สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูดซึมสารอาหาร (Absorption)

การดูดซึมของสารอาหารคือการที่สารอาหารที่ถูกย่อยจนมีอณูเล็กลงแล้ว เช่น กลูโคส กรดไขมัน กรดอะมิโน ซึมผ่านผนังทางเดินอาหาร (Alimentary canal) เข้าสู่กระแสโลหิต แล้วถูกนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

วิธีการซึมผ่านของสารต่างๆ เป็นไปโดย ดิฟฟิวชั่น (Diffusion) และ อ๊อสโมสิส (Osmosis) ในลักษณะของ เอ็นโดสโมสิส (Endosmosis)

Diffusion คือการกระจายของโมเลกุลของสาร ซึ่งอยู่ในส่วนที่มีความเข้มข้นสูงกว่า ไปยังในที่ๆ มีความเข้มข้นตํ่ากว่า เพื่อทำให้การกระจายของโมเลกุลของสารมีเท่าๆ กัน หรือมีความเข้มข้นเท่ากัน

Osmosis คือการซึมผ่านของโมเลกุลของสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า หรือมีสารต่างๆ ละลายอยู่น้อยกว่าผ่านทะลุผนังเยื่อบางๆ (membrane) ที่กั้นอยู่ไปยังสารละลายที่มีความเข้มข้นมากกว่า หรือมีสารต่างๆ ละลายอยู่มากกว่า เพื่อทำให้ทั้งสองส่วนมีสารละลายเสมอกัน หรือมีความเข้มข้นเท่ากัน
Endosmosis คือการซึมผ่านของโมเลกุลของสารละลายภายนอกเซลล์เขาสู่เซลล์

การดูดซึมสารอาหาร ในแต่ละอวัยวะของทางเดินอาหาร
อาหารที่ผ่านการย่อยแล้วส่วนใหญ่จะมีการดูดซึมที่ผนังของลำไส้เล็ก ในปาก ในกระเพาะอาหาร และในลำไส้ใหญ่มีการดูดซึมสารอาหารบางอย่าง แต่น้อย

ในปาก มีการดูดซึมน้อยมาก จนไม่คำนึงถึงก็ได้ เพราะรู้สึกจะมีแต่น้ำเท่านั้นที่ดูดซึมผ่านเยื่อในปากได้

ในกระเพาะอาหาร มีการดูดซึมอาหารเข้ากระแสเลือดบ้างเล็กน้อย ในจำพวกสารอาหารต่างๆ ที่ดูดซึมที่ในกระเพาะอาหารนี้ แอลกอฮอล์เท่านั้นที่ถูกดูดซึมมากกว่าเพื่อน คือ ประมาณ 30-40 % ของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป ที่เหลือไปถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก อันนี้เป็นเหตุ ผลอธิบายได้ว่าคนดื่มสุราขณะท้องว่างจะเมาเร็ว นอกจากนี้ ในกระเพาะอาหารยังมีการดูดซึม น้ำ น้ำตาลกลูโคส เกลือแร่ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำ เช่น เกลือ วิตะมินประเภทละลายน้ำ เช่น วิตะมิน บี และ ซี ไขมันที่ Emulsified มาบ้างแล้ว และยาบางชนิด (พวกฝิ่น เฮโรอีน จะดูดซึมทางกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้มาก)

ในลำไส้เล็ก อาหารต่างๆ เมื่อถูกย่อยแล้ว จะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กเกือบทั้งหมด คือประมาณ 95 % ทั้งนี้เพราะเยื่อเมือก (Epithelial cells) ของผนังลำไส้เล็กนอกจากจะย่นพับไปมาแล้ว ยังมีส่วนที่เรียกว่า ปุ่มซึม (Villi) ยื่นออกมาจากผนังลำไส้ มีลักษณะคล้ายนิ้วมือ ในคนมีประมาณ 18 ถึง 40 ปุ่ม ต่อพื้นที่ 1 ตารางมิลลิเมตร หรือประมาณ 4-5 ล้านปุ่ม ตลอดผนังลำไส้เล็กทั้งหมด เป็นการเพิ่มพื้นผิวของลำไส้เล็กประมาณ 3-18 เท่า ทำให้เกิดเนื้อที่มากมายที่อาหารจะมาสัมผัสเพื่อถูกดูดซึมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เซลล์เมือกที่ผนังของปุ่มซึมจะเลือกคัด (Selective Absorption) ให้สารอาหารที่เหมาะสมบางสารเท่านั้นซึมผ่านได้ เช่น ตามลักษณะแล้ว น้ำตาลกาแลคโทสจะผ่านได้ดีกว่าฟรุคโทส และกลูโคส แต่ความจริงแล้วกลูโคส กลับซึมผ่านได้ง่ายกว่าอีกสองชนิด ทั้งนี้เพราะร่างกายใช้กลูโคสมากที่สุด

ปุ่มซึมแต่ละอัน (Villus) มีกล้ามเนื้อซึ่งสามารถยึดหดได้ ภายในปุ่มซึมมีเส้นเลือดฝอยมากมาย (Capillaries) ทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ติดต่อกันเป็นตาข่าย เพื่อรับอาหารที่ถูกย่อยแล้วดูดซึมเข้าไป ส่วนแกนกลางเป็นท่อน้ำเหลือง (Lacteals หรือ Chyle Vessels)  ทำหน้าที่ดูดซึมไขมัน ได้แก่กรดไขมันกลีเซอรอลโมโนกลีเซอไรด์ และไดกลีเซอไรด์และวิตะมินที่ละลายในไขมัน คือ วิตะมิน เอ ดี อี และ เค

การดูดซึมในลำไส้เล็กจึงมี 2 ทาง คือ
1. ทางเส้นเลือดฝอย กรดอะมิโน น้ำตาลชั้นเดียว และไขมันเพียงส่วนน้อย ประมาณ 1 ใน 3 ของไขมันทั้งหมด ผ่านเข้าทางเส้นเลือดฝอยของปุ่มซึมไปยังเส้นเลือดดำ (Portal Vein) เขาสู่ตับ แล้วผ่านไปเข้าเส้นเลือดใหญ่ ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
2. ทางหลอดน้ำเหลือง ไขมันส่วนมาก คือประมาณ 2 ใน 3 ของไขมันทั้งหมด และวิตะมินที่ละลายในไขมัน จะผ่านเข้าทางหลอดน้ำเหลืองของปุ่มซึม ไปยังหลอดน้ำเหลืองใหญ่สู่ Thoracic Duct และหลอดเลือดใต้กระดูกไหปลาร้าด้านซ้าย (Left Subclavian Vein), Left Innominate Vein หลอดเลือดที่นำเลือดจากส่วนบนของร่างกาย (Superior Vena Cava) เข้าสู่หัวใจห้องบนด้านขวา (Right Atrium)

ในลำไส้เล็กนอกจากจะมีการดูดซึม คาร์โบไอเดรท ไขมัน และ โปรตีนแล้ว ยังมีการดูดซึม เกลือแร่ วิตะมิน และน้ำ ตลอดความยาวของลำไส้เล็ก

ในลำไส้ใหญ่ การดูดซึมในลำไส้ใหญ่ส่วนมากได้แก่น้ำ ซึ่งติดมากับกากอาหารจากลำไส้เล็ก กากอาหารนี้เรียกว่าอุจจาระได้แล้ว ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ขี้อ่อน ลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำกลับเข้าไปในร่างกายที่ให้ขี้อ่อนเป็นขี้แข็งและเหนียว เหมาะที่จะถ่ายออกได้พอดีๆ แต่ถ้าท้อง ผูก (Constipation) ไม่ถ่ายตามกำหนด ยิ่งนาน การดูดน้ำก็ยิ่งมากขึ้น จนอุจจาระแห้งและแข็ง ทำให้ถ่ายยาก และทรมานที่สุด

นอกจากน้ำแล้ว ลำไส้ใหญ่ยังทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารอื่นอีกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากย่อยที่อื่นไม่ได้จำต้องย่อยด้วยแบคทีเรีย เช่น เซลลูโลส เป็นต้น

การดูดซึมสารอาหารแต่ละชนิด
อาหารที่รับประทาน จะถูกย่อยแล้วดูดซึมเข้าร่างกายได้เกือบหมด คือประมาณ 95 % ถ้าเป็นคาร์โบไฮเดรทล้วนๆ จะย่อยและดูดซึมได้มากที่สุด คือ ประมาณ 98 % ไขมันย่อยและดูดซึมได้น้อยลง คือ ประมาณ 95% ส่วนโปรตีนย่อยและดูดซึมได้น้อยที่สุดคือ ประมาณ 92% ส่วนที่หายไปเป็นการสูญเสียเนื่องจากการย่อย การดูดซึมสารอาหารแต่ละชนิดต่างกัน ทั้งในกระบวนการ ตำแหน่งของทางเดินอาหาร และปริมาณ คือ
1. การดูดซึมคาร์โบไฮเดรท นํ้าตาลชั้นเดียวที่ได้จากการย่อยอาหารพวกแป้งและน้ำตาล เช่น กลูโคสจะดูดซึมผ่านเยื่อบุลำไส้เล็ก เข้าไปในเส้นเลือดฝอยของปุ่มซึม ซึ่งในการดูดซึมกลูโคสนี้ต้องอาศัยโซเดียมเป็นตัวช่วยให้ดูดซึมได้เร็วขึ้น น้ำตาลชั้นเดียวที่ถูกดูดซึมแล้วจะเข้า
ไปในเส้นเลือดฝอย จากนั้นจะเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ (Portal Vein) ไปยังตับ เข้าสู่หัวใจห้องขวาบน แล้วไปตามเส้นเลือดใหญ่ เพื่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนน้ำตาลชั้นเดียวที่เหลือใช้จะถูกเก็บสะสมไว้ที่ตับและเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยเฉพาะที่ตับในรูปของไกลโคเจน

ระหว่างที่น้ำตาลชั้นเดียวดูดซึมผ่านเยื่อบุลำไส้เล็กนั้น จะต้องเกิดขบวนการที่เรียกว่า Phosphorylation คือจะต้องกลายเป็นน้ำตาลฟอสเฟตก่อน ขบวนการฟอสฟอริเลชั่นนี้ต้องมี เอนไซม์ Hexokinase มักนีเซียมไอออน (Mg++) และสารที่ให้พลังงานสูง คือ ATP ด้วย และเมื่อผ่านผนังลำไส้เล็กแล้ว ก่อนจะเข้าเส้นเลือด น้ำตาลฟอสเฟตจะสลายตัวให้น้ำตาลตามเดิม โดยอาศัยเอนไซม์ Phosphorylase ดังสมการ
การดูดซึมอาหาร

ถ้าไม่เกิด Phosphorylation น้ำตาลชั้นเดียวจะไม่สามารถดูดซึมได้ น้ำตาลชั้นเดียวที่ต้องผ่าน Phosphorylation ได้แก่ กลูโคส ฟรุคโทส กาแลคโทส แมนโนส ส่วนเพนโทสดูดซึมได้โดยไม่ต้องผ่านPhosphorylation

โดยคุณสมบัติแล้วน้ำตาลชั้นเดียวแต่ละชนิดดูดซึมได้เร็วช้าต่างกัน ทั้งนี้โดยที่น้ำตาลพวกนี้มีโครงสร้างของอณูแบบเดียวกัน จึงมีฤทธิ์ยับยั้งซึ่งกันและกัน เพราะมันจะแย่งกันจับตัวพาตัวเดียวกัน ถ้าให้อัตราการดูดซึมของกลูโคส = 100 การดูดซึมของกาแลคโทสจะ = 110 ฟรุคโทส = 43 แมนโนส = 13 และเพนโทส = 10 แต่ในการดูดซึมจริงๆ แล้ว กลูโคสดูดซึมได้มากกว่าเพื่อน

จากการวิจัยในระยะหลังพบว่า น้ำตาลสองชั้น เช่น ซูโครส แลคโทส มอลโทส อาจดูดซึมเข้าผนังลำไส้ได้โดยไม่ต้องถูกย่อยเป็นนํ้าตาลชั้นเดียว และในการดูดซึมก็ต่องผ่านขบวนการ Phosphorylation เช่นเดียวกับน้ำตาลชั้นเดียว

2. การดูดซึมไขมัน  ไขมันส่วนใหญ่ถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) ตอนต้น เข้าสู่ระบบไหลเวียนในร่างกาย 2 ทาง คือ ทางเส้นเลือดฝอย และทางหลอดน้ำเหลืองของปุ่มซึม ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของอนุภาค และจำนวนคาร์บอนในโมเลกุลของไขมันที่ผ่านการย่อยแล้ว

(1) ทางเส้นเลือดฝอย ไขมันที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอน (Micron) หรือไขมัน โมเลกุลเล็กมีคาร์บอน 10 ตัวหรือน้อยกว่า มักเป็นพวกไขมันที่สะเทินหรือเป็นกลาง (Neutral Fat) เช่น ไขมันในไข่แดง นม หรือกรดไขมัน โมเลกุลสั้นๆ จะถูกดูดซึมผ่านเข้าเส้นเลือดฝอย เข้าสู่เส้นเลือดดำของตับ ผ่านตับ แล้วเข้าไปสู่หัวใจห้องบนด้านขวา ก่อนจะเข้าเส้นเลือดไขมัน พวกนี้จะรวมตัวกับเกลือน้ำดี หรือฟอสฟอรัส เป็นฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) หรือที่เรียกว่า เลซิทิน (Lecithin) ซึมผ่านผนังลำไส้และแยกออกเป็นกรดไขมันอิสระ

(2) ทางหลอดนํ้าเหลือง ส่วนไขมันที่มีขนาด 0.5 ไมครอน หรือไขมันที่มีโมเลกุลใหญ่ คือมีคาร์บอน 10 ตัว หรือมากกว่า ได้แก่ กรดไขมัน กลีเซอรอล โมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ จะถูกดูดซึมเข้าหลอดน้ำเหลืองเล็กๆ (Lacteal) ภายในปุ่มซึมของลำไส้เล็ก ผ่านไปเข้าหลอดน้ำเหลืองใหญ่ หลอดเลือดดำใหญ่ เข้าสู่หัวใจหิ้องบนด้านขวา

ไขมันส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) แม้ว่าผลจากการย่อยเพื่อให้ดูดซึมได้สะดวกในตอนแรกจะเป็นกรดไขมันกลีเซอรอล โมโนกลีเซอไรด์ และไดกลีเซอไรด์ก็ตาม แต่หลังจากถูกดูดซึมผ่านผนังของลำไส้เล็กแล้ว เซลล์ของลำไส้เล็กจะสังเคราะห์สารเหล่านั้นให้เป็น ไตรกลีเซอไรด์ใหม่ แล้วจึงเข้าหลอดน้ำเหลือง

การดูดซึมไขมัน ไม่ว่าจะเป็นโดยทางใดก็ตาม ก่อนจะมีการดูดซึมเข้าเส้นเลือดฝอย และหลอดน้ำเหลืองไขมันที่ผ่านการย่อยแล้วนั้น จะจบกับโปรตีนเป็นหยดเล็กๆ ที่คงตัว เรียกว่า คายโลไมครอน (Chylomicrons) ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง จาก 0.5 ถึง 1.0ไมครอน ด้วยเหตุนี้ไขมันในหลอดน้ำเหลืองจึงมีสีขุ่นขาวเหมือนน้ำนม เรียกว่า คายล์ (Chyle) และเลือดก็มีสีขาวขุ่น เช่นกัน หลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ๆ หากร่างกายขาดโปรตีนที่จะมาสร้างเป็นคายโลไมครอนผลิตผลจากการย่อยไขมัน ก็ไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบไหลเวียนไปใช้ในร่างกายได้

3. การดูดซึมโปรตีน โปรตีนซึ่งผ่านการย่อยจนถึงขั้นสุดท้ายเป็นกรดอะมิโนแล้วนั้น จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนทางเส้นเลือดฝอยของปุ่มซึมในลำไส้เล็กเข้าสู่เส้นเลือดดำของตับ ผ่านตับ แล้วไปเข้าหัวใจห้องบนด้านขวา ออกสู่เส้นเลือดใหญ่อีกทีหนึ่ง

ผนังลำไส้ของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เอาเป็นว่าคนนี้แหละ ลูกซึ่งคลอดออกมาใหม่ๆ ลำไส้สามารถดูดซึมโปรตีนทั้งโมเลกุลที่อยู่ในน้ำนมแม่ได้ ความสามารถนี้จะหมดไปหลังจากคลอดแล้ว 2-3 วัน วิธีการนี้สำคัญมากเพราะทำให้สามารถดูดซึมเอาสิ่งต่อต้านที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibodies) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันโรคของแม่จากน้ำเหลืองน้ำนม (colostrum) ไว้ใช้ต่อต้านโรค ดังนั้นน้ำนมของแม่สัตว์ใดจึงเหมาะกับลูกของสัตว์นั้น และควรให้ลูกได้ดื่มน้ำเหลืองน้ำนม ซึ่งออกมาครั้งแรกจากเต้านมหลังจากคลอด เพราะอุดมด้วยแอนติบอดี ไม่ควรรีดทิ้ง

เมื่อโตขึ้นการดูดซึมโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่กว่ากรดอะมิโนจะหมดไป อาจเพราะกระเพาะอาหารและลำไส้หลังกรดและน้ำย่อยได้ดีขึ้น หรือเพราะเป็นการป้องกันตนเอง เนื่องจากสร้างภูมิคุ้มกันได้เองแล้ว ดังนั้นหากยังดูดซึมโปรตีนโมเลกุลใหญ่ อย่างเช่น เพปไตด์ (Peptides) เข้าไป โปรตีนพวกนี้จะทำหน้าที่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอำนาจต่อต้านโรค ที่เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) กระตุ้นร่างกายให้สร้าง แอนติบอดี ขึ้น ทำให้บางรายเกิดอาการแพ้ (Allergic reaction) ได้

4. การดูดซึมเกลือแร่ เกลือแร่ดูดซึมในกระเพาะอาหารได้บ้างเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะดูดซึมที่ลำไส้เล็ก การดูดซึมเกลือแร่นี้จะเกิดขึ้นทันทีที่ร่างกายขาดเกลือแร่ชนิดนั้นๆ

ก. เกลือแร่ที่ละลายน้ำได้ เช่น โซเดียมและโปแตสเซียม เป็นเกลือแร่ที่ดูดซึมได้ง่าย ก็จะซึมซาบได้เลยที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ถ้ามีมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะถูกขับออกจากร่างกายโดยไต

ข. แคลเซียม ซึมผ่านได้ตลอดความยาวของลำไส้เล็ก แต่ซึมผ่านผนังลำไส้เล็กตอนต้น และในสภาพที่ค่อนข้างเป็นกรดได้มากและดีกว่าลำไส้เล็กตอนปลายซึ่งมีสภาพค่อนข้างเป็นด่าง เมื่อแคลเซียมซึมผ่านผนังลำไส้เล็กแล้วก็จะเข้าสู่เส้นเลือดส่งไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตามที่ต้องการ การดูดซึมของแคลเซียมจะได้ดีหรือไม่ยังมีปัจจัยหลายอย่าง ที่หลายอย่างช่วยในการดูดซึมและหลายอย่างขัดขวางการดูดซึม

สิ่งที่ช่วยในการดูดซึมของแคลเซียม มีหลายอย่าง ได้แก่
(1) วิตะมินดี แต่ถ้ามากเกินไปจะทำให้แคลเซียมสะสมอยุ่ในโลหิตมากเกินปรกติ อาจเป็นอันตรายได้
(2) แลคโทสในนมช่วยในการดูดซึมดีขึ้น
(3) โปรตีน
(4) วิตะมินซี
(5) ฮอร์โมนบางชนิด เช่นฮอร์โมนเพศ ได้แก่ เอสโตรเจนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ใช้แคลเซียม หญิงที่อยู่ในระยะหมดประจำเดือนอาจเกิดโรคขาดแคลเซียมได้เพราะเอสโตรเจนไม่มีหรือมีก็น้อยมาก

ฮอร์โมนจากต่อมพาราไธรอยด์ (Parathyroid Hormone) เป็นตัวควบคุมการดูดซึมแคลเซียมตามความต้องการของร่างกาย ให้ระดับแคลเซียมในเลือดเป็นปรกติ (10 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตรของซีรัม)

สิ่งที่ขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ก็มีหลายอย่างที่ทำให้การดูดซึมได้ไม่สมบูรณ์ 100% ได้แก่

(1) อาหารบางชนิด หรือผักบางอย่าง เช่น ผักโขม ซึ่งเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง แต่ขณะเดียวกันผักโขมมีกรดอ๊อกซาลิค (Oxalic Acid) ซึ่งจะไปรวมกับแคลเซียมเกิดเป็นแคลเซียมอ๊อกซาเลท (Calcium Oxalate) ตกเป็นตะกอนไม่สามารถจะดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กได้ หรือพืชบางชนิดมีกรดไฟติด (Phytic Acid) ซึ่งมีอยู่ในพวกข้าว เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมเช่นกัน

(2) เกลือคาร์บอเนตและเกลือฟอสเฟตจะไประงับการดูดซึมของแคลเซียม เพราะมันจับกับแคลเซียมแล้วเกิดเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ แล้วขับออกทางอุจจาระ

(3) กรดไขมัน จะทำปฏิกิริยากับแคลเซียม เกิดเป็นสบู่ซึ่งไม่ละลายน้ำแล้วถูกขับออกทางอุจจาระ ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง

(4) อาหารที่มีกากมาก ทำให้การเคลื่อนตัวผ่านทางเดินของอาหารเร็ว จะทำให้แคลเซียมถูกขับถ่ายออกเสียก่อนที่จะดูดซึมได้เต็มที่

(5) การกินยาระบาย ก็ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมน้อยลง เนื่องจากถูกขับถ่ายออกเร็วเกินไป ยังดูดซึมได้ไม่เต็มที่

การดูดซึมของแคลเซียมแตกต่างกันแล้วแต่ละบุคคล จำนวนแคลเซียมที่รับประทานและภาวะร่างกายที่ต้องการแคลเซียม การดูดซึมแคลเซียมในเด็กอ่อนมีประมาณ 50-70%(แคลเซียมในนม) เด็กอายุ 4-12 ปี ประมาณ 16-34% ผู้ใหญ่ 30-50%

หญิงที่ตั้งครรภ์และขณะที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะมีการดูดซึมของแคลเซียมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์  โดยเฉพาะในการสร้างกระดูกและฟันของเด็ก นอกจากนี้ก็เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมของมารดาด้วย  ฉะนั้นหากมารดารับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่พอ ร่างกายจะดึงเอาแคลเซียมจากกระดูกและฟันในร่างกายเองไปใช้ในการดังกล่าว หญิงมีครรภ์จึงมักจะฟันผุและเป็นรู ด้วยเหตุนี้จึงควรได้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากพอกับความต้องการของร่างกายในขณะที่ตั้งครรภ์และให้นมลูก

แคลเซียมจะถูกเก็บสะสมไว้ในกระดูกตรงส่วนปลายกระดูกที่เรียกว่า Trabeculae ถ้าเกิดการขาดแคลนแคลเซียม ส่วนที่เก็บไว้นี้จะถูกนำไป ใช้ แต่ถ้าไม่มีชดใช้ก็จะดึงเอาจากกระดูกนั่นเอง ทำให้กระดูกเป็นโพรงและเปราะ

ค. เหล็ก ถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กตอนต้นเข้าสู่เส้นเลือดและเป็นสารอาหารที่ซึมซาบได้ยากกว่าแร่ธาตุอย่างอื่น ส่วนปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย เหล็กจะถูกดูดซึมได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพเฟอรัส (Ferrous Iron) ธาตุเหล็กที่เรากินเข้าไปจากอาหาร เป็นเหล็กที่อยู่ในสภาพเฟอริค (Ferric Iron) ซึ่งมีเวเลนซี (valency) 3 จะถูกกรดในกระเพาะอาหาร วิตะมินซี และ อี เปลี่ยนให้เป็นเหล็กเฟอรัส ซึ่งมีวาเลนซี 2 ก่อน เมื่อดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่พลาสม่าแล้วจะอ๊อกซิไดซ์กลับเป็นเฟอริค เฟอริคนี้จะรวมตัวกับโปรตีนชนิดหนึ่งในผนังลำไส้เล็กที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมีชื่อว่า อะโปเฟอร์ริตน (Apoferritin) เกิดเป็นเฟอร์ริติน (Ferritin) ซึ่งเป็นสารประกอบของสารโปรตีนกับธาตุเหล์กที่ซับซ้อนแล้วเก็บสะสมไว้ในเซลล์เยื่อเมือกของลำไส้เล็กในอัตราส่วนที่สมดุลย์กับธาตุเหล็กในกระแสเลือด ครั้นเมื่อเลือดมีธาตุเหล็กต่ำเฟอร์ริตินจะปล่อยเหล็กออก แล้วเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของอะโปเฟอร์ริติน เหล็กที่ถูกปล่อยออกจะเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อใช้ในการสร้างฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดุก วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป เหล็กที่เกินความต้องการของร่างกายจะถูกขับออกโดยลำไส้ใหญ่ ถ้าหากเรากินเหล็กเกินส่วนไป อุจจาระที่มีเหล็กออกมาด้วยจะมีสีดำจัด

อะโปเฟอร์ริติน ช่วยให้เหล็กถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดของปุ่มซึมในลำไส้เล็กได้ หากขาดสารอะโปเฟอร์ริติน แม้เราจะกินเหล็กมากมายเพียงใดก็ตาม ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมไว้ ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ถ้าร่างกายขาดเหล็ก การสร้างฮีโมโกลบินไม่พอหรือเม็ดเลือดแดงอาจมีขนาดเล็กลง ทำให้เลือดมีสีจาง ที่เรียกว่าโรคโลหิตจาง มีมากในทารกและเด็ก โดยเฉพาะในทารกที่มารดาขาดเหล็ก การขาดเหล็กเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย หญิงที่มีโลหิตออกมากขณะมีประจำเดือน หรือหมด ประจำเดือนแล้วมีโอกาสขาดมาก

ง. ฟอสฟอรัส ดูดซึมจากผนังลำไส้เล็ก และการดูดซึมนี้ดีกว่าแคลเซียม ฟอสฟอรัสขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ปริมาณของการขับถ่ายขึ้นอยู่กับว่าได้ดูดซึมมากน้อยเพียงใดจากลำไส้เล็ก การขาดฟอสฟอรัสปกติแล้วไม่เกิดแก่คน เพราะมีอยู่ในอาหารหลายชนิด แต่สัตว์จะพบว่ามีการขาดธาตุนี้ สัตว์จะเกิดข้อแข็ง และกระดูกเปราะหักง่าย และเติบโตช้า สำหรับคนนั้นถ้าได้รับอาหารที่ให้แคลเซียมอย่างเพียงพอแล้วก็จะได้ฟอสฟอรัสด้วยในขณะเดียวกัน

ไอโอดีน ดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่เส้นเลือด แล้วไปเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เมื่อไอโอดีนเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ก็จะรวมตัวกับสารอื่น (โปรตีน) เกิดเป็นสารใหม่ขึ้น 3 ชนิด คือ ไทรอคซิน (Thyroxine) โมโนไอโอโดไทรอซิน (Monoiodotyrosine) และไอโอโด- ไทรอนิน (iodothvronine) สารทั้งสามชนิดรวมกันเรียกว่า ไทรอโกลบูลิน (Thjrroglebulin) ในสารทั้ง 3 อย่างนี้ ไทรอคซินเท่านั้นที่จะถูกส่งมาในโลหิตพอที่ทำหน้าที่ให้ร่างกาย

พวกแร่ธาตุจะถูกดูดซึมในส่วนต้นๆ ของลำไส้เล็กได้เร็วและดีกว่าส่วนปลายๆ พวกประจุ 1 เช่น Na+, K+, Cl-, HCO3- จะถูกดูดซึมได้เร็วกว่าพวกที่มีประจุมากกว่า 1 เช่น Ca++, Mg++, SO4= เป็นต้น

5. การดูดซึมวิตะมิน การดูดซึมของวิตะมินแบ่งได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

(1) วิตะมินที่ละลายน้ำ ดูดซึมเข้าทางกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กโดยตรง โดยวิธีซ่านซึม (Diffusion) จากอาหารธรรมดา เว้นแต่วิตะมิน บี12 ต้องอาศัยสารที่เรียกว่า Intrinsic Factor จากกระเพาะมาจับตัวมันก่อนจึงจะซึมผ่านลำไส้เล็กได้ และในการจับกันระหว่างวิตะมินบี12 กับ Intrinsic Factor นั้น จะต้องอาศัยแคลเซียมช่วยด้วย เมื่อสารประกอบ ที่ซับซ้อนนี้ผ่านเข้าสู่เซลล์ของผนังลำไส้เล็กแล้ว จะแตกออกจากกันทันทีกลายเป็นวิตะมินบี12 อิสระ แล้วเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป วิตะมิน บี12 ถูกดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย

ด้วยการดูดซึมวิตะมิน บี12 ต้องอาศัย Intrinsic Factor ดังนั้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารของเขาไม่อาจผลิต Intrinsic Factor ได้เหมือนปรกติทำให้ขาด Intrinsic Factor ไป ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมวิตะมิน บี12 ไว้ใช้ได้ เกิดเป็นโรคโลหิตจางชนิดขาดวิตะมิน บี12 ตามมา

วิตะมินทีละลายน้ำ มีความสามารถดูดซึมได้มากที่สุดในพวก
วิตะมินด้วยกัน คือประมาณวันละ 0.1-1 กรัม วิตะมินพวกนี้จะถูกเก็บไว้ในร่างกายเพียงเล็กน้อย ถ้ากินมากเกินกว่าความต้องการที่จะทำให้โลหิตอิ่มตัวแล้ว ส่วนที่เกินไปนั้นจะผ่านออกทางไตปนไปกับปัสสาวะ

(2) วิตะมินที่ละลายในไขมัน จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก ทางหลอดน้ำเหลืองของปุ่มซึม การดูดซึมของวิตะมินประเภทนี้ต้องอาศัยไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นตัวทำละลาย ร่วมกับไมเซลผสม (Mixed Micelle) จากน้ำดีหรือเกลือน้ำดี เพราะไขมันเป็นตัวละลาย
ส่วนไมเซลผสมหรือเกลือน้ำดีเป็นตัวพา หากร่างกายได้รับวิตะมินพวกนี้มากเกินไป จะถูกเก็บไว้ที่ตับ และมีเป็นส่วนน้อยที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะหรืออุจจาระ

ร่างกายจะขาดวิตะมินเหล่านี้ ถ้าการดูดซึมไขมันหยุดชะงัก เช่นการขาดน้ำย่อยจากตับอ่อนหรือไม่มีน้ำดีเข้ามายังลำไส้เล็ก เพราะท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น

6. การดูดซึมน้ำ น้ำถูกดูดซึมโดยวิธี Osmosis ตลอดทางเดินอาหาร คือทั้งในปาก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ แต่ในลำไส้เล็กจะมีการดูดซึมมากที่สุด คือประมาณ 80% วันหนึ่งๆ เราได้รับน้ำเข้าไปในระบบทางเดินอาหารจากอาหาร เครื่องดื่ม และน้ำที่ดื่มเข้าไปประมาณ 1.5 ลิตร นอกจากนี้ยังมีน้ำจากน้ำลาย น้ำหลั่งจากกระเพาะ ลำไส้ และตับอ่อน อีกจำนวนมาก น้ำทั้งหมดนี้ร่างกายจะดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารกลับเข้าไปในร่างกายประมาณวันละ 8 ลิตร ส่วนที่เหลือจะขับถ่ายออกไปกับอุจจาระวันละประมาณ 0.1 ลิตร (100 ลบ.ซม.)

หากเราดื่มน้ำมากเกินไป จนสามารถจะทำให้โลหิตจางได้ ไตจะทำหน้าที่ดึงเอาออกไปเสียบ้างเพื่อเป็นการรักษาให้ส่วนประกอบของโลหิตคงอยู่โดยถูกต้องเสมอ การควบคุมโดยอัตโนมัติของไตดังกล่าวนี้จะเป็นไปอย่างว่องไวและรวดเร็วมาก ภายใน 1 ชั่วโมง หรือไม่ถึงด้วยซ้ำ น้ำที่ดื่มเข้าไปเกินความต้องการของร่างกายนั้นจะถูกส่งผ่านออกจากไตเป็นปัสสาวะทันที ฉะนั้นด้วยเหตุนี้เอง เวลาเราดื่มสุราผสมโซดามากๆ หรือดื่มเบียร์มาก จึงรู้สึกปวดปัสสาวะและถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ
ในกรณีที่ผนังลำไส้เกิดระคายเคืองหรืออักเสบจากการติดเชื้อ อาจจะจากแบคทีเรีย หรือสารที่เป็นพิษ (Toxin) เช่นโรคท้องร่วง ลำไส้จะเคลื่อนไหวหดรีดเร็วขึ้น อาหารไม่ทันได้ย่อยเหมือนปรกติ และน้ำก็ไม่ทันดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ก็ถูกลำไส้หดรีดให้ออกเป็นอุจจาระเสียก่อน อุจจาระนั้นจึงมีลักษณะเหลวคือมีน้ำมากกว่าที่ควร เรียกว่าท้องเดิน (Diarrhea) ทำให้ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)

การขับถ่าย
การขับถ่ายเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการย่อยและการดูดซึมของสารอาหารในระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาหารที่เหลือจากการย่อยและการดูดซึมในลำไส้จะถูกขับออกมาเป็นอุจจาระทางทวารหนัก (Anus)
อาหารที่เคลื่อนจากลำไส้เล็กลงสู่ลำไส้ใหญ่ เป็นอาหารที่ไม่ได้ย่อย เช่น เส้นใยของเนื้อ แป้งและไขมันบางส่วน อาหารที่ย่อยไม่ได้ เช่น เยื่อหรือเซลลูโลสในผักและผลไม้ แร่ธาตุบางอย่าง อาหารพวกนี้จัดเป็นกากอาหารหรือจะเรียกว่าอุจจาระก็ได้แล้ว แต่ยังเป็นอุจจาระอ่อนหรือเหลว ครั้นน้ำที่ติดมาถูกดูดซึมเข้าทางผนังลำไส้ใหญ่ อุจจาระนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพจากอ่อนเป็นแข็งขึ้น

ลำไส้ใหญ่มีการบีบตัวประมาณวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อขับกากอาหารให้เคลื่อนที่ไปสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่มีลักษณะคลายตัว s (Sigmoid Colon) แล้วลงไปสู่ไส้ตรง (Rectum) ตามปรกติ ความดันในไส้ตรงต่ำมาก และว่างเปล่าเกือบตลอดเวลา เมื่อกากอาหารตกไปถึงไส้ตรงความดัน จะเพิ่มขึ้นมาก ถ้าความดันเพิ่มเพียง 2-3 มิลลิเมตรปรอทก็พอทนได้ แต่ถ้าความดันเพิ่มเป็น 40-60 มิลลิเมตรปรอท จะทำให้อยากถ่ายอุจจาระทันที โดยกล้ามเนื้อหูรูดอันในของทวารหนัก (internal Anal Sphincter) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบทำงานอยู่นอกอำนาจจิตใจ คลายตัวเปิดออก ขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดอันนอก (External Anal Sphincter) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลาย ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจจะเปิดหรือปิดแล้วแต่จิตใจสั่ง นอกจากนี้ก็มีการหดตัวของกล้ามเนื้อท้องและกระบังลม ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลายทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยในการขับถ่ายอุจจาระออกจากไส้ตรง

อุจจาระประกอบด้วยเซลลูโลสประมาณ 50 % เซลลูโลสนี้ช่วยดูดน้ำ ทำให้อุจจาระเปียก หยาบ แล้วทำให้ลำไส้ใหญ่เป่ง กระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว ฉะนั้นการบีบตัวเพื่อขับไล่อุจจาระออกมาภายนอกหรือการถ่ายของลำไส้ใหญ่ก็ทำได้ง่าย เหตุนี้เราควรรับประทานอาหารที่มีกากหรือเซลลูโลสให้มาก เช่น ผัก และผลไม้ ยิ่งเป็นผักสดได้ยิ่งวิเศษ นอกจากเซลลูโลสแล้ว ในอุจจาระยังมี น้ำ ไขมัน และสารเมือก พวกนี้ทำให้การถ่ายสะดวก ลื่นดี สีน้ำดีทำให้อุจจาระสีเหลือง กากมีบ้างเล็กน้อยเนื่องจากโปรตีนถูกย่อยเกือบหมด นอกจากนี้ยังมีโคเลสเตอรอล เกลือแร่ เซลล์ของผนังลำไส้ที่ตายแล้วหลุดออกมา และจุลินทรีย์ต่างๆ ฯลฯ

หลังจากที่เรารับประทานอาหารเข้าไปแล้วประมาณ 18-24 ชั่วโมง อาหารนั้นจะถูกขับออกจากร่างกาย ถ้าหากไม่มีการถ่ายภายใน 2-4 วัน แสดงว่าการขับถ่ายผิดปรกติ  ในการถ่ายนั้นในคนปรกติวันหนึ่งๆ จะถ่ายอุจจาระออกมาประมาณ 100-400 กรัม หรือ 25-100 กรัม ในลักษณะที่แห้ง
การขับถ่ายอุจจาระทุกวัน ทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ด้วยอุจจาระช่วยนำของเสียและพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย ถ้าอาหารที่รับประทานมีกากหรือเซลลูโลสมากเพียงพอ มีวิตะมินบีสูง ดื่มน้ำมากพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (เพื่อให้กระเพาะและลำไส้ทำงาน) ก็จะทำให้ถ่ายคล่องท้องไม่ผูก และควรหัดขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน การใช้ยาสวนหรือยาระบายควรทำต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดความเคยชินและก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ง่าย

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า