สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นปิงคลา

ทางเดินเส้นปิงคลาตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า ปิงคลา นั้น แล่นออกมาแต่นาภีแล้ววกลงไปเอาต้นขาเบื้องขวา แล้วเกี่ยวกระหวัดไปเอาสันหลัง แฝงแนบขึ้นไปตามกระดูกสันหลังเบื้องขวา แล้วแล่นไปเกี่ยวเอาศีรษะแล้วลงมาเอานาสิกขวา อยู่ประจำลมอันชื่อว่า สูญทกลาเบื้องขวา นั้นแล

ทางเดินของเส้นปิงคลาตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
จากครรภาขวาไป                   แล่นลงในหัวเหน่าขา
เลี้ยวลอดตลอดหลัง              สุดศรีสังลงนาศา
ประจำลมสูรย์กาลา                ซีกข้างขวาเปนสำคัญ

ทางเดินของเส้นปิงคลาสรุปได้ว่า
เส้นนี้อยู่ห่างไปจากสะดือข้างขวาประมาณ 1 นิ้วมือ แล้วลงไปที่บริเวณหัวเหน่า ลงมาด้านในของต้นขาขวา ลงไปที่หัวเข่า แล้วขึ้นมาที่ต้นขาขวาด้านนอก ผ่านกึ่งกลางแก้มก้นแนบมาตามกระดูกสันหลังข้างขวาจนถึงต้นคอและบนศีรษะ แล้วผ่านหน้าผากลงมาจรดจมูกด้านขวา ลมประจำมีชื่อว่า จันทกลา

ลมประจำเส้นปิงคลาและการเกิดโรค
ลมสูริยกลา(สูญทกลา), (ลมปะกัง), (ลมสันนิบาต)
จะทำให้มีอาการปวดศีรษะมากในตอนเช้าถึงเที่ยง ทำให้หน้าแดง ตาแดง เป็นลมปะกัง ชักปากเบี้ยว ทำให้เจ็บตา น้ำมูกน้ำตาไหล จาม มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลอยู่ตลอดเวลา เป็นริดสีดวงจมูก มักเกิดอาการขึ้นในวันพฤหัสบดี

ลมพหิ
มีอาการคล้ายถูกงูสาบสมิงคลากัด ทำให้สลบ ไม่รู้สึกตัว ไม่พูดจา

ลมรัตนาวาต
เกิดจากการกินอาหารที่จำเจ เมื่อเริ่มเป็นจะทำให้รู้สึกแสบท้อง ทำให้อยากกินอาหาร และของสดของคาว ทำให้มีอาการเมื่อยล้า

วิธีแก้ลมประจำเส้นปิงคลา
ให้นวดตั้งแต่กระหม่อม ตา ไรผม ต้นคอ ตามหู บริเวณทัดดอกไม้ทั้งสองข้าง ตามแนวเส้นปิงคลา แล้วลงมานวดที่จุดศูนย์กลางบริเวณจมูกขวา ถ้าเป็นสันนิบาตลมปะกัง ใช้นิ้วทั้ง 2 นวดคลึงไปบริเวณหน้าผาก ท้ายผม ใต้หลังหูทั้ง 2 ข้าง และจุดเส้นข้างจมูกทั้ง 2 ข้าง

ใช้ยาเช่นเดียวกับเส้นอิทา

เส้นอิทากับเส้นปิงคลามีความคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่อยู่บริเวณคอและอกคนละด้านของลำตัวเท่านั้น และมีโรคที่เกิดจากจุดที่คล้ายคลึงกันด้วย เช่น อาการปวดขมับ จะเกี่ยวกับสะบัก ใช้วิธีแก้สะบักจม เส้นอิทาแก้ลมกระดูกสะบัก โดยจุดนวดจะค่อนมากลางลำตัวและเยื้องกัน จุดของเส้นปิงคลาก็เกี่ยวกับน้ำนมเช่นกัน มีโรคและการรักษาที่เหมือนกัน เช่น มีอาการหาวเรอ คัดจมูก หูหนัก จุดเหล่านี้จะอยู่บริเวณข้างกระดูกอกด้านขวา ซึ่งยังไม่ทราบตำแหน่งที่ชัดเจน แต่น่าจะอยู่ที่ซี่ที่ 6 ของกระดูกซี่โครง

โรคที่เกี่ยวข้องกับธาตุมีอยู่หลายโรค เช่น แก้เตโชให้ออก และคำว่า “กล่อน” ที่แปลว่า เสื่อม ชำรุด หลุด ได้แก่ ไส้เลื่อน ก็คือ กล่อนลงฝัก หรืออาการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณแข้ง ขา ทำให้มีอาการปวดเมื่อย ก็ใช้คำว่า กล่อนลงแข้ง เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบเส้นปิงคลาทางกายวิภาคศาสตร์ ก็จะเหมือนกับเส้นอิทา คือ อาจเป็นเส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและสมองซีกขวา หากมีความพิการหรืออาการกำเริบของเส้นอิทาและปิงคลาแล้วมักจะทำให้มีอาการอัมพาต ปากเบี้ยว เมื่อเริ่มมีอาการจะปวดศีรษะอย่างรุนแรงนำมาก่อน ถ้าปวดด้านขวาจะเรียกว่า สูริยกลา ถ้าเป็นด้านซ้ายเรียกว่า จันทกลา อาการของลมสุริยะ และลมจันทร์ ลมปะกังเป็นพิษทั้งเส้นอิทาและปิงคลา ลมขึ้นเบื้องสูง อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดแตก ตีบ ตัน หรือหดตัวชั่วคราวในสมอง ซึ่งสาเหตุในปัจจุบันพบว่ามาจาก ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และปัจจุบันจะเรียกโรคที่เกิดจากลมปะกังว่า โรคปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน แต่ตามแผนโบราณ คำว่า ลมปะกัง ไม่ได้มีความหมายแค่เพียงโรคปวดศีรษะข้างเดียวเท่านั้น

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นปิงคลา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ปวดขมับ กึ่งกลางร่องไหปลาร้า
แก้สะบักจม หน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้า
แก้หาวเรอ กึ่งกลางกระดูกหน้าอกไล่ลงมาทางลิ้นปี่
แก้หูหนักข้างขวา กึ่งกลางกระดูกหน้าอกไล่ลงมาทางลิ้นปี่
แก้คัดจมูก กึ่งกลางกระดูกหน้าอกไล่ลงมาทางลิ้นปี่
แก้นมหลง ใต้ราวนม
แก้น้ำนมไม่มี ใต้ราวนม
แก้ฝีในนม ใต้ราวนม
แก้เมื่อยขา ยังหาจุดที่แน่นอนไม่ได้
แก้กล่อนลงฝัก ยังหาจุดที่แน่นอนไม่ได้
แก้เตโชให้ออก ยังหาจุดที่แน่นอนไม่ได้
แก้ไหวตัวมิได้ อยู่บริเวณแนวต้นขาแนวเดียวกับขอบสะบัก
แก้เมื่อยแข้ง อยู่แนวร่องสันหน้าแข้งด้านนอก
แก้กล่อนลงแข้ง อยู่แนวร่องสันหน้าแข้งด้านนอก
แก้สะคริวชัก อยู่แนวร่องสันหน้าแข้งด้านนอก
แก้กล่อนหลง อยู่แนวร่องสันหน้าแข้งด้านนอก
แก้อโธคมาวาตให้อ่อน ใต้ตาตุ่มด้านใน

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นปิงคลา

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ปวดหน้าผาก ตรงกึ่งกลางฐานกะโหลก
แก้มัวจักษุ ตรงกระดูกต้นคอข้อสุดท้าย
แก้หายใจขัด ตรงกระดูกอกข้อที่ 1-2
แก้คลื่นเหียน ตรงกระดูกอกข้อที่ 3
แก้แน่นอก ตรงกระดูกอกข้อที่ 3
แก้ร้อนอก ตรงกระดูกอกข้อที่ 3
แก้ลมปิตวาตะ แนวข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้จุกอก แนวข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้จับให้หนาว แนวข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้จับให้ร้อน แนวข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้สะท้านร้อน-หนาว แนวข้างกระดูกสันหลังช่วงอกและเอว
แก้เมื่อยเอว บริเวณกระดูกเอวข้อที่ 3
แก้ขัดเบา บริเวณกระดูกเอวข้อที่ 5
แก้สะคริวชักกลางเท้า ไม่สามารถหาจุดได้ชัดเจน
แก้ขัดเข่า ใต้ข้อพับเข่า
แก้เมื่อยสันหน้าแข้ง บริเวณร่องข้างสันหน้าแข้ง
แก้ร้อนหลังเท้า ตรงพับข้อเท้า
แก้ลมขัดเท้า ใต้ตาตุ่มด้านใน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า