สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเฝ้าระวังโรคเหตุสิ่งแวดล้อม

นฤมล ศิลารักษ

ปัจจุบันความเป็นอยู่ของมนุษย์มีโอกาสที่จะสัมผัสสารต่าง ๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นผล มาจากการปนเปื้อนของบรรยากาศ น้ำ และดิน จากสารเคมีต่าง ๆ หรือกากของเสียจากอุตสาหกรรม ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น ในสภาพแวดล้อมนั้นมีการปนเปื้อนของสารเคมีหรือไม่ และจำนวนของการเจ็บป่วย การเฝ้าระวังจะต้องพิจารณาถึงการสัมผัสสาร ทิศทางที่ได้รับสารนั้น ขนาดของปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพ และทางด้านสิ่งแวดล้อม ในบทนี้จะกล่าวถึงการเฝ้าระวังทางด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่าง ๆ

นิยาม

การเฝ้าระวังโรค (disease surveillance) ตามคำนิยามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรํฐอเมริกา หมายถึงกระบวนการซึ่งประกอบด้วยการรวบรวม วิเคราะห์และตีความข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อนำไปวางแผน ประยุกต์ใช้และประเมินโครงการและการดำเนินการด้านสาธารณสุข

การเฝ้าระวังทางวิทยาการระบาด หมายถึง กิจกรรมที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บตลอดจนองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพอนามัย, มีการวิเคราะห์ข้อมูลและกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและการให้บริการ สาธารณสุข สำหรับข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพจะช่วยบอกถึงการกระจายของการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพรวมทั้งองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคและการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ

ในเชิงปฏิบัติ การเฝ้าระวังโรคมีส่วนช่วยในการลดอุบัติการของการเกิดโรค ช่วยในการป้องกันโรคก่อนที่จะมีโรคเกิดขึ้น และการตรวจคัดกรองโรคช่วยในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกของโรค

การเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อม (envi­ronmental surveillance) เป็นกิจกรรมการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีระบบวิเคราะห์ข้อมูล แปลผล และการกระจายข้อมูลข่าวสารให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ เพื่อนำไปสู่การควบคุมป้องกันโรคต่อไป อาจกล่าวได้ว่าการเฝ้าระวัง ครอบคลุมถึงการเก็บข้อมูลที่ได้จากการตรวจ ติดตามทางด้านสิ่งแวดล้อม (environmental monitoring) หรือด้านชีวภาพ (biological monitoring) รวมทั้งผลที่ได้จากการสำรวจ และการตรวจคัดกรองด้วย

การตรวจติดตาม (monitoring) เป็นกิจกรรมการติดตามผลหลังมีการดำเนินการหรือขณะที่มีการดำเนินการ รวมถึงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ทางสังคม และทั้งการบริหารจัดการการติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแนวที่กำหนดไว้ ในบางกรณีจะกล่าวย่อลงไปถึงการตรวจคัดกรองทาง การแพทย์ (medical screening) และทางชีววิทยา (biological screening)

การควบคุมกำกับ (monitoring trends) การเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการควบคุมกำกับประวัติการสัมผัสกับสิ่งคุกคามในชุมชน ทั้งนี้การดำเนินการเฝ้าระวังนั้น ขึ้นกับความแตกต่างของประเภทของกลุ่มอุตสาหกรรม ความแตกต่างของพื้นที่ และระยะเวลา

การสำรวจ (survey) เป็นกิจกรรมค้นหาข้อมูลอย่างเป็นระบบจากประชากรที่เกี่ยวข้อง การสำรวจมีการเริ่มต้น และจบลงเป็นงาน ๆ ไม่ต่อเนื่องเหมือนการเฝ้าระวัง

การตรวจคัดกรอง (screening) เป็นการตรวจเพื่อคัดผู้ที่มีความผิดปรกติที่มีสภาพภายนอกเหมือนคนปรกติ โดยใช้เครื่องมือทดสอบหรือการตรวจพิเศษ

การตรวจระบุผู้ป่วย (identifying cases) วัตถุประสงค์ของการตรวจระบุผู้ป่วยในชุมชน เพื่อที่จะได้นำผลมาใช้ในการควบคุมป้องกันโรค โดยทั่วไปการค้นหาผู้ป่วยมี ๒ วิธีด้วยกันคือ การตรวจคัดกรองทางการแพทย์ (medical screening) และดูจากบันทึกรายงานของการบริการสาธารณสุข (health care provider reporting)

วัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังทางด้านวิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อม

การเฝ้าระวังทางวิทยาการระบาดมีความมุ่งหมายที่จะทราบถึงแนวโน้มของการเกิดโรคเพื่อที่จะได้นำไปสู่การสอบสวนโรคและการหาแนวทางการ ควบคุมและป้องกันมิให้เกิดโรคต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงลักษณะการดำเนินของโรค (natural history of disease) ลักษณะทางวิทยาการระบาดของโรค นอกจากนี้ระบบการเฝ้าระวังโรคยังช่วยในการประเมินผลการควบคุมและป้องกันโรคที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และยังช่วยให้ทราบถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง หรือช่วยให้ทราบถึงสารที่ก่อให้เกิดโรคซึ่งจะได้หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสกับสารนั้น อย่างไรก็ตาม การที่ร่างกายได้รับสารเคมีในปริมาณที่มากผิดปรกติ แม้จะเป็นครั้งคราว เชื่อว่าอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพสามารถตรวจระบุได้ทางห้องปฏิบัติการชีววิทยา (biomarker) ซึ่งถือว่าเป็นการเฝ้าระวังโรคเช่นกัน

การเฝ้าระวังทางวิทยาการระบาดยังช่วยในการค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก การรวบรวมข้อมูลของสารเคมีอันตราย รวมทั้งกากของเสียจะช่วยให้ ทราบว่าผลกระทบต่อสุขภาพน่าจะทำอย่างไร จึงจะช่วยในการป้องกันล่วงหน้าได้ การดำเนินการเฝ้าระวังอาจจะเริ่มดำเนินการในรายที่มีการสัมผัสกับสารเคมีหรือหลังจากนั้น เช่น เหตุการณ์ของระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการดำเนินการทำการเฝ้าระวังทั่วทั้งเมือง เพื่อที่จะให้ทราบถึงภาวะการบาดเจ็บและการเสียชีวิตในระยะที่มีระเบิด และผลกระทบที่ตามมาจากการที่ประชาชนได้รับสารรังสีจากระเบิดครั้งนี้

นอกจากนี้ การเฝ้าระวังในกลุ่มที่ได้รับการสัมผัสกับสารเคมี การได้รับความรู้เกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ และพฤติกรรมที่สามารถลดความเสี่ยงของการสัมผัสสารเคมีได้ อาจกล่าวได้ว่าการเฝ้าระวังสุขภาพและการเฝ้าระวังสารอันตรายนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องตั้งแต่การเก็บ ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ชนิด ปริมาณ และระยะเวลาของการได้รับสารนั้น ๆ

การเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมช่วยกระตุ้นให้สังคมให้ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เหตุการณ์ของ “Love Canal” ในเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา และเหตุการณ์ที่เมือง Bhopal ประเทศอินเดีย เป็นตัวอย่างที่ดีของการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม การสัมผัสกับสารเคมีพบว่าในสิ่ง แวดล้อมนำไปเปรียบเทียบกับการสัมผัสของสารเคมี ในทางอาชีวอนามัย จะพบว่าระดับความเข้มของสารนั้นแตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นแง่ของอาชีวอนามัยนั้นจะมีหน่วยเป็นส่วนในล้าน (parts per million) แต่ขณะที่แง่ของสิ่งแวดล้อมจะมีหน่วยเป็นส่วนในพันล้าน (parts per billion) นั้นคือ การสัมผัสกับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมทั่วไปจะมีระดับความเข้มน้อยกว่าการสัมผัสกับสารเคมีในกรณีของอาชีวอนามัย ๑,๐๐๐ เท่า ดังนั้นหากต้องการศึกษาผลกระทบของสารเคมีต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร ต้องคำนึงถึงขนาดของประชากร ในการศึกษา (sample size) ต้องมากพอเพื่อสามารถค้นหาปัญหานั้น ๆ

การค้นหาผู้ป่วยโรคเหตุสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปอาจทำได้โดยการตรวจคัดกรองผู้ป่วย (screening program) ในสถานประกอบการ หรือในชุมชน ซึ่งอาจเป็นการตรวจร่างกายครั้งแรกที่พบผู้ป่วย ตรวจร่างกายเป็นระยะ หรือการสำรวจสุขภาพโดยหน่วยบริการสาธารณสุข เช่น การสำรวจโรงงาน การสำรวจชุมชนและตรวจสุขภาพประชาชนที่เสี่ยงต่อโรคสิลิโคสิส หรือพิษตะกั่ว โดยสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การค้นหาผู้ป่วยยังอาจทำได้จากการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาล และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวเนื่องจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งการตรวจพบผู้ป่วยด้วยวิธีใดก็ตามแล้วมีการรายงาน และจัดระบบประมวลข้อมูลจากสถานพยาบาลหลาย ๆ แห่งเข้าสู่ศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล เช่น เมื่อมีการพบผู้ป่วยภายในจังหวัด ก็จะมีระบบรายงานเข้าสู่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อการประมวล และวิเคราะห์แปลผล จากนั้นก็จะนำข้อมูลไปใช้ ประโยชน์ต่อชุมชนและนำไปสู่การสำรวจชุมชนเพื่อหามาตรการป้องกัน มิให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

รูปแบบของการเฝ้าระวังโรคเหตุสิ่งแวดล้อม

ก. การเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ (health effect surveillance)

หมายถึงการเฝ้าระวังเกี่ยวกับสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บของประชาชน แหล่งข้อมูลที่นำมาประกอบในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้แก่ข้อมูลจากการ รายงานการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ที่มีการรายงาน ตามระบบรายงานของกองระบาดวิทยา ข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ ข้อมูลการตรวจทางชีวภาพ ข้อมูลใบมรณะ บัตรหรือข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ

การเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ พบว่าปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลกระทบจากสารเคมีที่นิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้เด็กนักเรียน และประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนจากสารเคมีที่ได้รับ (ปี ๒๕๔๐) หรือ ปัญหาของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๙) ที่มีผลทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการหายใจ นอกจากนี้ยังมีรายงานของผลกระทบต่อร่างกายจากภาวะไฟไหม้ป่าที่พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี ๒๕๔๑ และ ไฟไหม้ป่าที่ประเทศอินโดนีเซีย (ปี ๒๕๔๐) รวมไปถึงเมื่อครั้งเกิดไฟไหม้คลังสินค้าที่ประกอบด้วยสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตย (ปี ๒๕๓๔) และภัยวิบัติที่เกิดจากไฟไหม้บนถนนจากอุบัติเหตุของรถบรรทุกก๊าซ (ปี ๒๕๓๕) ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิตและพิการมากกว่า ๑๐๐ ราย เป็นต้น เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ นับเป็นตัวอย่างของการเกิดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของร่างกาย และจิตใจ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทั้งในภาวะปัจจุบันและเรื้อรัง รวม ถึงความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลต่าง ๆ ยังไมมีการรวบรวมไว้ มีแต่เพียงการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือหน่วยงานที่สนใจในบาง เรื่องเป็นบทเรียนที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ในการวางแผนควบคุมป้องกันโรค หรือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

กลุ่มโรคทางด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเป็นปัญหาของประเทศ ได้แก่ โรค สิลิโคสิส กลุ่มโรคพิษโลหะหนัก (ตะกั่ว สารหนู ปรอท แมงกานีส) กลุ่มโรคพิษตัวทำละลาย (เบนซีน โทลูอิน) กลุ่มโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช (pesticide poisoning) และโรคหูตึงเหตุเสียง (noise induced hearing loss) เป็นต้น

ข. การเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม (hazard surveillance)

เป็นการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามดูระดับ หรือลักษณะของสิ่งคุกคามที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจจะดำเนินการโดยการวัดปริมาณของสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่นการวัดปริมาณสารเคมีในอากาศ ผลเหล่านี้จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการควบคุมและป้องกันปัญหาทางสุขภาพได้

ประโยชน์ของการเฝ้าระวังโรคเหตุสิ่งแวดล้อม

๑. ช่วยให้ทราบถึงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคนงานแล้วยังมีประโยชน์ในการค้นหาโรคในที่อยู่ ในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้ป่วย (case identification) เช่น การพบผู้ป่วยด้วยโรคสิลิโคสิสหนึ่งราย น่าจะนำไปสู่การตรวจคัดกรองเพื่อนร่วมงานในชุมชน เดียวกันกับผู้ป่วยเพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือ การรักษาและควบคุมป้องกันมิให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อไป

๒. ทราบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโรคภัยไข้เจ็บตามเวลา ซึ่งจะช่วยประเมินได้ว่า ระบบควบคุมป้องกันในสถานที่ทำงานนั้นได้ผลหรือดีพอ แล้วหรือไม่ ถ้าพบว่าอัตราการบาดเจ็บป่วย หรือยังมีประวัติการสัมผัสต่อสิ่งคุกคามในชุมชนอยู่ แสดงว่าประชาชนมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากสิ่ง แวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือชุมชน และการควบคุมป้องกันต่อไป

๓. ทราบถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง (population at risk) ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ทราบถึงประเภทของกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ระยะเวลา/ช่วงเวลาที่เกิดรวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วย

๔. ช่วยในการสร้างสมมติฐาน (formulating hypothesis) เกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน เพื่อนำไปสู่การสอบสวนหาสาเหตุ หรือการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

๕. การนำข้อมูลการเฝ้าระวังไปใช้ในการดำเนินงานสาธารณสุข ได้แก่

(๑) การสอบสวนและควบคุมโรค

เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรือสิ่งคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มาตรการที่สำคัญมาก คือ การสอบสวนหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และหาสาเหตุของการเกิดโรคและมิให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคพิษตะกั่วในชุมชนควรนำไปสู่การสำรวจชุมชน เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง และหาสาเหตุของการได้รับสารตะกั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการตรวจร่างกาย และตรวจระดับตะกั่วในเลือดของประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การรักษาและหาทางแก้ไข และป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น

(๒) การวางแผนงานสาธารณสุข

ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังจะเป็นข้อมูลที่ผู้บริหารงานสาธารณสุขนำไปใช้ประกอบการวางแผนงานสาธารณสุข การดูขนาดปัญหาจากโรคต่าง ๆ หรือองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรค ดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการกระจายตามบุคคล เวลา สถานประกอบการ จะช่วยผู้บริหารในการจัดลำดับปัญหา การตัดสินใจการวางแผนงานสาธารณสุข และการจัดสรรทรัพยากรเป็นต้น

(๓) การประเมินผลการป้องกันและควบคุมโรค

ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังช่วยบอกสถานการณ์ภายหลังที่มีการดำเนินการสาธารณสุข แล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงในอัตราการเกิดโรค และยังมีสิ่งคุกคามที่ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือไม่ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการประเมินว่ามาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาได้ผลดีหรือไม่

(๔) กระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัย

ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อชุมชน ภายหลังการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง อาจพบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในการกระจายของโรคหรือการเกิดโรค ที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดข้อมูลที่ได้มาจะช่วยสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับการเกิดโรคขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการศึกษาวิจัยต่อไป เช่น ผลกระทบจากสารเคมีที่นิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งต่อมานำไปสู่การศึกษามากมายเพื่อพิสูจน์สมมติฐานเหล่านั้น

ขณะเดียวกัน การสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม พบบ่อย ๆ ว่าได้รับโดยการบริโภค คือ มีการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำหรืออาหาร โดย การหายใจ หรือผ่านทางผิวหนัง ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างจากด้านอาชีวอนามัย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับโดยการหายใจไอระเหยของสารเคมี และจากการสัมผัส ทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่บอกได้ค่อนข้างยาก คือ ระยะเวลาของการเกิด ปริมาณของการได้รับจากสารเคมี รวมทั้งระยะเวลาของการสัมผัสกับสาร นั้นในสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานการเฝ้าระวังโรคเหตุสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วย ๖ ขั้นตอน

๑. ระบุโรค (identifying the disease)

๒. ระบุกลุ่มประชากร (identifying the population)

๓. ระบุการดำเนินโรค (identify disease outcome) เพื่อให้ใด้สิ่งที่จะเป็นตัวบอกขนาดโรค

๔. ระบุระบบการบริหารจัดการกับข้อมูล

๕. ดำเนินการควบคุมกำกับสภาวะสิ่งแวดล้อม

๖. ทำการวิเคราะห์ข้อมูล

การดำเนินการ ใช้ข้อมูลจากวิธีต่าง ๆ ดังนี้

๑. ผลการตรวจคัดกรองทางสุขภาพ

๒. โครงการเฝ้าคุมเฝ้าระวังที่กำหนดเป็นโครงการพิเศษ

การใช้ข้อมูลการรายงานโรคจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

๓. ข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล

๔. จากการร้องเรียน หรือการรายงานโรคโดยตรงจากกลุ่มบุคคลที่เสี่ยง

๕. ข้อมูลการเฝ้าคุมทางชีววิทยา

๖. ผลการสำรวจสถานะทางสุขภาพของประชาชนในระดับชาติ

๗. ข้อมูลจากระบบการเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม หรือการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม

สรุป

การเฝ้าระวังด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะให้ข้อมูลในการวางแผน เป็นแนวทางในการควบคุม ป้องกัน รวมถึงการประเมินผลโครงการทางด้าน สาธารณสุข ช่วยให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มต้นได้

 

 

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า