาการของอชินนะจนถึงอติสารที่สำคัญคือ อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนและท้องเดิน หากอาการยังอยู่ในช่วงอชินนะก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่จะรักษาได้ยากหากอยู่ในขั้นอติสาร และอาจทำให้ถึงชีวิตได้ ปัญหาการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ การติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ในอดีตคงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปมาก

อติสารมีอยู่ 2 ประเภทคือ อติสารโบราณกรรม 5 และอติสารปัจจุบันกรรม 6 พอจะอธิบายตามคำบรรยายได้ว่า
โบราณกรรม คือ โรคเรื้อรัง เช่น เริ่มจากอชินนะแล้วกลายมาเป็นอติสาร ส่วน

ปัจจุบันกรรม คือ โรคที่เกิดขึ้นมาใหม่

อาการของอติสารโบราณกรรมมักหนักกว่าอติสารปัจจุบันกรรม อติสารจะมีอาการสำคัญคือ เกิดความผิดปกติของระบบขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น จำนวนของอุจจาระ และอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ อาการทางประสาทและสมอง ซึ่งเกิดจากการขาดแร่ธาตุที่สำคัญอย่างโรคป่วงต่างๆ เป็นต้น

อติสารส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับโรคท้องเสีย ท้องเดิน แบ่งตามโบราณได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อติสารเป็นโบราณกรรม 5 ปัจจุบันกรรม 6 รวมเป็น 11 วรรค ดังนี้

1. อติสารเป็นโบราณกรรม 5
คือ อมุธาตุอติสาร ปฉัณณธาตุอติสาร รัตตธาตุอติสาร มุศกายธาตุอติสาร กาลธารุอติสาร มีรายละเอียดดังนี้

อติสารโบราณกรรม 5 จำพวก
อมุธาตุอติสาร
เกิดจากกองเตโชธาตุ อันชื่อว่า ปริทัยหัคคี นั้นหย่อน เผาอาหารมิได้ย่อย ให้ผะอืดผะอม แดกขึ้น แดกลง ให้ลงไปนับเพลามิได้ ครั้นสิ้นอาหารแล้วก็ลงไปเป็นน้ำล้างเนื้อ เหม็นคาวและให้กระหายน้ำ คอแห้งจนถึงทรวงอก ปากแห้งฟันแห้งยิ่งนัก

อมุธาตุอติสาร ตามตำราบอกว่าเกิดจากไฟย่อยอาหารที่ชื่อ ปริณามัคคี แต่เขียนเป็น ปริทัยหัคคี ซึ่งน่าจะเกิดจากการคัดลอกกันมาผิด เป็นไฟที่ทำให้มีอาการระส่ำระสาย

อาการสำคัญคือ
ผะอืดผะอม ถ่ายบ่อยจนไม่มีกากอาหาร จนถ่ายออกมาเป็นน้ำล้างเนื้อมีกลิ่นเหม็นคาว มีอาการคอแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ และเกิดอาการขาดน้ำขึ้น

ปฉัณณธาตุอติสาร
มีอาการถ่ายเป็นน้ำชานหมาก หรือน้ำแตงโม ให้จุกแน่นในลำคอ กินไม่ได้ อาเจียนมาเป็นลมเปล่าๆ

ไม่ได้ระบุในตำราว่าเกิดจากกองลมใด แต่วรรคอื่นๆ มีธาตุอยู่ครบถ้วนขาดอยู่แต่ธาตุลม ก็น่าจะมีอาการมาจากกองลม

อาการสำคัญคือ
ทำให้ถ่ายออกมาเป็นสีเหมือนน้ำชานหมาก หรือน้ำแตงโม จุกแน่นที่คอ กินไม่ได้ อาเจียนออกมาเป็นลมเปล่าๆ

จากลักษณะของอุจจาระ จึงน่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับลำไส้อักเสบ ที่เรียกว่า Necrotizing entero colitis โรคนี้อาจทำให้คนไทยสมัยก่อนเสียชีวิตไปมาก ส่วนในปัจจุบันจะรักษาด้วยการผ่าตัดส่วนที่อักเสบออกไป

รัตตธาตุอติสาร
เกิดแต่กองปัถวี มีเกสา เป็นต้น มีมัตถุเกมัตถลุงคังเป็นที่สุด

อาการสำคัญคือ
มักให้ถ่ายมากนับไม่ถ้วน ทำให้อุจจาระแดงดังโลหิตเน่าและเสมหะระคน บางทีเขียวดังใบไม้

สาเหตุที่โบราณระบุไว้บอกว่า เกิดจากธาตุดินในอวัยวะน้อยใหญ่ผิดปกติ ทำให้ถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นเลือดหรือมีสีเขียว ซึ่งน่าจะเป็นอาการของโรคมะเร็งลำไส้ หรือโรคลำไส้อักเสบ หรือสำไส้ส่วนปลายเป็นแผล

มุศกายธาตุอติสาร
เกิดแต่กองอาโปธาตุ มีปิตตัง เป็นต้น มีมูตรตังเป็นที่สุด

อาการสำคัญคือ
บริโภคอาหารนั้นผิดสำแดง จึงให้ลงเป็นโลหิตเป็นเสมหะเน่าเหม็นดังกลิ่นเอาศพให้กุจฉิยาวาต โกฐฐาสยาวาตระคนกัน ให้ท้องขึ้นปะทะอยู่หน้าอกให้แน่น ให้อาเจียนลมเปล่า ให้เหม็นอาหาร จะลุกนั่งมิได้ ให้หน้ามืดยิ่งนัก

ทำให้นึกถึงมะเร็งในลำไส้มากกว่าอย่างอื่นจากอาการของอุจจาระที่เน่าเหม็นเหมือนซากศพ การอาเจียนมาก และกินอาหารไม่ได้ จึงอาจทำให้มีอาการหน้ามืด อ่อนแรง ช็อก จากภาวการณ์ขาดน้ำตาลก็ได้

กาฬธาตุอติสาร
เป็นโบราณกรรม คือ กาฬพิพิธ กาฬพิพัทธ กาฬสมุทร กาฬมูตร กาฬสิงคลี

กาฬพิพิธ จะเกิดในขั้วตับ ทำให้ตับหย่อน

กาฬพิพัทธ ให้เกิดเป็นน้ำเหลือง เหม็นเหมือนซากศพ ทำให้หอบ อาการนี้น่าจะเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งในทางเดินอาหารตอนต้น

กาฬสมุทร ทำให้กระหายน้ำ ตัวเย็น เหงื่อออก อาจมีอาการท้องเดิน และภาวะขาดน้ำ

กาฬมูตร เกิดแต่หัวใจลามลงมาจนหัวตับ กินตับขาดออกมาเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ ดุจถ่านเพลิงอันดับ ให้หอบพักให้เชื่อมมึน ให้เสมหะปะทะเนืองๆ

การที่มีอุจจาระดำเหมือนถ่าน ก็น่าจะเกี่ยวกับการแผลและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

กาฬสิงคลี เกิดแต่ขั้วดี ให้อุจจาระปัสสาวะนั้นเหลือง ให้ตาเหลือง ให้ร้อนในอก กระหายน้ำยิ่งนัก เป็นอาการเกี่ยวกับโรคตับ เช่น ตับอักเสบ หรือมีนิ่วในถุงน้ำดี

การเกิดอติสาร
อชิณธาตุโรคอติสาร
โบราณเชื่อว่า สาเหตุการเกิดอติสารนั้นมาจากการกินอาหาร กินยา หรือของแสลง หรือที่โบราณเรียกว่า ผิดสำแลง เข้าไป หากมีอาการเล็กน้อยจะจัดไว้ในกลุ่มที่เรียกว่า อชิณธาตุ และอชิณโรค รายละเอียดมีดังนี้

อชิณธาตุ
คือการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะกับธาตุ

อชิณโรค
คือการบริโภคยาที่ไม่ตรงกับโรค

อชิณ การกินผิด 4 ประการ คือ เสมหะอชิณ ปิตตะอชิณ วาตะอชิณ สันนิบาตอชิณ

เสมหะอชิณ
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี มิได้ควรแก่ธาตุโรค ทำให้ลงในเพลาเช้า มีอาการให้คอแห้ง อกแห้ง ให้สีอุจจาระนั้นขาว มีกลิ่นอันคาวระคนด้วยประเมหะเป็นเปลว ให้ปวดคูถทวารเป็นกำลัง ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด 12 ราตรีไป ก็จะเข้า อมุธาตุอติสาร จัดเป็น ปฐมอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในเสมหะอชิณ

ปิตตะอชิณ
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี บริโภคของกินก็ดี มิได้ควรแก่ธาตุโรค ให้ลงเพลากลางวัน มีอาการให้ร้อนในอก และให้สวิงสวายให้หิวหาแรงมิได้ ให้ตัวร้อนให้จับดุจไข้รากสาดสันนิบาต ให้อุจจาระนั้นแดง และให้ร้อนตามลำทรวงทวารไปตลอดถึงทรวงอก มีกลิ่นดังปลาเน่า ให้ปากแห้งคอแห้ง มักให้อาเจียน บริโภคอาหารมิได้ไม่มีรส ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด 7 ราตรีไป ก็จะเข้า รัตตธาตุอติสาร จัดเป็น ทุติยอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ใน ปิตตะอชิณ

วาตะอชิณ
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี ของกินก็ดี มิได้ควรแก่ธาตุโรค ทำให้ลงเมื่อเพลาพลบค่ำ มีอาการให้ท้องขึ้นและแน่นหน้าอก จับใจให้คลื่นเหียน แล้วให้อาเจียนแต่ลม ให้เท้านั้นเย็นมือเย็น ให้บริโภคอาหารมิได้ ให้คอแห้งผาก ให้อุจจาระมีสีอันคล้ำ มีกลิ่นอันเปรี้ยวเหม็นยิ่งนัก ถ้าแก้มิฟังพ้นกำหนด 10 วันไป ก็จะเข้า ปฉัณณธาตุอติสาร จัดเป็น ตติยอติสารชวร ถ้าจะแก้ให้แก้แต่ยังอยู่ในวาตะอชิณ

สันนิบาตอชิณ
บังเกิดเพื่อบริโภคยาก็ดี บริโภคของกินก็ดี มิได้ควรแก่ธาตุโรค ทำให้ลงเมื่อเพลากลางคืน มีอาการให้แน่นหน้าอกแล้วให้หายใจสะอื้น ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้เท้านั้นเย็น ให้ตัวร้อน ให้ลงมิได้สะดวก ให้สีอุจจาระดำ แดง ขาว เหลือง ระคนกัน มีกลิ่น ถ้าแก้มิถอยพ้น 29 วันไป ก็จะเข้า มุศกายธาตุอันระคนด้วยกาลธาตุอติสาร จะบังเกิด จัดเป็น จตุตถอติสารชวร อันเนื่องอยู่ในปัญจมชวรนั้น ถ้าจะแก้ให้แก้ตั้งแต่อยู่ในสันนิบาตอชิณ

จะเห็นได้ว่า ระยะเริ่มแรกของอติสารคือ อชิณธาตุโรค ซึ่งเกิดจากการกินอาหารที่ไม่ถูกกับธาตุ หรือกินสิ่งที่ไม่ถูกกับโรคเข้าไป อชิณที่เกิดกับธาตุอะไรก็จัดอยู่ในประเภทนั้น เช่น ปิตตะอชิณ วาตะอชิณ หรือเสมหะอชิณ แต่ถ้าเกิดกับทั้ง 3 ธาตุ จะเรียกว่า สันนิบาตอชิณ โดยถือเวลาที่ถ่ายว่าอยู่ในกาลสมุฏฐานใด เช่น
ตอนเช้า เรียกว่า เสมหะอชิณ
ตอนกลางวัน เรียกว่า ปิตตะอชิณ
ตอนเย็น เรียกว่า ปิตตะอชิณ
ตอนกลางคืน เรียกว่า สันนิบาตอชิณ

และขึ้นอยู่กับสีของอุจจาระด้วยว่าแตกต่างกันอย่างไร เช่น มีสีขาว แดง ดำ เหม็นคาว เหม็ดบูด หรือเหม็นเหมือนซากศพ

เมื่อใช้อายุโรคจากระยะเวลาที่เกิดอาการ ก็จะได้เวลาที่โรคแปรไปเป็นอติสาร เช่น ใช้เวลา 12 วัน 7 วัน 10 วัน หรือ 29 วัน เป็นปฐมอติสารชวร(อมุธาตุอติสาร) ทุติยอติสารชวร(รัตตธาตุอติสาร) ตติยอติสารชวร(ปฉัณณธาตุอติสาร) หรือจตุตถอติสาร(มุศกายธาตุระคนด้วยกาฬธาตุอติสาร)

ปักวาอติสาร
บังเกิดแต่กองคูถเสมหะ เมื่อวาโยพัดกำเริบ มิให้เสมหะคุมกันเข้าได้ อุจจาระนั้นมีสีขาวดุจดังน้ำข้าวเช็ด เหม็นดุจศพอันโทรม ให้ลงไหลไปมิได้ว่างเวลา กระทำให้บริโภคอาหารมิได้ ให้อาเจียนออกแต่เขฬะเหนียว ให้ตัวนั้นเนื้อเต้น ให้เกิดสะอึก เป็นอสาทยอติสารโรค รักษายากนัก

อาการอติสารชนิดนี้ จะใกล้เคียงกับโรคในแผนปัจจุบันที่เรียกว่า อหิวาตกโรค ทำให้มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ซึ่งโบราณเรียกว่า ปักวาอติสาร แต่ในแผนไทย คำว่า อหิวาตกโรค จะหมายถึงโรคร้ายแรงฉับพลัน ซึ่งมีความหมายที่กว้างกว่าในปัจจุบัน

2. อติสารเป็นปัจจุบันกรรม 6
มีลักษณะ 6 ประการคือ อุทรวาตอติสาร สุนทรวาตอติสาร ปัสสยาวาตอติสาร กุจฉิยาวาตอติสาร โกฐฐาสยวาตอติสาร อุตราวาตอติสาร

อุทรวาตอติสาร
มีอาการขึ้นเพื่อขวั้นสะดือนั้นพอง โดยอำนาจผิงสะดือมิได้แต่ยังเยาว์อยู่นั้น และลมกองนี้ติดตัวมาจนใหญ่ กระทำให้ท้องขึ้นมิรู้วาย มักกลายเป็นลมกษัย บางทีให้ลงให้ปวดมวน ครั้นกินยาหายไป ครั้นถูกเย็นเข้ากลับเป็นมา ให้ขบปวดท้องยิ่งนัก

มีอาการปวดท้อง ท้องขึ้นเป็นประจำ ซึ่งน่าจะเกิดจากลำไส้ผิดปกติ เป็นโรคประจำตัว

สุนทรวาตอติสาร
เกิดแต่กอง อุทธังคมาวาต พัดอยู่ในกระหม่อม เมื่ออยู่ในครรภ์มารดากระหม่อมปิด ครั้นออกจากครรภ์มารดาแล้วกระหม่อมเปิด ครั้นได้ 3 เดือนกระหม่อมยังมิปิด จึงบังเกิดโทษ คือ ลมอโธคมาวาตอ่อน อุทธังคมาวาตกำเริบ พัดลงมาจะทำให้ไส้พองท้องใหญ่ คือให้ลงก่อนแล้วเป็นมูกเลือด ปวดมวน กินยาปิดให้จุกขึ้นมา กินยาเปิดให้ลงไป โรคดังนี้มักแปรเป็นมาน 5 ประการ คือ มานเลือด มานลม มานหิน มานน้ำเหลือง มานกษัย

มาน คือ ท้องโต การเกิดมานจึงไม่ใช่อาการธรรมดา ซึ่งในช่องท้องอาจมีก้อนหรืออวัยวะที่โต เช่น ตับม้ามโต ทาลาสิเมีย มีน้ำในช่องท้องที่ในปัจจุบันเรียกว่า แอสไซตีส(Ascitis) อาจเกิดมาจากโรคมะเร็ง ตับแข็ง ทีบี เมื่อกล่าวถึงโรคในเด็กก็น่าจะเป็นทาลาสิเมียมากกว่า เพราะเมื่อร่างกายมีความต้านทานต่ำทำให้ท้องเสียได้ง่าย และถ่ายเป็นมูกเลือด และอาจเกี่ยวกับโรคบิดแบบอะมีบิค อาจเป็นฝีในตับทำให้ตับโตท้องก็โตได้เช่นกัน

ปัสสยาวาตอติสาร
เป็นปัจจุบันกรรม มีอาการแต่กองอชิณ คือสำแลงกระทำให้ลงไปดุจกินยารุ กินอาหารมิได้อยู่ท้อง ให้อาเจียนมีสีอันเขียวอันเหลือง สมมติว่าป่วง 3 ประการ คือ ป่วงน้ำ ป่วงลม ป่วงวานร

การกินอาหารที่ไม่สะอาด จึงทำให้เกิดอติสารชนิดนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีอาการทางสมองคล้ายคนบ้า จึงเรียกว่า บ้าป่วง เนื่องจากการขาดอาหารและแร่ธาตุ คนโบราณใช้การสังเกตอาการของคนไข้ถ้าเหมือนท่าทางของสัตว์ชนิดใดก็ตั้งชื่อไปตามนั้น เช่น ป่วงลิง ป่วงงู เป็นต้น

โกฐฐาสยาวาตอติสาร
เกิดตามลำไส้ ลมจำพวกนี้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย ถ้าพัดมิได้ตลอดเมื่อใด ย่อมให้ลงไป บริโภคสิ่งอันใดก็เป็นสิ่งอันนั้นออกมา สมมติว่าไส้ตรง ลมกองนี้พัดอุจจาระ ปัสสาวะให้ลงสู่คูถทวารๆ ก็เปิดลมกับทวารหากรู้กันเอง ถ้ามิได้รู้กันตราบใดอาการก็แปรไปต่างๆ

อติสารชนิดนี้ ทำให้มีลมในลำไส้ เนื่องจากอาหารบูดเน่าเมื่อไม่ถูกย่อย

กุจฉิยาวาตอติสาร
เกิดอยู่นอกไส้ พัดแต่เพียงคอลงไปทวารหนักเบา เมื่อจะให้โทษนั้นประมวลกันเข้าเป็นก้อนในท้องแต่ว่าอยู่นอกไส้ กระทำให้ลงท้องเหม็นคาว แต่มิได้ปวดมวนอยู่ๆ ก็ไหลออกมาเอง เหตุว่าลมกองนี้เป็นเจ้าของทวาร มิได้หยัดทวารไว้ได้ สมมติว่าทวารเปิดอยู่

อติสารชนิดนี้ จะทำให้มีอาการปวดมวนท้อง กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่

อุตราวาตอติสาร
เกิดแต่กองวาโย 16 จำพวก เป็นสาธารณะทั่วไปทุกแห่ง อันนี้แจ้งอยู่ในคัมภีร์ชวดารโน้นแล้ว ในคัมภีร์อติสารเท่าแต่ที่ลงสิ่งเดียวให้แพทย์พึงรู้ มีลักษณะอาการคือกระทำอยู่ ถ้าลงไปแพทย์วางยามิต้องกลายไปให้ปวดมวน เป็นมูกเลือด สมมติว่าเป็นบิด

จะเห็นได้ว่า อาการท้องเดิน โบราณจะแบ่งออกเป็น 11 ประเภท โดยอาศัยหลักจากธาตุทั้ง 4 และสังเกตจากอาหารการกินที่ทำให้มีอาการแตกต่างกันออกไป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า