สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด คือ ทารกที่คลอดผ่านพ้นครรภ์มารดามาอยู่ภายนอกแล้ว จึงถึง 28 วัน ทารกจะต้องมีการปรับตัวและมีการเจริญเติบโตภายนอกครรภ์มารดาหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว ตามแนวแพทย์แผนไทย การดูแลทารกแรกเกิดจึงเป็นหน้าที่ของมารดาเอง หรือญาติผู้ใหญ่ จะมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้ทารกเกิดอันตราย

การเปลี่ยนแปลงของทารกแรกเกิด
ระบบหายใจ
ภายใน 30 วินาทีแรกที่คลอดออกมา ทารกก็จะเริ่มหายใจ และภายใน 90 นาทีก็จะเริ่มหายใจเป็นจังหวะ จากการหายใจครั้งแรกปอดก็จะเริ่มมีการขยายตัว

ระบบไหลเวียนโลหิต
จะมีความสมบูรณ์ของระบบการไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้น การไหลเวียนจะเปลี่ยนจากรกมาเป็นทางปอดเพิ่มขึ้น

ระบบประสาท
สมองของทารกแรกเกิดจะมีการประสานงานของระบบประสาทยังไม่สมบูรณ์ เพราะมีขนาดเพียง 2/3 ของสมองผู้ใหญ่ แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะมีการพัฒนาไปตามปกติ

ระบบทางเดินอาหาร
ระบบทางเดินอาหารของทารกยังไม่มีความสมบูรณ์หลังจากที่คลอดออกมา ความจุของกระเพาะอาหารมีน้อย มีการเคลื่อนไหวของลำไส้เร็ว จึงทำให้รับประทานได้น้อยและหิวบ่อยๆ

ระบบทางเดินปัสสาวะ
หลังจากคลอดออกมาทารกจะถ่ายปัสสาวะทันที หรืออาจใช้เวลาไม่นานแต่ไม่ควรเกินกว่า 48 ชั่วโมง ทารกมักถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะกระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็ก

การดูแลทารกแรกเกิดในปัจจุบัน
นับว่าเป็นระยะสำคัญของชีวิตเกี่ยวกับการดูแลทารกแรกเกิดที่คลอดจากครรภ์มารดา ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน ความพิการ และการตายของทารกจะลดลงไปได้ หากมีการดูแลอย่างถูกวิธี เมื่อทารกผ่านวิกฤตจากการคลอดมาอย่างปลอดภัย ราบรื่น การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกก็จะเป็นไปได้ด้วยดี

ดูแลให้ทารกได้รับสารอาหาร
เพื่อช่วยในขบวนการเผาผลาญของร่างกาย ทารกจึงมีความต้องการน้ำประมาณวันละ 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในระยะนี้น้ำนมมารดาจะเป็นนมน้ำเหลือง ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก น้ำนมมารดาในช่วงแรกจะมีน้อยแต่ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น สำหรับทารกแล้ว นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด ในระยะ 6 เดือนแรกทารกควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ หลังจากนั้นจึงค่อยเสริมด้วยอาหารอย่างอื่นเพื่อให้มีการเจริญเติบโตไปตามปกติได้

การทำความสะอาดร่างกาย
เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณตา ใบหู จมูก และปากของทารก ในทุกๆ วันทารกจึงควรได้รับการอาบน้ำสระผมวันละ 1 ครั้ง และใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดจากหัวตาไปหางตาทั้ง 2 ข้าง และใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดบริเวณ หู จมูก และปาก ภายหลังการอาบน้ำทุกวัน หรือเมื่อสะดือเปียก ให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยชุบสำลีเช็ดรอบขั้วสะดือเข้ามาที่โคนสะดือ และทุกครั้งที่ทารกขับถ่ายควรทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักด้วย

การให้ภูมิต้านทานแก่ทารก
ให้ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนอื่นๆ จนครบตามที่กำหนด

สังเกตอาการผิดปกติเกี่ยวกับการติดเชื้อ
ถ้าพบว่ามีอาการตาอักเสบ ฝ้าในปาก หรือสะดืออักเสบ เป็นต้น ให้รีบนำทารกไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ เพื่อไม่ให้อาการมีความรุนแรงขึ้น

การดูแลทารกแรกเกิดของผดุงครรภ์ไทย
ตามตำราทั่วไปของแพทย์แผนโบราณ ได้กล่าวถึงการดูแลทารกโดยสาขาผดุงครรภ์ของกองประกอบโรคศิลปะ โดยเน้นให้มีการใช้นมแม่เลี้ยงดูทารก การเจริญเติบโตของทารกตามลำดับจะใช้หลักสูติศาสตร์เพื่อสังเกตพัฒนาการและการให้อาหารเสริม ส่วนการป้องกัน บำบัดรักษาจะกล่าวถึงการดูแลทารกในวัยต่างๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ การดูแลและป้องกันทารกจากความเจ็บป่วยเท่านั้น

ตามแนวผดุงครรภ์ไทยมีการดูแลและป้องกันทารกจากความเจ็บป่วยดังนี้
เมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว อาจจะมีเหตุให้เกิดโรคต่างๆ คือ การสำรอก 7 ครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อ

1. เมื่อรู้ชันคอครั้ง 1 เพราะเส้นเอ็นนั้นไหว ซางจึงพลอยทำโทษ คือ มีอาการตัวร้อน สำรอกน้ำนมออกมา ร้องไห้โยเย

2. เมื่อรู้คว่ำ กระดูกสันหลังคลอน ซางจึงทำให้เกิดโทษครั้ง 1 คือ มีอาการไข้ หรือท้องเดิน

3. เมื่อรู้นั่ง กระดูกก้นกบขยายตัว ซางจึงทำให้เกิดโทษครั้ง 1 คือ อาจมีการถ่ายเป็นมูก ตัวอุ่น ท้องอืด

4. เมื่อทารกรู้คลาน ตะโพกและเข่าเคลื่อน ซางจึงกระทำโทษเอาครั้ง 1

5. เมื่อดอกไม้ขึ้น(ฟันขึ้น) ซางจะทำโทษครั้ง 1

6. เมื่อทารกรู้ยืน เพราะว่ากระดูกสะเทือน เส้นเอ็นจะกระจายสิ้น ท่านว่าสำรอกกลาง

7. เมื่อทารกรู้ยืน รู้ย่าง เพราะว่าไส้ พุง ตับปอดนั้นคลอน ท่านว่าสำรอกใหญ่

ผดุงครรภ์ไทยจะเตรียมยาไว้ประจำท้องทุกเดือนเพื่อให้ทารกกิน เพื่อป้องกันการสำรอกที่เป็นอาการของโรคชนิดหนึ่ง ที่เมื่อกลืนอาหารเข้าไปก็จะขย้อนออกมาทางปากเหมือนการอาเจียน

ตัวอย่างการดูแลทารกที่จัดไว้
-กุมารกุมารีได้ 3 เดือน ท่านให้ใบสวาด ใบขอบชะนางขาว ใบกระพังโหม บอระเพ็ด บอละลายน้ำร้อน กินประจำท้องกันสำรอก

-กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์มารดาได้ 8 เดือน ท่านให้เอาใบมะเดื่อ ใบพิมเสน ไพล ขมิ้นอ้อย บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำกินเป็นประจำท้องกันสำรอก

-กุมารกุมารี คลอดจากครรภ์ได้ 10 เดือน ท่านให้เอาใบคนทีสอ ใบคนทีเขมา ขมิ้นอ้อย ทำแท่งไว้ ละลายน้ำร้อนกินประจำท้องกันสำรอก

ในคัมภีร์ประถมจินดา มีตัวอย่างตัวยาที่ผดุงครรภ์ไทยกำหนดไว้ให้ทารกรับประทาน ซึ่งสรรพคุณดังนี้

ใบสวาด มีรสร้อน สรรพคุณ ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่น
ใบกระพังโหม สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ แก้ไข้ แก้ท้องอืด
บอระเพ็ด สรรพคุณ แก้ไข้ บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน เจริญอาหาร
ใบมะเดื่อ สรรพคุณ แก้ไข้
ใบพิมเสน สรรพคุณ ถอนพิษไข้
ไพล สรรพคุณ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ขับลม
ขมิ้นอ้อย สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้ไข้
ใบคนทีสอ สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ
ใบคนทีเขมา สรรพคุณ ลดไข้ แก้ปวดท้อง

จะเห็นได้ว่า ตัวยาส่วนใหญ่ที่ใช้กับทารกที่ได้กล่าวมานั้น จะอยู่ในกลุ่มแก้ปวดท้อง ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงร่างกาย เจริญอาหาร และแก้ไข้ เพราะทารกจะไม่มีความสุขสบาย ร้องกวน รับประทานนมได้น้อย หรือสำรอกถ้ามีอาการเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาในวัยทารกที่เกิดขึ้นบ่อย คือ

1. ท้องอืด
เวลาดูดนมเด็กทารกจะหุบปากได้ไม่สนิท จึงมีโอกาสกลืนลมเข้าไปได้ง่าย หรือเมื่อนอนหงายหรือตะแคงซ้ายให้นม เมื่อมีการกลืนลมเข้าไปจะทำให้ไม่มีทางออก อาจทำให้เกิดการแหวะนมของเด็กได้ หรืออาจทำให้ท้องอืด ปวดท้องได้ ถ้าลมผ่านเลยเข้าไปในลำไส้

2. การร้องกวน
เด็กที่ร้องกวนไม่ได้เกิดจากการหิวเสมอไป ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเสียมากกว่า เช่น เปียกจากน้ำปัสสาวะ เปื้อนอุจจาระ ถูกแมลงหรือมดกัด เพื่อให้มีการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที มารดาจึงควรรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กร้องกวน

3. ท้องผูก
ในช่วงที่มีการเปลี่ยนชนิดของนมหรือเมื่อให้อาหารเสริมบางอย่าง อาจทำให้ทารกมีปัญหาท้องผูกได้ หรืออาจมาจากสาเหตุที่ทารกดื่มน้ำน้อยเกินไป เกิดจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง เช่น ลำไส้ส่วนล่างมีการอุดตัน

4. อุจจาระร่วง
อาจมีสาเหตุมาจากการเตรียมนมที่ไม่สะอาด มีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดย: อาจารย์ศิรินันท์ ตรีมงคลทิพย์
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(การแพทย์แผนไทยประยุกต์)
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมธานี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า