สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ธาตุสมุฏฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

1. ธาตุสมุฏฐาน เป็นธาตุที่ตั้งของการเกิดโรค มีดังนี้
-สมุฏฐานเตโชธาตุพิกัดนั้น เป็นที่ตั้งแห่ง จตุกาลเตโช ซึ่งจะวิปริต เป็นชาติ เป็นจลนะ เป็นภินนะ ก็อาศัยแห่งพัทธะปิตตะ อพัทธปิตตะ ซึ่งกำเดาทั้ง 3 นี้ เป็นเหตุในกองเตโชธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

-สมุฏฐานวาโยธาตุพิกัดนั้น เป็นที่ตั้งแห่ง ฉกาลวาโย ซึ่งจะวิปริต เป็นชาติ จลนะ ภินนะ ก็อาศัยแห่ง หทัย วาตะ สัตถกะวาต ซึ่งสุมนาทั้ง 3 นี้ เป็นเหตุในกองวาโยธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

-สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดนั้น เป็นที่ตั้งแห่ง ทวาทศอาโป ซึ่งจะวิปริตเป็น ชาติ จลนะ ภินนะ ก็อาศัยแห่งศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะทั้ง 3 นี้ เป็นเหตุในกองอาโปธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

-สมุฏฐานปถวีธาตุพิกัดนั้น เป็นที่ตั้งแห่ง วีสติปถวี ซึ่งจะวิปริตเป็น ชาติ จลนะ ภินนะ ก็อาศัยแห่ง หทัยวัตถุ อุทริยะ กรีสะทั้ง 3 นี้ เป็นเหตุในกองปถวีธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง

2. ความเชื่อมโยงของแหล่งกำเนิดโรคในการแพทย์แผนไทย
ในการแพทย์แผนไทยได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงกายวิภาค และสรีรวิทยาของแหล่งกำเนิดโรค คือ ภาคนามธรรม กับรูปธรรม คนโบราณจะรู้จักโครงสร้างของร่างกายที่เป็นตัวรูปธรรมได้ดีทีเดียว และได้อธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ไว้ตามลำดับดังนี้

ธาตุดิน เป็นที่ตั้งแห่งกองธาตุ หรือกองโรค ดินจึงเปรียบเสมือนโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ที่เป็นของแข็ง มีความคงรูปและจับต้องได้ เช่น ระบบโครงสร้าง ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ ระบบการไหลเวียน

ธาตุน้ำ จะเป็นของเหลวในร่างกาย ที่สามารถไหลได้ ซึมซัมในสรีระได้ เช่น น้ำย่อย น้ำเลือด น้ำดี

ธาตุลม เป็นพลังการเคลื่อนไหวที่พยุงธาตุไว้ เช่น การทำงานของระบบสมองและประสาทต่างๆ

ธาตุไฟ เป็นความร้อนที่เผาผลาญสิ่งที่ให้พลังงานให้ขับเคลื่อนไปได้

ธาตุทั้ง 4 ต่างก็ต้องมีความเกี่ยวข้องกัน ธาตุดินก็ต้องอาศัยธาตุน้ำ เช่น ในตับย่อมมีน้ำเลือด ในข้อมีน้ำ และเลือดก็ต้องอาศัยพลังแห่งลมให้มีการเคลื่อนไหวขับเคลื่อนไป เช่น การเต้นของหัวใจหทัยวาตะ ที่ต้องอาศัยหทัยวัตถุ เป็นต้น

โบราณว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ดี จะถูกควบคุมอยู่ด้วย กำเดา สุมนา และคูถเสมหะ และกรีสะ ซึ่งมีตัวคุมธาตุทั้ง 4 ที่สำคัญ ได้แก่

หทัยวัตถุ เป็นที่ตั้งแห่งดวงจิต อยู่ที่หัวใจ ซึ่งน่าจะเป็นพวกปมประสาทที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ

อุทริยะ เป็นอาหารที่กินเข้าไปใหม่ ซึ่งต้องกินให้ถูกต้องและเพียงพอ ปัจจุบันยังมีโรคที่มักเรียกกันในชุมชนว่า กินผิด

กรีสะ เป็นอาหารเก่าหรืออุจจาระ สีของอุจจาระที่ผิดปกติจะบอกได้ว่าธาตุไม่มีความสมดุล ซึ่งจะมีบรรยายไว้อย่างละเอียดในคัมภีร์ชื่อ อุจจารธาตุ การตรวจอุจจาระของแพทย์แผนปัจจุบันสามารถบอกโรคได้มากมาย เช่น เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พยาธิต่างๆ โบราณว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่กรีสะ ธาตุดินทั้งสามคุมดินทั้ง 20 วีสติปัถวีธาตุ

ศอเสมหะ เป็นน้ำที่อยู่ตั้งแต่ช่วงบนของคอขึ้นไป มักเรียกกันสับสนคือ
เสลด เป็นน้ำเมือก น้ำมูก ที่หลั่งในหลอดลม เนื่องจากการระคายเคือง การติดเชื้อ เมื่อสั่งหรือขากจากคอเรียกว่า เสลด ส่วนความหมายของเสมหะจะกว้างกว่า คือ เป็นน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำเลือด น้ำลาย น้ำเหลือง รวมถึงน้ำที่อยู่ภายในเซลล์และนอกเซลล์

ศอเสมหะอาจรวมถึงน้ำในสมองด้วย

อุระเสมหะ เป็นของเหลวที่อยู่บริเวณกลางตัว ได้แก่ น้ำเมือกในหลอดลม ถุงลม น้ำเลือดในหัวใจ น้ำย่อยในกระเพาะ ในตับอ่อน น้ำดี น้ำเหลือง

คูถเสมหะ เป็นน้ำทั้งหมดที่อยู่ในช่วงล่าง ได้แก่ น้ำในลำไส้ น้ำปัสสาวะ น้ำในอุจจาระ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำเมือกในช่องคลอด โบราณว่าคูถเสมหะเป็นใหญ่กว่าทั้งมวล สุขภาพจะดีหรือไม่ดีจะมีน้ำทั้งสามคุมน้ำทั้ง 12 ทวาทศอาโป อยู่

พัทธะ เป็นดีที่อยู่ในถุงน้ำดี เป็นตัวคุมธาตุไฟ น้ำดีจะช่วยย่อยไขมัน หน้าที่สำคัญจะอยู่ในลำไส้เล็ก ถ้าถุงน้ำดีอุดตันจะทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองได้ มีโรคที่เกี่ยวกับน้ำดีในสมัยโบราณ เรียกว่า ดีล้น ดีพลุ่ง ดีรั่ว ดีแตก ซึ่งจะมีอาการทางสมองเป็นส่วนใหญ่ อาการจะคล้ายกับตับวาย

อพัทธะ เป็นน้ำดีที่อยู่นอกถุงน้ำดี ที่หลั่งออกมาทำหน้าที่ในลำไส้ ในเลือด และอาจรวมถึงน้ำย่อยหรือเอนไซม์ด้วย

กำเดา เป็นเปลวความร้อน เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมความร้อนในร่างกาย จะมีผลกระทบต่ออวัยวะทั้งหมดถ้าในร่างกายมีความร้อนสูงมาก เช่น อาจมีเลือดออกตามผิวหนัง ทวารหนัก ทวารเบา หรือทางจมูกที่เรียกว่ากันว่า เลือดกำเดา โบราณว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ดีก็ด้วยกำเดา ไฟทั้งสามคุมไฟปกติทั้ง 4 จตุกาลเตโช

หทัยวาตะ เป็นการเต้นของหัวใจ ที่อาศัยหทัยวัตถุที่ตั้งอยู่บนก้อนหัวใจ เป็นธาตุดิน โบราณเชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งดวงจิตอยู่ที่หัวใจ อาการทางจิต ตกใจ เสียใจ กังวล ก็ล้วนแต่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ

สัตถกวาตะ เป็นลมที่ทำให้เจ็บปวดเหมือนเอาอาวุธมาทิ่มแทง ถ้าเปรียบกับความเจ็บปวดในปัจจุบันก็คือ การเจ็บปวดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้น ๆ เช่น สมอง ปลายแขน หัวใจ หรือปลายประสาทอักเสบ

สุมนา เป็นลมที่อยู่กลางตัว เมื่อสุมนาผิดปกติจะมีอาการทางสมอง หมดสติ ลิ้นกระด้างคางแข็ง อาจคล้ายอาการโรคหัวใจ หรือระบบอัตโนมัติแปรปรวน โบราณว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ดีก็ด้วยสุมนา ลมทั้งสามจะคุมลมปกติทั้ง 6 กาลวาโย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า