สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเกิดของเด็ก

ได้มีการอธิบายถึงระยะเริ่มการกำเนิดโลกมนุษย์ในคัมภีร์ประถมจินดา โดยเชื่อว่า เมื่อจะตั้งแผ่นดินใหม่โลกฉิบหายด้วยเพลิงประลัยกัลป์ ไหม้ฟ้าไหม้แผ่นดินภูเขาพระสุเมรุ สิ้นแล้วบังเกิดฝนห่าใหญ่ตกลงมาถึง 7 วัน 7 คืน แลน้ำท่วมขึ้นไปถึงชั้นพรหม เกิดดอกอุบล 5 ดอกทำนายว่า จะบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ เกิดน้ำค้างเปือกตมตกลงมา 7 วัน 7 คืน แล้วก็เป็นสนับข้นเข้า ดุจดังสวะอันลอยอยู่เหนือหลังน้ำ โดยหนาได้ 2 แสน 4 หมื่นโยชน์ พระอิศวรผู้เป็นเจ้าเธออาราธนาพรหม 2 องค์ ทรงนามว่าพรหมจารีลงมากินง้วนดิน ครั้นกินแล้วก็ทรงครรภ์ คลอดบุตรได้ 12 คน อันพวกนี้เกิดด้วยครรภ์ปรามาส คือว่าเอามือลูบนาภีก็มีครรภ์เกิดบุตรแพร่หลายไปทั้ง 4 ทวีป แตกเป็นภาษาต่างๆ กัน แต่ชมพูทวีปเรานี้เป็นกามราคะ ส้องเสพเมถุนสังวาส จึงมีครรภ์นั่นคือ จินตนาการการเกิดของมนุษย์คู่แรกในโลกและสืบเผ่าพันธุ์ต่อมา

เมื่อกุมารกุมารีที่อยู่ในครรภ์ครบ 10 เดือน ก็มีลมกัมมัชวาต พัดเส้นและเอ็นที่รัดตัวกุมารไว้ ให้กลับศีรษะลง เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี ก็คลอดออกจากครรภ์มารดา

ลมกัมมัชวาต คือลมที่เบ่งบีบให้เด็กออกมา อุปไมยว่าเหมือนตกจากที่สูงประมาณร้อยชั่วบุรุษ มีความสะดุ้งตกใจกลัว มีความเจ็บปวดเหมือนช้างตัวใหญ่ถูกควาญขับไล่ให้ออกทางช่องประตูแคบๆ จึงทำให้ทารกเกิดโรคต่างๆ เพราะถูกข่มขี่ด้วยกำลังจากหมอ ผดุงครรภ์ และแม่มด เส้นเอ็นและกระดูกของทารกที่ยังอ่อนอยู่ก็เกิดการคลาดเคลื่อน

ผู้แต่งคัมภีร์ได้แปลมาจากภาษาบาลีอีกที ซึ่งได้กล่าวถึงความแตกต่างของปุถุชนและโพธิสัตว์ จะมีความทุกข์ทรมานมากเมื่อคลอด เปรียบเหมือนช้างตัวโตที่ถูกควาญช้างขับให้ออกจากช่องแคบ ความรู้สึกที่อยากทดแทนคุณมารดาขณะอยู่ในท้องก็ลืมไปสิ้นเพราะความกลัว และลมกัมมัชวาตก็บีบอัดอย่างแรงในขณะคลอดทำให้กระดูกและเส้นเอ็นคลาดเคลื่อน

โรคภัยของทารกแรกเกิด ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการคลอด และการกด ข่ม ของผู้ที่ทำคลอดให้ในกรณีที่คลอดยาก แต่ในปัจจุบันการคลอดจะเป็นไปตามปกติได้ด้วยการใช้เครื่องมือช่วยให้ทารกออกมาได้อย่างปลอดภัย เช่น การใช้คีม เครื่องดูด หรือการผ่าตัด

ข้อสังเกตของโบราณก็มีเหตุผลคือ เมื่อคลอดออกมาแล้วมีการสำลักเลือดหรือน้ำคร่ำ หากมีการอาเจียนออกมาก็จะดี แต่ถ้ากลืนลงคออาจทำให้เกิดโรคได้

วิธีกระตุ้นให้เด็กแรกคลอดร้องมีดังนี้
ถ้าทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา โดยคว่ำออกมาและร้องขึ้น ถ้าทารกอาเจียนโลหิตที่อมออกจากปากเท่าไข่แดงของไข่ไก่ ทายว่าทารกนั้นจะเลี้ยงง่าย มีโรคน้อย ไม่ค่อยมีตานซาง จะมีบ้างเป็นปกติเมื่อโตขึ้น เมื่อมีโรคก็สามารถรักษาได้ง่าย

ถ้าทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา โดยหงายออกมาและร้องขึ้น และโลหิตที่อยู่ในปากก็ถูกกลืนลงไปในท้อง ทายว่าทารกนั้นจะเลี้ยงยาก จะเกิดโรคต่างๆ เป็นเขม่าตานซาง มีโรคมาก เมื่อนานเข้าก็จะกลายเป็นโรคหิดและฝีต่างๆ ให้เป็นตานซาง ม้าม กษัย ท้องรุ้ง พุงมาร เป็นฝีภายใน 5 ประการ โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะโลหิตโทษที่ทารกกลืนเข้าไปนั่นเอง

ถ้าทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา โดยตะแคงออกมาไม่ว่าจะเป็นทางซ้ายหรือขวา โลหิตที่อยู่ในปากอาจออกมาบ้างหรืออาจตกลงท้องบ้าง ทายว่าทารกนั้นจะมีโรคภัยปานกลาง และเลี้ยงไม่ยากไม่ง่ายนัก

ถ้าทารกที่คลอดออกจากครรภ์มารดา ไม่ว่าจะคว่ำหงาย หรือตะแคงซ้ายขวาก็ดี แต่กลับไม่ร้องออกมายังหายใจมีชีวิตอยู่ ก็ให้คว่ำตัวทารกนั้นลงก่อนแล้วจะทำให้ร้องขึ้น ถ้ายังไม่ร้องให้พ่นด้วยหัวหอมและเปราะหรือไพลเมื่อร้องขึ้นและทำให้โลหิตออกจากปากได้ ก็จะไม่มีโรคภัย

แต่ในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับน้ำคร่ำที่ปนกับอุจจาระของทารก เพราะถ้าเด็กสำลักเข้าปอดจะทำให้ปอดบวม และมีปัญหาการอักเสบของหลอดลมได้ ดังนั้น เมื่อคลอดทารกออกมา ในปัจจุบันจึงรีบดูดเอาน้ำและสิ่งที่ค้างในปากและจมูกเด็กออกทันทีตั้งแต่ไม่ได้ตัดสายสะดือ เพื่อไม่ให้เกิดการสำลักขึ้น โบราณทราบว่าน้ำคร่ำที่เด็กสำลักเข้าไปจะเกิดโทษกับเด็ก ทำให้มีการเจ็บป่วย เลี้ยงยาก ในสมัยโบราณจะกระตุ้นเด็กด้วยการให้นอนคว่ำ แต่ปัจจุบันใช้วิธียกขาขึ้นแล้วห้อยศีรษะลงและตบเบาๆ ที่ก้น

ถ้าเป็นทารกที่คลอดยาก อาจเป็นเพราะหมอไม่รู้ถึงเวลากำหนดคลอด และไม่รู้วิธีแก้ไข จึงทำให้คลอดแบบขวางลำตัวออกมา ทำให้คอของทารกเคล็ด หรือบางทีก็ทำให้กระทบกับฟาก เมื่อโตขึ้นมักทำให้เป็นฝีที่คาง ที่ฟองดัน และที่คอ ฝี 3 ประการนี้บางครั้งก็เป็นตั้งแต่ยังเด็ก บางครั้งจะเป็นเมื่อมีอายุได้ 15,20,30 ปี และมักทำให้เป็นฝีเอ็น ฝีประคำร้อย ฝีคันทมาลา ฝี 3 ประการนี้เกิดจากการชอกช้ำเมื่อคลอดจากครรภ์มารดา

เด็กอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ถ้าคลอดยาก เช่น มีเลือดออกที่สมอง มีปัญหาที่แขน หรือกระดูกซี่โครง ซึ่งโบราณก็พบว่าเด็กจะมีสุขภาพไม่ดีเมื่อต้องถูกข่มหรือดันออกเมื่อคลอดยาก เช่นทำให้เกิดฝีหนอง ฝีประคำร้อย ซึ่งหมายถึง วัณโรค สมัยก่อนมักเป็นโรคนี้กันมากถ้าร่างกายอ่อนแอ

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า