สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เมื่อท่านเเพ้อาหารจะดูเเลตนเองอย่างไร

ในชีวิตประจำวันบางคนเคยประสบกับภาวะแพ้อาหาร บางคนอาจมีญาติผู้ใกล้ชิดประสบกับปัญหานี้ อาการแพ้อาหารมีมากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบภูมิต้านทานของแต่ละบุคคล ส่วนประกอบและคุณสมบัติของอาหาร และ ปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป เมื่อแพ้อาหารจะมีอาการอย่างไร เมื่อท่านแพ้อาหารอาจทำให้มีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด        และอาการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ

ดังรายละเอียดที่จะพูดต่อไป ดังนี้

1.  อาการเฉียบพลัน            หรืออาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด อาการแพ้อาหารแบบ เฉียบพลันจะปรากฏภายหลังรับประทานอาหาร 2 – 3 นาทีถึง 1 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้เฉียบพลันที่พบส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการคันในลำคอ – ปาก – จมูกและตา ปากบวม ลิ้นบวม หนังตาบวม ลมพิษพุพองทั่วตัว บางคนอาจมีคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียในรายที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง จะทำให้มีการบวมของทางเดินหายใจ กล่องเสียงและหลอดลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ตัวเล็บมือเล็บเท้าเขียว หมดสติช็อค เป็นต้น เมื่อพบผู้มีอาการแพ้อาหารในระยะเฉียบพลันจะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที  เพราะถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจจะทำให้สูญเสียชีวิตได้

2.  อาการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ           เป็นอาการที่เกิดขึ้นภายหลังรับประทานอาหารเข้าไปนานเกินกว่า 1 – 24 ชั่วโมง อาการที่พบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง ลมพิษ – พุพองตามผิวหนัง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หงุดหงิด บางคนนอนหลับมากกว่าปกติ ซึ่งอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างช้าๆ ได้แก่ นม ไข่ ข้าวสาลี เป็นต้น

ตัวอย่าง “การแพ้ผงชูรส” ผู้ที่แพ้ผงชูรสมักจะปรากฏอาการแพ้หลังกินผงชูรสเข้าไป 1-14 ชั่วโมง ซึ่งอาการแพ้ผงชูรส ได้แก่ ชาบริเวณลิ้น ปาก ร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า ผิวหนัง คลื่นไล้อาเจียน หน้าแดง ปวดท้อง กระหายนํ้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และบางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอาการที่เกิดจากการแพ้อาหารจะมีอาการแตกต่างกันไป ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้อาหารแต่ละชนิด และวิธีการให้การช่วยเหลือผู้แพ้อาหารอย่างเหมาะสม

เมื่อท่านพบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหารท่านจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ประการที่ 1 ต้องทราบว่ารับประทานอาหารอะไรเข้าไป แพ้อาหารอะไรปริมาณอาหารและระยะเวลาที่รับประทานอาหารเข้าไป

ประการที่ 2 พยายามทำให้ปริมาณพิษของอาหารลดน้อยลงโดยใช้นิ้วมือ ล้วงเข้าในลำคอ เพื่อให้อาเจียนออก ในรายที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ดื่มนํ้า มากๆ เพราะนํ้าช่วยขับพิษออกทางปัสสาวะ

ประการที่ 3 ถ้ามีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ค่อยออกต้องรีบนำส่ง โรงพยาบาลทันที

เพื่อป้องกันการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ดังนั้นผู้ที่เคยแพ้อาหารจึงควรรู้จักในการดูแลตนเองดังนี้

1 .พึงระลึกเสมอว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใด พร้อมหลีกเลี่ยงการรับประทาน อาหารชนิดนั้นๆ

2.  สังเกตลักษณะอาการแพ้ที่ปรากฏขึ้นว่ามีอะไรบ้าง เช่น ผื่นขึ้นตาม ผิวหนัง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ฯลฯ

3.  ถ้ามีประวัติการแพ้อาหารง่าย   ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแพทย์จะได้ทำการ ทดสอบให้ทราบแน่ชัดว่าแพ้อาหารประเภทใดบ้าง           หลีกเลี่ยงการรับประทานชนิดนั้นๆ

4.  ในกรณีที่มีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง            ควรแจ้งให้ผู้ใกล้ชิดทราบและทำบัตรประวัติการแพ้อาหารพกติดกระเป๋า เพราะถ้าปรากฏอาการผู้ใกล้ชิดหรือผู้พบเห็นจะได้ให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

5.  ในกรณีที่ผู้แพ้อาหารเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่และผู้ปกครองควรให้การดูแล และระมัดระวังเป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

จะเห็นได้ว่าการเข้าใจถึงสาเหตุอาการ และการแก้ไขปัญหา การแพ้อาหาร จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลตนเองและผู้ใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี

อารีรัตน์  สังวรวงษ์พนา

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า