สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเตรียมน้ำกระสายยา

ยาไทยนั้นมีวิธีการเตรียมน้ำกระสายที่แตกต่างกัน จากเภสัชวัตถุต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ก่อนนำมาทำน้ำกระสายยาก็ควรล้างให้สะอาดเสียก่อน วิธีทั่วไปที่ใช้เตรียมน้ำกระสายยามีดังนี้

1. การต้มหรือแช่เภสัชวัตถุในน้ำหรือในเหล้า ควรต้มด้วยน้ำสะอาด สมุนไพรที่ใช้อาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกันในสัดส่วนต่างๆ ก็ได้ เช่น น้ำต้มรังนก น้ำต้มขิง เป็นต้น

2. การบีบหรือคั้นน้ำจากแหล่งกำเนิดที่มีน้ำสะสมอยู่มาก ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ ในสัตว์เช่น น้ำนมคน น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำผึ้ง จากพืชเช่น น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำส้มซ่า น้ำมะงั่ว

3. การฝนเภสัชวัตถุบางชนิดกับน้ำซาวข้าวหรือน้ำสะอาด มักใช้กับเภสัชวัตถุที่แข็งมาก เช่น เขี้ยว งา นอของสัตว์ต่างๆ หรือน้ำฝนสมุนไพรของพิกัดยาบางจำพวก เช่น สัตตเขา(เป็นเขาสัตว์ 7 อย่าง มีสรรพคุณถอนและดับพิษ๗ เนาวเขี้ยว(เป็นพวกเขี้ยวสัตว์ 9 อย่าง มีสรรพคุณแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ ดับพิษ) แพทย์โบราณจะฝนเขาและเขี้ยวอย่างละเล็กอย่างละน้อยในพิกัดยานั้นมาผสมรวมกัน เพื่อใช้ผสมกับยาอื่นอีกที หรือนำไปใช้เป็นน้ำกระสายยาก็ได้

4. การละลายน้ำมันหอม หรือน้ำมันระเหยง่ายในน้ำสุกหรือน้ำร้อน เป็นการหยดลงไปในน้ำร้อนหรือน้ำสุกโดยตรง แล้วเขย่าให้เข้ากัน เช่นพวกน้ำดอกมะลิ น้ำมันดอกยี่สุ่น น้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่น น้ำมันโหระพา น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันแฝกหอม เป็นต้น หรืออาจใช้กลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอบในน้ำสุก เช่น ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกลำดวน ดอกลำเจียก เป็นต้น

5. การละลายเครื่องยาบางชนิดที่บดเป็นผงละเอียดแล้วในน้ำร้อนหรือน้ำสุก มักเป็นเครื่องยาที่ใช้ในปริมาณเล็กน้อย เนื่องจากมีความเข้มข้น หรือราคาแพงมาก เช่น หญ้าฝรั่น อำพันทอง การบูร พิมเสน ดีจระเข้ ดีหมี เป็นต้น

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า