สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นสหัสรังสี

ทางเดินของเส้นสหัสรังสีตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า สหัสรังสี นั้น แล่นออกมาแต่นาภี แล้วก็แล่นลงไปตามต้นขา ไปตลอดเอาเท้าซ้ายแล้วก็กลับย้อนขึ้นมาตามแข้งซ้าย แล้วขึ้นไปเอาหัวนมซ้าย แล้วแล่นเข้าไปแตกออกเป็นรากจักษุเบื้องซ้าย นั้นแล

ทางเดินของเส้นสหัสรังสีตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
หนึ่งหัสรังษีเอ็น                                    อันเส้นนี้ท่านพิปราย
ในอุทรข้างซ้ายหมาย                           แล่นลงไปโดยต้นขา
ตลอดลงฝ่าเท้าเล่า                              แล่นผ่านเอานิ้วบาทา
ต้นนิ้วสิ้นทั้งห้า                                     ย้อนขึ้นมาข้างซ้ายพลัน
ตลอดทอดเต้านมซ้าย                         แล่นผันผายข้างคอนั้น
ลอดขากันไกลพลัน                             สุดเส้นนั้นเปนรากตา

ทางเดินของเส้นสหัสรังสีสรุปได้ดังนี้
เส้นนี้มีตำแหน่งอยู่บริเวณใต้สะดือประมาณ 3 นิ้วมือ ลงไปที่ด้านในของต้นขาซ้าย ผ่านหน้าแข้งด้านในไปที่ฝ่าเท้า ผ่านบริเวณต้นนิ้วเท้าทั้ง 5 แล้วย้อนมาด้านนอกของขอบฝ่าเท้า ขึ้นมาด้านนอกของหน้าแข้งและต้นขา ไปยังด้านหน้าชายโครง ผ่านหัวนมซ้าย เข้าไปใต้คาง และสิ้นสุดที่ตาซ้าย

ลมประจำเส้นสหัสรังสี(หัสรังษี), (หัสฤดี) และการเกิดโรค
ลมอัคนิวาตคุณ หรือลมจักขุนิวาต เป็นลมประจำเส้นสหัสรังสี มักเกิดขึ้นในวันศุกร์ มีสาเหตุมาจากการกินของหวานและมันเข้าไปมาก ทำให้มีอาการวิงเวียน ปวดบริเวณกระบอกตา ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น

วิธีแก้ลมประจำเส้นสหัสรังสี
ตาจะหายจากอาการพร่ามัวได้ เมื่อใช้วิธีนวดบริเวณท้อง แล้วไล่ไปตามเส้นทั้งสองที่บริเวณต้นคอ

ความเด่นของ 2 เส้นนี้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับตาทั้ง 2 ข้าง และจุดตั้งแต่คอไปถึงใบหน้าด้านบน ในทางกายวิภาคศาสตร์สามารถอธิบายได้ง่าย แต่ส่วนที่ยังอธิบายได้ยากก็คือ บริเวณเท้า จุดที่ทำให้หลับให้ตื่นมักเป็นจุดที่น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้จะอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวากับบริเวณท้องขาใต้เข่า แต่การกำหนดจุดที่แน่นอนยังไม่พบว่ามีผู้มีประสบการณ์จริงที่จะทำได้ จึงวางตำแหน่งจุดนี้ไว้ตามตำราเดิม

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นสหัสรังสี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมผิวจักษุแห้ง แนวเส้นกึ่งกลางหัวลงมาถึงตีนผม
แก้จักษุซ้าย หัวคิ้วข้างซ้าย
แก้ลมปะกังมีพิษข้างซ้าย บริเวณขมับ
แก้จักษุขวา หัวคิ้วข้างขวา
แก้ลมแสบจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมปวดหว่างคิ้ว แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเคืองจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมปวดหลังจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเขม่นจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมจักษุแดง แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเกิดแต่ตับ ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมเกิดแต่ปอด ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมอุทรวาตา บริเวณท้อง
แก้จักษุเพื่อเตโช ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมมิให้นอนหลับ เส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณท้องน้อย
แก้ลมขึ้นจักษุเพื่อกล่อน ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมในจักษุเพื่อช้ำ ไม่สามารถอธิบายได้

 

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นสหัสรังสี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมทำให้น้ำจักษุไหล แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมเคืองจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้แสบจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้แสบจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้จักษุวิง แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้จักษุเป็นกุ้งยิง บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมจักษุเป็นกุ้งยิง บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมเบื้องต่ำกำเริบ บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมทำให้จักษุพร่า บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้นอนมิหลับ บริเวณเอวเหนือกระเบนเหน็บ
แก้ลมให้นอนหลับ บริเวณเอวเหนือกระเบนเหน็บ
แก้ลมกระทำให้หลับ ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งได้แน่นอน
แก้ลมหลับไม่มีสติ ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งได้แน่นอน
แก้ลมให้เสียจักษุ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมทำให้เสียดแทงจักษุ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมขึ้นจักษุเพื่อกล่อน บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้จักษุเพื่ออันทพฤกษ์ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย

โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า