สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ

การนวดเป็นการสัมผัสรูปแบบหนึ่งที่ไม่ต้องใช้คำพูดในการสื่อสาร ผู้นวดจะสนใจ เอาใจใส่ ในกระบวนการนวดมากขึ้น ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับการสัมผัสมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกสบายกายและใจ คลายจากความตึงเครียด เป็นการสื่อสารที่อบอุ่น ผู้นวดจะรับรู้และเข้าใจผู้ป่วยได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจจากความใกล้ชิด ทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ก่อให้เกิดความไว้วางใจ และมีความสนิทสนมกัน ผู้ป่วยสามารถระบายความทุกข์ ความคับข้องใจ และความวิตกกังวลจากความเจ็บป่วยให้ผู้นวดทราบได้ ทำให้มีความแจ่มใส กระฉับกระเฉงขึ้น และความเจ็บปวดก็สามารถใช้การนวดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจได้ และทำให้อดทนต่อความเจ็บปวดด้วย

ผลการนวดที่มีต่อสภาวะทางจิตใจ มีดังนี้

1. ผลของการนวดต่อสภาพอารมณ์
จากการศึกษาสภาพอารมณ์ของนักศึกษา 183 คน ของ วินเบิร์ก และโคลอดนี (Weinberg & Kolodny, 1988:202-211) โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายกับการนวด โดยใช้การว่ายน้ำ วิ่งเหยาะๆ แบดมินตัน เทนนิส และการนวดทั่วร่างกาย กับกลุ่มควบคุมที่ให้พัก โดยใช้แบบวัดสภาพอารมณ์(profile of mood states, POMS ของ McNair, 1971) เป็นเครื่องมือวัดสภาพจิตใจ แบบวัดความวิตกกังวล(the state anxiety inventory, SAI ของ Spielberger, 1970) และแบบตรวจสอบรายการของเทเยอร์(Thayer adjective checklist อ้างใน Weinberg & Kolodny, 1988) ใช้วัดความวิตกกังวล ความเครียด ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย สำหรับความขึ้นลงของอารมณ์ที่ประกอบไปด้วย ความเครียดและวิตกกังวล ซึมเศร้าและหดหู่ โกรธและผูกพยาบาท ความแข็งแรงและกระตือรือร้น อ่อนล้าและเฉื่อยชา สับสนและความจำเสื่อม จะวัดด้วยแบบวัดสภาพอารมณ์ โดยก่อนและหลังการออกกำลังกาย หลังการนวดแบบสวีเดน หรือหลังจากการพัก ทุกคนจะต้องตอบแบบสอบถามก่อน พบว่า กลุ่มที่มีอารมณ์ดีขึ้นคือกลุ่มที่ได้รับการนวดและวิ่งเหยาะๆ หลังจากการทำกิจกรรมสุขภาพจิตจะดีขึ้นทันที ผู้ได้รับการนวดให้ข้อมูลว่าได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการนวด แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มอื่นๆ โดยมีนัยสำคัญ

2. ผลของการนวดต่อระดับความวิตกกังวลของวิชาชีพพยาบาล
ผลจากการศึกษาความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลและพยาบาลวิชาชีพเพศหญิงอายุ 19-52 ปี ของลองเวิร์ท (Longworth, 1982: 44-61) ด้วยการนวดแบบลูบหลังเบาๆ ช้าๆ โดยวัดความวิตกกังวลและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาด้วยเครื่องมือวัดของสปิลเบิร์ก จะใช้เวลาในการนวด 6 นาที จากการทดลองในเวลาทั้งหมด 27 นาที โดยก่อนและหลังการนวดจะจัดให้มีการพัก เมื่อการทดลองสิ้นสุดพบว่า กลุ่มตัวอย่างรู้สึกคลายเครียดและได้พักผ่อน ทำให้อารมณ์และการกระตุ้นในร่างกายมีระดับต่ำลง คะแนนความวิตกกังวลที่ลดลงอย่างชัดเจน และระดับคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่ลดลง สรุปได้ว่า กล้ามเนื้อมีความตึงตัวน้อยลง ก่อนและหลังการนวดความดันโลหิตและความเร็วของการเต้นของหัวใจไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ในช่วงที่ทำการนวดเท่านั้นที่จะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติได้ ส่วนในช่วงพักจะไม่มีผลเพราะในช่วง 3 นาทีแรกของการนวดความดันโลหิตซิสโตลิกจะเริ่มเพิ่มขึ้น และใน 3 นาทีสุดท้ายของการนวดอัตราการเต้นของหัวใจก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อหยุดทำการนวดทั้งความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจก็จะลดลงเป็นปกติ

3. ผลของการนวดเพื่อลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
มีการศึกษาผลของการนวดที่ทำให้ลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดของผู้ป่วยชาย 9 ราย ที่มีอาการปวดจากโรคมะเร็ง ของเฟอเรลทอรี และกลิด(Ferrel-Torry and Glick, 1993:93-101) โดยก่อนและหลังการนวดจะวัดระดับความเจ็บปวดด้วยดูสเกลเปรียบเทียบ(visual analogue scale) และใช้เครื่องมือของสปิลเบิร์กวัดความวิตกกังวล จะใช้วิธีการนวดแบบลูบหนัก คลึง และนวดจุดที่เจ็บที่บริเวณคอ หลัง และไหล่ 30 นาที พร้อมกับวัดอัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต พบว่า สามารถลดความรู้สึกเจ็บปวดได้ประมาณร้อยละ 60 ลดระดับความวิตกกังวลได้ประมาณร้อยละ 24 และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และหลังการนวดเมื่อวัดสัญญาณชีพก็มีแนวโน้มว่าจะลดลง

4. ผลการนวดเพื่อลดความวิตกกังวลในผู้สูงอายุ
จากผลการศึกษาการนวดผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราที่มีต่อระดับความวิตกกังวล ของ เฟรเซอร์ และรอส(Fraser and Ross, 1993:238-45) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่นวดบริเวณหลังและมีการสนทนาตามปกติ กับกลุ่มที่มีการสนทนาเพียงอย่างเดียว พบว่า ความวิตกกังวลของกลุ่มที่นวดจะต่ำกว่ากลุ่มที่สนทนาเพียงอย่างเดียวโดยมีนัยสำคัญทางสถิติ และกลุ่มที่ได้รับการนวดจะรู้ผ่อนคลาย ดังนั้น ในการดูแลผู้สูงอายุ การนวดก็เป็นรูปแบบการสัมผัสที่มีคุณค่าอย่างหนึ่ง และช่วยในเรื่องการสื่อสารได้ด้วย

5. ผลของการนวดเพื่อลดพฤติกรรมตื่นเต้นหรืออยู่ไม่สุขของผู้สูงอายุ
การศึกษาการนวดในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมว่าจะส่งผลให้ลดพฤติกรรมตื่นเต้นหรืออยู่ไม่สุขได้หรือไม่ ของ ไซเดอร์ และคณะ(Snyder, et. al., 1995:60-63) โดยใช้เวลาในการนวด 10 วัน ก่อนและหลังการนวด 5 วัน พบว่าผู้สูงอายุมีพฤติกรรมตื่นเต้นลดลงบางอย่าง เช่น การร้องกรี๊ด การทำร้ายผู้อื่นเมื่อทำกิจวัตรประจำวันช่วงเช้า เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยจะสงบและผ่อนคลายลงได้ด้วยการนวด การศึกษาด้านนี้ยังมีหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้เพราะค่อนข้างจะซับซ้อน

6. ผลของการนวดเพื่อลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในโรงพยาบาล
จากการศึกษาเด็กและวัยรุ่นจำนวน 52 คน ที่อยู่ในโรงพยาบาลและมีภาวะซึมเศร้าและปรับตัวไม่ได้ ของ ฟิลด์ และคณะ(Field, et. al., 1993: 125-131) ว่าการนวดจะมีผลต่อความวิตกกังวลและอารมณ์หรือไม่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม กลุ่มศึกษาจะได้รับการนวด 30 นาที ที่บริเวณหลังเป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มควบคุมจะได้รับการผ่อนคลายด้วยการชมวีดิทัศน์ พบว่า ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าจะลดลงในกลุ่มที่ได้รับการนวด และหลังจากได้รับการนวดจะมีความเครียดลดลงโดยวัดจากระดับคอร์ติโซลที่ลดลงในน้ำลาย และพยาบาลในหอผู้ป่วยก็กล่าวว่า ความวิตกกังวลของกลุ่มที่ได้รับการนวดจะลดน้อยลง ให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น และนอนหลับได้ดี

7. ผลการนวดเพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดในชายรักร่วมเพศ
จากการศึกษาการนวดในชายรักร่วมเพศจำนวน 29 คน ของ รอนเสน และคณะ(Ironsen, et. al., 1995: 1-13) ว่ามีผลต่อความวิตกกังวลและความเครียดหรือไม่ ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ 20 คน และมี 9 คน ที่ไม่ติดเชื้อ โดยกลุ่มศึกษาจะได้รับการนวดทุกวัน วันละ 45 นาที นวดอยู่นาน 1 เดือน พบว่า ระดับคอร์ติโซลในน้ำลายของผู้ป่วยลดลง มีความเครียดน้อยลง และระดับความวิตกกังวลก็ลดน้อยลงด้วย มีเนเทอรัลคิลเลอร์เซลล์และภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับของเซลล์ที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้าของการติดเชื้อเอดส์

8. ผลการนวดเพื่อลดระดับความเครียดขณะทำงาน
จากการศึกษาการนวดในกลุ่มตัวอย่าง 52 คน ขณะนั่งในเก้าอี้ ของ คาดี และโจนส์(Cady and Jones, 1997:157-158) ว่าจะส่งผลต่อระดับความเครียดขณะทำงานหรือไม่ โดยก่อนและหลังการนวด 15 นาที จะทำการวัดความดันโลหิตก่อน และพบว่า ภายหลังการนวดความดันโลหิตซิสโตลิก และไดแอสโตลิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าภายหลังจากการนวดระดับความเครียดจะลดลง

แม้ผลวิจัยดังกล่าวจะไม่สามารถอธิบายกลไกการบำบัดปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ แต่ก็สรุปได้ว่า การนวดจะไม่เป็นอันตรายแต่ผู้ถูกนวดจะได้รับประโยชน์ มักมีความชื่นชอบ และตอบสนองในทางที่ดี จากคำกล่าวของ Pemberton (1950 cited in Rinder & Sutherland 1995) ที่ว่า ควรใช้การนวดต่อไป เพราะ “การรักษาที่ได้ผลดีมักถูกนำมาใช้ก่อนที่จะอธิบายได้ว่า การรักษาเช่นนั้นมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร” แม้ว่าจะมีประโยชน์หลายประการจากการนวด แต่ก็ไม่ควรใช้การนวดเพื่อบำบัดโรคต่อไปนี้

1. ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจากการนวดอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการระคายเคืองได้ หรือการใช้น้ำมันหล่อลื่นในบริเวณที่ถูกนวดอาจทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง หรือแผลเป็นหนอง

2. ผู้ที่เป็นมะเร็ง

3. บริเวณที่มีอาการฟกช้ำ หรือได้รับอุบัติเหตุ ในวันที่ 4 หลังมีอาการจะใช้การนวดบำบัดภาวะตกเลือดได้

4. บริเวณที่มีแผลเปิด หรือแผลเป็นที่ยังไม่หาย

5. บริเวณที่กระดูกหัก โดยเฉพาะที่กลางต้นขาหรือข้อศอก

6. บริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือข้อต่อ โดยเฉพาะข้อที่มีการติดเชื้อวัณโรค

การนวดอาจทำให้หลอดน้ำเหลืองถูกทำลายได้ ถ้าใช้แรงกดมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการบวมร่วมด้วยจะมีการทำลายที่สูงมาก

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า