สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อผู้ที่มีปัญหาในระบบประสาทและนักกีฬา

การนวดผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง
จากการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง จำนวน 20 คน ของดีโก และคณะ(Diego, M.A., et. al., 2002: 133-142) โดยใช้การนวดเพื่อให้ทราบผลถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อร่างกายส่วนบน ความเคลื่อนไหวของข้อ และความซึมเศร้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มกึ่งทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใน 5 สัปดาห์ กลุ่มทดลองจะได้รับการนวดครั้งละ 40 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และกลุ่มควบคุมจะมีการเคลื่อนไหวรอบข้อแขน คอ ไหล่ และหลังเพื่อออกกำลังกาย โดยทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 5 สัปดาห์ พบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะได้รับประโยชน์เช่นกัน แต่กลุ่มที่ได้รับการนวดจะดีกว่าในกลุ่มควบควบทั้งในเรื่องความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการหมุนของข้อมืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการนวดในผู้ป่วยสมองพิการ
จากการศึกษาในเด็กสมองพิการที่คัดเลือกมาจากโครงการบำบัดในระยะเริ่มแรกจำนวน 20 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 32 เดือน ของเฮอร์แนนเดซริฟ และคณะ(Hernandez-Reif, et. al., 1998:7-9) เกี่ยวกับการนวดว่าจะมีผลต่อการลดอาการผิดปกติได้หรือไม่ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะใช้เวลาในการนวด 30 นาที 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ พบว่า การกระตุกและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายและที่มือของเด็กที่ได้รับการนวดจะลดลง สมองมีการสั่งให้ทำงานแบบละเอียดและหยาบดีขึ้น มีพัฒนาการในด้านความจำ การเข้าสังคม และสามารถแต่งกายได้ดีขึ้น การสั่นของแขนขาน้อยลง มีการแสดงออกทางใบหน้าดีขึ้น ดังนั้น การนวดจึงช่วยให้เด็กที่มีภาวะสมองพิการลดอาการผิดปกติทางกาย และทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

การนวดนักกีฬา
การนวดแบบลึกหรือการกดลงลึกๆ แบบถูกต้องในนักกีฬานั้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เลือดมีการไหลเวียนที่ดี การไหลเวียนของน้ำเหลืองมีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยกำจัดกรดแลกติกที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อที่เกิดจากการขาดออกซิเจนในขณะออกกำลังกาย โดยเลือดที่มีออกซิเจนจะผลักดันออกมา เมื่อเนื้อเยื่อมีออกซิเจนเกิดขึ้นจากการกำจัดของเสียได้รวดเร็ว อาการเมื่อยล้าต่างๆ ก็จะหายไป และในนักกีฬาที่มีเส้นใยกล้ามเนื้อแข็งตัวจากการที่เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ ทำให้ระหว่างเส้นใยเกิดแผลเป็นขึ้น จึงเคลื่อนไหวได้น้อยลง บริเวณนั้นมีเลือดไหลเวียนมาได้น้อยลง ทำให้ได้รับออกซิเจนและสารอาหารลดลง การนวดตามแนวขวางเส้นใยกล้ามเนื้อโดยการกดลึกๆ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและแผ่กระจายเนื้อเยื่อ เส้นใยกล้ามเนื้อมีการคลายปมทำให้เรียบขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายจากความเจ็บปวดโดยไม่ต้องใช้ยา

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า