สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นสุมนา

ทางเดินของเส้นสุมนาตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า สุมนา นั้น แล่นออกมาแต่นาภี แล้วก็เข้าไปในภายในอก ตามลำคอขึ้นไปเป็นลิ้นนั้นแล

ทางเดินของเส้นสุมนาตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
ที่อยู่สุมะนานั้น                       ตรงกลางสูญนะนาภี
แล่นเลยตรงขึ้นไป                 ขั้วหัวใจอุระนี้
แนบคอหอยวิถี                       ตลอดลิ้นสิ้นทุกเส้น

ทางเดินของเส้นสุมนาสรุปได้ดังนี้
เส้นนี้จะอยู่เหนือสะดือไปประมาณ 2 นิ้วมือ ลงลึกไปตามกระดูกสันหลัง ขึ้นไปสู่หัวใจ ผ่านลำคอไปจรดที่โคนลิ้น

ลมประจำเส้นสุมนาและการเกิดโรค
ลมชิวหาสดมภ์
ทำให้เกิดอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง หนักอกหนักใจ เซื่องซึม พูดไม่ชัด พูดไม่ได้

ลมดาลตะคุณ(ลมหาอัศดมภ์)
ทำให้มีอาการแน่นอก จุกอก เอ็นเป็นลำจับหัวใจ มักเป็นในวันอาทิตย์

ลมทะกรน
ทำให้มีอาการระส่ำระสาย

ลมบาดทะจิต
ทำให้มีอาการเคลิบเคลิ้ม พูดพรอด พูดจาติดขัด หลงลืม หลงใหล แน่นอก คลุ้มคลั่ง อาเจียนเป็นลมเปล่าๆ เบื่ออาหาร หนาวและร้อน

วิธีแก้ลมประจำเส้นสุมนา
ให้นวดอย่างแผ่วเบาตามแนวเส้นสุมนา ไม่ควรใช้เวลาในการนวดนาน และให้ใช้ยาต่อเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

ยาที่ใช้ควรเป็นยาที่มีรสหอม ขม กลิ่นหอมสุขุม ไม่ควรใช้ยาที่มีรสร้อนหรือเย็นเกินไป ซึ่งอาการต่างๆ มีตำรับยาที่ใช้ดังนี้

-ถ้ามีอาการทางลิ้น
ให้นำชะมดเชียง 1 สลึง พิมเสน 1 สลึง กฤษณาสลึงเบี้ย แก่นสน 1 สลึง กำยาน 2 สลึง ใช้ขิงดีปลี กะลำพัก จันทน์ขาว การบูร เทียนดำ เจตมูลเพลิง ดองดึงส์ อย่างละสลึง ตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด นำมากระสายด้วยน้ำมะนาว หรือน้ำมะงั่ว ปั้นเป็นเม็ดเท่าเม็ดมะกล่ำตาหนูป่า ใช้แก้ไข้สั่นลิ้นแข็งดูดไม่ได้ ถ้ามีอาการลิ้นหดให้ใช้ยา 19 เม็ด มาละลายกับน้ำดอกไม้เทศ ดื่มจนหมด ถ้ามีอาการหิวโหยไม่มีแรง หัวใจจับ ให้ใช้ยา 19 เม็ด ฝนกับน้ำดอกไม้ หรือใช้ยา 19 เม็ดฝนกับน้ำมะนาว ใช้แก้อาการเปรี่ยวดำ

-แก้คางแข็งชิวหาหด
ให้ใช้ใบหนาด ผักคราด สารส้ม พรหมมิ ผสมกับน้ำมะนาว หรือน้ำสะอาด ใช้กิน หรือประคบที่คางด้วย

-วิงเวียนจิตวางวาย
ให้ใช้เปลือกหอยทั้ง 5 เผาเทียน 5 อัน เจตมูลเพลิง ขิงแห้ง อย่างละเท่ากันบดให้เป็นผงละลายด้วยเหล้า ใช้รับประทาน 1 ถ้วย

-แก้ลมบาดทะจิต มีอาการวิงเวียน ตาลาย ร้อนอกร้อนใจ ไม่สบาย
ให้ใช้โกฐหัวบัว เขมา ขิงแห้ง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ อย่างละ 1 สลึง ใช้ยาดำ น้ำตาลกรวดเนย เปลือกฝักเขียว อย่างละ 3 บาท ดีปลี 1 บาท เกลือสินเธาว์เฟื้อง ดีจระเข้ ดีงูเหลือมอย่างละเฟื้อง ตำหรือบดให้เป็นผง ใช้น้ำฝน หรือน้ำร้อนละลาย กินแก้ลมตรีสูร

-ลมวิงเวียน หาว ลิ้นกระด้าง คางแข็ง
ใช้ลูกผักชี เจตพังคี ดอกคำฝอย สมุลแว้ง ฝางเสน อบเชยเทศ อย่างละ 1 ตำลึง โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 ว่านเปราะ สังคลี ขิงกระวาน กานพลู กฤษณา กะลำพัก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ทั้ง 2 ตรีกฏุก อย่างละ 2 สลึง บดทำเป็นแท่ง ใช้สุรา น้ำส้มซ่า ขิง ข่าละลายรับประทาน และยังมียาอีกมากมายในตำรับอื่นๆ ที่ควรศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

เส้นกลางลำตัวที่เรียกว่า เส้นสุมนาจะมีความสำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นที่บริเวณหัวใจ สมอง ไขสันหลัง เส้นเลือดแดงใหญ่ หรือเส้นประสาทที่อยู่กลางลำตัวในกลุ่มต่างๆ เมื่อสุมนากำเริบมักจะมีลักษณะของโรคและอาการที่เกิดขึ้นได้ทั้งทางจิตและทางร่างกาย ในส่วนของทางจิตจะทำให้จิตคลุ้มคลั่ง ละเมอเพ้อพก นอนไม่หลับ ส่วนผลทางกายจะทำให้การทำงานของลิ้นมีปัญหา เช่น ลิ้นไม่รู้รส ขมปาก หวานปาก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ลิ้นหดแยกไม่ได้ สำหรับอาการที่เรียกว่า ลมดาลตะคุณ ที่เกิดจากการกำเริบของสุมนานั้น จะทำให้มีอาการจุกอก หากมีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ อาการเหล่านี้จะเกี่ยวกับโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างไรก็ตาม การนวดจุดเหล่านี้ถ้าใช้หลักการทางแพทย์แผนปัจจุบันอธิบายว่าเกี่ยวข้องกับอาการอย่างไรก็ยังไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อหัวใจของผู้ป่วยหยุดเต้น แพทย์แผนปัจจุบันจะกระตุ้นหัวใจด้วยจุดของเส้นสุมนานี้ ซึ่งควรจะมีการศึกษากันอีกต่อไป

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นสุมนา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้เชื่อมมึน ตรงจุดกึ่งกลางยอดหัว
แก้ชิวหาสดมภ์ ตรงกึ่งกลางลูกคาง
แก้จิตระส่ำระสาย อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้อาหารไม่มีรส อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้เคลิ้มคลั่ง อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้หวานปาก อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้สะอื้นลมปะทะ อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้ขมปาก อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้ละเมอเพ้อพก อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้เค็มปากเลือดปาก อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้มือและเท้าเพลีย อยู่บริเวณกระดูกแกนกลางหน้าอก
แก้ลิ้นแข็งกระด้าง บริเวณท้องใต้ลิ้นปี่
แก้ลิ้นใหญ่คับปาก บริเวณท้องใต้ลิ้นปี่
แก้ลิ้นหดยืดไม่ออก บริเวณท้องใต้ลิ้นปี่
แก้นอนไม่หลับ เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ
แก้สุมระมันติ บริเวณใกล้หัวเหน่า
แก้ลมจิตรคุณ บริเวณใกล้หัวเหน่า

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นสุมนา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมสหัสดมภ์ บริเวณฐานกะโหลกด้านซ้าย
แก้ลมมหาสดมภ์ บริเวณฐานกะโหลกด้านขวา
แก้เชื่อมมึน กึ่งกลางใต้ฐานกะโหลก
แก้สวิงสวาย บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้ลมให้หิว บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้หายใจขัด บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้ลมระทมใจ บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้ใจลอย บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้ระทวยใจ บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้นอนไม่หลับ บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้น้ำเขฬะใส บริเวณข้างกระดูกสันหลังช่วงอก
แก้คลื่นเหียน ตรงกล้ามเนื้อบริเวณเอวคอด
แก้รากเพื่อพิษ ตรงกล้ามเนื้อบริเวณเอวคอด
แก้ลมมหาสนุก กระดูกกระเบนเหน็บ
แก้รำโหยจิต จุดบริเวณข้อเท้า
แก้บาทลักษ์ จุดบริเวณข้อเท้า
แก้บาทจักร จุดบริเวณข้อเท้า
แก้บาดทะยัก จุดบริเวณข้อเท้า

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า