สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ:ความหมายของความเสี่ยง

พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช

การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมถือได้ว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ สาขาวิชานี้ได้รับการ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา อาทิ วิทยาการระบาดพิษวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ และสถิติ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วการประเมินความเสี่ยงจะสำเร็จลงได้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วการ ประเมินความเสี่ยงอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ สาขาใหญ่ คือ การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา (environmental or ecological risk assessment) และการประเมินความเสี่ยงสุขภาพ (health risk assessment) การประเมินความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของการประเมินผลกระทบจากมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่มีต่อระบบนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมากจึงทำได้ค่อนข้างยาก ในขณะที่การประเมินความเสี่ยงสุขภาพเป็นการศึกษาถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของมนุษย์ซึ่งทำได้ง่ายกว่า และมิผู้ศึกษาไว้เป็นจำนวนที่มากกว่า ในบทนี้จะกล่าวถึงแต่การประเมินความเสี่ยงสุขภาพเท่านั้น ดังนั้นต่อไปนี้ถ้ากล่าวถึงการประเมินความเสี่ยงให้หมายถึงการประเมินความเสี่ยงสุขภาพ

นิยาม

ความเสี่ยง คือ ลักษณะของสถานการณ์ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีผลลัพธ์ได้มากกว่า ๒ อย่าง ผลลัพธ์ที่ว่านี้ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และอย่างน้อยหนึ่งในผลลัพธ์นั้นไม่พึงประสงค์ จากความหมายดังกล่าวนี้จึงอาจสรุปได้ว่าความเสี่ยงจะต้องประกอบด้วย ๒ องค์ประกอบคือ “ไม่แน่นอน” และ “ไม่พึงประสงค์” คำว่า “ไม่แน่นอน” นี้หมายความว่าไม่สามารถบอกได้ด้วยความมั่นใจ ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่กำลังสนใจหรือไม่ แต่บอกได้แต่เพียงโอกาสของการเกิด โดยบอกในรูปของ “ความน่าจะเป็น” (probability) ซึ่งกำหนดเป็น ตัวเลขได้ ยกตัวอย่างเช่น การโยนเหรียญ ๑ ครั้ง จะไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าผลของการโยนจะออกหัวหรือก้อย แต่สามารถบอกได้ว่าโอกาสที่จะออกหัวหรือก้อยเท่ากันคือ ๐.๕ หรือร้อยละ ๕๐ สำหรับองค์ประกอบที่ ๒ คือ “ไม่พึงประสงค์” หมายความว่าเหตุการณ์หรือผลที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ มีหลายกรณีที่มักใช้คำว่า “เสี่ยง” โดยที่ไม่ตรงกับความหมายที่นิยามไว้ในที่นี้ เช่น การเสี่ยงโชค แม้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นไม่แน่นอนแต่ทุกคนก็ต้องการให้ผลนั้น (การถูกรางวัล) เกิดขึ้น จึงถือว่าขาดองค์ประกอบของความหมายของความเสี่ยง มีบางกรณีที่ผลบางอย่างไม่พึงประสงค์แต่เกิดขึ้นแน่นอน เช่น การเสียภาษี กรณีเช่นนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยง

การประเมินความเสี่ยง คือ กระบวนการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อพรรณนาและวัดความเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งคุกคาม กระบวนการ การกระทำ หรือเหตุการณ์ใด ๆ ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่า การประเมินความเสี่ยงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในทางการวิจัยที่จะตอบคำถามบางประเด็น เพราะโดยวัตถุประสงค์แล้วต้องการที่จะตอบคำถามว่าความเสี่ยงสุขภาพมีความสัมพันธ์กับสิ่งคุกคาม อย่างไรและเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยบอกเป็นความน่าจะเป็น อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าการประเมินความเสี่ยงเป็นการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative study) เพราะเป็นการศึกษาในลักษณะที่สามารถตรวจวัดตัวแปรต่าง ๆ เป็นตัวเลขได้นั้นเอง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า