สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ครรภ์ประสูติ

เป็นการคลอดของบุตรที่อยู่ในครรภ์ครบ 10 เดือนเป็นปกติธรรมดา มีลมจำพวกหนึ่งชื่อ กัมมัชวาต บังเกิดพัดกำเริบที่เส้นและเอ็นที่รัดรึงตัวทารกไว้ ทำให้ทารกกลับเอาศีรษะลงเบื้องต่ำ และคลอดออกจากครรภ์มารดาเมื่อถึงฤกษ์งามยามดี

เมื่อกุมารแลกุมารีทั้งหลายคลอดออกจากครรภ์แห่งมารดา อันจิตคิดว่าจะแทนแห่งมารดานั้น ก็เคลิ้มไปให้ลืมเสียสิ้นเพราะว่าสะดุ้ง ตกใจกลัว ด้วยลุอำนาจแก่ลมกัมมัชวาตนั้น อุปไมยดังบุรุษอันตกลงจากที่สูงโดยประมาณได้ร้อยชั่วบุรุษ อันความสะดุ้งตกใจกลัวก็มีอุปไมย ดังนั้นถ้าจะอุปมาความเจ็บนั้นฉันใดก็ดี ก็มีอุปไมยดังช้างสารตัวกล้าอันบุคคลขับไล่ให้ออกจากช่องประตูอันน้อยด้วยกำลังกลัวหมอและควาน อันว่าความเจ็บปวดที่พรรณนาไปเหตุดังนั้น กุมารแลกุมารีทั้งหลายจึงบังเกิดโรคพยาธิต่างๆ เพราะ หมอ ผดุงครรภ์ แลแม่มดข่มขี่เอาด้วยกำลังแรง อันว่ากุมารแลกุมารีที่อยู่ในครรภ์นั้น กระดูกแลเส้นเอ็นยังอ่อนอยู่คลาดจากที่สิ้น ซึ่งว่าดังนี้ด้วยกุมารและกุมารีเป็นปุถุชน อันว่าประเพณีพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นจะได้ลุอำนาจแก่ลมกัมมัชวาต แลสะดุ้งตกพระทัย ไหวหวั่นนั้นหามิได้ แลเมื่ออยู่ในท้องพระมารดานั้น จะได้ทนทุกขเวทนาเหมือนปุถุชนนั้นหามิได้ ทรงนั่งผินพระพักตร์ออกสู่ประเทศอุทรแห่งสมเด็จพระพุทธมารดา พระพุทธองค์ทรงสมาธิดุจพระธรรมกถึกสำแดงธรรมเทศนาจบแล้วลงจากธรรมาสน์นั้น

ผู้แต่งคัมภีร์ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างปุถุชนกับพระโพธิสัตว์โดยอ้างนำมาจากภาษาบาลีและแปลมาอีกทีว่า เมื่อคลอดก็เหมือนกับที่ช้างตัวโตถูกควาญช้างใช้กำลังข่มให้ออกจากช่องแคบ ทำให้มีความทุกข์ทรมานมาก ความรู้สึกที่จะทดแทนคุณมารดาเมื่ออยู่ในท้องก็ลืมไปสิ้นด้วยความกลัวนี้ และขณะคลอดก็มีลมที่เรียกว่า ลมกัมมัชวาต บีบอัดอย่างแรง เส้นเอ็นของเด็กจะเคลื่อนที่ในขณะที่คลอด ซึ่งอาการของพระโพธิสัตว์จะไม่เหมือนเช่นคนปกติ มีข้อสรุปที่ดีเป็นเหตุเป็นผลคือที่ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคภัยในทารกแรกเกิดก็มาจากการคลอดและการข่ม การกดของผู้ทำคลอดเหมือนกัน ในปัจจุบันอาจต้องใช้คีม เครื่องดูด และการผ่าตัดเพื่อช่วยเหลือการคลอดที่ยากลำบาก เพื่อให้ทารกคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย

ในตำราบางเล่มของฝรั่งได้อ้างความเชื่อของโบราณว่า เด็กจะเป็นตัวกระตุ้นมดลูกมารดาให้มีการบีบตัวและคลอดออกมาเอง แต่แพทย์แผนไทยเชื่อว่าเป็นเพราะมีลมกัมมัชวาต มากระตุ้นให้เด็กเกิด ซึ่งความหมายของลมชนิดนี้คือ การทำให้เดิน นั่ง นอน คู้ และเหยียดได้ มดลูกจะเกิดการบีบตัวเมื่อลมเข้าไป

กระบวนการคลอดในปัจจุบันแม้จะสรุปได้ว่า ปากมดลูกจะนุ่มพร้อมเมื่อใกล้คลอด มีการบีบตัว ในขณะที่มดลูกบีบตัวมารดาจะมีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก และมีการคลายตัวของการบีบเป็นจังหวะจนกว่าจะคลอด แต่ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าอะไรเป็นตัวเริ่มกระตุ้นให้การคลอดเริ่มขึ้น ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันคือ เกิดจากเอนไซม์ ที่เรียกว่า Oxytocin และพรอสตาแกลนดิน(Prostaglandin) จะเป็นตัวกระตุ้นโดยตรงให้มดลูกมีการบีบตัว โดยพบมี Prostaglandin ในขณะใกล้คลอด และมี Oxytocin เกิดขึ้นในขณะที่คลอด แพทย์ปัจจุบันจึงกระตุ้นการคลอดในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้วยยาสองตัวนี้ ในแผนไทยลมกัมมัชวาต หมายถึง พลังที่ทำให้ทารกกลับหัวลง เคลื่อนลงต่ำ ตกใจดิ้น ทำให้มือเท้าถีบฉีด รกขาดและคลอดออกมา ซึ่งเป็นการพยายามอธิบายแบบโบราณ แต่คำอธิบายในปัจจุบันมีขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น โดยการเคลื่อนตัวของทารกผ่านช่องคลอดจะแบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ศูนย์ มดลูกพร้อมที่จะขับหรือบีบเด็กออก โดยจะขยายตัวเต็มที่ บริเวณปากมดลูกจะบางมากเมื่อศีรษะเด็กเคลื่อนลงมากด เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 1 มดลูกจะขยายเต็มที่ มีความนุ่มและผ่อนคลาย มีความเกร็งของมดลูกเพื่อเตรียมขยาย ช่วงนี้ปากมดลูกจะนุ่มจากบทบาทของ Prostaglandin และกระตุ้นให้เริ่มคลอดได้ และมี Oxytocin receptors ที่ผนังมดลูกมากขึ้นด้วย เมื่อถึงระยะที่ 2 เป็นระยะคลอด มดลูกมีการบีบตัว มารดาจะเจ็บท้องเป็นระยะทุก 3-5 นาที นับจากปากมดลูกขยาย 3 ซม. ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง การคลอดปกติทั่วไปตามธรรมชาติจะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง รกจะออกตามมาเมื่อคลอด ไม่มีการฉีดขาดก่อน เมื่อรกคลอดแล้วก็เข้าสู่ระยะที่ 3 มดลูกจะเข้าอู่เป็นปกติใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือในระยะพักฟื้นของมารดานั่นเอง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า