สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การให้เลือด:Blood grouping และ cross matching

ในการให้เลือดแก่ผู้ป่วยต้องให้เลือดที่เข้ากันได้กับเลือดของผู้ป่วย (compatible blood) มิฉะนั้นจะเกิด agglutination และ hemolysis ขึ้น  ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ทันผู้ได้รับเลือดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  ส่วนใหญ่ถือปฏิกิริยาระหว่างเม็ดเลือดแดงของผู้ให้เลือดกับซีรั่มของผู้รับเลือดเป็นสำคัญ เพราะถ้าเลือดของทั้งสองฝ่ายเข้ากันไม่ได้ (incompatibility) แล้วเมื่อให้เข้าไป เม็ดเลือดแดงที่ให้เข้าไปจะถูก agglutinate และต่อมา hemolyse เมื่อสัมผัสซีรั่มของผู้รับเลือด ทำให้มีผลเสียเกิดขึ้นมากมายและอาจถึงชีวิตได้ ส่วนปฏิกิริยาระหว่างซีรั่มของผู้ให้เลือดกับเม็ดเลือดแดงของผู้รับนั้นมีความสำคัญน้อยกว่า เพราะว่าซีรั่มที่ให้เข้าไปจะถูกเจือจางโดยซีรั่มของผู้รับ  ดังนั้นเมื่ออยู่ในผู้รับเลยไม่ค่อยมีปฏิกิริยา แต่ในบางครั้งก็มีความสำคัญเหมือนกันทำให้เกิดปัญหาตามมาจึงไม่ควรจะลืมเสีย  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีวิธีการต่าง ๆ เพื่อจะหาเลือดที่สามารถให้ผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ปฏิกิริยาเลย หรือมีก็น้อยที่สุด

เลือดของมนุษย์เรายังแบ่งออกได้เป็นหลายระบบตามแอนจิเจนที่มีอยู่ในตัวมัน  ระบบที่เรานิยมใช้กันคือระบบ ABO ในระบบนี้พบว่ามีแอนติเจนอยู่ ๒ ชนิดที่ฉาบอยู่กับเม็ดเลือดแดง คือ antigen A และ antigen B ทั้งสองชนิดนี้อาจอยู่ตามลำพังหรือรวมกันอยู่ หรือไม่มีเลยก็ได้ คืออาจมี antigen A,B, AB หรือไม่มีแอนติเจนเลยก็ได้  ทำให้มีการตั้งชื่อเลือดเป็นหมู่ต่าง ๆ คือ หมู่ A, B, AB และ O ตามลำดับ  หมู่ของเลือดนี้สามารถถ่ายทอดมายังลูกหลานได้ตามกฎ Mendelian ส่วนในพลาสมาหรือซีรั่มของแต่ละคนก็มีแอนติบอดีอยู่ซึ่งก็มีสองชนิด คือ antibody A ซึ่งจะเรียกว่า anti A และ antibody B ซึ่งจะเรียกว่า anti B  โดยปกติ antigen A เมื่อรวมกับ anti A หรือ antigen B เมื่อรวมกับ anti B จะเกิด agglutination ขึ้นแต่ถ้าสลับแอนติเจนกับแอนติบอดีกันเสีย  เลือดทั้งสองฝ่ายก็จะไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน  ดังนั้นคนที่มีเลือดหมู่ A จะมี antigen A อยู่ที่เม็ดเลือดแดง และมี anti B อยู่ในซีรั่ม  คนที่มีเลือดหมู่ B จะมี antigen B อยู่ที่เม็ดเลือดและมี anti A อยู่ในซีรั่ม คนที่มีเลือดหมู่ AB เม็ดเลือดแดงมี antigen A และ antigen B  แต่จะไม่มี anti A หรือ anti B อยู่ในซีรั่มเลย และคนที่มีเลือดหมู่ O ไม่มีแอนติเจนเลย ที่เม็ดเลือดแดง ในซีรั่มจึงมีทั้ง anti A และ anti B ได้

เลือดหมู่

แอนติเจนที่เม็ดเลือดแดง

แอนติบอดีในซีรั่ม

ปฏิกิริยาต่อ Antiserum ที่นำมาทดสอบหาหมู่เลือด

Anti A Anti B

AB

A และ B

+

+

A

A

Anti B

+

B

B

Anti A

+

O

Anti A และ Anti B

ผู้ที่มีหมู่เลือด AB จะไม่มีแอนติบอดีอยู่ในซีรั่มของเขาจึงสามารถรับเลือดหมุ่อื่น ๆ ได้ เราเรียกหมู่เลือด AB นี้ว่า “universal recipient” และในทำนองเดียวกัน ผู้ที่มีหมู่เลือด O ซึ่งเม็ดเลือดแดงไม่มีแอนติเจนฉาบอยู่  จึงไม่เกิด agglutination เมื่อให้เข้าไปในผู้ที่มีเลือดหมู่อื่น ๆ เราเรียกว่า “universal donor” แต่ควรระมัดระวังในข้อนี้ให้มากในการให้เลือด ไม่ควรให้เช่นนี้ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะอาจมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นได้ในบางกรณี เช่นผู้ให้เลือดที่มีหมู่เลือด O เขาจะมีทั้ง anti A และ anti B อยู่ในซีรั่มของเขา  ซึ่งถ้าให้เข้าไปมาก ๆ ในผู้รับเลือดที่มีหมู่เลือด AB, A  หรือ B ซึ่งจะมีแอนติเจนตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวอยู่ก็จะเกิด agglutination ขึ้นได้

นอกจากแอนติเจนที่มีอยู่ในระบบ ABO แล้ว  ยังมีแอนติเจนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Rhesus Factor (Rh Factor) คนผิวขาวจะมีแอนติเจนชนิดนี้อยู่ร้อยละ ๘๕ พวกนี้เรียกว่า “Rh positive” ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑๕ ไม่มีแอนติเจนชนิดนี้อยู่เรียกว่า “Rh negative” การให้เลือดของผู้ที่มี Rh positive สู่ผู้ที่มี  Rh negative มักจะไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในทันที แต่จะเป็นอันตรายตรงที่จะทำให้เกิด แอนติบอดี ต่อ Rh Factor ขึ้นในซีรั่ม่ของเขา  เมื่อเขาได้รับเลือด Rh positive อีกอาจทำให้มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นรุนแรงในครั้งใดครั้งหนึ่งได้เนื่องจากร่างกายเคยถูกกระตุ้นจากการให้เลือดครั้งก่อน

นอกจากระบบ ABO และ Rhesus แล้วยังมีระบบอื่น ๆ ที่สำคัญอีกกว่า ๑๐ ระบบ เช่น ระบบ P,I,Lutheran, Lewis, Kell เป็นต้น

การหาหมู่เลือดของผู้ป่วยหรือผู้ให้เลือดนั้นเรียกว่า “blood grouping” เพื่อที่จะหาเลือดที่มีหมู่เลือดเหมือนกัน  สะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ เมื่อได้หมู่เลือดแล้วยังไม่สามารถเอาไปใช้ได้ทันที  เพราะเลือดจากบุคคลต่าง ๆ ที่มีหมู่เลือดเหมือนกันอาจเข้ากันไม่ได้  จึงจำเป็นต้องมีวิธีการทดสอบเสียก่อนว่าเลือดของผู้ให้กับผู้รับเข้ากันได้หรือไม่  วิธีการนี้เรียกว่า “Cross matching”  ซึ่งประกอบด้วยการเอาเลือดที่ระบบ ABO และ Rh เหมือนกันกับผู้รับเลือดมาทดสอบดังนี้

๑.  ดูปฏิกิริยาระหว่างเม็ดเลือดแดงของผู้ให้เลือดกับซีรั่มของผู้รับ ณ อุณหภูมิห้องเพื่อจะตรวจหา complete agglutinin

๒.  ทำ indirect antiglobulin test (Coomb’s test) ที่อุณหภูมิ ๓๗°ซ เพื่อจะตรวจหา incomplete antibody ซึ่งจะไม่ทำให้เกิด agglutination ระหว่างการกระทำตามข้อ ๑

๓.  ดูปฏิกิริยาระหว่างซีรั่มของผู้ให้เลือดกับเม็ดเลือดแดงของผู้รับเพื่อตรวจหาแอนติบอดีที่เข้ากันไม่ได้ในเลือดของผู้ให้

ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดมาแล้วหลายครั้งอาจจะสร้างแอนติบอดีขึ้น และเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ ในการให้เลือดครั้งต่อไป  ดังนั้นถ้าจะมีการให้เลือดอีกก็ควรจะทำ crossmatching ใหม่ทุกครั้ง เพื่อจะหาเลือดที่เข้ากันได้จริง ๆ เพื่อความปลอดภัยเวลาให้เลือด

สำหรับการกระจายของหมู่เลือดในระบบ ABO ในคนไทยนั้น  ได้มีผู้รายงานไว้หลายรายงานด้วยกัน แต่ผลที่ออกมาคล้ายคลึงกันสรุปได้ดังนี้คือ เลือดหมู่ O มีประมาณร้อยละ ๓๗-๔๑ หมู่ A มีประมาณร้อยละ ๑๘-๒๒ หมู่  B ประมาณร้อยละ ๓๔-๓๕ และหมู่ AB ประมาณร้อยละ ๖-๘ โดยมีการกระจายตัวจากมากไปน้อยดังนี้คือ  O,B,A และ AB

       ส่วนหมู่เลือดในระบบ Rh นั้น สำหรับคนไทยตรวจพบเลือด Rh-positive ถึงร้อยละ ๙๙.๙ และมี Rh-negative เพียงร้อยละ ๐.๑ เท่านั้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า