สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การฝังรกและการอยู่ไฟ

เกี่ยวกับรกคนโบราณจะให้ความสำคัญกันมาก เพื่อความเป็นสิริมงคลกับเด็กจึงมีความเชื่อว่าต้องทำพิธีกรรมการฝังรก หมดบรัดเลย์ไม่ทราบว่าคนไทยใช้สายสะดือและรกเด็กทำยา จึงกล่าวว่าคนไทยตัดสายสะดือยาวมากเป็นที่น่ารังเกียจ

ถ้าทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา แล้วมีรกพันตัวออกมา 2,3,4, หรือ 5 รอบ ควรนำมาย่างไฟให้แห้งกรอบ แล้วบดให้ทารกกิน จะทำให้เลี้ยงได้ง่าย ปราศจากโรคทั้งปวง และมีบุญกว่าคนทั้งหลาย โดยไม่เป็นอันตรายใดๆ

ถ้าทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วมีรกพันคอหรือพันตัวออกมา ให้เอารกนั้นใส่ลงในหม้อทะนน 1,000 แล้วเอาเหล็กแทงตรงกลาง ย่างไฟให้แห้ง แล้วเอามาบดโรยในข้าวให้ทารกกิน จะทำให้เลี้ยงได้ง่าย ทำให้เป็นเด็กฉลาด มีรูปร่างงดงาม ถ้าขันผนึกปากหม้อรกแล้วเอาไปฝังใต้ต้นไม้ใหญ่กลางตำบล แล้วเอาหนามสุมไว้ให้คนมองเห็น จะทำให้มีเสน่ห์แก่คนทั้งหลาย

ถ้าทารกที่คลอดออกมามีรกพันคอหรือไม่ก็ดี ถ้าเป็นหญิงและพ่อแม่ต้องการให้เป็นอย่างไรก็ให้เอาสิ่งนั้นวางในหม้อรก แล้วเอาไปฝังตามทิศนั้น จะทำให้เด็กที่เกิดมานั้นประพฤติตามที่บิดามารดาต้องการ

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็มีการนำรกมาใช้ประโยชน์ เช่น รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกด้วยเยื่อหุ้มรก นำมาทำยาอายุวัฒนะ จึงเกิดการซื้อขายรกกันมากขึ้น แต่การซื้อขายรกได้เงียบไปเมื่อมีปัญหาของโรคเอดส์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของรกก็น่าจะมีอยู่จริง เพราะในรกมีฮอร์โมน และสารสำคัญอยู่ ในสมัยโบราณมักจะทำให้สุกก่อนนำมาใช้ ฮอร์โมน และวิตามินที่มีอยู่ในรกจึงทำให้ทารกมีผิวพรรณที่ดี ซึ่งอาจจะดีกว่าการกินยาวิตามินกันอย่างพร่ำเพรื่อเหมือนในทุกวันนี้

สถานที่ต่างๆ ที่ใช้ฝังรกมีดังนี้
เกิดวันอาทิตย์ กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่จอมปลวก ให้ไปฝังรกที่จอมปลวก

เกิดวันจันทร์ กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่บ่อน้ำ ให้ไปฝังรกที่บ่อน้ำ

เกิดวันอังคาร กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่ศาลเทพารักษ์ ให้ไปฝังรกที่ศาลเทพารักษ์

เกิดวันพุธ กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ให้ไปฝังรกที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์

เกิดวันพฤหัสบดี กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่สระน้ำ หรือบ่อน้ำใหญ่ ให้ไปฝังรกที่สระน้ำหรือบ่อน้ำใหญ่

เกิดวันศุกร์ กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ให้ไปฝังรกที่ต้นไทรใหญ่

เกิดวันเสาร์ กำเนิดแม่ซื้อกุมารผู้นั้น สถิตอยู่ที่ศาลพระภูมิ ให้ไปฝังรกที่ศาลพระภูมิ

คนที่คลอดในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในปัจจุบัน รกมักจะถูกกำจัดไปตามหลักการสมัยใหม่ และยิ่งต้องพิถีพิถันมากขึ้นเมื่อมีโรคเอดส์เข้ามาเกี่ยวข้อง

หลายๆ คนอาจจะมองว่าการฝังรกเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถ้ามองอีกด้านจะเห็นว่าคนโบราณมีความเอาใจใส่ในชีวิตเด็กที่เกิดใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางพิธีการ ความเอาใจใส่รับผิดชอบ ให้ความรักความปรารถนาดี และมอบสิ่งที่ดีให้แก่ลูกที่เกิดมา เมื่อมารดายังอยู่ไฟ บทบาทนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของพ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติมิตร แต่ปัจจุบันนี้สามีต้องทำงานหาเงิน หรือภรรยาต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนเมื่อก่อน การคลอดจึงได้รับบริการจากคนอื่นที่ทำด้วยหวังค่าจ้าง ขาดความอบอุ่น ความประทับใจ ลูกต้องอยู่กับคนเลี้ยงเด็กเมื่อแม่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ทารกได้รับน้ำนมจากแม่ได้ไม่เต็มที่ หรืออาจไม่ได้เลยก็ได้

การฝังรกไว้ตามที่ต่างๆ ทำให้มีความเคารพสถานที่นั้นตลอดไป เมื่อฝังรกใต้ต้นไม้ก็ช่วยบำรุงดินเป็นประโยชน์ต่อพืช

กุมารีอยู่ในเรือนเพลิง
ความเชื่อของโบราณทั้งในแง่บวกและแง่ลบยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่าการอยู่ไฟมีประโยชน์หรือไม่ ในอดีตหน้าที่ในการเตรียมฟืน จัดสถานที่ก่อไฟ จัดทำแคร่ข้างกองไฟจะเป็นหน้าที่ของสามีที่ทำไว้ให้ภรรยาหลังคลอดได้นอน หมอบรัดเลย์เคยวิจารณ์ว่าเหตุใดคนไทยจึงนำคนหลังคลอดมาปิ้งจนเหี่ยว เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ แต่ในหมู่คนรักสุขภาพในปัจจุบันกลับให้ความสนใจการอยู่ไฟหรือการเข้ากระโจม โดยมีการปรับปรุงให้เป็นห้อง ที่เรียกกันว่า ซาวน่า จากที่เข้ากระโจมก็เปลี่ยนมาเป็นห้องอบไอน้ำ การอยู่ไฟในอดีตอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้เหมือนกัน เช่น

เมื่อทารกคลอดออกมาตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 1 เดือน เมื่อมารดายังอยู่ไฟมักเกิดอันตรายต่างๆ ขึ้นจากโลหิตพิการต่างๆ เช่น โลหิตตีขึ้น เป็นต้น คือ จะนอนอังไฟไม่ได้เป็นปริโยสาน ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ควรให้ทารกกินนมแม่ เพราะจะเกิดโทษจากน้ำนมดิบ และโทษจากที่โลหิตกับน้ำนมน้ำเหลืองระคนกันเข้าถ้าทารกกินเข้าไปจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้

ความเห็นเกี่ยวกับการให้นมบุตรข้อนี้ไม่ตรงกับในปัจจุบัน เพราะวันแรกที่เกิดในปัจจุบันนั้นจะให้ทารกกินน้ำนมน้ำเหลือง เนื่องจากมีสารภูมิต้านทานของแม่อยู่ โดยปกติแล้วความผิดปกติจะเกิดในวันสองวันแรกเท่านั้น หากนานกว่านี้แล้วน้ำนมยังผิดปกติอยู่ก็ควรหาสาเหตุอย่างอื่นต่อไป

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า