สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นรุชำ

ทางเดินของเส้นรุชำตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า อุลังกุ นั้น แล่นออกมาแต่นาภีข้างขวาขึ้นไปเอาราวนมขวา แล่นเข้าไปใต้คางแล้วออกเป็นรากหูขวา นั้นแล

ทางเดินของเส้นรุชำตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
ออกจากนาภีแผ่           ขึ้นไปจับราวนมขวา
ขึ้นไปราวคอคาง          วางไปเอาหูขวานา

ทางเดินของเส้นรุชำสรุปได้ดังนี้
เริ่มต้นจากตำแหน่งสะดือขวาไปประมาณ 4 นิ้วมือ ขึ้นไปยังราวนมข้างขวา ผ่านคอด้านข้าง ขึ้นไปสิ้นสุดที่หูด้านขวา

ลมประจำเส้นรุชำ(สุขุมอุสะมา), (อุลังกะ) และการเกิดโรค
ไม่ระบุชื่อลม มักเป็นในวันอังคาร เกิดจากในสมองมีความดันของลม จากการกินน้ำมะพร้าว และของมัน ทำให้มีอาการน้ำตาไหล หูอื้อ หูตึง มีลมออกจากหู คัดจมูก ปวดศีรษะ หากกินของมันแล้วทำให้เจ็บท้องมักเกิดในวันอาทิตย์

วิธีแก้ลมประจำเส้นรุชำ
ให้นวดตามเส้นที่บริเวณใบหู จะทำให้อาการอื้ออึงในหูหายได้ แต่ถ้ายังไม่หายหรือยังไม่ได้ยินเสียง ก็แสดงว่าเกิดจากลม “ทาระกรรณ์” ก็ให้นวดที่เอวด้วย แล้วคลึงขึ้นไปใหม่ตามเส้นนั้น ประกอบกับการกินยาพร้อมกันไปด้วย

ส่วนใหญ่แล้วเส้นรุชำจะเกี่ยวข้องกับหู ไม่มีความซับซ้อนของจุดในบริเวณต่างๆ มากนัก ซึ่งจะอยู่บริเวณคอเสียส่วนใหญ่ จึงน่าจะเป็นการถูกต้องที่มีการกดนวดบนกล้ามเนื้อ ประสาท และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณหู หลังหู และใต้หู ส่วนจุดอื่นๆ ที่ส่งผลกับต่อมน้ำลาย ทำให้เบื่ออาหาร เจริญอาหาร และการนอนหลับ อาจเกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ก็อธิบายได้ยาก และตำแหน่งที่ถูกต้องแท้จริงก็ควรมีการศึกษากันต่อไปอีก

แนวจุดกดด้านหน้าตามเส้นรุชำ

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมให้โสตตึง บริเวณทัดดอกไม้เหนือยอดใบหู
แก้ลมให้โสตหนัก บริเวณทัดดอกไม้เหนือยอดใบหู
แก้ลมปวดในโสต ตรงติ่งหน้าใบหู
แก้ลมให้ปวดในโสต ตรงติ่งหน้าใบหู
แก้ลมอึงในโสต บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมโสตดังมะมี่ บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมดันในโสต บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมออกโสตให้คัน บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมนอนมิหลับ บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้นอนมิหลับ บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้บริโภคอาหารไม่มีรส บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้เบื่ออาหารไม่มีรส บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้เมื่อยให้เสียวจำหระเบื้องขวา บริเวณท้อง
แก้ลมให้เมื่อยให้เสียวจำหระเบื้องซ้าย บริเวณท้อง

แนวจุดกดด้านหลังตามเส้นรุชำ

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมให้โสตหน้า บริเวณทัดดอกไม้
แก้ลมให้โสตตึง บริเวณทัดดอกไม้
แก้ลมปวดในโสตซ้าย บริเวณฐานกะโหลก
แก้ลมให้ปวดในโสตขวา บริเวณฐานกะโหลก
แก้ลมอึ้งในโสตซ้าย บริเวณเส้นก้านคอ
แก้ลมให้อึ้งในโสตขวา บริเวณเส้นก้านคอ
แก้ลมดันในโสตซ้าย บริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่า
แก้ลมให้ดันในโสตขวา บริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่า
แก้ลมนอนมิหลับ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้นอนมิหลับ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมบริโภคอาหารไม่มีรส บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้คอแห้งหาน้ำเขฬะมิได้ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้เมื่อยจำหระเบื้องซ้าย ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้เมื่อยจำหระเบื้องขวา ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า