สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ซางที่มีความรุนแรงในเด็ก

ซาง
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า เป็นโรคในเด็กเล็กชนิดหนึ่ง ที่ทำให้มีเม็ดขึ้นในปากและคอ มีฝ้าที่ลิ้น ทำให้มีอาการต่างๆ ขึ้น เช่น ไม่กินนม เบื่ออาหาร ปวดหัว ตัวร้อน และมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป

โรคประจำตัวเด็กที่เรียกว่า ซาง จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามวันที่เกิด เรียกว่า ซางเจ้าเรือน จะใช้ยาระบายล้างลำไส้ภายในเป็นหลักในการรักษา เพื่อไม่ให้ซางเกิดขึ้น แล้วตามด้วยยาล้างนอกลำไส้ และยาประสะกะเพราต่อไป

การสังเกตการเกิดซาง
กุมารทั้งหลายเอากำเนิดใน 15 วันก็ดี 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือนก็ดี แต่เดือน 1 เกิดเป็นเขม่าตานซาง เลือดกระสายเอ็นทั้ง 37 จึงเกิดซาง 9 จำพวก จำพวกเกิดขึ้นภายในย่อมกินไส้พุงตับปอดแลหัวใจนั้นก็มี

โบราณจะใช้การสังเกตพบว่าในปากและลิ้นของทารกมีตุ่มเป็นยอด เป็นดวง มีหลายรูปแบบที่วาดไว้ในคัมภีร์ ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ซางฝ้าย ซางขุม ซางข้าวเปลือก ซางน้ำ ซางควาย ซางม้า ซางช้าง ซางโจร ซางเพลิง มักทำให้เกิดอาการกับระบบทางเดินอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงตาย ซางควายถ้าดำถึง 12 วันตาย ซางม้า ครั้นถึง 2 วันก็ติดกันเข้ามีสีดำเขียวร้ายนัก ซางไฟถ้าขึ้นกลางลิ้นนั้นริมแดงร้ายนัก ครั้นก็ตกโลหิตตาย

ลักษณะการเกิดซาง 3 ประการ
ในพระคัมภีร์ประถมจินดาผูก 3 ปริจเฉท 1 กล่าวว่า
กุมารกุมารีก็ดี เกิดมาแล้วก็จะเป็นที่ตั้งแห่งพยาธิต่างๆ ซางเกิดแก่กุมารกุมารีนั้น มีลักษณะ 3 ประการ ก็แจกออกเป็น 14 ประการด้วยกันดังนี้

อันว่าลักษณะ 3 ประการนั้นคือ
1. ซางกำเนิดจรแม่ซื้อเป็น 3 ประการ ซางเจ็ดวันเป็นซางกำเนิด ซางจรแทรกอีก 7 จำพวกเข้ากันเป็น 14 จำพวกดังนี้

2. อันว่าลักษณะแม่ซื้อนั้นเล่า คือแม่ซื้อกำเนิด 7 จำพวก แม่ซื้อจรอีก 24 จำพวกเข้ากันเป็น 31 จำพวกด้วยกันดังนี้

3. ลักษณะสะพั้นนั้นเล่าคือสะพั้นกำเนิดนั้น 12 จำพวก สะพั้นจรราหู 7 จำพวกเข้ากันเป็น 19 จำพวกด้วยกันดังนี้

ลักษณะจุดอ่อนเฉพาะตัวตามวันเกิดนั้นโบราณเชื่อว่า ที่จริงแล้วเกิดมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่แตกเป็นปัญจสาขา เม็ดยอดต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่ทราบว่าสังเกตได้อย่างไร หรืออาจจะสังเกตเมื่อแท้งออกมาก็เป็นได้ ว่าถ้าข้างขึ้นจะตั้งเหนือสะดือ และถ้าข้างแรมจะตั้งใต้สะดือ หากเป็นหญิงก็ตั้งข้างซ้าย ชายตั้งข้างขวา เกิดขึ้นมาจนถึงกำหนดคลอด หากต้องการทราบว่าเป็นซางชนิดใดก็ให้สังเกตอาการของมารดา

หละ หมายถึง บริเวณเพดานในปากจะมีตุ่มแข็งๆ เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการอุดตันของต่อมเมือก เด็กจะดูดนมไม่ได้เพราะเจ็บปาก คนโบราณมักใช้ยากวาดปาก หมอบางคนในอดีตอาจใช้เข็มบ่งที่ไม่สะอาดจึงทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นบาดทะยักได้ แต่หละในพจนานุกรมมีความหมายว่า เป็นโรคของเด็กอ่อน เกิดจากการติดเชื้อที่สะดือ ทำให้มีอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง แต่ตามคัมภีร์จะมีความหมายแตกต่างกันมากคือ เป็นโรคที่เกิดขึ้นในปากของเด็กอ่อน มีลักษณะเป็นตุ่มย่อมสีต่างๆ เช่น อุทัยกาล ละอองพระบาท แสงพระจันทร์ ฝอยไฝ นิลกาล นิลไฟ นิลเพชร คล้ายอาการติดเชื้อที่มีตุ่มยอดในปากเป็นสีแดง เหลือง เขียว ดำ บางชนิดอาจทำให้มีอาการชัก ตาเหลือง ท้องเดิน

ซางประจำวันเกิด
เมื่อปฏิสนธิขึ้นวันใด โบราณเชื่อว่าซางจะเกิดขึ้นวันนั้น เช่น ปฏิสนธิในวันอาทิตย์ ซางก็จะเกิดในวันอาทิตย์ และสุขภาพจะมีจุดอ่อนที่สังเกตได้ ซึ่งบอกว่าจะเป็นเขม่าก่อน แล้วจึงเกิดซางตามวันเกิดแบบต่างๆ ขึ้น ซางมีทั้งชนิดที่เป็นซางเจ้าเรือน และที่เป็นซางจรมาแทรก และโรคอื่นที่เกิดขึ้นอีก เช่น ในช่วง 5 ปีแรกในวัยเด็กเล็กมักจะเป็นหละและละอองในปากและคอ เมื่อเลย 5 ขวบขึ้นไป เด็กจะโตขึ้นจนสามารถเดินไปหยิบสิ่งของที่มีเชื้อโรคเข้ามาในปากได้ จึงเกิดโรคที่เรียกว่า ตานโจร ซึ่งจะไม่มีลักษณะเฉพาะเหมือนในวัยเด็กเล็ก จะถือเอาอาการแน่นอนไม่ได้ โบราณจึงใช้คำว่า เดี๋ยวโรคนั้นก็โจนมา เดี๋ยวโรคนี้ก็โจนมา จึงเรียกกันว่า ตานโจร แสดงว่าเชื้อโรคต่างๆ ที่เรียกว่า กิมิชาติ 80 โบราณก็รู้ดี และเชื้อโรคเหล่านี้ยังมีการตั้งชื่ออีกด้วย หากพ้นกำหนดซาง ตาน และรอดชีวิตมาได้ ก็จะมีปัญหาเรื่อง ริดสีดวง และจะเป็นกษัยต่อไปเมื่ออายุมากขึ้น

ซางเจ้าเรือนและแม่ซื้อประจำวัน
1. ซางไฟ
ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ จะมีซางไฟเป็นเจ้าเรือน มีแม่ซื้อชื่อ วิจิตร์นาวัน เมื่อมารดาตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนจะมีอาการเป็นพรรดึกขัดเบาๆ เป็นโลหิตและมักจุกเสียดเอ็น ให้ชัก มือสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ผอมเหลือง ไม่มีแรง ให้ขัดที่หัวเหน่าและท้องน้อย ให้สลักตะคาดเจ็บตะโพก และให้อยากของหวานเป็นกำลัง

ลักษณะซางไฟเจ้าเรือน
มีซางกรายเป็นซางจร หละชื่ออุทัยกาล ละอองเปลวไฟฟ้า
หากมีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ เจ็บตามเนื้อตัว ไม่กินข้าวกินนม ถ้าอาการหนัก จะมีสีดำกลางลิ้น ขอบลิ้นเป็นสีแดง หากมีเลือดออกอาจทำให้ถึงตาย จะมีตุ่มพองเหมือนไฟลวก เป็นถุงหนอง ที่ผิวหนังบริเวณท้อง เข่า แข้ง มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารทำให้ถ่ายเป็นมูก เลือด เป็นหนอง อาเจียน ตับโต

เมื่อสังเกตจากการตั้งชื่อซาง การมีซางแทรก การมีซางจร จึงรู้ว่าโบราณมีความเชื่อเรื่องมหาทักษา คือ เมื่อเกิดมาวันใดจะมีดาวที่เป็นเจ้าเรือนเสวยอายุ และดาวถัดไปจะแทรกอยู่ ซึ่งอิทธิพลของแต่ละดาวจะมีผลต่อการเกิดโรค และมีเวลากำหนดแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

อาการติดเชื้อทางผิวหนังของโรคซางไฟก็คงเป็นอาการที่มีถุงหนอง สแต็ฟฟิโลค็อกคัส สเตร็ปโตค็อกคัส และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเนื่องจากมีอาการท้องเดินเป็นมูกเลือด อาการเลือดเป็นพิษอาจทำให้เด็กตายได้เพราะความต้านทานมีต่ำ มียาอยู่หลายขนานที่โบราณว่าเมื่อใช้แล้วจะหายดีนักแล เช่น ยาทา ยาชโลมแก้พิษ ยากินแก้สารพัดพิษ จึงควรให้ความสนใจศึกษาตำรับยานี้ต่อไป

2. ซางน้ำ
ถ้ากุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาวันจันทร์ กำเนิดซางน้ำเป็นเจ้าเรือน อันว่ามารดาตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนนั้น มารดามักปวดศีรษะแลเจ็บนม แล้วให้อยากของอันหวานแลให้เมื่อยแขนทั้ง 2 ข้าง ให้หูหนักตาฟาง มักเป็นลมให้มึนให้ตึง แลให้รากให้กระหายน้ำเป็นกำลังไปจนกำหนดคลอด

อาการของซางน้ำไม่ค่อยหนักมาก อาการมักแสดงออกทางผิวหนังคล้ายกับการติดเชื้อ ทำให้ผิวหนังมีสีม่วงออกดำ

ลักษณะซางน้ำเป็นเจ้าเรือน
จะมีซางฝ้ายเป็นซางจร มีหละชื่อแสงพระจันทร์ ละอองแก้ววิเชียร
หากมีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ ท้องโต กินนมกินข้าวได้มาก อาการไม่หนักถึงตาย ทำให้มีผื่นสีแดงที่ผิวหนังเท่าใบพุทรา มักขึ้นบริเวณหลัง ราวคาง แขน กลางทรวงอก มีซางจรซางฝ้ายทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติมีอาการถ่ายเหม็นเน่า

3. ซางแดง
ถ้ากุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาวันอังคาร กำเนิดซางแดงเป็นเจ้าเรือน เมื่อมารดาตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนนั้น ให้มารดาเกิดเป็นลมจุกเสียด ให้วิงเวียน ให้หอบพัก แลราก ให้เชื่อมมึนเป็นกำลัง ให้มือแลเท้าบวม แลให้นอนมิหลับ

ลักษณะซางแดงเป็นเจ้าเรือน
จะมีซางกระแหนะเป็นซางจร มีหละชื่ออุทัยกาล ละอองแก้วมรกต ลมอุทรวาต

หากมีอาการเล็กน้อย จะทำให้มีอาการไข้ กินอาหารและนมได้ ให้หลับตาบิดตัว ถอนใจใหญ่ ถ้าอาการหนัก ทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นหนอง ที่ผิวหนังบริเวณกระหม่อม สันหลัง คอ คาง ขาหนีบ และรักแร้จะมีตุ่มสีแดง มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด ปัสสาวะและอุจจาระติดขัด

ซางแดงอาจทำให้ถึงตายได้ เพราะมีความร้ายแรงเหมือนซางไฟ เกิดขึ้นได้กับหลายๆ ระบบ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้อาเจียนถ่ายเป็นมูกเลือดเป็นอาการสำคัญ อาจเป็นวัณโรคหรือทีบี ในสมัยโบราณมียาอยู่หลายตำรับที่ควรจะศึกษาเอาไว้ เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ

4. ซางสะกอ
ถ้ากุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดานั้นวันพุธ กำเนิดซางสะกอเป็นเจ้าเรือน เมื่อมารดาตั้งครรภ์ขึ้นได้ 3 เดือนนั้น มารดามักให้จุกเสียด ครั้นได้ 5 เดือนมักให้ราก ครั้น 7 เดือนมักบวมเท้าถึงต้นขา ให้ขัดตะโพกทั้งสอง กินอาหารมักให้ขมให้พรึงเป็นเม็ดขึ้นทวารหนักทวารเบา ให้เมื่อยไปทั้งตัวจนถึงกำหนดคลอด

ลักษณะซางสะกอ
จะมีซางกระตังเป็นซางจร มีหละชื่อเนียรกันถี และนิลเพลิง ละอองแสงเพลิง ลมสุนทรวาต

ถ้ามีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ ให้หลับตาบิดตัวถอนใจใหญ่ แต่กินข้าวและนมได้ หากมีอาการหนักจะทำให้ถ่าย อาเจียน เชื่อมมึน ระส่ำระสาย ลงท้อง ตกมูกเลือด ที่ผิวหนังบริเวณรอบสะดือ ทวารหนัก ทวารเบา กระหม่อม หลัง และเหงือกจะมีตุ่มยอดขึ้นมา มีความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปัสสาวะอุจจาระติดขัด ให้ถ่ายและอาเจียน ท้องขึ้น หลังแข็ง ตกมูกเลือด ตัวเหลือง ผอมแห้ง อาเจียนเป็นลมออกมา

อาการของซางชนิดนี้จะเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เพราะมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดเป็นหนอง มีไข้ มีอาการติดเชื้อ และอาการอื่นๆ เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง และตับอาจมีการอักเสบร่วมด้วย หากวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้องแม้จะได้รับการรักษาก็อาจทำให้ถึงตายได้

5. ซางวัว(ซางโค)
กุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาในวันพฤหัสบดี กำเนินซางวัวเป็นเจ้าเรือน เมื่อมารดาตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน มักให้มารดาปากเปื่อยแลลิ้นเป็นยอดขึ้นมาริมลิ้นข้างละ 5-6 ยอด แลให้กินเผ็ดกินร้อนมิได้ ครั้นได้ 6 เดือนก็ลามออกมากลางลิ้นและแตกระแหง ให้ปวดแสบเป็นกำลัง ให้เป็นบิดตกมูกตกโลหิต ถ้าถึงกำหนดคลอดและคลอดแล้วจึงหาย ซางโคเป็นซางที่ไม่ร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ทำให้ถึงตาย

ลักษณะซางโคเป็นเจ้าเรือน
มีซางข้าวเปลือกเป็นซางจร มีหละชื่อนิลกาล ละอองมหาเมฆ ลมหัศคีนี

ถ้ามีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ เจ็บตามเนื้อตัว สะอึก หายใจติดขัด ตัวแดง หน้าสาก หากอาการหนักจะทำให้ทั้งถ่ายและอาเจียน ตกมูกเลือด ตามตัวจะมีผดผื่นขึ้น ที่ต้นลิ้นและข้างลิ้นสองข้างจะมีตุ่มยอดขึ้น ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย ทำให้ไอ เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียน และถ่ายเป็นมูกเลือด

6. ซางช้าง
ถ้ากุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาในวันศุกร์ มีกำเนิดซางช้างเป็นเจ้าเรือน เมื่อมารดามีครรภ์ได้ 3 เดือน ให้ทวารเบานั้นพรึงดังยอดผดแล้วให้คัน ครั้นเมื่อแตกออกก็เปื่อยลามเป็นน้ำเหลืองรอบทวาร และให้ปวดหัวเหน่าเป็นกำลัง ให้เจ็บสองตะคากให้ขัดเบา ครั้นได้ 4 เดือน 5 เดือน 6 เดือน 7 เดือน ให้จุกเสียด ครั้นได้ 8 เดือน 9 เดือน ให้บวมเท้าไปจนถึงกำหนดคลอด

ลักษณะซางช้างเป็นเจ้าเรือน
มีซางกระดูกเป็นซางจร มีหละชื่อแสงพระจันทร์ ไม่มีละออง ลมอริต
หากมีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ เจ็บที่มือและเท้า ให้อมมือ กินนมกินข้าวไม่ได้ และกัดนมแม่ ถ้าอาการหนักจะทำให้ไอ อาเจียนเป็นลมเปล่าๆ เจ็บคอ คอบวม รอบๆ คอจะเปื่อยเน่า กินนมกินข้าวไม่ได้ ท้องผูก ถ้าขึ้นที่หัวเหน่า ขัดเบา เมื่อเดินย่าง ถ่ายเป็นมูกเลือด ลักษณะผิวหนังบริเวณท้องถึงอก คอ ลิ้น ปาก เท้า หัวเหน่า ชายโครง จะมีเม็ดยอดขึ้น รอบคอจะเปื่อยเน่า พุพอง คันไปทั้งตัว ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ มักอาเจียนเป็นลมเปล่าๆ รู้สึกกระหายน้ำ ขัดเบา เป็นพรรดึก ถ่าวเป็นมูกเลือด

อาการทางผิวหนังของซางชนิดนี้จะมากกว่าชนิดอื่นๆ มักทำให้เกิดแผลเปื่อย พุพอง ท้องป่อง ตับโต ถ่ายเป็นมูกเลือด มีอาการร้ายแรง หากใช้ยาและรักษาได้ถูกต้องก็ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต

7. ซางขโมย หรือซางโจร
กุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาวันเสาร์นั้น มีกำเนิดซางขโมยเป็นเจ้าเรือน เมื่อมารดามีครรภ์ได้ 3 เดือนนั้น มักทำให้มารดาอยากของอันคาว แลไข่เป็ดไข่ไก่ไข่เต่า แลของอันเผ็ดร้อนแลเปรี้ยวหวาน ผักพล่าปลายำทั้งปวง แลให้สวิงสวาย มักให้เจ็บนม แลปากมารดานั้นให้พรึงขึ้นแล้วก็เป็นลำลาบเปื่อยออกไป ให้ตกมูกตกโลหิต แลให้เจ็บคอเจ็บเอวเป็นกำลัง จนถึงกำหนดคลอดจากครรภ์มารดา

ลักษณะซางขโมยเป็นเจ้าเรือน
มีซางนางริ้นเป็นซางจร มีหละชื่อมหานิลกาล ละอองเปลวไฟฟ้า ทับทิม ลมกุมภัณฑ์ และลมบาดทะยัก

ถ้ามีอาการเล็กน้อยจะทำให้มีไข้ กินข้าวกินนมได้ รู้สึกเสียดแทงไปทั้งตัว หากอาการหนักก็จะทำให้ถ่ายเป็นน้ำไข่เน่า เหมือนน้ำล้างปลาล้างเนื้อ ถ่ายเป็นมูกเลือด ผิวหนังเป็นเกล็ดแห้ง ตาเสีย ผิวหนังบริเวณสันหลัง กระหม่อม ปาก ลิ้นจะมีเม็ดยอดเหมือนข้าวสารหัก ที่หัวจะเป็นสีเหลืองขอบสีแดง ทำให้ตัวลายเหมือนปลากระทิง มีแผลเปื่อยเป็นขุมไปทั้งตัว ปากและคอเปื่อย ปากแตก ผิวหนังเป็นเกล็ดเหมือนงู มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร มีพยาธิไส้เดือน เส้นด้าย ในลำไส้ ทำให้ท้องเดิน อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า หรือน้ำคาวปลาน้ำล้างเนื้อ ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียนเป็นลมเปล่าๆ อยากกินของแสลง ของคาว กินได้มาก ถ่ายท้องจนแสบทวาร เจ็บหัวเหน่า ปวดมวน มีดากโผล่ออกมา

ซางชนิดนี้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีความร้ายแรง ที่ทำให้ถึงตายอาจเพราะการขาดอาหาร ขาดน้ำและเกลือแร่และวิตามินจากการถ่ายและอาเจียน และอาจทำให้ตาบอด เกิดความผิดปกติที่ผิวหนัง แต่ในสมัยโบราณก็สามารถใช้ยาต่างๆ รักษาได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า