สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การออกฤทธิ์ของยา

การเกิดโรค หรืออาการผิดปกติในร่างกาย อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายไม่ปกติ หรือเกิดจากสิ่งแปลกปลอมภายนอกเช่น เชื้อโรค หรือสารเคมีเข้ามาในร่างกาย แล้วทำให้การทำงานผิดปกติ ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ยาเพื่อกำจัดต้นตอของความผิดปกติ หรือส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้เข้าสู่สภาวะปกติ ยาที่ให้จะทำปฏิกิริยากับของ 2 สิ่งคือ

1. ร่างกาย

2. สิ่งแปลกปลอม

ยาที่ทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นเชื้อโรคโดยตรงได้แก่ ยาฆ่าเชื้อโรค ยาปฏิชีวนะ ซัลฟา ยาจะทำลายเชื้อโรคด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เพนิซิลลิน ฆ่าเชื้อโรคโดยการยับยั้งการสร้างผนังเซล ทำให้เชื้อโรคนั้นตาย ซัลฟาออกฤทธิ์โดยรบกวนการสังคราะห์สารที่จำเป็น ในการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย (ยาบางตัวเพียงแต่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเท่านั้น ร่างกายเราต้องทำการกำจัดเชื้อโรคออกอีกที) ควินินใช้รักษามาเลเรียโดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของปาราสิต (ที่มาจากยุงก้นปล่อง) ยาที่มีผลต่อสิ่งเเปลกปลอมนก็ย่อมจะมีผลและอันตรายต่อร่างกายของเราด้วย

ยาอาจออกฤทธิ์อีกแบบคือเปลี่ยนแปลงอัตราการทำงานของร่างกาย โดยลักษณะการทำงานของร่างกายยังเหมือนเดิมเพียงแต่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น

ยาที่ให้แก่ร่างกายนี้มิได้มีฤทธิ์เพียงอย่างเดียว ฤทธิ์ของยาเกิดได้ทั่วร่างกายมิได้เฉพาะเจาะจงที่ระบบใด ระบบหนึ่ง เช่น แมกนีเซียมซัลเฟตถ้าใช้กิน ส่วนใหญ่ไม่มีการดูดซึมจึงใช้เป็นยาระบาย ส่วนน้อยจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะมีผลต่อหัวใจ และหลอดเลือด ทำให้ความดันลด ดังนั้นเวลาจะให้ยาใดๆ ต้องคำนึงถึงฤทธิ์ของยานั้นทั้งหมด และ ฤทธิ์ที่เราต้องการให้เกิด และให้ยาให้ถูกทาง

ก่อนที่ยาจะมีผลต่อร่างกาย ยาต้องไปถึงตำแหน่งออกฤทธิ์ บางครั้งยาจะออกฤทธิ์ตรงจุดที่ให้ยาเลย เช่นยาหยอดจมูก, ยาขยายม่านตา, ยาชาเฉพาะที่, ยาบางกลุ่มต้องมีการดูดซึมเข้ากระแสโลหิตก่อน แล้วจึงถูกพาไปยังตำแหน่งออกฤทธิ์ เช่น มอร์ฟีนจะออกฤทธิ์ที่สมอง เป็นการออกฤทธิ์โดยตรง แต่ยาบางชนิดจะไปออกฤทธิ์กระตุ้น อวัยวะหนึ่งให้หลั่งสารมาเพื่อจะไปมีผลกับอีกอวัยวะหนึ่ง

ทฤษฎีการออกฤทธิ์ของยา (กลไกการออกฤทธิ์)

เนื่องจากยาหลายชนิดสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างน่าทึ่งในขนาดที่ใช้น้อยมาก จึงมีการตั้งทฤษฎีขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายกลไกเหล่านี้โดยเชื่อว่ายาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ได้ต่อเมื่อยานั้นไปจับกับ “ตัวรับ” (Receptor) บนผนังเซลได้พอดี แล้วก่อให้เกิดขบวนการต่างๆ เป็นขั้นๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอ็นซัยม์ หรือทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ทฤษฎีนี้สามารถใช้อธิบายการทำงานของยาได้หลายชนิดเช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาขยายหลอดลม, อินซูลิน

ยังมีกลไกการทำงานของยาอีกหลายชนิดไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาการจับของยากับ “ตัวรับ” ยาเหล่านี้ได้แก่ ยาลดกรด, ยาถ่าย, ยาสลบ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า