สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความไม่สุขสบายในหญิงตั้งครรภ์

ในระยะตั้งครรภ์ร่างกายเกือบทุกระบบจะมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ทำให้ตลอดอายุครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความไม่สุขสบายขึ้น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ร่างกายอาจเกิดความผิดปกติได้ถ้ามีการละเลย

ตลอดระยะการตั้งครรภ์ สามารถจำแนกความไม่สุขสบายที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดังต่อไปนี้

คลื่นไส้ อาเจียน(Morning Sickness)
เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ หรือมีอายุครรภ์ประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการส่วนใหญ่ก็จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรืออยากกินของแปลกๆ หรืออาหารรสจัดในบางราย แต่เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 12-16 สัปดาห์อาการนี้ก็จะหายไป ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจึงทำให้อาหารผ่านไปสู่กระเพาะช้า และหญิงมีครรภ์มีความวิตกกังวล เช่น กลัวการคลอดหรือปัญหาครอบครัว หรือไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ แต่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่นอน

มีน้ำลายมาก(Salivation)
เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีเพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดจากภาวะจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ไม่สามารถกลืนหรือบ้วนทิ้งไปได้

เหงือกอักเสบ(Gingivitis)
เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้น ทำให้มีการคั่งของโลหิตมีมากขึ้น อาจทำให้เลือดออกได้ง่าย

ร้อนในอก(Heart burn)
มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้ระบบทางเดินอาหารมีการย่อยลดลง ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดในกระเพาะอาหาร ทำให้มีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหาร ทำให้บริเวณยอดอกและลำคอมีอาการแสบร้อน

ท้องผูก(Constipation)
เนื่องจากลำไส้ถูกกดด้วยมดลูกที่มีขนาดโตขึ้น ทำให้การเคลื่อนที่ของกากอาหารทำได้ลำบาก และกระเพาะอาหาร ลำไส้ ก็เคลื่อนไหวได้ช้าลงจากระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น

ริดสีดวงทวาร(Hemorrhoids)
เกิดจากเลือดมีการไหลเวียนที่ไม่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น และการขยายใหญ่ของมดลูกจนไปกดเส้นเลือดดำ เมื่อมีอุจจาระแข็งจากอาการท้องผูกก็จะทำให้มีเลือดสดๆ ออกมากับอุจจาระ เนื่องจากเกิดการฉีดขาดของเส้นโลหิตที่โป่งพอง

ใจสั่น เป็นลม
เกิดจากเลือดมีการไหลเวียนไปยังสมองได้ไม่ดี เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด หรือจากการเปลี่ยนอิริยาบถในท่าต่างๆ เร็วเกินไป

เป็นลมเนื่องจากนอนหงาย
เกิดจากเลือดไหลเวียนไปสู่หัวใจได้ไม่ดี จากมดลูกที่ไปกดเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจเมื่อนอนหงาย

หายใจตื้นและลำบาก

เมื่อมดลูกโตขึ้น ทำให้การขยายตัวของกระบังลมทำได้ไม่เต็มที่ หรือมีความไวเพิ่มมากขึ้นต่อการกระตุ้น

ตะคริว
เกิดจากระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัสมีการเสียสมดุล ทำให้ในกระแสเลือดมีแคลเซียมน้อย หรือเกิดจากบริเวณขามีเส้นเลือดตีบ

ปวดหลัง
เมื่อมดลูกมีขนาดโตขึ้น ทำให้มีการถ่วงของน้ำหนักมาด้านหน้า ทำให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อหลังมากกว่าปกติหรือแอ่นมาข้างหลัง จนทำให้เอ็นที่ยึดข้อต่อต่างๆ บริเวณกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จึงทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อต่อต่างๆ ขึ้น

ปัสสาวะบ่อย
เมื่อมดลูกโตขึ้น จนไปกดกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้กระเพาะปัสสาวะมีความจุได้น้อยลง หรือจากการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ

อาการคัน
บริเวณผิวหนังทั่วไปยังไม่ทราบถึงสาเหตุของอาการคัน ส่วนการคันที่บริเวณหน้าท้อง เกิดมาจากสาเหตุที่กล้ามเนื้อและผิวหนังมีการยืดขยายขึ้น

หน้าท้องลายเป็นสีน้ำตาลแข้ม
ผิวบริเวณต่างๆ ของร่างกายคล้ำขึ้นได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้วไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีให้เพิ่มขึ้นด้วย

อ่อนเพลีย
อาจมีผลมาจากการขาดอาหาร เนื่องจากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือในระยะตั้งครรภ์มีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมักพบอาการนี้ในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์

บวม
เนื่องจากในเนื้อเยื่อของร่างกายมีน้ำคั่งอยู่ มักมีอาการบวมที่บริเวณปลายมือ ปลายเท้า อาการนี้สามารถหายไปได้เอง แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูงก็ควรนึกถึงภาวะความดันโลหิตสูงในระยะตั้งครรภ์ด้วย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า