สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ประเภทของสีผสมอาหาร

สีผสมอาหาร
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และวิวัฒนาการในการผลิตอาหาร ผู้ผลิตจึงใช้วัตถุอย่างอื่นที่มิใช่เป็นอาหารโดยธรรมชาติ เข้ามาผสมอยู่ในอาหารมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะวัตถุที่ใช้แต่งสีอาหารให้น่ารับประทาน ก็คือ สีผสมอาหาร นั่นเอง ซึ่งก็มิได้มีคุณค่าต่อการบริโภคเลย ซ้ำยังจะเป็นพิษเเก่ผู้บริโภคด้วย ฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใส่สีในอาหารและเลิกรับประทานอาหารที่ใส่สีเสียเลยจะดีมาก

ชนิดของอาหารที่ใส่สี อาหารที่มักพบว่าใส่สีและเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ได้แก่
1. อาหารกระป๋อง เช่น น้ำพริกกุ้ง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลากุเลา น้ำพริกปลาย่างคลุกข้าว น้ำพริกมะขามอ่อน น้ำพริกสำเร็จรูปบรรจุขวด ฯลฯ
2. เครื่องดื่ม, เช่น น้ำหวานสีต่างๆ น้ำอัดลม น้ำส้ม และ ใบชา
3. เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก กะปิ ฯลฯ
4. อาหารตากแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาช่อนแห้ง ปลาอินทรีย์แห้ง
5. ขนมหวานที่มีสัสันฉูดฉาด เช่น ขนมปุยฝ้าย วุ้นหวาน สังขยาทาขนมปัง สลิ่ม ฝอยทอง ขนมลูกชุบ ทองหยอด ผลไม้ดอง ลูกกวาด ไอสกรีม ขนมชั้น โรตีสายไหม
6. อาหารประเภทอื่นๆ ได้แก่ กุนเชียง แหนม ไส้กรอก เต้าหู้แผ่น ขิงดอง ไข่ต้มย้อมสี ทอดมัน ลูกชิ้นกุ้ง เย็นตาโฟ ข้าวเกรียบกุ้ง ข้าวเกรียบปลา หมูหย่อ หมูแดง เป็นต้น

ประเภทของสีผสมอาหารสีผสมอาหาร
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2515 กำหนดสีผสมอาหารเป็นอาหารที่ควบคุม กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานการใช้ การผสม และฉลากสำหรับสีผสมอาหาร และกำหนดประเภทของสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมอาหารซึ่งปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมาก ที่สุดด้วยเป็นสีที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีวัตถุเจือปนในสีน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 3 ประเภท คือ

1. สีอินทรีย์ ที่ได้จากการสังเคราะห์ รวมทั้งเกลืออลูมิเนียม หรือเกลือแคลเซียม ของสีดังกล่าวที่ละลายน้ำได้ ใช้เป็นแม่สี มี 4 สี ซึ่งประกอบหรือผสมกันเป็นสีชนิดอื่นตามต้องการได้ 16 สี คือ
1.1 สีแดง มี 4 สี ได้แก่
1.1.1 ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R)
1.1.2 คาร์โมอีซีน หรือ อะโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine)
1.1.3 อะมาแรนธ์ หรือ บอร์โดซ์ เอส (Amaranth ro Bordeaux S)
1.1.4 เอริย์โธรซิน (Erythrosine)

1.2 สีเหลือง มี 6 สี ได้แก่
1.2.1 ทราตาร์ซีน (Tratazine)
1.2.2 ซันเซ็ต เย็ลโลว เอฟ. ซี. เอฟ. (Sunset Yellow F.C.F.)
1.2.3 ออยล์ เย็ลโลว์ จี.จี. (oil Yellow G.G.)
1.2.4 ออเรนจ์ อาร์เอ็น (Orange R.N.)
1.2.5 ควิโนลีน เย็ลโลว์ (Quinoline Yellow)
1.2.6 ไรโบฟลาวิน (Riboflavin)

1.3 สีเขียว มี 2 สี ได้แก่
1.3.1 วูลกรีน บีเอม (Wool Green B.S.)
1.3.2 ฟาส์ท กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ (Fast Green F.C.F.)

1.4 สีนํ้าเงิน มี 4 สี ได้แก่
1.4.1 อินแดนธรีน บลู อาร์เอส (lndanthrene Blue RS)
1.4.2 อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกตีน (indigo Carmine or Indigotine)
1.4.3 บริลเลียนท์ บลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ (Brilliant Blue F.C.F.)
1.4.4 เพเทนท์ บลู วี (Patent Blue V)

2. สีอินทรีย์ ได้แก่
2.1 ผงถ่านที่ได้จากการเผาพืช .(Charcoal) เช่นสีดำจากผงถ่านที่ได้จากการเผาเปลือกมะพร้าว ใช้ใส่ในขนมเปียกปูนให้มีสีดำ
2.2 สีดำจากถ่าน (Carbon Black)
2.3 ติเตเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide)

3. สีที่ได้จากธรรมชาติ โดยการสกัดพืช ผัก ผลไม้ และสัตว์ที่ใช้บริโภคได้ โดยไม่เกิดอันตรายและสีดังกล่าวที่ได้จากการสังเคราะห์ ได้แก่
3.1 สีเขียวจากใบเตย
3.2 สีดำจากใบยอ
3.3 สีเหลืองของขมิ้น
3.4 สีช็อคโกแลต ที่ได้จากการเผาน้ำตาลจนไหม้ หรือน้ำตาลเคี่ยวไหม้ (caramel)
3.5 สีแดงที่ได้จากครั่ง (Cochineal)
3.6 สีพวกแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ได้แก่
3.6.1 แคนธาแซนธีน (canthazanthine)
3.6.2 แคโรทีน (Carotene)
3.6.3 เบตา-แคโรทีน (Beta-Carotene)
3.6.4 เบตา-อะโป-8-แคโรทีนาล (Beta –apo-8-Carotenal)

3.6.5 เมตา-อะโป-8-แคโรทีโนอิค แอซิด (Beat-apo-8-Carotenoic acid)
3.6.6 เอธิล เอสเตอร์ ของเบตา-อะโป-8-แคโรทีโนอิค แอซิด (Ethyl ester of beta -apo-8-Carotenoic acid)
3.6.7 เมธิล เอสเตอร์ของเบตา-อะโป-8-แคโรทีโนอิค แอซิด (Methyl ester of beta-apo-8-Carotenoic acid)
3.6.8 เคอร์คูมิน
3.6.9 เทอร์เมอริค
3.6.10 คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)
3.6.11 คลอโรฟิลล์ คอปเปอร์ คอมเพล็กซ์ (chlorophyll Copper Complex)

คุณสมบัติและข้อบ่งใช้สีผสมอาหาร
สีมิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย ซ้ำร้ายถ้าใช้ไม่ถูกต้องกลับเป็นโทษแก่ร่างกายด้วย ในสีผสมอาหารทั้ง 3 ประเภท สีที่ได้จากธรรมชาติใช้ได้ปลอดภัยที่สุด ส่วนสีสังเคราะห์มีอันตรายต่อชีวิตมากกว่าสีประเภทอื่น ๆ จากการที่สีสังเคราะห์ทุกชนิดเป็นสารที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่มีคุณค่าทางอาหารต่อร่างกาย หากเรารับประทานอาหารที่มีสีสังเคราะห์บ่อยๆ สีจะสะสมอยู่ในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีสีสังเคราะห์สะสมอยู่ในร่างกายมากพอก็จะก่อให้เกิดอันตรายแก่เรา หรือผู้บริโภคได้

ถ้าจำเป็นต้องใช้สีใส่ในอาหาร ให้ใช้สีที่ได้จากธรรมชาติเป็นปลอดภัยที่สุด หากต้องการใช้สีสังเคราะห์จะต้องใช้แต่น้อยและปริมาณจำกัด โดยทั่วไปจะจำกัดปริ¬มาณที่ให้ใช้ได้โดยปลอดภัยไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วันหรือ 1 ในล้านส่วนของน้ำหนักร่างกายในหนึ่งวัน นับว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก ทั้งนี้เพราะร่างกาย สามารถรับสีสังเคราะห์ได้ระหว่าง 0.5-1.00 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม ในหนึ่งวัน เฉพาะสีสังเคราะห์พวก บริลีเยนท์ บลู เอ็ฟซีเอ็ฟ และฟาสท์ กรีน เอ็ฟซีเอ็ฟ ซึ่งเป็นสีที่มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัยในการใช้มาก ให้ใช้ได้ไม่เกิน 12.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในหนึ่งวัน

สีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมอาหารจะต้องมีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งต่างจากสีย้อมผ้า ย้อมแพรที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ

สีที่นิยมใช้ผสมอาหารและเครื่องดื่มได้แก่ สีพวกโคลทาร์ (Coal tar) ซึ่งดีกว่าสีจากพืช และสีจากแร่ธาตุ เพราะสามารถควบคุมปริมาณการใช้สีได้แน่นอนและสม่ำเสมอ สีสดใส สวยงามกว่าสีตามธรรมชาติและมีสีมากชนิดตามความต้องการ

คุณลักษณะของสีผสมอาหารที่ได้มาตรฐาน
1. ไม่มีสารที่ทำให้เกิดพิษ และตัวสีเองไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของผู้บริโภค
2. มีโครเมียม หรือแคดเนียม หรือปรอท หรือเซเลเนียมไม่เกิน 1 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
3. มีสารหนู ไม่เกิน 5 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
4. มีตะกั่วไม่เกิน 20 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
5. มีโลหะหนักชนิดต่างๆ นอกจากตะกั่ว รวมกันไม่เกิน 30 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก

สาเหตุที่สีย้อมผ้าใช้ผสมอาหารไม่ได้
สีย้อมผ้า ย้อมแพรมีความบริสุทธิ์ต่ำ มีสารเจือปนและโลหะหนักที่เป็นอันตรายเจือปน เช่น โครเนียม แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว และสารหนู เป็นต้น ผู้ประกอบอาหารส่วนมากใช้สีย้อมผ้าแต่งสีอาหารด้วยการขาดความรับผิดชอบ มักง่าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการ ขอเพียงแต่ให้สีฉูดฉาด ดึงดูดใจคนซื้อได้มากเป็นพอ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายมากมาย ทั้งนี้เพราะสีย้อมผ้ามี
1. มีสารที่ทำให้เกิดพิษเจือปน
2. มีโครเนียม หรือแคดเมียม หรือปรอท หรือเซเลเนียม เกิน 1 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
3. มีสารหนูเกิน 5 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
4. มีตะกั่วเกิน 20 ส่วน ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก
5. มีโลหะหนักชนิดต่างๆ นอกจากตะกั่วรวมกันเกิน 20 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก

ระวังสีเป็นพิษ
สีบางอย่างเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น สีที่มีส่วนประกอบของหมู่อะมิโน หมู่ไนโตรและ หมู่ไนโตรโซ เป็นต้น โดยทั่วไปมีหลักสังเกตว่า สีพวกด่าง (เบสิค ดายส์) เป็นสีซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย

อันตรายจากการใช้สี
สีสังเคราะห์เป็นสารแปลกปลอม เมื่อผสมอาหารและรับประทานเข้าไปในร่างกาย ก็จะเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ คือ

1. อันตรายจากสีเอง เพราะสีทุกชนิดถ้าใช้มากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคไม่มากก็น้อยเนื่องจากเป็นสารแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย หากร่างกายขับถ่ายออกไม่ทัน ก็จะสะสมอยู่ในร่างกายแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ เช่นสีพวก โรห์ดามีน บี (Rhoda- mine B) เอารามีน (Auramine) มาลาไค้ท กรีน (Malachite green) และ ไวโอเลท บี เอ็น พี (violet BNP) อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน อาการชา เพลียและอ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ไต และตับเสีย สีบางอย่างอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

สีทราตาร์ซีน (สีเหลือง) ถ้ารับประทานเกิน 7.5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. และ สีอะมาแรนธ์ (สีแดง) ถ้ารับประทานเกิน 1.5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้การดูดซึมของอาหารบกพร่องไป สำหรับสีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ (สีเหลือง) ถ้ารับ ประทานเกิน 5.0 มก./นํ้าหนักตัว 1 กก. จะทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด

2. อันตรายจากสารอื่น ที่ติดมาเนื่องจากการสังเคราะห์ หรือจากกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนออกไม่หมด สารดังกล่าวได้แก่ โลหะหนักต่างๆ เช่น โครเมียม แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู พลวง และเซเลเนียม เป็นต้น โลหะหนักเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ แม้ได้รับเพียงปริมาณเล็กน้อย อาการอาจเป็นทั้งอย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งพิษของโลหะหนักนี้ถ้าเป็นมากอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

จะเห็นได้ว่าสีผสมอาหารนั้นไม่ให้คุณค่าอะไรแก่ร่างกาย และก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้เลย กลับทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ และบริโภคอาหารที่ไม่ได้ผสมสีเท่านั้น

การป้องกันพิษจากสีผสมอาหาร
อันตรายจากการใช้สีผสมอาหารที่ไม่ถูกต้องนั้นมีมากการที่จะลดหรือป้องกันอันตรายจากสีได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของบุคคลหลายฝ่าย คือ

1. ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสีผสมอาหารต้องทำฉลากเป็นภาษาไทยให้อ่านได้ชัดเจน โดยมีข้อความต่อไปนี้

1.1 “สีผสมอาหาร”
1.2 ชื่อสามัญและเลขทะเบียนอาหาร
1.3 เลขดัชนีสี (ถ้ามี)
1.4 ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต
1.5 ชนิดของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ที่เป็นต้นกำเนิดของสี

2. ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องเลือกสีชนิดที่ตัวมันเองนั้นไม่มีอันตราย หรือมีอันตรายน้อยที่สุด และต้องมีความบริสุทธิ์สูง คือ เป็นสีที่สงเคราะห์ขึ้นพิเศษ เพื่อใช้ในการปรุงแต่ง หรือผสมอาหารเท่านั้น เพราะสีพวกนี้มีโลหะหนัก หรือสารอื่นปนอยู่น้อยมาก

3. ผู้ประกอบอาหาร ต้องใช้สีเฉพาะที่ใช้ผสมอาหารเท่านั้น (ไม่ใช้สีย้อมผ้า หรือสีชนิดอื่น) และต้องใช้ในปริมาณพอควร ซึ่งในการเลือกซื้อสีผสมอาหาร ควรสังเกตว่าที่ซองหรือกระป๋องสีนั้นมีข้อความว่า “สีผสมอาหาร” และมีเลขทะเบียนปรากฏชัดเจนหรือเปล่า หากสีใดไม่มีฉลากข้อความดังกล่าวและไม่มีเลขทะเบียน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ห้ามนำมาใช้ผสมอาหารเด็ดขาด

4. ผู้บริโภค ควรเลือกบริโภคอาหารที่ไม่ใส่สี หรือเลือกบริโภคแต่อาหารที่แน่ใจว่ามีสีผสมอาหารซึ่งปลอดภัยเท่านั้น

ตามปรกติแล้วเราไม่ควรใช้สีผสมอาหาร แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ หรือสีอนินทรีย์ หากจำต้องใช้สีสังเคราะห์ต้องใช้เฉพาะสีที่ทางการกำหนดว่าปลอดภัย เช่นสีขององค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และใช้ในปริมาณไม่มาก (ตามข้อบ่งใช้ที่ได้กล่าวแล้ว) พึงระลึกว่าการใช้สีที่ห้ามบริโภคหรือบริโภคไม่ได้มาผลิตหรือผสมอาหารจำหน่าย อาจได้รับโทษตามกฎหมาย คือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า