สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะตั้งครรภ์

จากคัมภีร์ประถมจินดาตามหลักการแพทย์แผนไทยว่าด้วยครรภ์รักษา เป็นการรักษาครรภ์ของหญิงที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 1-10 เดือน เป็นการปฏิบัติตัวของคนไทยในระยะตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของหญิงมีครรภ์ มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งในสมัยโบราณก็มีการปฏิบัติตัวในระยะดังกล่าวสืบต่อกันมาช้านาน

ขณะตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างไรบ้าง
ในระยะต่างๆ ของการตั้งครรภ์ จะก่อให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย เพื่อให้มีสภาวะแวดล้อมในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม และไม่ถือว่าเป็นความเจ็บป่วยจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจเกิดปัญหาหรือเกิดพยาธิสภาพที่เป็นอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์ได้ หากหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถปรับตัวได้

การเปลี่ยนแปลงด้านสรีรภาพและกายภาพ
ส่วนใหญ่จะมีผลมาจากฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งจะทำให้ระบบต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของระบบอวัยวะสืบพันธุ์
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ดังนี้

1. อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและช่องคลอด
จากอิทธิพลการกระตุ้นของฮอร์โมน จึงส่งผลให้บริเวณอุ้งเชิงกรานมีเลือดมาหล่อเลี้ยงและเกิดการคั่งมากขึ้น ทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก รวมทั้งผิวหนังและกล้ามเนื้อฝีเย็บขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ผิวเยื่อบุผนังช่องคลอดเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีม่วง

2. ปากมดลูก
ปากมดลูกจะมีสีคล้ำและนุ่ม จะมีการผลิตมูกเหนียวมาครอบคลุมเป็นจำนวนมาก ปากมดลูกจะสั้นและบางลงเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด และในระหว่างที่เจ็บครรภ์คลอด

3. มดลูก
จากอิทธิพลของฮอร์โมนจะทำให้มดลูกมีขนาด รูปร่าง และน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไป มดลูกจะมีการขยายเพิ่มความจุได้มากขึ้นประมาณ 1,000 เท่า และน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เท่า การเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของมดลูกเมื่อครบกำหนดคลอด อาจทำให้เกิดการปวดหลังของหญิงตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเอ็นกล้ามเนื้อมดลูกมีการยืดตัว

4. เต้านม
เพื่อเตรียมพร้อมที่จะผลิตน้ำนม ทำให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น จากการขยายของเส้นโลหิต ทำให้มีโลหิตมาคั่งมากขึ้น และต่อมเต้านมมีการเจริญเติบโต

5. เอ็นยึดข้อต่อของกระดูกและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
มีการยืดขยายและนุ่มกว่าเดิม เพื่อให้ขณะคลอดมีการขยายใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดเมื่อและเดินไม่ถนัด

การเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต
ในระยะตั้งครรภ์จะมีการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับให้หญิงมีครรภ์และทารกมีระดับการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นตามความต้องการ

ระบบทางเดินหายใจ
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ระบบนี้จะทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอตามความต้องการ ทรวงอกจะขยายออกทางด้านข้างเนื่องจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปดันเบียดกระบังลมให้สูงขึ้น ปอดมีความจุเพิ่มมากขึ้น ทำให้เส้นเลือดและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมเกิดการคลายตัวจากผลของฮอร์โมน เมื่อหญิงมีครรภ์ต้องการให้ได้ออกซิเจนอย่างเพียงพอจึงมักจะหายใจเร็วและแรงขึ้น และการหายใจจะเปลี่ยนจากหายใจด้วยหน้าท้องมาเป็นหน้าอกแทนหลังจากตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ ในเดือนท้ายๆ จึงทำให้หายใจได้ลำบาก แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนคลอดท้องก็จะลดลงทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น

ระบบทางเดินปัสสาวะ
อาจพบน้ำตาล ครีตินิน และกรดยูริกถูกขับออกมากับปัสสาวะได้ เนื่องจากจะมีเลือดผ่านไตมากขึ้น ไตมีการกรองเพิ่มขึ้น แต่มีการดูดกลับลดลง และเนื่องจากมีฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนมากระตุ้นให้มีการดูดซึมโซเดียมกลับ จึงทำให้มีโซเดียมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำงานของไตจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมขึ้นอยู่กับอิริยาบถของหญิงมีครรภ์ ไตจะทำงานได้ดีขึ้นหากหญิงมีครรภ์นอนตะแคงข้างซ้าย เพราะไตจะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้มากกว่าท่านอนหงาย ท่านั่ง หรือยืน ในกระเพาะปัสสาวะของหญิงมีครรภ์จะมีปัสสาวะค้างอยู่มากขึ้นเนื่องจากการหนาตัวและมีความจุมากขึ้นของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ระบบปัสสาวะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ในการตั้งครรภ์ระยะแรกๆ มดลูกจะไปเบียดบริเวณกระเพาะปัสสาวะทำให้ปวดปัสสาวะอยู่บ่อยๆ แต่มดลูกจะขยายใหญ่พ้นช่องเชิงกรานออกไปเมื่อผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว ทำให้มีอาการปวดปัสสาวะน้อยลง แต่ในระยะใกล้คลอดก็จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยอีกครั้ง เพราะทารกจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณกระเพาะปัสสาวะมีการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองจนมีอาการยืดออกและบวม ทำให้การติดเชื้อในบริเวณนี้เกิดขึ้นได้ง่าย

ระบบทางเดินอาหาร
จากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ต่อมน้ำลายจะมีการผลิตน้ำลายออกมามากเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2-8 เดือน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่อตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ก็มักทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดขึ้น การรับประทานอาหารแปลกๆ ของหญิงมีครรภ์บางราย อาจมีสาเหตุมาจากการขาดธาตุอาหารบางอย่าง ตามความเชื่อหรือประเพณีในชุมชนนั้นๆ และเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จึงทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง จึงพบว่าหญิงมีครรภ์มักจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกได้ง่าย

ผิวหนัง

ฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างการตั้งครรภ์ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณผิวหนังด้วย เช่น จะมีสีคล้ำขึ้นที่บริเวณสะดือ หัวนม หน้า และอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เป็นฝ้าที่หน้า แต่จะหายไปหลังจากที่คลอดแล้ว และยังพบว่า มีเส้นสีน้ำตาลดำอยู่ตรงกลางหน้าท้องระหว่างหัวเหน่ากับสะดือ แม้คลอดแล้วเส้นนี้ก็ยังไม่หายไปทันที และในช่วงเดือนท้ายๆ ของการตั้งครรภ์มักจะมีอาการท้องลาย ซึ่งในครรภ์แรกจะมีลักษณะเป็นเส้นกดสีค่อนข้างแดงลงผิวหนังเล็กน้อย แต่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินในครรภ์หลังๆ ซึ่งจะพบได้ในบริเวณหน้าท้อง เต้านม และหน้าขา

ระบบโครงสร้าง
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รูปร่างและน้ำหนักตัวของหญิงมีครรภ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขนาดของมดลูกที่โตขึ้นทำให้ร่างกายมีจุดศูนย์ถ่วงเลื่อนไปข้างหน้า ทำให้หญิงมีครรภ์ต้องเดินหลังแอ่นเพราะจะพยายามแอ่นตัวมาข้างหลังเพื่อให้เกิดความสมดุลในการถ่วงน้ำหนักของมดลูก ในระหว่างตั้งครรภ์จึงอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง ชาและปวดบริเวณแขนขา รู้สึกอ่อนเพลียมาก และโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 จะมีอาการปวดหลังช่วงล่างและก้นกบ

จิตใจ
ในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปมากก็จะส่งผลต่อด้านจิตใจด้วย หญิงมีครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจโดยจะมีความกังวล หวั่นไหว ไม่มั่นใจ ตื่นเต้นและกลัวการตั้งครรภ์และการคลอด กังวลถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ การเลี้ยงดูทารกหลังจากคลอดออกมาแล้ว และอารมณ์ของหญิงมีครรภ์ก็แปรปรวนได้ง่าย ในบางขณะอาจจะสนุกสนานร่าเริง ซึมเศร้า ร้องไห้ โดยไม่มีเหตุผล และเนื่องจากรูปร่างที่เปลี่ยนไปอาจทำให้บางรายมีปัญหาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธุ์กับสามี เพราะกลัวว่าทารกในครรภ์จะได้รับอันตราย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตสังคมของหญิงตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สถานภาพและบทบาทอาจก่อให้เกิดความเครียดแก่หญิงตั้งครรภ์เอง หรือต่อสามี บุตร และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วย จึงนับเป็นช่วงหนึ่งของภาวะวิกฤตทางวุฒิภาวะในครอบครัว มีปัจจัยอยู่หลายประการที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวปรับตัวได้ดี เช่น สภาพอารมณ์ ประสบการณ์ กลไกการแก้ปัญหา วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อและการยอมรับการตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์
เป็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญ ในหญิงตั้งครรภ์จะมีอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงการตั้งครรภ์ในทุกระยะ การเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะมีมากหรือน้อยในหญิงตั้งครรภ์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

1. ระยะไตรมาสแรก
จะรู้สึกว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและไม่แน่ใจว่าตนเองมีการตั้งครรภ์หรือไม่ จะรู้สึกแปลกใจเมื่อตนเองตั้งครรภ์เนื่องจากมีการวางแผนการตั้งครรภ์ไว้เป็นอย่างดีแล้ว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นอาจรู้สึกว่าเป็นสิ่งเหลือเชื่อ อาจรู้สึกว่ายังไม่พร้อมจะมีบุตรจากเหตุผลด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว การวางแผนอาชีพ เศรษฐกิจ การหาคนช่วยเหลือ ตื่นเต้นและกลัวบทบาทใหม่ที่จะต้องรับ กลัวการตั้งครรภ์ การเจ็บครรภ์ การคลอด หญิงตั้งครรภ์จึงปฏิเสธการตั้งครรภ์ด้วยมีความรู้สึกเหล่านี้ และมีแนวโน้มในการทำแท้งหรือหวังให้แท้งบุตรเองถ้าหญิงนั้นไม่ต้องการบุตร บางครั้งความรู้สึกนี้อาจมีการระบายและแสดงออกมาโดยตรง แต่อาจแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ ในบางครั้ง เช่น มีอาการซึมเศร้า เงียบเฉย คลื่นไส้ อาเจียน หรือบ่นถึงความไม่สุขสบายต่างๆ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ในระยะนี้จะต้องการกำลังใจ การปลอบโยน และยืนยันให้มีความแน่ใจถึงความรู้สึกนี้ ให้รู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ให้เกิดการยอมรับ การสังเกตตนเองเพื่อยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์จริงจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น มีรอบเอวเพิ่มขึ้น เต้านมขยายขึ้น และความไม่สุขสบายจากอาการแพ้ท้องก็สามารถใช้ยืนยันได้เช่นกัน ส่วนใหญ่หญิงมีครรภ์ในระยะไตรมาสแรกมักจะนึกถึงตนเองและการตั้งครรภ์เท่านั้น ส่วนเรื่องทารกในครรภ์ยังไม่ได้นึกถึง

2. ระยะไตรมาสที่ 2
อาการแพ้ท้องจะทุเลาลงเมื่อเริ่มเข้าไตรมาสที่ 2 และจะหายไปในที่สุด แนวโน้มของการแท้งมีลดลง จะยอมรับการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น แม้ว่ารูปร่างยังเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็จะเริ่มใส่ชุดคลุมท้อง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงภาวะตั้งครรภ์ และบางคนก็เริ่มจัดหาของใช้สำหรับบุตรแล้ว ในช่วงไตรมาสที่ 2 ทารกในครรภ์จะมีการดิ้นเป็นครั้งแรก ทำให้หญิงตั้งครรภ์ยอมรับทารกในครรภ์มาขึ้น ทำให้มีความสุขและตื่นเต้นกับการตั้งครรภ์ การปรับความคิดและเตรียมรับบทบาทใหม่ของหญิงตั้งครรภ์ก็เริ่มต้นขึ้น ความสัมพันธ์กับสามี ครอบครัวและเพื่อนๆ ก็เกิดขึ้นใหม่ จะเริ่มจินตนาการถึงลักษณะของทารกในครรภ์ว่ามีรูปร่าง หน้าตา อย่างไร เป็นเพศใด ต้องการเห็นบุตรในครรภ์ มีการหาข้อมูลจากคนรอบข้างเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และจะสังเกตครรภ์ที่มีการขยายขนาดเพิ่มขึ้น

3. ระยะไตรมาสที่ 3
หญิงตั้งครรภ์จะเริ่มกลัวและวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการคลอด เช่น กลัวเจ็บ กลัวการผ่าตัด กลัวว่าขณะคลอดจะได้รับอันตราย กลัวการอยู่โรงพยาบาล หรือกลัวไม่ได้บุตรตามที่ต้องการ เป็นต้น แต่อาจรู้สึกภูมิใจที่ได้รับสิทธิพิเศษจากสังคมในบางครั้ง เช่น เมื่อขึ้นรถประจำทางจะมีคนคอยช่วยเหลือหรือลุกให้นั่ง หรือมีคนช่วยถือของให้ เป็นต้น ความสุขสบายของหญิงตั้งครรภ์อาจลดน้อยลงเมื่อใกล้กำหนดคลอด ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ ต้องการให้คลอดก่อนกำหนด ความรู้สึกไม่ยอมรับบุตรในหญิงตั้งครรภ์ระยะนี้จะมีน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย แต่กลับวิตกกังวลว่าบุตรได้รับอันตราย ทำให้ในระยะนี้หญิงตั้งครรภ์มักไม่ออกไปไหนถ้าไม่จำเป็น และมักจะใช้เวลาในการเตรียมห้อง ที่นอน ทำความสะอาดบ้าน และตั้งชื่อให้บุตร เสียเป็นส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงด้านภาพลักษณ์ของหญิงตั้งครรภ์
เป็นภาพในจิตใจของบุคคลที่มีต่อร่างกายของตนเอง เกิดการรับรู้เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ การทำหน้าที่ และศักยภาพของร่างกาย ซึ่งภาพลักษณ์จะเปลี่ยนไปตามร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง การได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ตลอดจนปฏิกิริยาของบุคคลในสังคมและสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น ภาพลักษณ์ที่ดีจะทำให้มีความภาคภูมิใจ ยอมรับคุณค่าของตนเอง การติดต่อกับผู้อื่นก็จะมีความมั่นใจและลดความวิตกกังวลไปได้ องค์ประกอบของภาพลักษณ์จะมีทั้งด้านสรีรวิทยาและสังคมวิทยา เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม ซึ่งในแต่ละระยะของการตั้งครรภ์ภาพลักษณ์ของหญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. ระยะไตรมาสแรก
หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังปรากฏการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ชัด ดังนั้น ในระยะนี้หญิงตั้งครรภ์จึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านภาพลักษณ์เกิดขึ้นไม่มาก

2. ระยะไตรมาสที่ 2
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะมากขึ้นในระยะนี้ เช่น จะมีการขยายใหญ่ขึ้นของหน้าท้องและเต้านม เริ่มรู้สึกว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง บางคนอาจปฏิเสธต่อรูปร่างที่เปลี่ยนไป รู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของตนเอง แต่ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวไม่คงที่ และจะรู้สึกดีต่อร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อยอมรับความจริงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แล้ว บางคนการตั้งครรภ์ทำให้สามี ผู้ใกล้ชิดและสังคม เอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ จึงรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น

3. ระยะไตรมาสที่ 3
ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์บางคนอาจเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น หน้าท้อง เต้านมขยายและต้องการเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของสรีรวิทยาในด้านต่างๆ เช่น มีฝ้าบนใบหน้า ผิวหนังหน้าท้องและเต้านมแตกลายจนเกิดความอับอาย ทำให้มีความรู้สึกต่อภาพลักษณ์ของตนเองในด้านลบ จะเห็นว่า ภาพลักษณ์ในระยะตั้งครรภ์แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ก็ทำให้เกิดความเครียดแก่หญิงตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมรับการตั้งครรภ์ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการบุตรและยอมรับการตั้งครรภ์จะภาคภูมิใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้รู้สึกต่อภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านบวก และมีการปรับตัวไปในทางที่ดีสำหรับการเป็นมารดา

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า