สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดตามเส้นจันทภูสัง

ทางเดินของเส้นจันทภูสังตามแผนนวดฉบับหลวง รัชกาลที่ 5
เอ็นเส้นหนึ่งชื่อว่า ลาวุสัง นั้น แล่นออกมาแต่นาภีขึ้นไปเอาราวนมซ้าย แล้วแล่นไปคางซ้ายแล้วออกเป็นรากหูซ้าย นั้นแล

ทางเดินของเส้นจันทภูสังตามตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11
เส้นนี้แล่นออกมา                     แต่นาภีวิถีทาง
ขึ้นไปไม่ขัดขวาง                     ตามราวนมเบื้องซ้ายหมาย
ไปเนาเอาข้างซ้าย                   หมายหูซ้ายดังอธิบาย
เป็นรากโสตประสาทหมาย      ดังบรรยายฉะนี้มา

ทางเดินของเส้นจันทภูสังสรุปได้ดังนี้
เส้นนี้เริ่มต้นที่ตำแหน่งข้างสะดือซ้ายประมาณ 4 นิ้วมือ แล้วแล่นผ่านไปยังราวนมซ้าย ผ่านคอด้านข้างไปสิ้นสุดที่หูข้างซ้าย

ลมประจำเส้นจันทภูสัง(อุรัง), (ภูสำพวัง), (สัมปะสาโส), (ลาวุสัง) และการเกิดโรค

ไม่ระบุชื่อลม มักเกิดขึ้นในวันพุธ มีสาเหตุจากอาบน้ำเย็นมากเกินไป จึงทำให้มีอาการวิงเวียนขึ้น

วิธีแก้ลมประจำเส้นจันทภูสัง
ให้นวดตามเส้นข้างใบหู จะทำให้หายจากอาการหูอื้อ แต่ถ้าเกิดจากลมที่ชื่อ “ทาระกรรณ์” เมื่อนวดแล้วก็ยังไม่ได้ยินเสียง ก็ให้นวดที่เอวแล้วคลึงขึ้นไปใหม่ตามเส้น ประกอบกับการกินยาไปด้วย

ส่วนใหญ่เส้นจันทภูสังมักจะเกี่ยวข้องกับหู และไม่ซับซ้อนมากนักในจุดบริเวณต่างๆ จะอยู่ที่บริเวณคอเป็นส่วนใหญ่ จึงน่าจะเป็นการถูกต้องที่มีการกดนวดบนกล้ามเนื้อ ประสาท และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหู หลังหู และใต้หู ส่วนจุดบริเวณอื่นๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติที่ส่งผลต่อต่อมน้ำลาย ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร เจริญอาหาร และการนอนหลับ ซึ่งตามหลักกายวิภาคศาสตร์จะอธิบายได้ยาก และตำแหน่งที่ถูกต้องแท้จริงก็ต้องศึกษากันต่อไป

แนวจุดกดด้านหน้าตามเส้นจันทภูสัง

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมให้โสตตึง บริเวณทัดดอกไม้เหนือยอดใบหู
แก้ลมให้โสตหนัก บริเวณทัดดอกไม้เหนือยอดใบหู
แก้ลมปวดในโสต ตรงติ่งหน้าใบหู
แก้ลมให้ปวดในโสต ตรงติ่งหน้าใบหู
แก้ลมอึงในโสต บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมโสตดังมะมี่ บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมดันในโสต บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมออกโสตให้คัน บริเวณข้างคอลงมาถึงไหปลาร้า
แก้ลมนอนมิหลับ บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้นอนมิหลับ บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้บริโภคอาหารไม่มีรส บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้เบื่ออาหารไม่มีรส บริเวณหน้าอกแต่ไม่สามารถอธิบายตำแหน่งที่แน่ชัดได้
แก้ลมให้เมื่อยให้เสียวจำหระเบื้องขวา บริเวณท้อง
แก้ลมให้เมื่อยให้เสียวจำหระเบื้องซ้าย บริเวณท้อง

แนวจุดกดด้านหลังตามเส้นจันทภูสัง

จุดนวด ตำแหน่งจุดบนร่างกาย
แก้ลมให้โสตหน้า บริเวณทัดดอกไม้
แก้ลมให้โสตตึง บริเวณทัดดอกไม้
แก้ลมปวดในโสตซ้าย บริเวณฐานกะโหลก
แก้ลมให้ปวดในโสตขวา บริเวณฐานกะโหลก
แก้ลมอึ้งในโสตซ้าย บริเวณเส้นก้านคอ
แก้ลมให้อึ้งในโสตขวา บริเวณเส้นก้านคอ
แก้ลมดันในโสตซ้าย บริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่า
แก้ลมให้ดันในโสตขวา บริเวณร่องกล้ามเนื้อบ่า
แก้ลมนอนมิหลับ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้นอนมิหลับ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมบริโภคอาหารไม่มีรส บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้คอแห้งหาน้ำเขฬะมิได้ บริเวณข้างกระดูกสันหลังแต่ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้เมื่อยจำหระเบื้องซ้าย ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด
แก้ลมให้เมื่อยจำหระเบื้องขวา ไม่สามารถระบุจุดได้แน่ชัด

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า