สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การนวดกับระบบประสาท

ในระบบประสาทจะประกอบไปด้วย ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทรอบนอก ได้แก่ เส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ และรับรู้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีคำสั่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าจากสมองไปสู่ไขสันหลัง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้ข้อต่อที่กล้ามเนื้อนั้นทอดผ่านมีการหดตัวและเคลื่อนไหว การเกิดอาการอ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่งก็เนื่องจากสมองบางส่วนได้รับอันตรายหรือเสียไป แต่จะทำให้เกิดอัมพาตครึ่งท่อนถ้าไขสันหลังได้รับอันตราย เมื่อกล้ามเนื้อแขนขาเกิดการอ่อนแรงก็จะลีบเล็กลงและควบคุมการทำงานไม่ได้ ระบบประสาททั้งเซลล์ประสาท ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทอัตโนมัติจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับการนวด คือ ภายหลังการนวดและช่วยให้อวัยวะส่วนนั้นได้ออกกำลังกาย ตัวเซลล์ประสาทในเส้นประสาทที่ถูกตัดขาดจะมีการสร้างส่วนปลายของประสาทขึ้นมาใหม่ และส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนหลับได้ดี รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเจ็บปวด และมีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ คือ จะทำให้ความดันโลหิตทั้งซิสโตลิกและไดแอสโตลิกลดลงหลังจากการนวด 20 นาที ในระยะแรกการเต้นของหัวใจอาจเพิ่มขึ้น และในระยะต่อมาก็จะลดลงไป ทำให้บริเวณผิวหนังมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น และมีการขยายของม่านตาอีกด้วย

ในวงการสาธารณะสุข การนวดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือ การนวดเพื่อลดความเจ็บปวด โดยไม่ต้องใช้ยาที่อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่อาจจะมีขึ้น และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

กลไกการเกิดอาการปวด
เป็นการบาดเจ็บ จนทำให้รู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด หรือทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากระบบประสาททำหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มาทำลายเซลล์ ทำให้เซลล์ประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และมีกระแสประสาทส่งไปที่ประสาทส่วนกลางทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น และมีการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทำอันตราย เช่น เมื่อเหยียบตะปูก็จะมีการชักเท้าหนี เป็นต้น มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ที่พบได้บ่อยๆ เช่น การบาดเจ็บ การอักเสบ หรือการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อขาดเลือดหรือออกซิเจน ที่สมองและไขสันหลังมีพยาธิสภาพ เกิดการทำลายเซลล์จากการลุกลามของเซลล์มะเร็ง อวัยวะมีการยืดขยายจากการอักเสบ ท่อหรือทางผ่านอวัยวะเกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันจากนิ่ว หรือการอุดตันของลำไส้เล็ก จากความกดตันทางอารมณ์ ความตึงเครียดทางจิตใจ ซึ่งมีทั้งอาการปวดแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ความเจ็บปวดมีกลไกการเกิดอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

การเหนี่ยวนำให้เกิดสัญญาณประสาท(transduction)
ความเจ็บปวดมีสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอยู่ 3 ชนิด คือ แรงกล อุณหภูมิ และสารเคมี การกระตุ้นอย่างแรงของแรงกล ความร้อนที่สูงหรือเย็นจัด มักจะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างเฉียบพลันขึ้น ส่วนความเจ็บปวดแบบเรื้อรังเกิดได้ทั้งจากการกระตุ้นของแรงกล อุณหภูมิ และสารเคมี เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บจากสิ่งเร้าอันตรายที่มากระตุ้นก็จะปล่อยสารเคมีพวก พรอสตาแกลนดิน ฮิสตามีน ซีโรโตนิน แบรดีไคนิน แลกเทต โพแทสเซียมไอออน และไฮโดรเจนไอออนออกมา แล้วไปกระตุ้นตัวรับความรู้สึกที่ปลายประสาทอิสระที่กระจายอยู่ตามเนื้อเยื่อของร่างกายเกือบทุกส่วนอีกที จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวดจากการที่สัญญาณประสาทผ่านเข้าสู่ใยประสาทรับความรู้สึก

การส่งผ่านกระแสประสาท(transmission)
เมื่อความรู้สึกเจ็บปวดผ่านกระแสประสาทไปตามใยประสาทรับความรู้สึกนำเข้าก็จะส่งไปยังไขสันหลัง ซึ่งใยประสาทรับความรู้สึกนำเข้ามีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่คือ

ใยประสาทเอเดลตา(A delta)
เป็นใยประสาทที่มีปลอกมัยอีลิน(myelin sheath)หุ้มอยู่ ใยประสาทกลุ่มนี้จะมีขนาดเล็ก แต่นำความรู้สึกได้รวดเร็ว รุนแรง โดยมีความเร็วในการส่งกระแสประสาทประมาณ 5-30 เมตรต่อวินาที นำความรู้สึกเจ็บปวดแบบปวดแปล๊บ(sharp pain)เหมือนเข็มแทงในครั้งแรก โดยบอกตำแหน่งได้ชัดเจนแต่จะปวดอยู่ไม่นาน กระแสประสาทจะเข้าทางเนื้อเทาด้านหลังไปสู่ไขสันหลัง และสิ้นสุดที่ lamina I, II

ใยประสาทซี (C-fiber)
เป็นใยประสาทที่ไม่มีปลอกมัยอีลินหุ้ม มีขนาดเล็ก ความเร็วในการส่งกระแสประสาทประมาณ 0.5-2 เมตร/วินาที ใยประสาทซีจะอยู่ในอวัยวะภายในเท่านั้น การนำความรู้สึกของใยประสาทชนิดนี้จะทำให้รู้สึกปวดแบบตื้อ ปวดแสบปวดร้อน บอกได้ไม่ชัดเจนถึงตำแหน่งที่ปวด กระแสประสาทจะเข้าทางเนื้อเทาด้านหลังไปสู่ไขสันหลัง และสิ้นสุดที่ lamina I และซับสแตนเทียเจลาติโนซา ที่บริเวณ lamina II & III

ใยประสาทเอเบตา(A-beta)
เป็นใยประสาทที่มีเปลือกหุ้ม มีขนาดใหญ่ นำความรู้สึกเกี่ยวกับการสัมผัส การลูบ แรงกดและการสั่นสะเทือนได้เร็วประมาณ 30-100 เมตร/วินาที ความรู้สึกปวดไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเกิดที่ตำแหน่งใด ในบริเวณผิวหนังจะพบมีใยประสาทชนิดนี้อยู่มาก

ใยประสาททั้งสามจะถูกกระตุ้นพร้อมกันเมื่อเนื้อเยื่อได้รับการกระตุ้น โดยความรู้สึกปวดแปล๊บจากใยประสาทเอเดลตาจะเกิดขึ้นก่อน แล้วตามด้วยอาการปวดตุบๆ จากใยประสาทซี และใยประสาทขนาดใหญ่เอเบตาก็จะนำกระแสประสาทไป เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง

เมื่อตัวรับความรู้สึกเจ็บปวดถูกส่งผ่านกระแสประสาทไปยังใยประสาทเอเดลตา และใยประสาทซีแล้ว ก็เข้าสู่ไขสันหลังบริเวณดอร์ซัลฮอร์น(dorsal horn) และจะมีการซินแนป(synape)ขึ้นในจุดนี้กับเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ซับสแตนเทียเจลาติโนซา(substantia gelatinosa) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเจลาติน แล้วไปกระตุ้นให้มีการปล่อยสารสื่อประสาทที่เรียกว่า ซับสแตนซ์พี (substance P) ออกมา สารนี้จะไปกระตุ้นเซลล์ในซับสแตนเทียเจลาติโนซา ทำให้เกิดกระแสประสาทส่งไปยังอีกด้านของไขสันหลังทางเวนทรัลฮอร์น และนำกระแสประสาทสู่สมองทางวิถีประสาท นำขึ้นสไปโนทาลามิก(spinothalamic tract หรือ ascending spinal tracts) ซึ่งมีใยประสาทอยู่ 2 กลุ่มคือ วิถีประสาทนีโอสไปโนทาลามิก(neospinothalamic tract) และวิถีประสาทพาลีโอสไปโนทาลามิก(paleospinothalamic tract) โดยวิถีประสาทนีโอสไปโนทาลามิกรับกระแสประสาทต่อมาจากใยประสาทเอเดลตาแล้วไปยังทาลามัส(thalamus) ที่รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวด แล้วส่งต่อไปยังเปลือกสมองบริเวณรับความรู้สึก(sensory cortex) เป็นตัวชี้บอกว่าความเจ็บปวดนั้นมีลักษณะ ตำแหน่ง และความรุนแรงอย่างไร ส่วนวิถีประสาทพาลีโอสไปโนทาลามิก จะเป็นตัวรับกระแสประสาทมาจากใยประสาทซี แล้วส่งไปยังเรติคูลาร์ฟอเมชัน(reticular formation) ทาลามัส ไฮโปทาลามัส ระบบลิมบิก และเปลือกสมองส่วนหน้า ซึ่งส่วนต่างๆ ของสมองเหล่านี้จะมีหน้าที่กระตุ้นและเร้าอารมณ์ และทำให้เกิดปฏิกิริยาความเจ็บปวดด้วย

การรับรู้ความเจ็บปวด(perception)
หน้าที่ในการแปลสัญญาณอาการปวดและตอบสนองความเจ็บปวดจะอยู่ที่ระบบประสาทส่วนกลาง คือ หน้าที่รับความรู้สึกเจ็บปวดจะอยู่ที่ทาลามัส หน้าที่จำแนกความรุนแรง ความเจ็บปวด และตำแหน่งจะเป็นที่สมองใหญ่พาไรทัล(parietal lobe) ส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองความเจ็บปวดด้วยอารมณ์จะเป็นหน้าที่ของระบบลิมบิกในสมองส่วนหน้า บริเวณการสั่งงานจะอยู่ที่สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวดและควบคุมพฤติกรรมต่างๆ เช่น การร้องขอความช่วยเหลือ หรือการเบ้หน้า เป็นต้น นอกจากนี้ในสมองยังมีเซลล์ประสาทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่รับรู้และตอบสนองต่อความเจ็บปวดร่วมกันอีกด้วย

การควบคุมความเจ็บปวด(modulation)
ไขสันหลังเป็นจุดรวมของสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาททั่วร่างกาย รวมทั้งจากสมอง เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมความเจ็บปวด ความเจ็บปวดจะไม่เกิดขึ้นเมื่อไขสันหลังส่วนซับสแตนเทียเจลาติโนซามีการหลั่งเอนเคฟาลิน(encephalin) ไปยับยั้งการนำส่งกระแสประสาทไปสู่สมอง การนวดกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ใยประสาทนำความเจ็บปวด ก็จะช่วยยับยั้งการส่งกระแสประสาทความเจ็บปวดได้เช่นกัน

ในสมองยังมีการควบคุมความเจ็บปวดได้หลายระดับ คือ เมื่อกระแสประสาทถูกถ่ายทอดไปยังระบบลิมบิก ก็จะทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์และความรู้สึกขึ้น อาจทำให้เกิดการถอยหนีจากความเจ็บปวด และในขณะเดียวกันกระแสประสาทจากระบบลิมบิกและทาลามัสบางส่วนก็จะถ่ายทอดไปยังบริเวณเนื้อเทา รอบๆ ช่องทางผ่านของน้ำไขสันหลัง จากช่องสมองที่ 3 ไปช่องสมองที่ 4(periaqueductal gray, PAG) และรอสทรัลพอนส์(rostral pons) ในก้านสมอง ให้หลั่งสารไปกระตุ้น ราฟีแมกนัมนิวเคลียส(raphemagnum nucleus) ให้ถ่ายทอดกระแสประสาทควบคุมความเจ็บปวดไปยังไขสันหลัง คือ เมื่อกระตุ้น PAG ก็จะมีการหลั่งสารเอนดอร์ฟินและเอนเคฟาลิน ไปยับยั้งกระแสประสาทในสมอง และมีการหลั่งซีโรโตนินไปกระตุ้น ราฟีแมกนัมนิวเคลียส ให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาทไปยังไขสันหลังเพื่อควบคุมความเจ็บปวด ส่วนรอสทรัลพอนส์จะหลั่งนอร์อีพิเนฟรินไปกระตุ้น ราฟีแมกนัมนิวเคลียสให้มีการหลั่งเอนเคฟาลิน แล้วส่งกระแสประสาทไปยังไขสันหลัง ทำให้เกิดการหลั่งสารซีโรโตนินไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในไขสันหลัง ให้หลั่งเอนเคฟาลินอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะไปยับยั้งการหลั่งซับสแตนซ์พีของเซลล์ประสาทตัวแรก และยับยั้งการถ่ายทอดสัญญาณประสาทของเซลล์ประสาทตัวหลังในไขสันหลังด้วย

กลไกการควบคุมหรือลดอาการปวดตามทฤษฎี
ทฤษฎีที่นิยมใช้คือ การควบคุมประตู(Gate Control Theory) ของเมลแซกและวอลล์(Melzack and Wall, 1965 cited in Beare and Myers, 1994: 252-253) ทฤษฎีนี้มีอยู่ว่า บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บกระแสประสาทความเจ็บปวดจะถ่ายทอดผ่านเส้นใยประสาทขนาดเล็กเอเดลตา และใยประสาทซี ไปสู่เซลล์ประสาทในซับสแตนเทียเจลาติโนซา สามารถควบคุมกระแสประสาทจากความรู้สึกเจ็บปวดก่อนนำไปยังทีเซลล์(Transmission cells, T cells) โดยเซลล์นี้จะนำกระแสประสาทจากระบบควบคุมประตูผ่านไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และตอบสนองต่อความเจ็บปวด ประตูจะปิดหรือเปิดขึ้นอยู่กับการกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่เอเบตา และใยประสาทขนาดเล็ก หากได้รับการกระตุ้นใยประสาทขนาดใหญ่มากกว่าใยประสาทขนาดเล็กจะทำให้ใยประสาทขนาดใหญ่และใยประสาทควบคุมสมองปล่อยสารเคมีไปกระตุ้นเซลล์ของซับสแตนเทียเจลาติโนซา ให้ปล่อยสารเอนโดจีเนียสโอพิเอต(endogenous opiate) คือ เอนเคฟาลิน สารนี้จะไปยับยั้งซับสแตนซ์พีไม่ให้มีการทำงาน ทำให้ทีเซลล์ไม่มีกระแสประสาทไปกระตุ้น เรียกว่า “ประตูปิด” ไม่มีสัญญาณไปยังสมองก็ทำให้ไม่เกิดความเจ็บปวด แต่ถ้าใยประสาทขนาดใหญ่ถูกกระตุ้นน้อยกว่าใยประสาทขนาดเล็ก จะมีการกระตุ้นของกระแสประสาทความเจ็บปวดให้ซับสแตนเทียเจลาติโนซา ปล่อยสาร ซับสแตนซ์พีมากระตุ้น ทีเซลล์ ถ่ายทอดกระแสประสาทความเจ็บปวดจากประตูควบคุมไปยังสมอง เรียกว่า “ประตูเปิด” จึงทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมา

ทฤษฎีของเมลแซกและวอลล์เกี่ยวกับการควบคุมประตูนี้ สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ถึงความเจ็บปวด ซึ่งเป็นที่นิยมกันมานาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการนวดได้ ตัวอย่างเช่น หญิงวัยทำงานที่ทำหน้าที่พิมพ์งานตามต้นฉบับเป็นประจำมานาน 10 ปี ทำให้มีอาการปวดหลังและไหล่ทั้งสองข้าง อาการของเธอทุเลาลงมากเมื่อได้รับการนวดบริเวณที่ปวด จากนั้นเธอจึงมานวด 2 ครั้ง/สัปดาห์เป็นประจำ อธิบายทฤษฎีนี้ได้ว่า การนวดหลังและไหล่ทำให้ประตูปิด เนื่องจากไปกระตุ้นประสาทขนาดใหญ่มากกว่าใยประสาทขนาดเล็ก จึงทำให้การปวดของเธอมีอาการน้อยลง

นอกจากนั้น ในสมองยังมีอีกหลายจุดที่สามารถยับยั้งกระแสประสาทความรู้สึกเจ็บปวดหรือทำให้ประตูปิดได้ เช่น ใช้การหันเหความสนใจและจินตนาการเพื่อยับยั้งกระแสประสาทจากก้านสมอง หรือใช้เทคนิคการผ่อนคลายและการลดความวิตกกังวล เพื่อยับยั้งกระแสประสาทจากเปลือกสมองและทาลามัส เป็นต้น

ผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของการนวดเพื่อลดความเจ็บปวด

การนวดลดความเจ็บปวดหลังส่วนล่าง ที่น่าสนใจมีดังนี้
การวิเคราะห์ผลงานวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดหลังส่วนล่าง
จากการศึกษาที่นำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการนวด 9 เรื่องมาวิเคราะห์ของ Furlan(2000:99-101) พบว่า ความแตกต่างของแต่ละเรื่องเกิดจากกลุ่มประชากร เทคนิคการนวด กลุ่มที่ใช้เปรียบเทียบ ระยะเวลา และการวัดผล และมีการศึกษาวิจัยกึ่งทดลอง โดยมีการสุ่มเป็นกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม 8 เรื่อง วิธีการวิจัยที่มีคุณภาพต่ำมีอยู่ 3 เรื่อง ที่มีคุณภาพสูง 5 เรื่อง ในผลงานวิจัยนั้นมีประเด็นอยู่เรื่องหนึ่งเปรียบเทียบการนวดกับการใช้เลเซอร์บำบัดแบบช้าๆ พบว่า การนวดได้ผลดี โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการออกกำลังกายและให้สุขศึกษา และทำการศึกษาอีก 7 เรื่องโดยเปรียบเทียบกับวิธีการแบบอื่นที่รวดเร็ว พบว่า การนวดได้ผลน้อยกว่าการจัดกระดูกและการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าทางผิวหนัง พบว่าบางเรื่องได้ผลเท่ากันระหว่างการนวดกับการใช้เครื่องยกเอวและการออกกำลังกาย และพบว่าบางเรื่องการนวดให้ผลดีกว่าการบำบัดด้วยการผ่อนคลาย การกดจุด และการให้สุขศึกษา ในผู้ป่วยที่ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังมักจะได้รับประโยชน์จากการนวดมากเพราะ สามารถระงับปวดได้นานหลังสิ้นสุดการบำบัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และได้ทำการศึกษาอีกเรื่องโดยการนำเทคนิคการนวด 2 วิธีมาเปรียบเทียบกัน พบว่า สามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ดีเมื่อใช้การนวดโดยการกดจุด ส่วนการนวดแบบสวีดิชจะให้ผลน้อยกว่า

ผลการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดหลังส่วนล่าง
จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 456 คนของ Doran and Newell(1975:161-164) ซึ่งได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มนวดเพื่อการรักษา กายภาพบำบัด ใส่เสื้อประคองหลัง และรับประทานยาแก้ปวด พบว่ากลุ่มที่รักษาด้วยการนวดและทำการภาพบำบัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ผู้ป่วยร้อยละ 64 จะมีอาการปวดหลังลดลงหรือหายจากอาการปวดหลังเมื่อได้รับการนวด และผู้ป่วยร้อยละ 52 ที่ทำกายภาพบำบัด ร้อยละ 49 ที่ใส่เสื้อประคองหลัง และร้อยละ 49 ที่ได้รับยาแก้ปวด แสดงให้เห็นว่าอาการปวดหลังลดได้มากที่สุดจากการนวด

ผลการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดหลังส่วนล่างในระยะกึ่งเฉียบพลัน(subacute low back pain)
จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 107 คน ของเพรเด(Preyde, 2000:1815-1820) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่นวดเพื่อรักษา กลุ่มบำบัดที่เนื้อเยื่ออ่อน กลุ่มกายบริหารและให้ความรู้เกี่ยวกับท่าทาง และกลุ่มควบคุมด้วยเลเซอร์ ภายใน 1 เดือน จะให้การบำบัด 6 ครั้ง พบว่า กลุ่มที่ใช้การนวดเมื่อเทียบกับอีก 3 กลุ่ม ผู้ที่ได้รับการนวดจะมีกล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น มีความรุนแรงและความเจ็บปวดลดลง และอีก 1 เดือนต่อมาผู้ป่วยที่รับการนวดจะหายจากอาการปวดร้อยละ 63 กลุ่มบำบัดที่เนื้อเยื่ออ่อนหายร้อยละ 21 กลุ่มกายบริหารและให้ความรู้เกี่ยวกับท่าทางหายร้อยละ 14 และไม่หายจากอาการปวดเลยในกลุ่มที่ใช้เลเซอร์ ดังนั้นอาจใช้วิธีบำบัดโดยการนวดได้ในผู้ป่วยที่ปวดหลังส่วนล่างกึ่งเฉียบพลัน

ผลการเปรียบเทียบการนวด การฝังเข็ม และการให้สุขศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง
จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 262 คน ของเชอร์คิน(Cherkin, 2001-8) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้การนวด กลุ่มที่ใช้การฝังเข็มแบบจีน และกลุ่มที่ได้รับความรู้เพื่อดูแลตนเอง พบว่า เมื่อครบ 10 สัปดาห์ ทั้งระดับอาการและระดับความพิการการใช้การนวดให้ผลดีกว่าการดูแลตนเอง และการนวดจะได้ผลดีในด้านการลดความพิการเท่านั้นเมื่อเทียบกับการฝังเข็ม และในกลุ่มที่ได้รับการนวดก็ใช้ยาแก้ปวดน้อยที่สุดด้วย

ผลการนวดในผู้ป่วยที่ปวดหลังส่วนล่าง
จากการศึกษาวัยผู้ใหญ่ในกลุ่มตัวอย่าง 24 คน ที่เป็นผู้หญิงกับชายอย่างละครึ่ง ของเฮอร์แนนเดซริฟ(Hernandez-Reif, 2001: 131-145) โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่รักษาด้วยการนวด และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยใช้ระยะเวลาในการบำบัด 2 ครั้ง/สัปดาห์ ในแต่ละครั้งใช้เวลานาน 30 นาที เป็นเวลา 5 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างต้องตอบแบบสอบถาม เก็บตัวอย่างปัสสาวะ และประเมินความสามารถในการหมุนรอบข้อของแขนขาในวันแรกและวันสุดท้ายของการศึกษา พบว่าเมื่อสิ้นสุดการศึกษา กลุ่มที่รับการนวดจะปวดบริเวณหลังส่วนล่าง ซึมเศร้า และวิตกกังวลน้อยกว่า หลับได้ดีกว่า ก้มตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการผ่อนคลาย และมีระดับซีโตนินและโดปามีนสูงกว่าด้วย ดังนั้น การนวดจึงมีประสิทธิภาพลดอาการปวดหลัง ลดฮอร์โมนที่ทำให้เครียด และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังก็ลดได้ด้วย

ผลทางสรีรวิทยาของการนวดไทยในการลดอาการปวดหลัง การทำงานของกล้ามเนื้อและภาวะแทรกซ้อน
จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน ของนฤมล ลีลายุวัฒน์ และคณะ(2542)โดยผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีอายุระหว่าง 18-60 ปี โดยแบ่งเป็นกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม กลุ่มศึกษาจะได้รับการนวดสองวันติดกัน โดยนวด 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง แล้วใช้สเกลวัดระดับความเจ็บปวดที่หลัง และวัดปริมาณของซับสแตนซ์พีจากน้ำลาย พบว่า อาการปวดหลังจะลดลงในกลุ่มผู้ที่ได้รับการนวด ซึ่งมีผล 2 วันอย่างต่อเนื่อง และทั้งกลุ่มที่ถูกนวดและกลุ่มที่ควบคุมมีปริมาณซับสแตนซ์พีลดลง แต่การลดของซับสแตนซ์พีในกลุ่มควบคุมจะมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มที่ได้รับการนวด อาจเป็นเพราะค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในกลุ่มถูกนวดจะสูงมากและค่าความปวดก็มีระดับต่ำ หลังการนวดที่ทำให้ค่าซับสแตนซ์พีต่ำอาจเนื่องมาจากการนวดไปเพิ่มระดับของเบตาเอนดอร์ฟิน แล้วไปลดการหลั่งซับสแตนซ์พีที่ปลายประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดที่ไขสันหลัง ทำให้ปวดน้อยลง ดังนั้นอาการปวดหลังเรื้อรังจึงอาจลดลงได้ด้วยการนวดไทย

การนวดลดอาการปวดศีรษะ
จากการศึกษาเปรียบเทียบผลของเรณู มีชนะ และคณะในบุคคลที่มีอาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุมาจากความเครียดด้วยการใช้ยาพาราเซตามอลกับใช้วิธีการนวด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มละ 30 คน พบว่า อาการปวดศีรษะของกลุ่มที่ใช้การนวดจะลดลงทันทีหลังจากนวด และสามารถลดอาการปวดลงได้ในนาทีที่ 10, 20, 30 และ 60 เป็นร้อยละ 10, 13.3, 33.3 และ 66.7 ตามลำดับ ในขณะที่อาการปวดศีรษะของผู้ที่ใช้ยาพาราเซตามอลลดลงได้ในนาทีที่ 30 และ 60 ในอัตราร้อยละ 13.3 และ 46.7 ตามลำดับ และยังพบว่าในทุกช่วงเวลา การนวดไทยจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้มากกว่าการใช้พาราเซตามอลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาของเฮอร์แนนเดซริฟ และคณะ(Hernandez-Reif et. al., 1998: 1-11) พบว่า การนวดเพื่อบำบัดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจากผู้ใหญ่ 26 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับการนวดนาน 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เวลานวดนาน 30 นาที กับกลุ่มควบคุมที่รอการบำบัด ผลที่ได้คือ กลุ่มที่ได้รับการนวดจะมีอาการเครียด อาการปวดศีรษะน้อยกว่ากลุ่มควบคุม นอนหลับได้ดีกว่า จำนวนวันที่ปวดศีรษะมีน้อยกว่า และกินยาแก้ปวดน้อยลงด้วย

การนวดลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด
จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 20 คน หลังจากที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม ของ มาลี เอี่ยมสำอาง และคณะ(2544) โดยใช้เวลานาน 20 นาที เพื่อนวดที่บริเวณคอ หลัง ไหล่ และแขนข้างที่ตัดเต้านมของผู้ป่วย พบว่า ภายหลังจากการนวดทันที กับภายหลังการนวด 1 ชั่วโมง ระดับความเจ็บปวดจะน้อยกว่าก่อนทำการนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการนวดทันทีกับภายหลังการนวดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ทุกครั้งที่ปวดผู้ป่วยก็อยากจะได้รับการนวด เพราะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และความเจ็บปวดก็ลดลง แขนขามีแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลการศึกษาที่สอดคล้องกันกับของนภาพร บุดดี และคณะ(2545) โดยศึกษาจากผู้ป่วยที่อยู่ในระยะหลังผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมหนึ่งข้าง จากผู้ป่วย 30 ราย ซึ่งได้แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยหลังจากผ่าตัดในวันที่ 5 และ 6 ก็จะทำการนวด โดยประเมินทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังการออกกำลัง พบว่า กลุ่มทดลองที่รับการนวดก่อนออกกำลัง ระดับความเจ็บปวดจะมีน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความพึงพอใจของกลุ่มทดลองมีในระดับสูงถึงร้อยละ 76 เนื่องจากรู้สึกผ่อนคลายและสบายขึ้น

การนวดลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็ง
จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 30 ราย ที่มีความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานด้วยโรคมะเร็ง ของ อุไร นิโรธนันท์(2539) โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มควบคุมจะได้รับการประเมินความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานก่อนที่จะให้ยาแก้ปวดตามแผนการรักษา 40 นาที และจะประเมินอีกครั้งใน 20 นาทีต่อมา แต่ในกลุ่มทดลองจะประเมินความเจ็บปวดก่อนให้ยา 40 นาที แล้วต่อด้วยการนวด 20 นาที และหลังจากนวดเสร็จก็จะประเมินผลทันที พบว่า เมื่อได้รับการนวดระดับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจะลดลงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

การนวดเพื่อลดอาการปวดในผู้ป่วยเด็กข้ออักเสบรูมาตอยด์
จากการศึกษาผู้ป่วยเด็กโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งมีระดับของอาการปวดจากน้อย-ปานกลาง ของฟิลด์ และคณะ(Field, T, et. al., 1997:607-617) โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ในกลุ่มทดลองจะได้รับการนวดทุกวันจากบิดามารดา ซึ่งใช้เวลานวดนาน 30 วัน วันละ 15 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมจะใช้การพักเพื่อบำบัด พบว่า หลังการนวด เด็กจะมีระดับของความวิตกกังวลและคอร์ติโซลลดลงทันทีตลอดทั้ง 30 วัน ส่วนอาการปวดและความรุนแรงที่แพทย์ประเมินก็พบว่า อาการปวดและจำนวนครั้งของการปวดก็ลดลงด้วย

จะเห็นได้จากผลการศึกษาวิจัยว่า การนวดสามารถบรรเทาอาการปวดได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดศีรษะ อาการปวดหลังจากการผ่าตัด หรือความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา ตันชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ
อาจารย์อภิชาต ลิมติยะโยธิน
อาจารย์พิเศษสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า