สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บุคลิกภาพแปรปรวน(Personality Disorders)

บุคลิกภาพของบุคคลมีมากมายหลายแบบ บางคนเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ซื่อสัตยสุจริต ขยันหมั่นเพียร และมีความกระตือรือร้น แต่บางคนก้าวร้าว ดื้อรั้น หรือเฉื่อยชา ฯลฯ บุคลิก ภาพที่มีลักษณะต่างจากของคนทั่วไปมากๆ ถือว่าเป็นบุคลิกภาพแปรปรวน ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้บุคคลที่เป็นเจ้าของและสังคมได้

ตามคำจำกัดความของคำว่าบุคลิกภาพแปรปรวน หมายถึง กลุ่มของความผิดปกติทางพฤติกรรมที่ฝังรากลึก ยากแก่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มปรากฏในวัยรุ่นหรืออาจเร็วกว่านั้น และจะดำเนินต่อไปเกือบตลอดวัยผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามลักษณะดังกล่าวจะชัดเจนน้อยลง ในวัยกลางคนและวัยชรา

ลักษณะของบุคลิกภาพแปรปรวน

บุคลิกภาพแปรปรวน เป็นบุคลิกภาพที่แตกต่างจากบุคลิกภาพของคนส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก และเป็นอยู่นาน แต่โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอาการที่รบกวนบุคคลผู้นั้น ดังนั้นบุคคลซึ่งมีบุคลิกภาพแปรปรวนจึงมักจะไม่มาขอความช่วยเหลือจากแพทย์ด้วยตนเอง แต่โดยที่บุคคลซึ่งมีบุคลิกภาพแปรปรวนจะทนต่อความตึงเครียดและความคับข้องใจได้น้อยกว่าคนธรรมคา เช่น เมื่อมีความกดดันเพียงเล็กน้อยเขาอาจวิตกกังวลอย่างมาก หรือถ้าความกดดันมากพอควรเขาอาจเกิดอาการของโรคจิตชั่วคราวได้ รวมทั้งความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นมักบกพร่องไป ทำให้บุคคลผู้นั้นทรงชีวิตอยู่ในสังคมโดยมีความสุขและความสำเร็จน้อยกว่าที่ควร ยกเว้นในบางอาชีพซึ่งยอมรับและส่งเสริมบุคลิกภาพแปรปรวนบางแบบ เช่น อาชีพที่เกี่ยวกับการบันเทิงหรือการแสดงมักยอมรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบรักตนเองหรือแบบฮีสทีเรีย บุคคลที่มีบุคลิกภาพแปรปรวน แบบที่กล่าวนี้จึงอาจประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้บ้าง

สาเหตุ

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดบุคลิกภาพแปรปรวน แต่พบว่าปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุได้มีดังนี้

๑. ลักษณะที่ติดตัวบุคคลผู้นั้นมาตั้งแต่เกิด เช่น ลักษณะประจำตัวเด็กแต่ละคน หรือการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่นมีผู้พบว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบอันธพาลมักจะมีบิดามารดาเป็นอันธพาล แม้ว่าจะได้แยกเด็กไปให้คนอื่นเลี้ยงตั้งแต่วัยเด็กแล้วก็ตาม นอกจากนั้นยังพบว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบอันธพาลจะมีลักษณะของคลื่นสมองผิดปกติบ่อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙)

๒. การพัฒนาทางบุคลิกภาพ เช่น การอบรมเลี้ยงดูอย่างขาดความอบอุ่นในวัยทารก อาจทำให้ทารกนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ซึ่งขาดความไว้วางใจสิ่งแวดล้อม หรือยึดติดกับการพัฒนาทางบุคลิกภาพในระยะปาก คือ เป็นคนรับประทานจุกจิก ปากจัด ชอบวิจารณ์ หรือติดสุราและยาเสพติด การเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับการขับถ่ายในวัย ๑-๓ ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ความสุขของเด็กอยู่ที่ทวารหนัก ก็อาจทำให้เด็กคนนั้นกลายเป็นคนพิถีพิถัน เจ้าระเบียบ เคร่งครัดในคุณธรรม หรือกังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป เป็นต้น

๓. ประสบการณ์ในวัยเด็กอาจส่งเสริมพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น –

๓.๑ เมื่อทำไม่ดีแล้วได้รับรางวัล เช่น เมื่อเด็กต้องการอะไรซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องการให้เด็กจะร้องเสียงดังลงดิ้นกับพื้น หรือกระแทกศีรษะกับฝาผนัง ทำให้พ่อแม่จำต้องยอมให้สิ่งที่เด็กต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ เด็กจะมีนิสัยเอาแต่ใจตน และแสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อถูกขัดใจ

๓.๒ การถูกอบรมเลี้ยงดูที่เคร่งครัดเกินไป การที่พ่อแม่เคร่งครัดไม่ผ่อนปรน และขาดเหตุผลต่อเด็ก เมื่อเด็กประพฤติผิดไปจากสิ่งที่พ่อแม่กะเกณฑ์ไว้ก็จะตำหนิหรือลงโทษเด็ก โดยไม่ยอมรับฟังเหตุผลจากเด็ก อาจทำให้เด็กเป็นผู้มีพฤติกรรมก้าวร้าว และประพฤติตรงกันข้าม กับที่พ่อแม่ต้องการ

๓.๓ การที่บิดามารดาหรือบุคคลที่มีอำนาจในครอบครัวมีบุคลิกภาพผิดปกติ เด็กอาจลอกเลียนลักษณะที่ผิดปกติเหล่านั้นได้

๔. ปัจจัยทางจิต-สังคม (psychosocial factor) มีผู้ศึกษาบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบอันธพาล พบว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ อาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม และมีภูมิลำเนาอยู่ในเมือง บิดามารดามักทะเลาะกันเป็นประจำหรือแยกทางกัน ติดสุราหรือยาเสพติด หรือมีบุคลิกภาพแบบอันธพาล เพราะฉะนั้นปัจจัยทางจิต-สังคมอาจมีส่วนเป็นสาเหตุของบุคลิกภาพแปรปรวนได้เช่นกัน (Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙)

๕. ความผิดปกติในหน้าที่ของสมอง เช่น โรคลมชัก การอักเสบของสมอง Arte­riosclerotic brain disease, Senile dementia และ Alcoholism ฯลฯ ทำใหบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้

ในพวกที่เกิดจากสาเหตุที่ ๕ บุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงจะเกิดในขณะหรือหลังจากการป่วยด้วยโรคที่กล่าวนั้น

การจำแนกบุคลิกภาพแปรปรวน

แบบต่าง ๆ ของบุคลิกภาพแปรปรวนแบ่งตามการจำแนกโรคสากลขององค์การอนามัยโลก ค.ศ. ๑๙๗๘ หรือ ICD-9 เป็นดังนี้ คือ

. Paranoid personality disorder หรือบุคลิกภาพแปรปรวนแบบหวาดระแวง ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ มีความรู้สึกไวเกินควรต่อความผิดหวัง การถูกเหยียดหยาม หรือการถูกปฏิเสธ และมีแนวโน้มจะเข้าใจการกระทำที่เป็นธรรมดา หรือการกระทำที่หวังดีของคนอื่นว่าเป็นการก้าวร้าวหรือดูถูกดูหมิ่นตน และมีความรู้สึกฝังแน่นว่าตนเองจะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง คนเหล่านี้มักจะอิจฉาริษยาผู้อื่นหรือรู้สึกว่าตนมีความสำคัญมากเกินไป อาจรู้สึกว่าตนถูกผู้อื่นเหยียดหยามหรือเอาเปรียบ ยิ่งกว่านั้นยังก้าวร้าวและดื้อรั้น และทุกรายจะคิดถึงตนเองมากผิดปกติ

ระบาดวิทยา

เราไม่ทราบอุบัติการที่แท้จริงของบุคลิกภาพแบบนี้ เพราะคนเหล่านี้มักไม่มาพบแพทย์ แต่เท่าที่พบเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ปัญหา

โดยทั่วไปบุคคลที่มีบุคลิกภาพแปรปรวนแบบนี้มักจะรู้ตัว และปิดบังความคิดที่ผิดปกติของตนไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตามมักพบปัญหาในงานอาชีพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเจ้านายหรือผู้ร่วมงาน และในรายที่เป็นรุนแรงความสัมพันธ์กับบุคคลทุกคนจะเสียอย่างมาก ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่า บุคลิกภาพแบบนี้เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง หรือโรคจิตแบบหวาดระแวงอื่นๆ

หลักเกณฑ์การวินิจฉัย (dsm-iii)

๑. มีความระแวงสงสัยอย่างมากโดยไม่มีเหตุผล และขาดความไว้วางใจผู้อื่น โดยแสดงลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑.๑ คาดว่าผู้อื่นมีเล่ห์เหลี่ยม หรือเป็นอันตรายต่อตน

๑.๒ ระมัดระวังตัวมากเกินไป โดยการพินิจพิเคราะห์สิ่งแวดล้อมเพื่อค้นหาว่ามีการคุกคามต่อตนหรือไม่ หรือระมัดระวังตัวมากโดยไม่จำเป็น

๑.๓ ปิดบัง หรือมีความลับ

๑.๔ ไม่ยอมรับการตำหนิอย่างมีเหตุผล

๑.๕ ไม่ไว้ใจผู้อื่นว่าจะซื่อสัตย์ต่อตน

๑.๖ สนใจเกี่ยวกับส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่องต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องทั้งหมด

๑.๗ สนใจเกี่ยวกับเบื้องหลังที่เคลือบแฝง และความหมายพิเศษของสิ่งต่างๆ

๑.๘ อิจฉาริษยา

๒. อารมณ์หวั่นไหวง่าย โดยแสดงลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๒.๑ ถือโกรธในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยง่าย

๒.๒ ทำปัญหาเล็กให้เป็นปัญหาใหญ่

๒.๓ พร้อมที่จะต่อสู้เมื่อถูกคุกคาม

๒.๔ ไม่สามารถผ่อนคลายความตึงเครียดของตนเองได้

๓. อารมณ์แคบ (restricted affectivity) ซึ่งแสดงลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๓.๑ ลักษณะภายนอกดูชาเย็น และไม่มีอารมณ์

๓.๒ มักทำอะไรโดยอาศัยแต่เหตุผล ไม่คำนึงถึงอารมณ์หรือความรู้สึกเลย

๓.๓ ขาดอารมณ์ขันอย่างแท้จริง

๓.๔ ไม่มีความรู้สึกอ่อนโยน หรือความรู้สึกซาบซึ้งในเรื่องต่างๆ

๒. Schizoid personality disorder หรือบุคลิกภาพแปรปรวนแบบแยกตัว ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ คือ ขี้อาย ไม่ค่อยพูด และแยกตัวจากสังคมหรือจากการใกล้ชิดกับผู้อื่นร่วมกับเพ้อฝันถึงเรื่องของตนเองบ่อยๆ พฤติกรรมอาจแปลกไปบ้าง หรือมีพฤติกรรมซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ซึ่งมีการแข่งขัน หรือหลีกเลี่ยงการแสดงความรู้สึกหรือความก้าวร้าวของตนให้ผู้อื่นทราบ

ระบาดวิทยา

มักพบในคนซึ่งมีลักษณะเก็บตัว ไม่ชอบการสังคมมาตั้งแต่เด็ก

ปัญหา

เนื่องจากคนพวกนี้มีความสัมพันธ์ในด้านสังคมไม่ดี เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าในอาชีพการงานจึงมักจะน้อย โดยเฉพาะถ้างานนั้นต้องอาศัยมนุษยสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ดีคนที่มี บุคลิกภาพเช่นนี้บางคนซึ่งทำงานที่มีลักษณะต้องแยกตัวจากสังคมมาทำตามลำพังก็อาจประสบความสำเร็จอย่างสูงได้

จิตแพทย์บางคนเชื่อว่า บุคลิกภาพแบบนี้มีโอกาสเกิดโรคจิตเภทได้มากกว่าบุคลิกภาพแบบอื่น แต่ความจริงแล้วในปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ ที่สามารถบอกได้แน่ก็คือลักษณะของบุคลิกภาพแบบนี้เป็น prodromal phase ของโรคจิตเภท

หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย (dsm-iii)

๑. อารมณ์ชาเย็นและเย่อหยิ่ง ไม่มีท่าทีที่อบอุ่นและนุ่มนวลต่อผู้อื่น

๒. ไม่ยินดียินร้ายต่อคำชม คำวิพากษ์วิจารณ์ หรือต่อความรู้สึกของผู้อื่น

๓. มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลไม่มากกว่า ๑ หรือ ๒ คน ทั้งนี้รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวด้วย

๔. ไม่มีคำพูด พฤติกรรม หรือความคิดแปลกๆ

๓. Anankastic personality disorder หรือบุคลิกภาพแปรปรวนแบบเจ้าระเบียบ สมบูรณ์แบบ หรือย้ำคิดย้ำทำ ประกอบด้วยลักษณะสำคัญคือ ขาดความมั่นใจ ระแวงสงสัย และรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างขาดตกบกพร่อง ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อบาป ความระมัดระวัง และความรอบคอบมากเกินไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจ รวมทั้งมีความดื้อรั้นดันทุรังด้วย แต่ความรุนแรงไม่ถึงขนาดเป็นโรคประสาท

บุคลิกภาพแบบนี้อาจเรียกว่า compulsive personality disorder หรือ perfectionist

ระบาดวิทยา

บุคลิกภาพแบบนี้พบค่อนข้างบ่อย และมักเป็นในผู้ชาย

ปัญหา

ทำให้เกิดการเสียสมรรถภาพในงานอาชีพ ทั้งยังพบบ่อย ในคนที่เป็น Myocardial infarction ยิ่งกว่านั้นอาจนำไปสู่การเป็นโรคประสาทแบบย้ำคิดย้ำทำ โรคประสาท แบบ hypochondriasis และโรคจิตทางอารมณ์แบบเศร้า

หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย (DSM-III)

๑. ขาดความสามารถที่จะแสดงความอบอุ่นและความสุภาพต่อผู้อื่น

๒. ไม่ค่อยเข้าใจปัญหาทั้งหมด มักจะสนใจรายละเอียด กฎเกณฑ์ หรือระเบียบเล็กๆ น้อยๆ ของปัญหาซึ่งไม่สำคัญ

๓. ต้องการให้ผู้อื่นกระทำตามวิธีของตน โดยไม่สำนึกถึงความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับการกระทำเช่นนี้ของจน

๔. อุทิศตนให้กับงานและผลงานของตน โดยไม่คำนึงถึงความสุขหรือคุณค่าแห่งมนุษยสัมพันธ์

๕. ตัดสินใจไม่ได้ มักไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ เนื่องจากกลัวความผิดพลาดมากเกินไป

๔. Hysterical personality disorder หรือบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮีสทีเรีย ประกอบด้วย ลักษณะที่สำคัญ คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายไม่มั่นคง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องการความชื่นชมยินดีและความเอาใจใส่จากผู้อื่นมากผิดปกติ ถูกชักจูงง่าย และจะแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางมากเกินไป (dramatize) มักไม่บรรลุวุฒิภาวะทางเพศ เช่น เป็นกามตายด้าน และเมื่อมีความกดดันอาจแสดงอาการของโรคประสาทแบบฮีสทีเรียได้

ระบาดวิทยา

บุคลิกภาพแบบนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศหญิง

ปัญหา

ผู้ป่วยมักมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ในรายที่บุคลิกภาพแปรปรวนมากๆ อาจไม่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ของตนได้ มักติดยาเสพติดโดยเฉพาะในผู้หญิง และอาจเกิดปัญหาโรคจิตทางอารมณ์แบบเศร้า โรคจิตระยะสั้น ๆ (brief reactive psychosis) และโรคประสาทแบบฮีสทีเรีย

ลักษณะสำคัญ

๑. แสดงออกทางพฤติกรรมมากเกินไปจนดูคล้ายเล่นละคร โดยมีลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้อย่างน้อย ๓ ประการ

๑.๑ แสดงออกทางอารมณ์มากเกินไป

๑.๒ สนใจตนเองตลอดเวลา

๑.๓ กระหายที่จะมีกิจกรรมหรือได้รับความตื่นเต้น

๑.๔ มีปฏิกิริยามากเกินไปต่อเหตุการณ์เล็กๆ น้อย ๆ

๑.๕ ตีโพยตีพายหรือระเบิดอารมณ์โกรธอย่างไม่สมเหตุผล

๒. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผิดปกติไป โดยมีลักษณะที่จะกล่าวต่อไปนี้อย่างน้อย ๒ ประการ

๒.๑ คนอื่นจะมองเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นคนผิวเผิน ขาดความจริงใจ ทั้งที่ดูภายนอกก็อบอุ่นและมีเสน่ห์

๒.๒ เอาแต่ใจตนเอง และไม่เกรงใจใคร

๒.๓ ทิฐิและเรียกร้องจากผู้อื่นมาก

๒.๔ ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น และต้องการความมั่นใจจากผู้อื่นตลอดเวลา

๒.๕ มักขู่ แสร้งทำ หรือพยายามฆ่าตัวตาย เพื่อจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามความต้องการของตน

๕. Sociopathic or asocial personality disorder หรือบุคลิกภาพแปรปรวนแบบอันธพาล หรือแบบต่อต้านสังคม ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ คือ อารมณ์ไม่มั่นคง ขาดจริยธรรมและคุณธรรม การตัดสินใจไม่ถูกต้อง และขาคความซื่อสัตย์ต่อบุคคลอื่นหรือหมู่คณะ ปราศจากความเมตตากรุณา เอาแต่ใจตนเองโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น และขาดความรับผิดชอบอาจก่อพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อกระทำแล้วก็จะพยายามหาเหตุผลให้กับการกระทำนั้นโดยไม่มีความสำนึกผิด ทั้งการลงโทษก็ไม่ทำให้เขาเข็ดหลาบ บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบนั้นไม่ว่าเป็นอันตรายต่อสังคมถ้าเกิดความคับข้องใจ

บุคลิกภาพแบบนี้มักเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก หรือระยะแรกๆ ของวัยรุ่น ส่วนใหญ่ถ้าไม่เริ่มก่อนอายุ ๑๕-๑๖ ปีก็มักจะไม่เกิดขึ้นเลย (Goodwin และ Guze ค.ศ. ๑๙๗๙)

ระบาดวิทยา

อุบัติการของบุคลิกภาพแบบนี้ยังไม่เป็นที่ทราบชัด เพราะการวินิจฉัยความผิดปกตินี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามพบว่าเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอยู่มาก และพบบ่อยในคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำ หรือคนที่อยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท นอกจากนั้น ยังพบมากในคนที่มาจากครอบครัวซึ่งยุ่งเหยิง บิดามารดาแยกทางกันหรือทอดทิ้งเด็ก บิดามารดา ติดสุราหรือเป็นอาชญากร

ปัญหา

บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักประสบปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (venereal diseases) การตั้งครรภ์นอกสมรส การบาดเจ็บจากการต่อสู้หรืออุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งได้แก่ การติดสุราหรือยาเสพติด อารมณ์ซึมเศร้า และโรคประสาทแบบฮีสทีเรีย นอกจากนั้น ยังมีปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคู่สมรส ปัญหาการทำงาน การเป็นทหาร และปัญหาด้านกฎหมาย อาจต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกัน หรือแม้แต่ในคุก

หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย (dsm-iii)

๑. อายุที่กำลังมีความผิดปกติต้องไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี

๒. ต้องเริ่มมีอาการก่อนอายุ ๑๕ ปี โดยมีประวัติต่อไปนี้อย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่

๒.๑ หนีโรงเรียนอย่างน้อย ๕ วันใน ๑ ปี เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย ๒ ปี

๒.๒ ถูกภาคทัณฑ์หรือถูกไล่ออกจากโรงเรียน เนื่องจากความประพฤติไม่ดี

๒.๓ ประพฤติเป็นพาลเกเร ถูกจับหรือถูกส่งไปที่ศาลเด็กเนื่องจากความประพฤติดังกล่าว

๒.๔ หนีออกจากบ้านตลอดคืนอย่างน้อย ๒ ครั้ง ขณะอาศัยอยู่กับบิดามารดา หรือบิดามารดาบุญธรรม

๒.๕ พูดปดเสมอ

๒.๖ สำส่อนทางเพศ

๒.๗ ดื่มสุราหรือใช้ยาอย่างผิดๆ หลายครั้ง

๒.๘ ลักขโมย

๒.๙ มีพฤติกรรมที่ป่าเถื่อน

๒.๑๐ ผลการเรียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก

๒.๑๑ ชอบก่อการทะเลาะวิวาท

๓. ต้องมีลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย ๔ ประการ ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี

๓.๑ ไม่สามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ คือ จะเปลี่ยนงานบ่อย อย่างน้อย ๓ งานในเวลา ๕ ปี โดยไม่เกี่ยวกับลักษณะของงาน เศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ตกงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๖ เดือนในเวลา ๕ ปี หรือหนีงาน คือ มาสายหรือขาดงานอย่างน้อย ๓ วันใน ๑ เดือน หรือออกจากงานโดยไม่มีงานใหม่คอยอยู่หลายครั้ง

๓.๒ ขาดความสามารถรับผิดชอบในฐานะเป็นพ่อแม่ เช่น ปล่อยให้ลูกขาดอาหาร เจ็บป่วยบ่อย ๆ เนื่องจากมาตรฐานทางอนามัยต่ำ เวลาลูกเจ็บหนักก็ไม่ได้ให้การรักษา เพื่อนบ้านต้องช่วยเหลือให้อาหารและที่อยู่แก่เด็ก ไม่จัดหาผู้ปกครองเด็กซึ่งอายุต่ำกว่า ๖ ปี เมื่อคนซึ่งเป็นพ่อแม่ต้องออกไปนอกบ้าน และจ่ายเงินส่วนตัวอย่างฟุ่มเฟือยทั้งที่เงินนั้นควรจะนำมาใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในครอบครัว

๓.๓ ไม่เคารพกฎหมายโดยมีการลักขโมยบ่อยๆ ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ถูกจับหลายครั้ง และทำผิดคดีอาญา

๓.๔ ไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับคู่ร่วมเพศ ดังจะเห็นว่ามีการหย่าและ/หรือแยกกันอยู่ตั้งแต่ ๒ ครั้งขึ้นไป หรือมีประวัติการสำส่อนทางเพศซึ่งได้แก่การมีคู่ร่วมเพศตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไปภายในระยะเวลา ๑ ปี

๓.๕ หงุดหงิดหรือก้าวร้าว เห็นได้จากการต่อสู้หรือการกระทำรุนแรง รวมทั้งการตบตีบุตรและคู่สมรส

๓.๖ ไม่รับผิดชอบเรื่องการเงิน เห็นได้จากมีการโกงหนี้ ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตร หรือคนที่อยู่ในความอุปการะ

๓.๗ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หรือทำอะไรโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ เช่น จะเดินทางก็ไม่จัดการเรื่องการงานให้เรียบร้อย หรือไม่มีเป้าหมายในการเดินทาง ว่าเมื่อไรจะกลับ หรือไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนเป็นเวลา ๑ เดือนหรือมากกว่า

๓.๘ ไม่คำนึงถึงความซื่อสัตย์ โดยการกล่าวคำเท็จบ่อยๆ ใช้ชื่อปลอม คดโกงคนอื่นเพื่อหากำไรใส่ตัว

๓.๙ ทำอะไรโลดโผน เช่น ขับรถขณะเมาสุรา หรือขับรถเร็วเกินไป

๔. มีพฤติกรรมอันธพาล โดยการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นติดต่อกันโดยไม่มีระยะที่เป็นปกติอย่างน้อย ๕ ปี ในระหว่างช่วงอายุ ๑๕ ปีจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นในกรณีที่ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียง ถูกกักกันในโรงพยาบาลหรือสถานกักกัน)

๕. บุคลิกภาพแบบอันธพาลนี้ไม่ได้เกิดจากสภาวะปัญญาอ่อน โรคจิตเภท หรือโรคจิตทางอารมณ์แบบคลั่ง

. Affective personality disorder ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ คือ มีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์เป็นสุขต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หรือมีอารมณ์เศร้าสลับกับอารมณ์เป็นสุข ในระยะที่มีอารมณ์เศร้าจะมีความกังวล มองโลกแต่ในแง่ร้าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และรู้สึกว่าตนหาประโยชน์มิได้ แต่ในระยะที่อารมณ์เป็นสุข จะมีความทะเยอทะยาน กระตือรือร้น มองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว และรู้สึกว่าชีวิตและกิจกรรมทุกอย่างของตนสนุกสนาน

ในบางรายอารมณ์จะเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว ระหว่างอารมณ์เศร้าและอารมณ์เป็นสุข และมักไม่มีความสัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อม แต่บางทีอารมณ์แต่ละแบบจะเกิดอยู่นานเป็น หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

ปัญหา บุคลิกภาพแบบนี้มีความสัมพันธ์กับโรคจิตทางอารมณ์

๗. Explosive personality disorder ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ คือ อารมณไม่มั่นคง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธ อารมณ์เกลียด อารมณ์รุนแรง หรืออารมณ์รักของตนได้ อาจแสดงความก้าวร้าวออกทางคำพูดหรือการกระทำรุนแรง สาเหตุของความก้าวร้าวมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นทางสังคมหรือจิตใจ และมักเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เหมาะสมกับการตอบสนองทางอารมณ์ของ

บุคคลนั้น หลังจากการกระทำรุนแรงเขามักรู้สึกเสียใจ แต่ก็ยังคงกระทำเช่นเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ดีคนพวกนี้ตามปกติจะไม่กลายเป็นบุคคลอันธพาล

บุคลิกภาพแบบนี้อาจพบในรายที่เป็นโรคลมชัก หรือในกรณีที่คนๆ นั้นดื่มสุราจัด แต่ใน ๒ กรณีดังกล่าวไม่จัดเป็น Explosive personality disorder

ปัญหา คนพวกนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และมีปัญหาทางกฎหมาย

๘. Asthenic personality disorder ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ คือ มักทำตามความต้องการของผู้ใหญ่หรือผู้อื่นง่าย มีการตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตประจำวันของตนน้อย ไม่มีพลัง ซึ่งอาจแสดงออกทางด้านเชาวน์ปัญญาและอารมณ์ และหวั่นไหวง่ายต่อความกดดันทุกชนิด รวมทั้ง มองโลกแต่ในแง่ร้ายอยู่เสมอ และไม่ค่อยมีอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง

อาจเรียกว่า Dependent personality, Inadequate personality หรือ Passive perso­nality

ระบาดวิทยา

พบได้บ่อย มักเป็นในเพศหญิง ในเด็กและในวัยรุ่นการป่วยเป็นโรคเรื้อรังอาจทำให้เกิดบุคลิกภาพแบบนี้ได้ง่าย

ปัญหา ความสัมพันธ์กับสังคมจะจำกัดอยู่เฉพาะคน ๒-๓ คนที่เขาต้องพึ่งพาอาศัยเท่านั้น เพราะฉะนั้นงานอาชีพที่ต้องอาศัยความเป็นตัวของตัวเองมักจะเสีย คนพวกนี้มักเกิดโรคจิตทางอารมณ์ แบบเศร้าได้บ่อย

ตามการจำแนกโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ค.ศ. ๑๙๘๐ หรือ DSM-III บุคลิกภาพแปรปรวนถูกแบ่งเป็น ๑๑ แบบ ไดเแก่

๑. Paranoid personality disorder

๒. Schizoid (introverted) personality disorder

๓. Schizotypal personality disorder

๔. Histrionic (hysterical) personality disorder

๕. Narcissistic personality disorder

๖. Antisocial personality disorder

๗. Borderline personality disorder

๘. Avoidant personality disorder

๙. Dependent personality disorder

๑๐. Compulsive personality disorder

๑๑. Passive-aggressive personality disorder

บุคลิกภาพแบบที่ ๑, ๒, ๔, ๖, ๙, ๑๐ เหมือนกับในการจำแนกโรคแบบ ICD -9 บุคลิกภาพแบบ Schizotypal personality disorder มีลักษณะอยู่ระหว่าง Schizoid personality disorder และโรคจิตเภท ส่วน Borderline personality disorder แต่เดิมเคยเรียกว่า latent schizophrenia, pre-schizophrenia หรือ pseudo-neurotic schizophrenia ฯลฯ

การรักษาบุคลิกภาพแปรปรวน

การรักษาปัญหาบุคลิกภาพแปรปรวนเป็นสิ่งที่ลำบากมาก เพราะบุคคลผู้นั้นมักไม่มีความต้องการจะรักษา การมาพบแพทย์มักเนื่องจากผู้อื่น เช่น บิดามารดา คู่สมรส หรือนายจ้าง รบเร้าให้มา แต่ก็มีบางรายที่มาเพราะกังวลจากผลสะท้อนทางสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมของตน หรือเพราะเริ่มค่อยๆ เข้าใจว่าตนผิดปกติ หลักการรักษาคือ

๑. จิตบำบัดอย่างลึก (intensive psychoanalytically oriented psychotherapy)

๒. จิตบำบัดเฉพาะตัว (individual therapy) การรักษาจะมุ่งเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดปกติมากกว่าจะมุ่งที่ความขัดแย้งภายในจิตใจ

๓. จิตบำบัดกลุ่ม

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า