สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ขยะอันตราย

ที่มา:สมศักดิ์  ดำรงค์เลิศ

ทุกคนเมื่อได้ยินคำว่าขยะ ต่างก็มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ของเหล่านี้มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะคนทั่วไปมองเห็นภาพของขยะเป็นของแข็งที่กองอยู่ ส่งกลิ่นเหม็น มีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียสะสมอยู่ มีแมลงบินตอมอยู่มาก เป็นแหล่งก่อความรำคาญให้กับคนและสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันขยะได้ก่อปัญหาให้กับมนุษย์มากขึ้น ดังนั้นทุกคนเริ่มให้ความสนใจและได้ทำการศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดของขยะที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นที่สามารถทำการจำแนกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ได้มากมายหลากหลายประเภท รวม ถึงประเภทที่สามารถนำกลับไปปรับหรือผลิตใช้ใหม่ด้วย อันที่จริงขยะควรมีความหมายถึงของ หรือสิ่งของที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว จะเป็นของแข็งของเหลวหรือก๊าซก็ได้

ขยะมีแหล่งที่มาแตกต่างกันไป อาทิ จากสิ่งของปล่อยทิ้งจากบ้านเรือน, ร้านอาหาร, ตลาด, โรงแรม, โรงงานอุตสาหกรรม, รถยนต์, เรือชนิดต่างๆ, เครื่องบิน และรถไฟ เป็นต้น

ดังนั้นการจำแนกขยะจึงสามารถจำแนกได้หลากหลายแล้วแต่จะพิจารณาทางด้านใด ตัวอย่างขยะของแข็งจำแนกออกได้เป็นขยะบ้านเรือน, ขยะตลาดสด, ขยะร้านอาหาร-ภัตตาคาร, ขยะโรงแรม, ขยะโรงงานอุตสาหกรรม ขยะที่กล่าวมานี้ยังจำแนกได้เป็นขยะแห้ง, ขยะเปียก, หรือเป็นขยะอันตราย กับขยะไม่อันตรายก็ได้

ขยะอันตราย

ขยะอันตรายนี้เพิ่งได้รับการจำแนกไว้เมื่อไม่นานมานี้เอง สืบเนื่องมาจากความเจริญทางด้าน เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดมีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมต้องมีของที่เกิดร่วมจากกระบวนการผลิต ซึ่งต้องนำไปทิ้ง ขยะเหล่านี้เมื่อนำออกจากโรงงานแล้วหากไม่มีวิธีการจัดเก็บที่ถูกต้อง ของทิ้งเหล่านี้ก็กระจัดกระจายไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้ประชาชน พลเมืองของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนที่สัมผัสขยะอันตรายหรือสารอันตรายที่ปนเปื้อนมากับขยะอาจเกิดเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือโรคที่ยังหาวิธีรักษาไม่ได้ บางครั้งได้พบว่าเกิดจากประชาชนไปจับต้องหรือสัมผัสกับขยะเหล่านั้น เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ทำงานในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโกดังที่เก็บผลผลิตทางอุตสาหกรรม หรือจากการใช้สารเคมีฆ่าแมลง เป็นต้น

กรณีตัวอย่างที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตสารฆ่าแมลง เมธิย์ลไอโสศัยอะเนต ของโรงงานยูเนียน คาร์ไบด์ อินเดีย ที่จังหวัดโบห์พาล ทางเหนือของประเทศอินเดีย เกิดอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๒๗ โดยถังบรรจุสารดังกล่าวเกิดร้าวแล้วรั่ว สารฆ่าแมลงได้ระเหยและแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศรอบๆ โรงงาน สารฆ่าแมลงไปทำให้ประชาชนรอบๆ โรงงานบาดเจ็บประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนและตายประมาณ ๓,๐๐๐ คน. ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่สะดวก และผิวหนังเกิดบาดแผล

อีกกรณีตัวอย่างเป็นโรงงานผลิตสารเคมีตั้งอยู่ที่จังหวัดเซเวโส ใกล้นครมิลาน ทางเหนือของประเทศอิตาลี เกิดเหตุเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙ มีฝุ่นสารเคมีไดออกซินในถังของกระบวนการผลิต ได้หลุดลอยออกมาจากโรงงานแล้วปลิวไปทั่วอาณาเขตรอบโรงงาน มีประชาชนได้รับผลกระทบจาก ฝุ่นสารเคมีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กในโรง เรียนที่อยู่ไม่ไกลจากโรงงานนี้จำนวน ๑๓๔ คน ต้องได้รับการรักษาทันทีที่โรงพยาบาล ฝุ่นสารเคมีได้กระจายปกคลุมพื้นที่หลายเอเคอร์ พืชผลไม้ต้องถูกนำไปทำลายทั้งหมด และต้องทำความสะอาดผิวดินทั้งหมด

จากกรณีตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนถึงอันตรายที่มนุษย์ได้รับจากสารพิษหรือขยะอันตรายที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่รุดหน้ามากและเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ดังนั้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายจากของเสียเหล่านี้ จึงได้จัดตั้งองค์กรพิทักษ์ สิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อหาทางควบคุมป้องกันและให้ความรู้แก่ประชาชนในประเทศของตนให้มีความระมัดระวังถึงภัยอันร้ายแรงนี้

นิยามหรือเกณฑ์กำหนดของขยะอันตราย

เนื่องจากภัยอันร้ายแรงที่เกิดจากขยะอันตราย หรือสารพิษเหลือใช้ทิ้งอันตราย ทำให้มีกำเนิดองค์กรของรัฐอย่างเช่นองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น องค์กรเดียวภันนี้ได้จำแนกและให้คำจำกัดความและวางเกณฑ์กำหนดขยะอันตรายไว้ว่า ขยะอันตราย คือขยะหรือขยะผสมที่มีปริมาณ ความเข้มข้น สมบัติทางกายภาพ, สมบัติทางเคมี และสมบัติด้านการติดเชื้อ อันก่อให้เกิดการเพิ่มอัตราการตาย หรือเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือเมื่อมีแล้วทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดอันตรายขึ้น ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ ชนิดด้วยกัน คือ

๑. ขยะที่ติดไฟได้

ขยะที่ติดไฟได้นั้นมีทั้งที่เป็นของแข็ง, ของเหลวและก๊าซ การติดไฟนั้นสามารถเกิดขึ้นเองได้ทั้งในขณะขนส่ง หรือจัดเก็บในโกดัง หรือในที่สำหรับทิ้งขยะ ขยะที่ติดไฟได้ต้องมีลักษณะ

-ของเหลวที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้อยกว่าร้อยละ ๒๔ โดยปริมาตร หรือของเหลวที่จุดวาบไฟที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๖๐ องศาเศลเสียส (๑๔๐ อาศาฟาเรนไฮต์)

-ไม่ใช่ของเหลวแต่สามารถติดไฟได้เมื่อได้รับการเสียดสี หรือดูดซับน้ำไว้ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเมื่อติดไฟ

-ก๊าซที่สามารถติดไฟได้เมื่อยู่ภายใต้ความดัน

-เป็นสารเติมออกซีย์เจน หรือสารเพิ่มจำนวนออกซีย์เจนในปฏิกิริยาเคมี

๒. ขยะที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน

ขยะประเภทนี้มีความเป็นกรดด่าง (pH) สูงมาก (พีเอ็ช ต่ำกว่า ๒.๐ หรือสูงกว่า ๑๒.๕). ขยะส่วนนี้เป็นของเหลวเมื่อไปถูกหรือกระทบกับขยะอื่นจะทำปฏิกิริยาทางเคมีแล้วปลดปล่อยไอสารพิษออกมา นักวิทยาศาตร์บางท่านให้คำจำกัดความของขยะประเภทนี้ว่าเป็นของเหลวที่สามารถกัดกร่อนเหล็กกล้าชนิด SAE 1020 ด้วยอัตรามากกว่า ๖.๓๕ มิลลิเมตรต่อปี ที่อุณหภูมิ ๕๕ องศาเศลเสียส

๓. ขยะที่เกิดปฏิกิริยาเคมี

มักจะกล่าวถึงขยะที่ไม่เสถียรมักจะเป็นต้นเหตุ ให้เกิดปฏิกิริยาเคมีรุนแรงหรือเกิดการระเบิดขึ้นได้ เมื่อมีระบบการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างของขยะประเภทนี้ได้แก่ขยะที่เกิดจากการผลิตวัตถุระเบิด ทีเอนที, หรือในกระบวนการผลิตที่มีสารศัยอะไนด์ เป็นตัวทำละลาย, สารประเภทที่มีสารโสเดียม หรือ โปแตสเสียม

๔. ขยะที่ละลายน้ำแล้วซึมลงสู่น้ำใต้ดิน ขยะที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมถลุงโลหะ หรือชุบโลหะมักจะมีสารประกอบของโลหะหนัก อัน ได้แก่ แคดเมียม โฆรเมียม ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง ปรอท ติดมาด้วย เมื่อสารประกอบเหล่านี้ถูกปลดปล่อยออกมาจากโรงงาน ละลายหรือปนมากับนํ้า แล้วไหลลงสู่พื้นดิน จากนั้นจะค่อยๆ ซึมผ่านผิวดินลงไปจนถึงชั้นน้ำใต้ดินเมื่อมีการนำน้ำใต้ดินมาใช้ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ปริมาณในน้ำที่จะ เป็นอันตรายต่อมนุษย์คือมากกว่า ๑.๐ หรือ ๕.๐ ส่วน ใน ๑ ล้านส่วน แล้วแต่ชนิดของโลหะที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากขยะทั้ง ๔ ประเภทดังกล่าวแล้วยังมีผู้แบ่งขยะอันตรายเพิ่มขึ้นอีก ๒ ประเภทคือ

ขยะที่คนมักง่ายทิ้งลงทะเล

ขยะที่ก่อพิษฉับพลัน

ขยะชนิดนี้ถึงแม้ว่ามนุษย์หรือสัตว์ได้รับเข้าสู่ร่างกายเพียงปริมาณน้อยๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ อันได้แก่ สารฆ่าแมลง, ไอกรด, ไอสารระเหยง่าย ซึ่งใช้เป็นตัวทำละลาย

ขยะพิษ

เป็นขยะที่ได้ถูกพบในชั้นการทดลองในห้องปฏิบัติการ เมื่อมนุษย์ได้รับหรือสัมผัสสารเหล่านี้ แล้วสะสมไว้ในอวัยวะของร่างกายจะทำให้เนื้อเยื่อ บริเวณนั้นเปลี่ยนสภาพไปอันเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง หรือก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ หรือทำให้ทารกพิการ เป็นต้น

ความเป็นพิษของขยะอันตราย

ด้วยสามัญสำนึกของมนุษย์เมื่อรู้ว่าขยะนั้นเป็นขยะอันตรายก็ทำให้เห็นภาพทันทีว่ามีความเป็นพิษ แต่ไม่รู้ว่าความเป็นพิษของขยะอันตรายเหล่านี้เป็น อย่างไรบ้าง จึงได้ตั้งข้อรังเกียจไว้ก่อนแล้ว การที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงความเป็นพิษของขยะอันตราย จึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เมื่อพูดถึงความเป็นพิษ สิ่งแรกที่มนุษย์คิดถึงก็คือเป็นต้นเหตุของความตาย ถัดมาก็เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด แต่มิได้คิดเลยว่าความเป็นพิษที่จะมาสู่ มนุษย์นั้นมีทางมาได้อย่างไร และจะเห็นผลเมื่อใด เมื่อมนุษย์ได้รับสารพิษเหล่านั้น

ทางที่สารพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

มนุษย์จะได้รับสารพิษจากขยะหรือสิ่งปล่อยทิ้ง ๓ ทางคือ

ทางผิวหนัง สารพิษจากขยะอันตรายเมื่อสัมผัสกับผิวหนังของมนุษย์แล้ว สารพิษเหล่านั้นจะค่อยๆ ซึมผ่านผิวหนังเข้ามาสู่ชั้นหนังแท้และอาจซึม เข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นผลที่เกิดก็คืออันตรายต่อผิวหนังและอวัยวะหรือเนื้อเยื่อภายในร่างกาย

ทางการหายใจ สารพิษสามารถเข้าทางนี้ได้ เนื่องจากในขยะอันตรายนั้นมีสารพิษเป็นก๊าซหรือไอระเหยออกมาปะปนกับอากาศ เมื่อคนที่อยู่ใกล้ บริเวณนั้นหายใจอากาศที่มีไอของสารพิษผ่านเข้าสู่ทางเดินอากาศหายใจแล้วเข้าสู่ปอด และดูดซึมเข้ากระแสเลือด จากนั้นก็ไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป

ทางเดินอาหาร จากการกินอาหารที่มีสารพิษ หรือการได้รับสารพิษปนเปื้อนภาชนะอาหารหรือมือ สารพิษในอาหารได้มาจากสารพิษในขยะอันตรายที่ละลายออกมาแล้วไหลไปกับน้ำ พืชหรือผักที่ปลูกไว้ จะดูดสารพิษแล้วสะสมอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชหรือผักเหล่านั้น สารพิษส่วนที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง หรือทะเล สัตว์น้ำก็จะได้รับสะสมไว้ เมื่อสัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็กที่มีสารพิษหรือมนุษย์กินทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ก็จะได้รับสารพิษก็เข้าสู่ร่างกายจากการดูดซึมทางกระเพาะอาหารสำไส้ ในกรณีสารพิษปนเปื้อนภาชนะหรือมือนั้นเกิดขึ้นในคนงานของโรงงานสารพิษต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องทางอาชีวอนามัย

อันตรายที่เกิดขึ้นจากขยะอันตราย

อันตรายที่เกิดขึ้นฉับพลัน

ส่วนมากเกิดจากสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดแรงหรือด่างแรง และมีเข้มข้นสูงเมื่อถูกร่างกายจะเกิดเป็นแผลได้ทันที หรือถ้าหายใจเอาไอของสารเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายรุนแรงต่อทางเดินอากาศ หายใจ เกิดการอักเสบ และเป็นแผล

อันตรายเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารพิษระยะหนึ่ง

สารกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนหรือด่างอ่อน หรือเป็นสารเคมีที่มีโลหะปะปนอยู่ เมื่อสารเหล่านี้มาสัมผัสกับร่างกาย หรือเข้าทางการหายใจ หรือกินเข้าทางปาก ต้องใช้เวลา ๒ ถึง ๓ วันจึงเกิดอาการผิดปรกติ อาทิ โรคระบบการหายใจและโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

อันตรายหลังจากการสะสมระยะสั้น

การออกฤทธิ์ของสารบางชนิดเป็นไปอย่างช้าๆ กว่าจะเห็นผลอันตรายต้องใช้เวลาระยะหนึ่งอาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้ สารจำพวกนี้ได้แก่สารระเหยง่ายหรือสารที่กลายเป็นไอได้ง่าย อาทิ เบนซิน, คาร์บอนเตตระฆลอไรด์, อีเธอร์ เป็นต้น สารเหล่านี้มักจะไปทำลายระบบประสาท หรือเป็นสารที่ไปทำลายภูมิคุ้มกันของมนุษย์

อันตรายจากการสะสมเป็นระยะเวลานาน

สารประเภทนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์เราแล้วจะไปสะสมอยู่ตามอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย เช่น ตับ หรือระบบฟอกโลหิต เมื่อสารนี้สะสมมากขึ้นทำให้การทำงานของระบบอวัยวะดังกล่าวทำงานไม่เป็นปรกติ หรือทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นๆ เป็น สาเหตุทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ ตามมาภายหลัง สารที่เกิดการสะสมเหล่านี้ได้แก่สารโลหะหนัก สารตัวทำละลาย สารกัมมันตรังสี เป็นต้น

การจัดการขยะหรือสิ่งปล่อยทิ้งอันตราย

เมื่อรู้ถึงอันตรายของสารพิษในขยะเหล่านี้แล้ว ก็ควรศึกษาอย่างรอบคอบว่าจะมีระบบการจัดการกับขยะเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ขยะอยู่ในสภาพเสถียรหรือหมดสภาพพิษมิให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์

ขั้นตอนที่สามารถดำเนินการศึกษาหรือดำเนินการจัดการอาจแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

ภูมิหลังของการเกิดขยะอันตราย

การเก็บกัก

การขนส่ง

การกำจัด

การลดจำนวนขยะที่จะเกิดขึ้น

การนำกลับไปใช้ใหม่

ภูมิหลังของขยะอันตราย

เมื่อจำนวนพลเมืองในโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ความต้องการของพลเมืองที่เพิ่มขึ้นสิ่งแรกคืออาหาร ถัดมาก็เป็นที่อยู่อาศัย แล้วก็ยารักษาโรค หรือปัจจัยทั้ง ๕. อาจมีปัจจัยที่ ๖ คือความสะดวกสบายที่มนุษย์ทุกคนต้องการมากในชีวิต จากความต้องการนี้เองที่ทำให้มนุษย์ต้องค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบสนอง เริ่มตั้งแต่การเพิ่มผลผลิตทางด้านอาหารโดยเฉพาะทางด้านเกษตรเมื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก็มีโรคพืชต่างๆ หรือแมลงนานาชนิดเกิดตามมา มนุษย์ก็ต้องการกำจัดหรือเอาชนะสิ่งเหล่านี้ จึงได้พัฒนาผลิตสารที่มาทำลายหรือกำจัดทั้งโรคพืชและแมลงนานาชนิด ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ก็จะเป็น อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกในปัจจุบันได้แก่ไฟฟ้า วัสดุสิ่งก่อสร้าง อันได้แก่พลาสติคซึ่งเป็นสารที่พัฒนามาจากน้ำมัน ปิโตรเลียม ในกระบวนการผลิตจำเป็นต้องใช้สารตั้งต้นและสารตัวทำละลายสารทั้งสองนี้ก็เป็นสารอันตรายต่อมนุษย์เช่นเดียวกัน การผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีแหล่งให้พลังงานอันได้แก่ น้ำมัน, ถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติ, พลังงานน้ำ และพลังงานนิวเคลียร์ สิ่งปล่อยทิ้งจากการใช้สารดังกล่าวบางอย่างก็เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ จึงควรหาวิธีป้องกันไว้ก่อน ก็จะปลอดภัยต่อมนุษย์ สรุปแล้วขยะอันตรายเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โอกาสที่จะเกิดจากบ้านเรือนนั้นน้อยมาก ยกเว้นอุตสาหกรรมห้องแถวบางอย่างก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดขยะอันตรายได้

การเก็บกัก

เมื่อไต้เรียนรู้แล้วว่าขยะอันตรายนั้นส่วนใหญ่ เกิดในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรมีวิธีการจัดการที่ดี เริ่มที่เมื่อเกิดมีขยะอันตรายขึ้น แล้วจะมีวิธีการรวบรวมขยะนี้ไว้ในที่ปลอดภัยได้ อย่างไรภายในโรงงานนั้นๆ ควรมีสถานที่เก็บกักไว้อย่างมิดชิดห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณนั้น หรือจัดเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดอย่างดี อย่างเช่น ถังโลหะขนาดมาตรฐานที่มีความจุ ๒๐๐ ลิตร ถังนี้จะต้องจัดเก็บไว้ในอาคารหรือสถานที่ที่มีเขตกั้นห่างจากคนงานภายในโรงงานเพื่อรอการจัดการขนส่งไปยังศูนย์บำบัดต่อไป

การขนส่ง

ขยะอันตรายที่จัดเก็บไว้อย่างดีในภาชนะที่มีการปิดอย่างดีและสามารถทนแรงกระแทกได้ดี ขั้นตอนต่อไปคือการขนส่งขยะอันตรายเหล่านี้ไปยัง สถานที่ฝังกลบหรือศูนย์การบำบัด ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีอันตรายมาก ผู้ที่ขับรถบรรทุกขยะอันตรายจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และชำนาญในงานขนส่งวัสดุอันตรายมาบ้างพอสมควร เพราะงานนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วจะเป็นอันตรายต่อผู้คนและยานพาหนะในถนน หรือถ้ามีการรั่วไหลลงในพื้นถนนก็จะทำให้ดินในบริเวณนั้นดูดซึมเอาสารพิษไว้ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม การทำความสะอาดหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นจะต้องใช้เวลามากพอสมควรซึ่งมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในอเมริกา และยุโรปเห็นได้ว่าจะฟื้นฟูสภาพให้กลับดีดังเดิมต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ดังนั้นการขนส่งควรกระทำในเวลาที่มีการจราจรเบาบาง หรือหาเส้นทางที่มีรถยนต์อยู่ในถนนในขณะขนส่งเป็นจำนวนน้อย รถที่ใช้บรรทุกควรมีความแข็งแรงไม่ควรบรรทุกวางซ้อนสูงเกินไป มีการตรวจสภาพอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ควรมีระเบียบของรถบรรทุกอย่างเข้มงวด มาตรการที่ต้องทำควรเขียนข้อความเขียนไว้ข้างรถว่า วัสดุอันตรายไว้ด้วย

การกำจัดหรือการบำบัด

แต่ละโรงงานอุตสาหกรรมที่มีขยะหรือของปล่อยทิ้งอันตราย ถ้าจะทำการกำจัดเองภายในโรงงานนั้นไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและจะมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดขยะสูง อุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดสารพิษ หรือสารอันตรายนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ขยะอันตรายที่มีอยู่จะต้องทำการบำบัดให้หมดความเป็นพิษหรือ มีพิษเหลือน้อยก่อนที่จะดำเนินในขั้นฝังกลบ หรือขั้นทำลายด้วยความร้อนหรือการเผาทำลาย ดังนั้น วิธีการกำจัดหรือบำบัดนั้นจึงมีหลายวิธีสามารถเลือกปฏิบัติให้เหมาะกับสารพิษที่มีอยู่ในขยะอันตราย แต่ละชนิดหรือแต่กลุ่ม การบำบัดมีได้ทั้งวิธีทางกายภาพ วิธีเคมี หรือผสมวิธีทั้งสองในกระบวนการเดียวกัน ส่วนการกำจัดสามารถเลือกวิธีฝังกลบ, การเผาทำลาย, หรือเผาทำลายก่อนแล้วจึงฝังกลบกากที่เหลือก็ได้

การลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น

การแก้ปัญหาขยะต่างๆ นั้นได้มีหน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชนพยายามหาแนวทางการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นให้มีผลกระทบต่อพลเมืองที่อาศัยอยู่ในแต่ละหมู่บ้านน้อยที่สุด ยิ่งเป็นขยะอันตรายด้วยแล้วแนวทางป้องกันยิ่งต้องเข้มงวดมากกว่าปรกติ แนวทางแก้ที่น่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี คือ พยายามปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพที่สามารถนำวัตถุดิบหรือวัตถุตั้งต้นไปผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมากที่สุด กล่าวคือให้มีสิ่งปล่อยทิ้งหรือขยะน้อยลง ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะเกิดประโยชน์ขึ้นหลายประการ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการลดต่ำ, ราคาผลิตภัณฑ์ถูก, ลดปริมาณมลพิษให้เหลือน้อย, ค่าใช้จ่ายในการบำบัดหรือกำจัดขยะก็ลดลง, เวลาที่ใช้ในการกำจัดขยะสั้นและลดขั้นตอนของการดำเนิน งานได้ด้วย แหล่งกำเนิดขยะนั้นมีตั้งแต่บ้านเรือนจนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็สามารถ ช่วยทำให้สังคมของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดี, อากาศปราศจากมลพิษ, มีแหล่งน้ำที่สะอาดไว้สำหรับบริโภค

การปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ

ปลาตายพร้อมกันจำนวนมากจากปริมาณสารพิษในแม่น้ำที่เพิ่มขึ้น

การนำกลับไปใช้ใหม่

ขยะหรือสิ่งปล่อยทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมบางอย่างสามารถนำกลับไป ทำให้ใช้งานใหม่ได้ (recycling). ตัวอย่างน้ำหล่อ เย็นของอุปกรณ์บางส่วนในกระบวนการผลิตสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ด้วยการส่งน้ำที่ออกจากอุปกรณ์การผลิตนั้นไปผ่านเครื่องลดอุณหภูมิให้กลับ เป็นน้ำเย็นใหม่ดังตัวอย่างหอลดอุณหภูมิ (cooling tower) ของเครื่องปรับอากาศแบบหน่วยกลางของโรงแรมใหญ่ เมื่อน้ำมีอุณหภูมิลดลงก็ส่งกลับไปใช้หล่อเย็นในอุปกรณ์เดิมได้ เมื่อพิจารณากระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ในกระบวนการนั้นจำเป็นต้องใช้สารตัวทำละลายในการทำความสะอาดชิ้นส่วนผลผลิต สารตัวทำละลายส่วนใหญ่เป็นสารเคมีอินทรีย์เมื่อล้างชิ้นส่วนแล้วกลายเป็นของเสียที่จะต้องปล่อยทิ้งไป สารนี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต ดังนั้นถ้าสามารถนำสารละลายเหลือทิ้งนี้ไปแยก หรือสกัดเอาสารตัวทำละลายออกจากสารปล่อยทิ้ง ให้มีความบริสุทธิ์สูงก็สามารถนำกลับไปใช้เป็นสารชำระล้างชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ได้ใหม่ กระบวนการแยกสารตัวทำละลายนั้นสามารถใช้กระบวนการกลั่นลำดับส่วน (frac-tional distillation) หรือโรงงานผลิตน้ำมันพืชก็มีการนำสารตัวทำละลายกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในกระบวนการผลิตนั้นต้องใช้สารตัวทำละลายไปสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดพืช (ถั่วเหลือง งา เมล็ดทานตะวัน รำข้าว) กากของเมล็ดที่ไม่มีน้ำมันแล้วก็เป็นสิ่งปล่อยทิ้งที่มีสารตัวทำละลายผสมอยู่ ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไปเพราะสารตัวทำละลายจะไปทำลายธรรมชาติและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ถ้านำมาอบด้วยความร้อนสาร ตัวทำละลายก็ระเหยกลายเป็นไอ เมื่อปล่อยผ่านเครื่องทำความเย็นสารตัวทำละลายกลั่นตัวเป็นของเหลวที่สามารถนำกลับไปใช้สกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชต่อไปดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบว่าของปล่อยทิ้งจากโรงงานส่วนไหนบ้างที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และจะต้องใช้เทคนิคใดจึงจะแยกของที่เป็น ประโยชน์เหล่านั้นออกมาได้ ตัวอย่างของปล่อยทิ้งจากโรงงานชุบโลหะ ซึ่งเป็นสารละลายที่ใช้ชุบโลหะหนักถ้าปล่อยทิ้งสู่ลำรางสาธารณะแล้วไหลไปถึงแม่น้ำ ออกสู่ทะเล อิออนโลหะหนักจะติดอยู่กับสารอาหารของสัตว์ ดังนั้นอิออนเหล่านี้ก็ไหลเวียนมาถึงมนุษย์ในที่สุด เมื่ออิออนนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ก็จะทำอันตรายต่อมนุษย์เพราะเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ ถ้าสะสมในร่างกายมากขึ้นโรคก็รุนแรงมากขึ้น ทุกขณะแต่ถ้าสามารถค้นพบวิธีที่จะแยกหรือตก ตะกอนของอิออนเหล่านี้ได้ก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถพัฒนาวิธีที่จะนำอิออนของโลหะหนักในน้ำทิ้งให้กลับใช้ในกระบวนการชุบได้ใหม่ก็เป็นประโยชน์มากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น การวิจัยค้นหาวิธีการหรือกระบวนการที่จะแยกของที่เป็นประโยชน์ในขยะหรือของเหลือทิ้งให้กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า