สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การประสะ และการฆ่าฤทธิ์ยา

การประสะ
ทางเภสัชกรรมแผนไทย มีความหมายของการประสะอยู่ 4 ประการคือ
1. การทำให้ตัวยามีพิษอ่อนลง เช่น การประสะยางสลัดได

2. การทำให้ตัวยาสะอาดขึ้น เช่น การล้างเอาดินและสิ่งสกปรกออก

3. ปริมาณตัวยานั้นจะเท่ากับเครื่องยาทั้งหลาย เช่น ยาประสะกะเพรา นอกจากกะเพราแล้วยังมีตัวยาอื่นอีก 6 อย่าง ให้ใส่ใบกะเพราเท่ากับตัวยาอื่นทั้ง 6 อย่างรวมกัน

4. ใช้ในชื่อยาที่กระทำให้บริสุทธิ์ เช่น ยาประสะน้ำนม ที่ทำให้น้ำนมมารดาบริสุทธิ์ ไม่เป็นโทษต่อทารก ในบางตำรามีความหมายว่า ทำให้มากขึ้น เช่น ยาประสะน้ำนม ที่ทำให้มารดาที่กินยานี้มีน้ำนมมากขึ้น

การประสะยางสลัดได
สลัดได มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia antiquorum L. จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ยางสลัดได มีรสร้อนเมาเบื่อ มีสรรพคุณใช้ทาเพื่อฆ่าพยาธิและโรคผิวหนังต่างๆ ใช้ทากัดหูด ก่อนจะใช้ปรุงเป็นยาต้องฆ่าฤทธิ์เสียก่อน ยาที่ปรุงด้วยยางสลัดได ได้แก่ ยาถ่ายอุจจาระ ยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต ยาถ่ายหัวริดสีดวงลำไส้ ริดสีดวงทวารหนัก ช่วยขับโลหิตที่เน่าร้อน ใช้เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง

ต้องใช้ยางสลัดไดด้วยความระมัดระวัง เพราะมีพิษอยู่มาก หากถูกผิวหนังจะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน อักเสบ บวมแดง และอาจทำให้ตาบอดได้หากเข้าตา ในยางสลัดไดจะพบสารพิษพวก caoutchouc 4-7% ยูฟอร์บิน(euphorbin), เตตราไซคลิก ไดเทอร์ปีน(tetracyclic diterpene) และไตรไซคลิก ไดเทอร์ปีน(tricyclic diterpene)

การประสะ ทำได้โดย
นำยาที่จะประสะใส่ถ้วยแล้วเทน้ำต้มเดือดลงไป คนให้ทั่วจนเย็น แล้วเทน้ำทิ้งไป ให้ทำแบบเดิมประมาณ 7 ครั้ง จนตัวยาสุกดี เมื่อพิษของยางสลัดไดลดลงแล้วจึงนำไปปรุงยาได้

ปัจจุบันในยาแผนโบราณ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ยางสลัดได ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับรับประทานในมื้อหนึ่งโดยมียางสลัดไดไม่เกิน 130 มิลลิกรัม

การฆ่าฤทธิ์
เป็นการทำให้พิษของยาหมดไปหรือทำให้เหลือพิษอยู่น้อย ไม่เกิดอันตรายต่อผู้ที่ใช้ยา มีวิธีการทำเช่นเดียวกับการสะตุ เช่น การฆ่าพิษของสารหนูที่มีอยู่มากให้หมดไป เพื่อให้นำมาปรุงเป็นยาได้

วิธีการฆ่าฤทธิ์ตัวยาบางอย่างมีดังนี้
1. การฆ่าสารหนู มีรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณใช้แก้โรคผิวหนัง พุพอง ฟอกโลหิต แก้กามโรค แก้หืด ไข้จับสั่น ช่วยให้บาดแผลแห้ง

การฆ่าสารหนู ทำได้โดย บดสารหนูให้ละเอียดแล้วนำไปใส่ในหม้อดิน บีบน้ำมะนาวหรือน้ำมะกรูดลงไปให้ท่วมยา ยกขึ้นตั้งไฟจนแห้ง ทำให้ได้ 7-8 ครั้ง จนกรอบดีแล้วจึงนำมาทำยาได้ ภาชนะที่ใช้กับสารหนูแล้วควรนำไปทุบทำลายแล้วฝังดินให้เรียบร้อย เพื่อให้สารหนูสลายและลดความเป็นพิษลง

ในปัจจุบัน สารหนูและ/หรือสารประกอบออกไซด์ของสารหนู(arsenic oxides) ไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย.ให้ใช้ในยาแผนโบราณ ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นรวมกันโดยมีสารหนู และ/หรือสารประกอบออกไซด์ของสารหนูปนอยู่(impurity) เมื่อคำนวณแล้วมีปริมาณของสารหนูอยู่ไม่เกิน 4 ส่วนในล้านส่วน

2. การฆ่าปรอท ตามตำรายาโบราณของไทยว่า ปรอทมีรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณช่วยโรคผิวหนังทุกชนิด แก้คุดทะราด น้ำเหลืองเสีย มะเร็ง เข้าข้อ ออกดอก หนองใน

การฆ่าฤทธิ์ปรอท การทำให้ปริมาณปรอทลดลงทำได้โดย ให้นำทองแดง ทองเหลือง หรือเงินใส่ไว้ในปรอท เพื่อให้ปรอทแทรกเข้าไปในเนื้อโลหะเหล่านี้เสียก่อน แล้วจึงค่อยนำไปทำยา ปรอทเป็นยาอันตราย และมักนิยมใช้ทำเป็นยาต้ม

ปัจจุบัน ในยาแผนโบราณ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ปรอท ยกเว้นยาที่ผลิตขึ้นโดยมีปรอทไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณตัวยาทั้งหมด สำหรับใช้ภายนอก

3. การฆ่าฤทธิ์ลูกสลอด สลอดหรือตลอด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Croton tiglium L. จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ในเมล็ดสลอดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณร้อยละ 50 ขนาดที่ใช้เพียง 1 หยด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง แต่ปัจจุบัน เมล็ดสลอดหรือน้ำมันสลอดที่มีฤทธิ์แรงมาก อย.ไม่อนุญาตให้ใช้ในยาแผนโบราณแล้ว เพราะควบคุมขนาดของยาได้ยาก ตามตำรายาโบราณว่า เมล็ดสลอดมีรสร้อน เผ็ด มัน มีสรรพคุณช่วยถ่ายพิษเสมหะและโลหิต ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ถ่ายอุจจาระธาตุ ถ่ายลม ถ่ายพยาธิ แม้ใช้เพียง 1 ใน 10 ของเมล็ด ก็จะทำให้ถ่ายอย่างแรง เป็นยาที่อันตราย จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และต้องฆ่าฤทธิ์ก่อนนำมาใช้

การฆ่าฤทธิ์ลูกสลอด มีดังนี้
-เอาลูกสลอดกับข้าวเปลือกห่อรวมกัน ใส่เกลือพอสมควรแล้วนำไปต้มกับหม้อดิน เมื่อข้าวเปลือกแตกบานทั่วกัน ก็ให้เอาลูกสลอดมาล้างให้สะอาด นำไปตากให้แห้ง แล้วจึงนำมาปรุงยา

-ปอกเปลือกลูกสลอดออกแล้วล้างให้สะอาด นำไปห่อผ้าหุงกับข้าว กวนจนข้าวแห้ง ให้ทำประมาณ 3 ครั้ง แล้วนำลูกสลอดมาคั่วกับน้ำปลาอย่างดีให้เกรียม แล้วนำลูกสลอดมาห่อผ้าบีบเอาน้ำมันออก แล้วนำไปปรุงยา

-เอาลูกสลอดแช่ในน้ำปลาร้าปากไห 1 คืน แล้วนำไปยัดในลูกมะกรูด ใส่หม้อดินปิดฝา สุมไฟแกลบให้สุกดี แล้วนำไปปรุงยาพร้อมกับผลมะกรูด

-เอาใบมะขาม 1 กำมือ ใบส้มป่อย 1 กำมือ มาต้มกับลูกสลอด เมื่อสุกดีแล้วให้เอาเนื้อในของลูกสลอดไปปรุงยา

มีการใช้ความร้อนในการฆ่าฤทธิ์ของลูกสลอดทุกวิธี เพื่อทำให้สารพิษสลายตัวและมีพิษอ่อนลง

4. การฆ่าฤทธิ์ชะมดเช็ด ชะมดเช็ดเป็นสัตว์ในสกุล Viverricula หรือ Viverra จัดอยู่ในวงศ์ Viverridae เมือกของตัวชะมดทั้งตัวผู้และตัวเมียที่เช็ดไว้ตามไม้ที่ปักให้ หรือที่ซี่กรงที่ขัง ใช้เป็นเครื่องยา มีกลิ่นหอมเย็น คาว ตามตำรายาโบราณว่า มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ใช้เป็นยาชูกำลัง ดับพิษโลหิต บำรุงน้ำดี ใช้ทำเครื่องหอม ทำให้น้ำหอมมีกลิ่นหอมทนนาน

การฆ่าฤทธิ์ชะมดเช็ด ทำได้โดย นำหัวหอมหรือผิวมะกรูดหั่นให้เป็นฝอยละเอียด นำไปผสมกับชะมดเช็ด วางส่วนผสมในใบพลูหรือช้อนเงิน นำไปลนด้วยไฟเทียนให้นานพอสมควร จนละลายและหอมดีแล้ว จึงนำมากรองไปปรุงยา

การใช้ความร้อนจะทำให้ชะมดเช็ดละลายแยกสิ่งที่ปนเปื้อนออกมา เมื่อนำมากรองก็จะทำให้มีความสะอาดยิ่งขึ้น และการใช้ใบพลูในขั้นตอนการฆ่าฤทธิ์ก็จะช่วยทำให้ชะมดเช็ดมีกลิ่นที่ดีขึ้นด้วย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า