สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนาบหม้อเกลือและการนั่งถ่านของหญิงหลังคลอด

การนาบหม้อเกลือ
โดยใส่เกลือลงในหม้อที่มีฝาปิด นำขึ้นตั้งไฟจนเกลือในหม้อแตกปะทุ แล้วยกหม้อลงวางบนใบพลับพลึงหรือใบละหุ่ง ใช้ผ้าห่อหม้อตาลพร้อมกับใบพลับพลึงหรือใบละหุ่ง และให้เหลือชายผ้าไว้สำหรับใช้ถือด้วย แล้วนำหม้อนี้ไปนาบและประคบตามตัว และหัวเหน่าของหญิงหลังคลอด ให้ทำวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น จนกว่าจะออกไฟ หรือตามความสะดวก เชื่อว่าจะทำให้มดลูกหดตัวเข้าอู่ได้เร็วขึ้น

การนาบหม้อเกลือ จะใช้ประโยชน์จากความร้อนเช่นเดียวกับการอยู่ไฟ และการประคบ โดยใช้เกลือเพื่อดูดความร้อนและทำให้ยาซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย และใช้สมุนไพรจากใบพลับพลึงและใบละหุ่ง

การนั่งถ่าน
หญิงที่อยู่ไฟสมัยก่อนต้องมีการนั่งถ่าย โดยใช้สมุนไพรจากผิวมะกรูดตากแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ชะลูด ขมิ้นผง ใบหนาด สมุนไพรที่ใช้อาจจะไม่ต้องครบหมดทุกอย่างก็ได้ ให้นำสมุนไพรที่จะใช้ไปหั่นให้ละเอียดแล้วนำไปตากแดดเตรียมไว้ แล้วนำเตาไฟขนาดเล็กวางไว้ใต้แคร่ที่จะให้หญิงหลังคลอดนั่งห้อยขาบนแคร่นั้นได้ แล้วใช้สมุนไพรที่เตรียมไว้แล้วโรยไปบนเตาไฟจะทำให้มีควันพุ่งขึ้นมารมตัว ทำให้แผลที่เกิดจากการคลอดสมานกันได้ดี วิธีนี้ต้องใช้ถ่านที่ไม่แตกเวลาติดไฟ เพราะอาจมีสะเก็ดถ่านกระเด็นทำให้เกิดแผลพุพองได้ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

อาการของหญิงหลังคลอด
ในสมัยก่อนผู้อยู่ไฟจะต้องกินข้าวกับปลาแห้งหรือเกลืออยู่เป็นเวลาหลายวัน ต่อจากนั้นจึงจะกินแกงเลียงได้บ้าง หญิงที่อยู่ไฟทางภาคเหนือมักจะกินข้าวกับเกลือ หรือปั้นข้าวเหนียวจิ้มเกลือกินประมาณ 10-15 วัน ต่อจากนั้นถึงจะกินข้าวกับปลาเค็มได้

พบว่าหญิงหลังคลอดที่ให้นมบุตรในชนบทจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคขาดโปรตีนและแคลอรี่ ทำให้มีน้ำนมน้อย สุขภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีความเชื่อเรื่องอาหารที่เป็นของแสลง เชื่อว่าถ้ากินเข้าไปจะทำให้มดลูกไม่แห้ง จึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงพบว่ามารดาเหล่านี้มักเป็นโรคเหน็บชาถึงร้อยละ 92 และส่งผลต่อทารกที่ดูดนมแม่ด้วย เนื่องจากได้รับวิตามินบีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ทารกร้องเสียงแหบ หอบ หน้าบวม และเป็นโรคเหน็บชาด้วย และอาจทำให้หัวใจวายและตายได้ถ้ามีอาการรุนแรง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า