สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การสะกดจิต

การสะกดจิต (Hypnosis) เป็นเรื่องที่มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่สับสนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในจิตวิทยา สาเหตุเนื่องจากผู้อยู่ในวงการสะกดจิตมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักแพร่ลัทธิศาสนา และนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ต้องการค้นหาความรู้ที่มีความเที่ยง และมีความตรง

นักแพร่ลัทธิศาสนาต้องการเผยแพร่ความเชื่อของกลุ่มตน มีการตีความปรากฎการณ์ต่างๆ ตามความเชื่อนั้นๆ ส่วนนักแสดงต้องการประทับใจคนดู ถึงกับมีการหลอกลวงเพื่อสร้างความน่าทึ่งในทันทีทันใด

1. กระบวนการสะกดจิต ในการสะกดจิต โดยทั่วไปจะประกอบด้วยผู้สะกดกับผู้ถูกสะกด ผู้สะกดจิตเป็นผู้บอกอย่างช้าๆ เนิบๆ ให้ผู้ถูกสะกดทำตามคำบอกของตนเป็นขั้นๆ และผู้ถูกสะกดจะต้องทำตามคำบอกตลอดเวลา ผู้ที่ไม่ทำตามเนื่องจากต้องการลองดีหรือมีความ สงสัยในกระบวนการสะกดจิตก็ไม่อาจจะถูกสะกดได้ เมื่อให้ผู้ถูกสะกดนั่งที่เก้าอี้เรียบร้อยแล้ว คำบอกเพื่อสะกดจิตอาจเป็นดังนี้

“คอยฟังคำบอกของผมและคอยทำตามไปเรื่อยๆ   คอยฟังคำบอกของผมและคอยทำตามไปเรื่อย ๆ…. นั่งพิงพนัก ยืดแขนขาให้สบาย        ยืดแขนขาให้สบาย     หลับตา หลับตาเพียงเบาๆ หลับตาเพียงเบาๆ รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกผ่อนกลาย ไม่คิดถึงสิ่งใดเลย นอกจากฟังคำบอก และคอยทำตาม     ” ผู้ถูกสะกดจะต้องทำตามและรู้สึกตามคำบอกทุกขั้นตอน บอกให้พิงพนักก็พิงพนัก บอกให้ยืดแขนขาก็ยืดแขนขา บอกให้หลับตาก็หลับตา ต่อจากนั้นผู้สะกดอาจบอกต่อไปว่า

“รู้สึกว่ากล้ามเนื้อผ่อนคลาย……..        กล้ามเนื้อผ่อนคลาย…………….. กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย………………กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย…….รู้สึกว่าแขนทั้งสองข้างหนัก……….    แขนทั้งสองข้างหนัก…รู้สึกว่าขาทั้งสองข้างหนัก … ขาทั้งสองข้างหนัก…..    รู้สึกว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย”

ผู้ถูกสะกดก็ต้องทำตามเป็นขั้นๆ ไปเรื่อยๆ โดยคิดว่ากล้ามเนื้อของตนเองผ่อนคลาย แขนขาหนัก ในตอนนี้ผู้สะกดสามารถทดสอบผู้ถูกสะกดว่าได้ทำตาม และได้ผลมากน้อยเพียงใด โดยลองยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้นแล้วปล่อยให้หล่น หากหล่นเหมือนแขนของคนที่มีอาการสลบก็ แสดงว่าถูกสะกดแล้ว ถ้ายังก็แสดงว่าการสะกดจิตไม่ได้ผล

นอกจากการให้ผ่อนคลายแล้ว ผู้สะกดอาจบอกให้รู้สึกหลับ รู้สึกหลับสนิท คิดว่า กำลังฝัน คิดว่ากำลังเห็นภาพพระพุทธรูป รู้สึกเปลือกตาหนัก รู้สึกแขนขาชา รู้สึกตัวแข็ง ฯลฯ ถ้าผู้ถูกสะกดทำตามคำบอกโดยคิดและรู้สึกเอาว่าตนกำลังหลับก็จะหลับ คิดและรู้สึกว่าเห็นพระพุทธรูปก็จะเห็นคิดและรู้สึกว่าฝันก็จะฝัน คิดและรู้สึกว่าเปลือกตาหนักก็จะหนัก

2. ปรากฎการณ์เมื่อจิตถูกสะกด ฮิลการ์ด (1968) นักจิตวิทยาอาวุโสผู้ศึกษาการสะกดจิตโดยวิธีวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ได้สรุปลักษณะของจิตที่ถูกสะกด และความสัมพันธ์ระหว่างการสะกดจิตกับการรู้สึกการับรู้ความจำและความสามารถทางกายอื่นๆ ดังนี้

(1) ลักษณะทั่วไปของจิตถูกสะกด ผู้อยู่ในสภาพจิตถูกสะกดจะขาดความคิดริเริ่มและการกำหนดแผนการของตน ไม่คิดจะทำอะไรด้วยตนเอง คอยฟังและคอยทำตามคำบอกของผู้สะกด สมาธิของผู้ถูกสะกดจะรวมอยู่ที่คำบอกของผู้สะกดและอยู่ในที่ๆ ผู้สะกดบอกให้ไปรวมอยู่ เช่นให้รวมใจและตั้งใจฟังแต่เสียงเต้นของหัวใจ หรือตั้งใจนึกภาพเหตุการณ์ในอดีต นึกจนภาพในอดีตปรากฎให้เห็นชัดอีกครั้งหนึ่ง ความสามารถในการนึกภาพในอดีตและการนึกมโนภาพในปัจจุบันมีมากขึ้น อย่างไรก็ดีภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เกิดจากการนึกคิดของผู้ถูกสะกดเอง อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ ผู้ถูกสะกดจิตยอมรับการบิดเบือนมากขึ้น เช่น เสียงดังบอกว่าเป็นเสียงค่อย รสเปรี้ยวบอกว่าเป็นรสหวาน ยอมรับการเสนอแนะของผู้สะกดมาก ยอมทำตามโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ เปลี่ยนบทบาทได้ หากผู้สะกดบอกให้เป็นไก่ กระพือปีกแล้วโก่งคอขัน ก็จะทำท่าเป็นไก่ กระพือปีก และโก่งคอขัน และถ้าผู้สะกดบอกว่า เมื่อตื่นจากการถูกสะกดจิตจะลืมเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างถูกสะกดจิต ก็จะลืมได้อย่างสนิท

(2) ความสัมพันธ์กับการรู้สึก การรับรู้ ความจำ และความสามารถทางกายอื่นๆ ในระหว่างจิตถูกสะกด ผู้สะกดอาจบอกให้มีความไวในการรู้สึกในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง เช่นให้มีความไวในการได้กลิ่นเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง ความไวต่อความเจ็บปวด เพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง และผู้ถูกสะกดก็จะมีความไวในการรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น และถ้าผู้สะกดบอกว่าจะหยอดน้ำหวานที่ลิ้นแต่แท้จริงหยอดน้ำส้ม ผู้ถูกสะกดจะบอกว่าได้รับรสหวาน บอกว่ามือชาก็จะรู้สึกว่าชา มีเข็มมาทิ่มแทงก็ไม่รู้สึก ในด้านการรับรู้ ผู้สะกดอาจบอกให้เห็นภาพลวงตา เกิดประสาทหลอน หรือให้ฝัน อาจบอกให้ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฎตรงหน้าซึ่งเป็นประสาทหลอนทางลบ ผู้ถูกสะกดในระดับลึกขนาดหนึ่งจะเกิดการรับรู้ภาพลวงตา เกิดประสาทหลอน และฝันเห็นสิ่งต่างๆ ตลอดจนไม่เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ปรากฎตรงหน้า ผู้สะกดอาจบอกให้ระลึกภาพเหตุการณ์ในวัยเด็ก ภาพเหตุการณ์ขณะอยู่ในครรภ์มารดาและภาพเหตุการณ์ในชาติก่อน ผู้ถูกสะกดถึงขั้นลึกแล้วจะสามารถนึกภาพเหล่านี้ตามลำดับ ย้อนอายุ (Age Regression) ไปสู่วัยเด็กและวัยในครรภ์ จนถึงวันก่อนปฏิสนธิ ภาพเหล่านี้มีความสมจริงมาก ขนาดทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่านี่คือปรากฎการณ์ของการระลึกชาติ แต่จากการวิเคราะห์อย่างละเอียดพบว่าภาพเหตุการณ์ในวัยเด็กมีบางส่วนที่สอดคล้องกับความจริง แต่มีหลายส่วนที่เกิดจากการนึกคิดของผู้ถูกสะกดเอง เป็นภาพที่นึกให้เห็นในปัจจุบันโดยอาศัยความจำเป็นส่วนประกอบ ความจำของมนุษย์มีลักษณะไม่สมบูรณ์และบิดเบือนไปตามกาลเวลา ภาพที่ผู้ถูกสะกดรื้อฟื้นขึ้นมาจึงมีจำนวนไม่ใช่น้อยที่บิดเบือนจากความเป็นจริง กล่าวได้ว่าภาพเหล่านี้แท้จริงคือประสาทหลอนนั่นเอง

ในด้านความสามารถทางกาย จากการทดลองพบว่าผู้ถูกสะกดจิตให้รู้สึกว่ามีกำลังวังชามาก จะสามารถยกน้ำหนักได้นานขึ้น เปรียบเทียบกับความสามารถในภาวะปกติ เป็นไปได้ว่าสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายของคนเราทำงาน 2 ทางพร้อมกัน คือ การเร้า และการระงับ ในภาวะปกติแรงเร้าและระงับจะปรากฎพร้อมๆ กัน ทำให้มีการหักล้างซึ่งกันและกัน แต่ในสภาพจิตถูกสะกด แรงระงับอาจจะลดน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้ออยู่ภายใต้แรงเร้ามากขึ้น หากเราสังเกตจะพบว่านักยกน้ำหนักมักต้องตั้งสมาธิ หลับตา หายใจลึก-ยาว บางคนบ่นพึมพำในลำคอ พฤติกรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนการสะกดจิตด้วยตนเองเพื่อให้กล้ามเนื้อสามารถยกน้ำหนักมากขึ้น ในทำนองเดียวกันผู้ถูกสะกดจิตอาจอยู่ในสภาพตัวแข็งทื่อ เนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัวอยู่กับที่ก็ได้หากถูกสะกดให้รู้สึกเช่นนั้น

3. ความสามารถในการถูกสะกดจิต ฮิลการ์ดและนักจิตวิทยาหลายท่านที่ศึกษา เรื่องการสะกดจิตมีความเห็นตรงกันว่าคนเรามีความ แตกต่างกันในความสามารถที่จะให้จิตของตนเองถูกสะกด บางคนพยายามทำตามคำบอกของผู้สะกดจิต แต่ก็ไม่อาจถูกสะกด จนถึงขั้นลึก มากๆ ได้ บางคนได้แต่รู้สึกแขนขาชา บางคนได้แต่รู้สึกหลับ และบางคนรู้สึกได้แต่ผ่อนคลายเท่านั้น และในบรรดาประชากรนักศึกษาอเมริกันมีเพียงประมาณ 25% ที่สามารถถูกสะกดถึงขั้นลึกได้

ความสามารถในการถูกสะกดจิตมีติดตัวมาตามกำเนิด แต่การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก ทำให้ความสามารถนี้ลดน้อยหรือหดหายไปในคนส่วนใหญ่ ในทรรศนะของฮิลการ์ด ผู้ที่ชอบจินตนาการชอบหมกมุ่นในฝันกลางวันและยอมรับสิ่งที่เกิดในจินตนาการ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับหลักเหตุผลหรือความจริงตามภาววิสัย เป็นผู้ที่มีความสามารถในการถูกสะกดจิตสูง เด็กอายุ 7-8 ขวบถูกสะกดจิตได้ง่ายมาก เพราะมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น และถ้าเป็นเด็กที่ถูกพ่อแม่ลงโทษมากๆ ก็จะถูกสะกดได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังถูกสะกดง่ายต่อไปอีก ทั้งนี้อาจเนื่องจากการลงโทษ ทำให้เด็กมีความเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง คือการลงโทษทำให้เด็กเก็บตัว ชอบนั่งฝันกลางวัน หมกมุ่นในจินตนาการของตนตามลำพังเพียงคนเดียวเสมอๆ

ในกระบวนการอบรมเลี้ยงดู ผู้ใหญ่ในสังคมมักสอนให้เด็กยอมรับในหลักเหตุผลและหลักความจริงตามภาววิสัยมากกว่าสิ่งที่เกิดจากจินตนาการ ความสามารถในการคิดตามหลักเหตุผล และพิจารณาตามข้อมูลที่เป็นปรนัย ตรงกันข้ามกับการคิดและรู้สึกตามจินตนาการ เพราะเมื่อยึดหลักเหตุผลและสภาพภาววิสัยก็จะทำให้ละทิ้งจินตนาการ และถือว่าจินตนาการเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ที่ไม่เป็นความจริง การอบรมในทำนองนี้ทำให้คนเรายึดแน่นในหลักเหตุผลและหลักความจริงตามภาววิสัย จึงยากที่จะถูกสะกดให้มีความรู้สึกบิดเบือน หรือเกิดอาการประสาทหลอนต่างๆ

4. การสะกดจิตตนเอง หลักการสำคัญในการสะกดจิต คือการทำตนให้มีความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ด้วยความใส่ใจอย่างต่อเนื่อง การทำเช่นนี้อาจทำเองโดยไม่ต้องมีผู้สะกดมาคอยบอกก็ได้ ตัวอย่างของการสะกดจิตตนเองคือการภาวนาให้เกิดสมาธิ การภาวนาให้เกิดนิมิต การวิปัสสนาเพื่อให้รู้แจ้งในพุทธธรรม ตลอดจนการเข้าทรง เพราะในกรณีต่างๆ เหล่านี้ ผู้ปฏิบัติทำตนให้รู้สึกนึกคิดไปในลักษณะต่างๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีการสั่งสอนว่าการภาวนาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะภาวนาจริงก็ไม่จำเป็นต้องมีคนมาคอยบอกบทเหมือนเช่นการสะกดจิต โดยมีผู้สะกด อย่างไรก็ดี ในการฝึกสมาธิของบางสำนัก เช่น ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม (วัดวรณีธรรมกายาราม) ก็ได้นำเอาวิธีบอกบทมาใช้ผู้สอนปฏิบัติจะบอกให้นั่งตัวตรงในท่าขัดสมาธิ หลับตาเพียงเบาๆ เปลือกตาปิดพอสนิทเพียงเบาๆ มือขวาวางทับมือซ้ายบนตัก นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วโป้งมือซ้าย นึกเห็นพระพุทธรูปตรงกลางกาย สูงกว่าสะดือขึ้นมา 2 นิ้ว ทำจิตให้แน่นิ่งที่ พระพุทธรูปตรงกลางกาย กลางของกลางกาย และบอกให้ภาวนา “สัมมา อะระหังๆๆๆ…” ในใจ การบอกบทเช่นนี้จึงไม่แตกต่างจากการสะกดจิตเลยแม้แต่น้อย

ในการเข้าทรง ผู้เข้าทรงต้องบริกรรมเพื่อรวมใจให้เป็นสมาธิและนึกคิดว่าจะมีผีหรือ “วิญญาณ” (ใช้ในความหมายของคนทั่วไปซึ่งแตกต่างจากความหมายในพุทธศาสนา จึงใส่เครื่องหมายอัญประกาศไว้) มาเข้าตนเอง การนึกคิดเช่นนี้ทำให้เกิดอาการสั่นเทิ้มหรือชัก เป็นการเข้าทรง ในบางกรณีผู้มีความเชื่อในเรื่องการสิงของผีหรือ“วิญญาณ” มากๆ และมีความกลัวว่าตนจะถูกสิง จิตใจจึงหมกมุ่นในความคิคเรื่องนี้มากก็จะเกิดอาการถูกสิงได้ ดังเช่นนักเรียนในโรงเรียนบางแห่งพอมีนักเรียนคนหนึ่งมีอาการสั่นเทิ้มหรือชักขึ้นมา นักเรียนคนอื่นๆ บางคนก็จะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากมีความเชื่อ ความกลัว และเกิดความหมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องนี้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า