สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การปฏิสนธิของทารก

จากพระคัมภีร์ประถมจินดาผูก 1 ปริจเฉท 2 อ้างจากคัมภีร์โรคนิทานว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายจะปฏิสนธินั้น ธาตุทั้ง 4 ของบิดามารดาคือ ปถวีธาตุ 20 อาโปธาตุ 12 เตโชธาตุ 4 วาโยธาตุ 6 จะบริบูรณ์พร้อมกัน ธาตุน้ำในโลหิตของบิดามารดาระคนกันเข้า เริ่มแรกต่อมโลหิตของมารดาจะมีขนาดเล็กมาก

ขนาดของไข่ในปัจจุบันทราบว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 0.2 มิลลิเมตร แล้วคนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าไข่มีขนาดเล็ก

7 วันก็บังเกิดเป็นปฐม กลละนั้นเรียกว่า ไชยเภท คือมีระดูล้างหน้าครั้งหนึ่ง มารดาอาจฝัน เห็นวิปริต

7 วันก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ

7 วันเป็นชิ้นเนื้อ

7 วันเป็นสัณฐานดังไข่งู

7 วันก็แตกออกเป็นปัญจสาขา 5 แห่ง คือศีรษะ1 มือ 2 เท้า 2 จึงเป็น 5

7 วันก็เกิดเกสา โลมา นขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้

โลหิตบังเกิดขึ้นเมื่อครบ 1 กับ 12 วัน เวียนเข้าเป็นตานกยูงที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตวิญญาณ ถ้าเป็นหญิงจะเวียนทางซ้าย ถ้าเป็นชายจะเวียนทางขวา โลหิตนั้นจะแตกออกไปตามปัญจสาขาเมื่อครบ 3 เดือน

เมื่อครบ 4 เดือน จะเกิดอาการ 32 ขึ้น โดยตาและหน้าผากจะเกิดขึ้นก่อน

เมื่อครบ 5 เดือน มีจิต เบญจขันธ์ และรูปขันธ์ตั้งขึ้น เมื่อรูปขันธ์เกิดขึ้นแล้วก็จะมีวิญญาณขันธ์เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกร้อนและเย็น หากมารดาบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเข้าไปก็จะทำให้เกิดเวทนาขันธ์ด้วยความเผ็ดร้อนนั้น คือนั่งยองกอดเข่า เอามือกำไว้ใต้คาง หันหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา หันหน้าออกข้างนาภี เหมือนลูกวานรที่นั่งอยู่ในโพรงไม้ นั่งทับกระเพาะอาหารเก่า อาหารใหม่ ตั้งอยู่บนศีรษะ และน้ำอาหารนั้นก็เกรอะซาบลงไปทางกระหม่อม เพราะกระหม่อมของทารกในครรภ์นั้นเปิด เมื่อมารดาบริโภคสิ่งใดที่เหมาะที่ควรเข้าไปก็จะซึมซาบออกจากกระเพาะเลื่อนลงไปที่กระหม่อม ทารกก็จะได้รับอาหารที่ชื่นชูกำลังเป็นปกติ หากมารดามิได้บริโภคอาหารลงไป ทารกก็จะไม่ได้รับรสอาหาร จะทุรนทุราย กระวนกระวาย ระส่ำระสาย ดิ้นรนไปต่างๆ ซึ่งในพระคัมภีร์ จตุราริยสัจ ก็ได้มีแจ้งไว้

แม้ไม่มีกล้องจุลทรรศน์ในสมัยโบราณ แต่ก็ได้จินตนาการอธิบายการเกิดว่า เด็กที่มาเกิดมาจากธาตุของบิดามารดา แล้วจึงมีวิญญาณเข้ามา เลือดของพ่อแม่มาระคนกันในมดลูกซึ่งมีต่อมโลหิตขนาดเล็กมาก แล้วมีการเจริญต่อไปเป็นลำดับ

ได้พิสูจน์ถึงการเกิดชัดเจนแล้วในปัจจุบันว่า เมื่อบิดาร่วมเพศกับมารดา สเปิร์มจากบิดาและไข่ของมารดาจะทำให้เกิดการปฏิสนธิขึ้น ไข่ของมารดาจะต้องได้รับการผสมภายใน 12-24 ชั่วโมง และสเปิร์มของบิดาจะต้องได้รับการผสมภายใน 24-72 ชั่วโมง แสดงว่าก่อนไข่ตก 3 วัน สเปิร์มจะเข้าไปรออยู่ก่อนได้ และใน 1 วันหลังจากไข่ตกต้องได้รับการผสมจากสเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุด เมื่อไข่ได้รับการผสมผิวของไข่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันสเปิร์มตัวอื่นอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับแผนไทยมีระยะเวลาการเจริญเติบโตดังนี้

ใน 7 วันก็บังเกิดเป็นปฐม กลละนั้นเรียกว่า ไชยเภท คือ มีระดูที่เรียกว่า ระดูล้างหน้าเด็กออกมาหนึ่งครั้ง มารดาจำนวนมากจะรู้ว่าตนกำลังจะท้องด้วยอาจฝัน หรือเห็นวิปริต

ทางการแพทย์ปัจจุบันทราบโดยละเอียดว่า ไข่ที่ถูกผสมแล้วจะอยู่ที่ปีกมดลูก จะแบ่งตัวและใช้เวลาเดินทางมาที่มดลูกเพื่อรอฝังตัวประมาณ 3-4 วัน เรียกระยะนี้ว่า บลาสโตซีส(Blastocyst) รวมเวลาได้ 7 วันหลังจากไข่ตก ดังนั้น บลาสโตซีส ก็คือ ไชยเภท ซึ่งหากนับครบ 21 วันตามรอบเดือน จะเป็นช่วงที่มีความพร้อมของผนังมดลูกจากผลของฮอร์โมน เอสโตรเจน(Estrogen) และโปรเจสเตอโรน(Progesterone) ในช่วงฝังตัวของไข่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีเลือดหรือประจำเดือนออกมาเล็กน้อย ซึ่งแพทย์แผนไทยจะเรียกว่า ระดูล้างหน้า

อีก7 วันก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ อีก 7 วันเป็นชิ้นเนื้อ อีก 7 วันเป็นสัณฐานดังไข่งู อีก 7 วันก็แตกออกเป็นปัญจสาขา 5 แห่ง คือ เป็นศีรษะ1 มือ 2 เท้า2 ก็เท่ากับ 5 แห่ง อีก 7 วันก็เกิดเกสา โลมา นขา ทันตา ตามลำดับ

จะเห็นว่าคนโบราณมีการสังเกตที่ละเอียดและถูกต้องมาก เพราะเมื่อศึกษาอย่างละเอียดในแผนปัจจุบันพบว่า จะมีรกเกิดขึ้นเมื่อตั้งท้องได้ 2 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะติดต่อผ่านรกของมารดา ในสัปดาห์ที่ 10 ก็จะมีความสมบูรณ์พร้อม และจะเกิดอวัยวะรับความรู้สึก มีโครงสร้างของหัว ตัว แขน ขา เมื่อครบ 5 สัปดาห์ ซึ่งโบราณเรียกว่า ปัญจสาขา

เมื่อตั้งครรภ์ 1 กับ 12 วัน โลหิตจึงบังเกิด เวียนเข้าเป็นตานกยูงที่หัวใจ เป็นเครื่องรับดวงจิตวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้ายถ้าชายเวียนขวา เมื่อมีปัญจสาขา ชีวิตจะเริ่มต้นขึ้นเพราะมีปฏิสนธิวิญญาณมาเกิด อายุของจุดนี้จะมีก่อน 2 เดือน ในปัจจุบันเรียกว่า Embryo และเมื่อทารกในครรภ์ครบ 2 เดือนจะเรียกว่า Fetus จะเกิดอวัยวะสำคัญๆ ขึ้น เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ หางที่ยื่นยาวจะหดหายไป บอกเพศได้ว่าเป็นชายหรือหญิง โลหิตจะแตกไปตามปัญจสาขาเมื่อครบ 3 เดือน มีอาการครบ 32 เมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน โดยเกิดตาและหน้าผากขึ้นมาก่อนสิ่งอื่น เมื่อครบ 5 เดือนจะมีจิตพร้อมเบญจขันธ์ รูปขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สามารถรับรู้ได้ถึงความร้อนเย็น เมื่อมารดาบริโภคอาหารเผ็ดร้อนเข้าไป ก็จะทำให้เกิดเวทนาขันธ์ร้อนทุรนทุรายดิ้นไปมา

ทางจิต แพทย์แผนไทยจะให้ความสำคัญมาก ซึ่งได้อธิบายถึงทารกในครรภ์ว่าเกิดการรับรู้ทางจิตตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 5 เดือน มีขันธ์ห้า มีรูป มีความรู้สึกเวทนาอยู่ครบ และเชื่อว่าหัวใจซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งดวงจิตได้เกิดขึ้นเมื่ออายุ 1 เดือนกับ 12 วัน

ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันได้กล่าวว่า ทารกจะมีการเปิดปิดเปลือกตา มีเล็บ มีการหายใจ มีระบบการไหลเวียน และระบบประสาทครบถ้วนเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือน

ในแผนโบราณกับแผนปัจจุบันการสังเกตก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก มักจะมีความใกล้เคียงกันในสิ่งที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ แต่สิ่งที่อยู่ภายในแผนโบราณอาจอธิบายได้ไม่ชัดเจน เช่น ความสัมพันธ์ของการรับอาหาร
ผ่านรกและสายสะดือของทารกกับมารดา แต่จะจินตนาการว่าทารกรับอาหารจากมารดาผ่านกระหม่อม เพราะไม่รู้ว่าทารกและมารดามีการไหลเวียนโลหิตติดต่อกันทางสายสะดือ แต่ด้านจิตใจก็ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับลูกเมื่อทารกมีขันห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณครบถ้วน เมื่อแม่กินอะไรเข้าไปลูกก็จะได้กินด้วย ความรู้สึกเจ็บปวดทรมานทารกสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และรับรู้ความรู้สึกของมารดาได้ด้วย และมีความเชื่อเรื่องความกตัญญูด้วยโดยกล่าวว่า เมื่อกุมารกุมารีนั้นเจริญพร้อมด้วยอินทรีย์แลเบญจขันธ์แล้ว คือมีอาการ 32 บริบูรณ์ คือมีอวัยวะครบถ้วน จะเริ่มมีจิตระลึกได้ คิดว่ามารดาตนนี้ประกอบไปด้วยความกรุณา อุตส่าห์บำรุงรักษาตน มีคุณหาที่สุดมิได้ เมื่อใดได้ออกจากครรภ์มารดา จะได้แทนคุณมารดา กล่าวว่าเป็นธรรมดาประเพณีแห่งบรมโพธิสัตว์แต่ปางก่อน

เมื่อสัตว์จะปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น โบราณเชื่อว่ามักฝันไปต่างๆ เชื่อว่าเมื่อตายแล้วก็มีเกิดใหม่ เชื่อว่ามารดาที่อยากกินอาหารแปลกๆ จะบอกได้ว่าเด็กเกิดมาจากอะไร เช่น

-ท่านว่าสัตว์นรกมาปฏิสนธิ ถ้ามารดาอยากกินมัจฉะมังสาเนื้อปลา แลสิ่งของอันคาว

-ท่านว่ามาแต่ป่าหิมพานต์ ถ้ามารดาอยากสิ่งอันเปรี้ยวแลขม

-ท่านว่ามาแต่สวรรค์มากำเนิดเป็นมนุษย์ ถ้ามารดาอยากกินน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล

-ท่านว่าดิรัจฉานมาปฏิสนธิ ถ้ามารดาอยากกินผลไม้ต่างๆ

-ท่านว่าพรหมมาปฏิสนธิ ถ้ามารดาอยากกินดิน

-ท่านว่ามนุษย์มาปฏิสนธิ ถ้ามารดาอยากกินสิ่งเผ็ดร้อน

ของดังกล่าวนี้ในคัมภีร์บอกว่าเป็นธรรมดาโลกียวิสัยที่มารดาอยากกิน และจะทำให้ทารกในครรภ์เกิดโรคต่างๆ ได้ เมื่อมารดากินอะไรทารกก็จะได้รับอาหารนั้นด้วยซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกัน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า