สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นทวารี

ทางเดินของเส้นทวารีตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อ ทวารี นั้น แล่นออกมาแต่นาภี แล้วตลอดลงไปเอาเท้าขวา แล้วกลับขึ้นมาตามแข้ง ผ่านขึ้นไปตามนมขวา แล่นเข้าไปได้คางขวา แล้วแตกออกเป็นรากจักษุขวา นั้นแล

ทางเดินของเส้นทวารีตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
แล่นออกแต่นาภี                                 ข้างขวานี้แล่นลงมา
ตามแนวแห่งขาขวา                            สู่หน้าแข้งจนฝ่าท้าว
ตลอดนิ้วทั้งห้านิ้ว                               พลิ้วกลับขึ้นตามแข้งเข่า
หน้าขาขึ้นไปเอา                                 ชายโครงสุดจนเต้านม
ขึ้นคางแล่นตลอดเข้า                         เอาลูกตาโดยนิยม
เปนรากจักษุสม                                  ให้กรอกกลับหลับลืมแล

ทางเดินของเส้นทวารีสรุปได้ดังนี้
เส้นนี้มีตำแหน่งอยู่บริเวณใต้สะดือลงไปประมาณ 3 นิ้วมือ แล่นลงไปบริเวณด้านในของต้นขาขวา ผ่านด้านในหน้าแข้งไปที่ฝ่าเท้า ผ่านบริเวณต้นนิ้วเท้าทั้ง 5 แล้วย้อนขึ้นมาผ่านขอบด้านนอกของฝ่าเท้ามายังหน้าแข้งและต้นขาด้านนอก ไปที่ด้านหน้าของชายโครง ผ่านหัวนมขวา ไปยังใต้คาง และไปสิ้นสุดที่ตาด้านขวา

ลมประจำเส้นทวารี(ทวาคตา), (ทวารจันทร์), (ฆานทวารี) และการเกิดโรค
ลมทิพจักษุ
ทำให้มีอาการปวดที่ตาทั้งสองข้าง หรืออาจเป็นเพียงด้านเดียวที่ด้านขวาในบางครั้ง เรียกว่า ทิพจักษุขวา ทำให้มีอาการปวดที่กระบอกตา รู้สึกวิงเวียน ตามีอาการพร่ามัว ลืมตาไม่ขึ้น

ลมปัตฆาต
มักเกิดขึ้นในวันอังคาร เกิดจากสาเหตุการกินน้ำมะพร้าวอ่อนที่หวานมัน ทำให้มีความพิการเรื้อรังของเส้นทวารี

วิธีแก้ลมประจำเส้นทวารี
ตาจะหายจากอาการพร่ามัวได้ เมื่อนวดที่บริเวณท้อง แล้วไล่ไปตามเส้นทั้งสองที่ต้นคอ

ความเด่นชัดของทั้ง 2 เส้นนี้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับตาทั้ง 2 ข้าง และจุดด้านบนที่อยู่ตั้งแต่ต้นคอ และใบหน้า ที่ทางกายวิภาคศาสตร์สามารถอธิบายได้ ที่ยังอธิบายได้ยากจะเป็นที่บริเวณเท้า จุดบริเวณท้องน้อยด้านขวากับบริเวณท้องขาใต้เข่าเป็นจุดที่น่าสนใจ คือทำให้หลับให้ตื่นได้ การวางจุดที่แน่นอนในตำแหน่งนี้ยังไม่พบผู้มีประสบการณ์ที่สามารถทำได้ จึงกำหนดไปตามตำราเดิมก่อน

แนวจุดนวดด้านหน้าตามเส้นทวารี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมผิวจักษุแห้ง แนวเส้นกึ่งกลางหัวลงมาถึงตีนผม
แก้จักษุซ้าย หัวคิ้วข้างซ้าย
แก้ลมปะกังมีพิษข้างซ้าย บริเวณขมับ
แก้จักษุขวา หัวคิ้วข้างขวา
แก้ลมแสบจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมปวดหว่างคิ้ว แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเคืองจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมปวดหลังจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเขม่นจักษุ แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมจักษุแดง แนวเส้นบริเวณข้างต้นคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมเกิดแต่ตับ ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมเกิดแต่ปอด ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมอุทรวาตา บริเวณท้อง
แก้จักษุเพื่อเตโช ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมมิให้นอนหลับ เส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณท้องน้อย
แก้ลมขึ้นจักษุเพื่อกล่อน ไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมในจักษุเพื่อช้ำ ไม่สามารถอธิบายได้

แนวจุดนวดด้านหลังตามเส้นทวารี

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมทำให้น้ำจักษุไหล แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมเคืองจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้แสบจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้แสบจักษุ แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้จักษุวิง แนวเส้นข้างฐานกะโหลกขึ้นไปบนศีรษะ
แก้ลมทำให้จักษุเป็นกุ้งยิง บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมจักษุเป็นกุ้งยิง บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมเบื้องต่ำกำเริบ บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้ลมทำให้จักษุพร่า บริเวณขอบปีกสะบักด้านใน
แก้นอนมิหลับ บริเวณเอวเหนือกระเบนเหน็บ
แก้ลมให้นอนหลับ บริเวณเอวเหนือกระเบนเหน็บ
แก้ลมกระทำให้หลับ ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งได้แน่นอน
แก้ลมหลับไม่มีสติ ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งได้แน่นอน
แก้ลมให้เสียจักษุ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมทำให้เสียดแทงจักษุ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้ลมขึ้นจักษุเพื่อกล่อน บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้
แก้จักษุเพื่ออันทพฤกษ์ บริเวณเท้าแต่ตำแหน่งที่ชัดเจนไม่สามารถอธิบายได้

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า